ทรัมป์กับไทย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต วิเคราะห์ความสัมพัน์ระหว่างไทย-สหรัฐ ในยุคทรัมป์และแนวโน้มในอนาคต (2)

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

บทความพิเศษ | พิธา ลิ้มเจริญรัตน์/พัทธดลย์ โรจน์รัชสมบัติ

 

ทรัมป์กับไทย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

วิเคราะห์ความสัมพัน์ระหว่างไทย-สหรัฐ

ในยุคทรัมป์และแนวโน้มในอนาคต (2)

 

สวัสดีครับทุกท่าน

แม้อากาศในบอสตันยังคงหนาวลงเรื่อยๆ บรรยากาศในทำเนียบขาวและคณะทํางานของทรัมป์ก็ยังคงดุเดือดและร้อนแรงอย่างไม่มีท่าทีจะเบาลง

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมได้ทิ้งคำถามไว้ว่า “หากทรัมป์กลับมาในปี 2025 ไทยจะต้องเตรียมตัวอย่างไร?”

หากท่านยังไม่ได้อ่านฉบับแรก ผมขอแนะนำให้ท่านกลับไปทบทวนเนื้อหากันอีกครั้ง เนื่องจากในฉบับที่แล้วเราได้ย้อนกลับไปดูนโยบาย Trump 1.0 และวันนี้เราจะมาพูดถึงอนาคตใน Trump 2.0 กันครับ

ถึงขณะนี้ทรัมป์และทั่วโลกยังคงจับตาดูสถานการณ์สงครามยูเครนและปาเลสไตน์อยู่ เรามั่นใจได้เลยว่าจีนยังคงเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของทรัมป์ ทรัมป์ยังคงคิดถึงและจับตาดูจีนมาตลอด

ผมขอเริ่มจาก 3 โอกาส (opportunities) ทางยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐที่จะเกิดขึ้ใน Trump 2.0 ก่อน ค่อยตามด้วยความเสี่ยงหรือข้อกังวล (risks) ครับ :

โอกาสทางยุทธศาสตร์

– ทรัมป์มุ่งเน้นการขยายอิทธิพลของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อท้าทายอำนาจของจีน ซึ่งยังคงเป็นศัตรูอันดับที่หนึ่งของสหรัฐ

– ไทยเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราสามารถวางตัวเป็นจุดศูนย์กลางและประตูสู่ทวีปเอเชียให้กับสหรัฐ

– การฝึกซ้อมทหาร Cobra Gold เป็นโอกาสสำคัญสำหรับทรัมป์ในการเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารและแสดงความมุ่งมั่นของสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ไทย สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรในภูมิภาคอื่นๆ

สามารถรวมตัวที่ไทยเพื่อฝึกฝนทหารและเพิ่มความสามารถในการทำงานร่วมกัน

การค้าอาวุธ

– ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกามากที่สุดในโลก

– ทรัมป์ยกเลิกกฎระเบียบของไบเดนที่ค้านการขายอาวุธกับในประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การ ส่งออกอาวุธของสหรัฐไปยังประเทศไทยจึงถูกระงับในปี 2023 เพราะปัญหาชายแดนพม่า การค้าอาวุธให้กับประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะกลับมาหรือเพิ่มขึ้น

– การค้าขายอาวุธระหว่างประเทศไทยและสหรัฐ เป็นสัญญาณความไว้วางใจระหว่างประเทศ

และแสดงถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐต่อความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค

ความสัมพันธ์พิเศษไทย-สหรัฐ

– ประเทศไทยและฟิลิปปินส์เป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สหรัฐ ถือว่าเป็นพันธมิตรและมีพันธะทางกฎหมายในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในช่วงเวลาของสงคราม

– สนธิสัญญามิตรภาพไทย-สหรัฐ มอบสิทธิพิเศษเฉพาะให้กับธุรกิจของสหรัฐ โดยไทยอนุญาตให้บริษัทอเมริกันถือครองหุ้น 100% ในประเทศไทย-เป็นข้อได้เปรียบทางธุรกิจที่ไทยไม่เคยมอบให้กับประเทศอื่น

– เข้าใจว่าในเดือนกันยายน 2025 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. วางแผนจัดงาน “Sawasdee DC” ในใจกลางเมืองหลวงสหรัฐ โดยงานนี้คาดว่าจะดึงดูดผู้เข้าร่วมหลายพันคน และเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงพลัง soft power ของไทย และเน้นย้ำความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างสองประเทศ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไทยไม่เป็นเป้าหมายหลักในนโยบาย “America First” ของทรัมป์ ณ ตอนนี้ ไทยต้องพร้อมรับมือกับประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อไทย ในส่วนนี้ผมจะขอชี้ข้อกังวลก่อนค่อยตามด้วยคําแนะนําว่าไทยควรรับมืออย่างไร

การลดความสําคัญของอาเซียน

ทรัมป์ให้ความสําคัญในระดับทวิภาคี (bilateral) มากกว่าทางระดับพหุภาคี (multilateral) คิดซะว่าทรัมป์ชอบการเจรจาแบบนักธุรกิจ ‘one on one’ หรือหนึ่งต่อหนึ่ง ผลที่ตามมาคืออาเซียนจะมีความสำคัญน้อยลงในอีกสี่ปีข้างหน้า

หากประเทศไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐมากขึ้น จะต้องแลกมาด้วยความเสื่อมถอยของความเป็นเอกภาพในอาเซียนและความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อนบ้าน

-> อาเซียนเป็นกลไกสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยในการร่วมมืออย่างเป็นเอกภาพเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลจากจีนและสหรัฐ อย่างไรก็ตาม หากอาเซียนสูญเสียบทบาทในยุคทรัมป์ 2.0 ความมั่นคงและความร่วมมือระดับภูมิภาคย่อมสั่นคลอน

สำหรับไทย ไม่สามารถรักษาความเป็นกลางและถ่วงดุลอำนาจจีนหรือสหรัฐได้เพียงลำพัง

เราจึงต้องยึดมั่นในอาเซียนและหลักความเป็นกลาง มิฉะนั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจกลายเป็นเพียงเวทีแข่งขันของมหาอำนาจ

ทรัมป์กดดันให้เลือกฝั่ง

สถานการณ์ไทยค่อนข้างเปราะบาง ไทยพึ่งพาการลงทุนทางเศรษฐกิจจากทั้งจีนและสหรัฐอย่างมาก แม้ว่าความเป็นกลางจะเอื้อประโยชน์แก่เราในช่วงที่ผ่านมา ทรัมป์คงเผชิญแรงกดดันในการแข่งขันกับจีนมากขึ้นในวาระประธานธิบดีสุดท้ายนี้ ทรัมป์อาจเรียกร้องให้ไทยเลือกข้าง

– ในเดือนที่ผ่านมา ไทยได้เสริมสร้างความสัมพันธ์กับจีนในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะการเข้าร่วมความร่วมมือด้านความมั่นคงปราบแก็งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมทั้งการที่นายกรัฐมนตรีเรียกจีนว่าเป็น “พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์” ซึ่งอาจสร้างสัญญาณที่ไม่ดีให้กับประธานาธิบดีทรัมป์

– เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2025 ไทยตัดสินใจส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์ที่เหลืออยู่ 40 ชีวิตกลับไปยังประเทศจีนตามคำเรียกร้อง แม้ว่า มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของทรัมป์จะเรียกร้องให้ประเทศไทยพิจารณาทบทวนการตัดสินใจนี้

ผลที่ตามมาคือ รูบิโอและนักการเมืองพรรครีพับลิกันหลายคนรวมออกแถลงการณ์ประณามประเทศไทยอย่างเป็นทางการ การประณามนี้ถือเป็นหนึ่งในคำสื่อสารครั้งแรกระหว่างประเทศไทยกับคณะทํางานของทรัมป์

– สถานทูตสหรัฐในกรุงเทพฯ ประกาศเตือนพลเมืองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปประเทศไทยเนื่องจากความเสี่ยงจากการตอบโต้ที่รุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายหลังไทยส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์ 40 รายกลับจีน โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์โจมตีที่ศาลพระพรหมเอราวัณในปี 2015

-> ในอนาคต หากไทยยังคงยอมอ่อนข้อให้กับจีนอย่างชัดเจนและขัดความต้องการของทรัมป์ ความสัมพันธ์และความปรารถนาดีทั้งหมดกับสหรัฐที่เคยมีมากับประเทศไทยอาจพังลงอย่างสิ้นเชิง เข้าใจได้ที่บางครั้งไทยต้องยอมรับความต้องการจากจีน

แต่การที่รัฐบาลไทยในหลายๆ ปีที่ผ่านมายอมรับข้อเรียกร้องจากจีนทุกข้อคงทําให้สหรัฐกังวลและพิจารนาความสัมพันธ์กับไทยใหม่

 

สงครามการค้า

เมื่อวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2025 กระทรวงพาณิชย์เยือนวอชิงตันเพื่อหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้า แม้ว่าการประชุมจะมีผลดีและไทยไม่เป็นเป้าหมายสงครามการค้า “America First” เช่น แคนาดาหรือจีน

– ในปี 2024 สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับประเทศไทย โดยมีมูลค่า 45.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 11.7% จากปีที่แล้ว ทรัมป์อาจให้เหตุผลในการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพื่อลงโทษไทยที่เข้าข้างจีนมากเกินไปหรือไม่ปฏิบัติตามความต้องการของอเมริกา

– เนื่องจากเราเป็นประเทศพันธมิตรในกลุ่ม BRICS (กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่นำโดยจีนและรัสเซีย) ประเทศไทยอาจถูกจัดกลุ่มร่วมกับจีนและรัสเซียเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐได้

-> ไทยควรรักษาความเป็นกลางในการเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐ : แม้ว่าไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน การคงความเป็นกลางและไม่เอนเอียงมากเกินไปจะช่วยให้ไทยสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นเป้าหมายของมาตรการตอบโต้จากทั้งสองฝ่าย โดยสามารถแสดงให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกประเทศเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

นโยบายของทรัมป์ 2.0 มีทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่เราต้องจับตากันไว้ ไม่ว่าไทยจะ

ฟื้นฟูและยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อเมริกันได้ในทรัมป์ 2.0

รักษาความเป็นกลางและการถ่วงดุลอำนาจของจีน-อเมริกา

หรือเสี่ยงสมดุลและทำลายความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายจากการโน้มเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป

ท้ายที่สุดแล้ว ผมไม่สามารถทำนายอนาคตได้ แต่สรุปได้ว่า “นิว นอร์มอล” ของโลกภายใต้ Trump 2.0 คือการคาดการณ์ได้เลยว่าทุกอย่างจะไม่ปกติ

ยกตัวอย่าง เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทรัมป์เพิ่งเรียกประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ว่าเป็นเผด็จการ แต่วันนี้ทรัมป์กลับถอนคำพูด ในเวทีระหว่างประเทศ เราไม่สามารถเชื่อทุกคำพูดว่าเป็นความจริงแท้หรือเป็นนโยบายของรัฐได้เสมอไป สิ่งที่สำคัญกว่าคือการพิจารณานโยบายและการกระทำที่เกิดขึ้นจริง

เราคงต้องติดตามและก้าวไปข้างหน้าในช่วงเวลาที่วุ่นวายในประวัติศาสตร์โลกนี้ไปด้วยกัน ผมหวังว่าผมได้ให้ทั้งความรู้และความบันเทิงแก่ผู้อ่านตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการวิเคราะห์นโยบายของทรัมป์ 1.0 ในอดีต และสำรวจว่าทรัมป์ 2.0 อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในวันนี้และอนาคตอย่างไร

ขอขอบคุณอีกครั้งที่ติดตามฉบับพิเศษนี้ และหวังว่าท่านจะกลับมาติดตามอีกในสัปดาห์หน้า กับหัวข้อที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งครับ!

หมายเหตุ : พัทธดลย์ โรจน์รัชสมบัติ

นักศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR Security Studies)

มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์, วอชิงตัน ดี.ซี.