ในประเทศ : “ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค” จากไม่เอาเลือกตั้ง สู่ประชาธิปไตยแบบพ่อขุน วิวาทะการเมืองไทย ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจริงหรือ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตทางการเมืองช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แบ่งแยกผู้คนอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะในมิติด้านความคิดและจุดยืนทางการเมือง

นักวิชาการมองว่านี่คือจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของการเมืองไทย

จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองหยั่งรากลึกในทุกวงการของสังคมไทย

ตั้งแต่การเมือง นักวิชาการ วงการข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ศิลปินดารานักแสดงก็ไม่เว้น ไม่ประกาศตัวว่าเป็นสีใดสีหนึ่ง ก็อาจจะถูกป้ายสีว่าเป็นสีใดสีหนึ่งเสมอ

การเมืองไทยเคลื่อนมาถึงจุดที่ความขัดแย้งทางความคิดแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดเป็นเรื่องของการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง

 

ดี้นิติพงษ์ ห่อนาค เป็นอีกหนึ่งบุคคลสาธารณะ ที่กล้าแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

ล่าสุดคือการโพสต์ตั้งคำถาม 9 ข้อกับคนที่ต้องการเลือกตั้งอย่างดุเดือด

สารที่ดี้ต้องการจะสื่อคือแม้จะมีเลือกตั้งก็ไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้น กลับไปสู่วังวนการเมืองแบบเดิม ประชาชนก็ไม่ได้มีสิทธิ์ อำนาจก็กระจุกอยู่กับนักการเมืองและผู้มีอำนาจของพรรค

ประชาชนจะทำงานการเมืองก็ต้องใช้ต้นทุนสูง

รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างประชาธิปไตยเสรีนิยมที่ดี้เห็นว่าเป็นญาติกับทุนนิยมซึ่งก็ไม่ใช่ระบบที่ทำเพื่อปวงชนจริง

ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยที่เคลื่อนไหวขณะนี้ก็พูดแต่เรื่องเลือกตั้ง ไม่มีข้อเสนอใหม่

ดี้สรุปโดยเห็นว่าประชาธิปไตยตั้งแต่ 2475 หรือที่ดี้เรียกว่าประชาธิปไตยแบบอะนาล็อกมันไม่ทำงาน

กระทั่งเสนอว่าประเทศไทยไม่เหมาะกับประชาธิปไตยแบบฝรั่ง

แต่เหมาะกับประชาธิปไตยแบบพ่อขุนรามฯ มากกว่า เพราะอย่างน้อยก็จริงใจกว่ากระบวนการรัฐสภา

 

มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจำนวนมากต่อข้อความดังกล่าว

ต่อมาดี้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมแสดงให้เห็นถึงการรับรู้และตามอ่านความเห็นต่างๆ ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

โดยดี้ขอบคุณฝ่ายไม่เห็นด้วยที่แสดงความเห็นตอบโต้อย่างสุภาพ แต่ก็มีบางคนที่ยังมีลักษณะก้าวร้าว

ดี้เห็นว่ายากที่จะปรองดอง พร้อมยืนยันว่าที่จริงก็ไม่ได้ชอบพวกขี่รถถังมาก แต่ก็ชอบที่เขามาดับไฟบ้านเมืองที่นักการเมืองทำไว้

ดี้ยอมรับว่าเขาชอบทหารและเผด็จการ เพราะระบบการเมืองมันไม่มีประสิทธิภาพ

“มีคนด่าฉันว่า…ฉันชื่นชมอำมาตย์ ทหาร เผด็จการ…เออ…ใช่ ด้วยเพียงแค่…เพราะระบบการเมืองมันยังไม่มีประสิทธิภาพ ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีเลย… มีคนบอกว่า…เผด็จการมันไล่ไม่ได้ ฉันก็ตอบเลยว่า…เผด็จการรัฐสภา แม่งก็ไล่ยาก เผด็จการทหาร เผด็จการรัฐสภาจากทุนนิยม…ก็ไล่ยากทั้งคู่แหละว่ะ…”

นักแต่งเพลงชื่อดังระบุ

 

มีเสียงตอบโต้ทางวิชาการตามมา อาทิ ดร.อ้อย สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Saranarat Oy Kanjanavanit ระบุว่า ปัญหาของเขาคือ เขาเห็นปัญหาแล้วเขาเลือกทางออก (ประชาธิปไตยแบบ “พ่อขุน”) โดยไม่แคร์ความคิดเห็นคนอื่นๆ ในสังคมเลย

เขาบังคับยัดเยียดเราให้ใช้ทางเลือกของเขาด้วยเส้นสายพร้อมกระบอกปืน

“โปรดอย่ามาพูดว่าก็ไม่เห็นจะมีข้อเสนอทางออกอันใดในตอนนั้นนอกจากรัฐประหาร ข้อเสนอมีเพียบที่จะหาทางให้เกิด transition period ในกระบวนการพัฒนาทางออกใหม่ๆ ที่จะคลี่คลายปัญหาคาอกทุกฝ่าย โดยไม่ต้องตกอยู่ในภาวะกดขี่จากอำนาจล้นหลามของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกนี้ไม่ฟัง ไม่อ่าน ไม่ดู แล้วแย็บปาวๆ “ก็ไม่มีทางอื่น” เราล้วนแต่ต้องการทางออกใหม่ๆ แต่มันสร้างสรรค์อะไรไม่ได้เลยตราบใดที่มีอำนาจเผด็จการกดทับอยู่เช่นนี้ พวกคุณอาจจะสบาย แต่คนอื่นที่คิดต่างจากคุณเขาย่ำแย่ (ป.ล. ชีวิตเขาสำคัญเท่ากับชีวิตคุณ) กฎหมายใหม่ๆ ที่ออกมาหลายฉบับเลวร้ายสุดจะกล่าว ไม่ทราบว่ารู้หรือแคร์หรือไม่”

“สิ่งที่อยากเห็นจากฝ่ายคุณดี้คือการลดอัตตาลง ถ่อมตนลงบ้าง แล้วเปิดใจฟังคนอื่นให้มากขึ้น เขาด่ามาก็ทนบ้าง เพราะมันมีที่มาที่ไปให้ต่อว่า ถ้าข้อเสนอจากคนที่คิดต่างไปจากคุณบ้างมันยังไม่สมบูรณ์ดีงาม ก็อย่าเพิ่งโห่เตะทิ้งไป ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ ช่วยกันพัฒนา คุณไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศนี้แต่เพียงกลุ่มเดียว”

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคนดังกล่าวระบุ

 

ด้าน ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า ถามข้อเดียวถึงคนไม่อยากเลือกตั้ง… ถ้า “เผด็จการ” ก็คือ “ประชาธิปไตย” อีกรูปแบบ ทำไมไม่ถาม “เผด็จการ” 9 ข้ออย่างที่ถาม “ประชาธิปไตย”

ขณะที่ ผศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ ตั้งคำถามโดยคิดต่อจากข้อเสนอของดี้ โดยเห็นว่าหลายคนอ่านแล้วคงไม่ชอบ จนถึงมองว่าไม่ฉลาด แต่ความเห็นของดี้คือภาพสะท้อนอันเป็นตัวแทนของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยเช่นกัน

เพราะต้องเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้มองว่านับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 กระบวนการรัฐสภามันถูกบิดผันและไม่ให้คำตอบในหลายเรื่อง

สุดท้ายจึงเลือกที่จะทนอยู่กับ คสช. แม้อาจจะไม่ชอบเผด็จการทหารนักก็ตาม

ผศ.ปิยบุตรมองว่า นี่คือเหตุผลที่ว่าเสื้อแดงและคนต่างจังหวัดที่ไม่ชอบทหารก็ไม่สามารถล้ม คสช. ได้ เพราะในภาพรวมคนชั้นกลาง-คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยยังสนับสนุนอยู่ โดยพลังนี้ก็เริ่มที่จะทนไม่ไหวหรือไม่พอใจ แต่ก็ไม่มีทางออก

ผศ.ปิยบุตรเสนอว่า นี่คือช่วงเวลาที่น่าจะสร้างทางเลือกใหม่ซึ่งแม้จะไม่ชนะแต่ก็ทำให้คนมีความหวังกับการเมืองและกลับมาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง ให้คนชั้นกลางและคนกรุงเทพฯ จำนวนมากเชื่อว่าเผด็จการทหารไม่ใช่ทางออก

เมื่อไม่มี คสช. ก็ไม่จำเป็นต้องกลับไปสู่การเมืองแบบเดิม

 

สําหรับคนที่ติดตามการเมืองมาสักพักก็คงไม่แปลกใจกับความเห็นของดี้ เพราะเขาเองโพสเฟซบุ๊กแสดงความเห็นทางการเมืองบ่อยครั้งและประกาศตัวว่าเป็นทีม คสช.

แต่ดี้ก็ไม่ใช่คนที่ชื่นชอบ คสช. โดยมองว่า ไม่ว่าทำอะไรก็ถูกทุกอย่าง

ยกตัวอย่างกรณีสังคมตั้งคำถามเรื่องนาฬิกาหรู ดี้ก็เป็นอีกคนที่ส่งเสียงดัง กดดันให้ลาออก

และจากความเห็นล่าสุดของดี้ ก็จะพบว่าดี้มีเหตุผลในจุดยืนทางการเมืองพอสมควร ดังความเห็นของ ผศ.ปิยบุตร ที่ออกตัวว่าสามารถแย้งได้ไม่ยากสำหรับจุดยืนประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ตอบโต้ตรงไปตรงมา ทั้งยังนำไปคิดต่อเรื่องทางเลือกใหม่

หากมองเชิงหลักการ การที่เรายังโต้เถียงกันเรื่องจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ก็ดูเป็นเรื่องที่หัวร่อมิได้ ร่ำไห้มิออกเหมือนกัน

เพราะการเลือกตั้งคือพื้นฐานที่สุดของสังคมการเมืองสมัยใหม่ต้องมี

แต่เราก็ยังกลับมาเถียงกันในจุดนี้อยู่ว่าจะเอาหรือไม่ ซึ่งโลกที่เจริญ เขาผ่านจุดนี้มานานแล้ว

แต่ในอีกมุมหนึ่ง นี่คือการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญในการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมากขึ้น ในแง่ของประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้คนในสังคม ที่จะต้องเรียนรู้ หาสัญญาประชาคมทางการเมืองแท้จริง

ไม่ใช่จากผู้มีอำนาจคิดขึ้นเอง

เพื่อสร้างพื้นที่ยืนร่วมกัน ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้นั่นเอง