ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น
ระเบียบโลกปั่นป่วน
ในยุค ‘ตัวใครตัวมัน’
ผมต้องขยี้ตาหลายรอบเมื่อเห็นรายชื่อประเทศที่คัดค้านญัตติสหประชาชาติที่เรียกร้องให้ยุติสงครามยูเครน และประณามรัสเซียในฐานะผู้รุกราน
เพราะหัวแถวที่ยกมือค้านคือสหรัฐ
ตามมาด้วยรัสเซีย, เกาหลีเหนือและเบลารุส
กับอีก 15 ประเทศที่ส่วนใหญ่อยู่ทวีปแอฟริกา
เป็นการลงมติเนื่องในโอกาสครบ 3 ปีของสงครามยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า “ระเบียบโลก” ถูกเขย่าอย่างหนักหน่วงรุนแรงที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
“กติกาใหม่” อันเกิดจากการกลับมาทำเนียบขาวรอบที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะสรุปได้ (อย่างน่าตกใจ) ว่า
1. ประเทศไหนมีพลังอำนาจเหนือกว่าก็สามารถละเมิดอธิปไตยด้วยการส่งทหารเข้ายึดครองพื้นที่ของรัฐที่มีพลังอำนาจอ่อนด้อยกว่าได้
…โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าถ้าการเข้ายึดครองนั้นสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐ
2. ปัจจัยที่กำหนดนโยบายของมหาอำนาจอย่างอเมริกาคือตัวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจล้วนๆ
ตามหลักคิดแบบของทรัมป์ ทุกอย่างเป็น “ธุรกรรม” (transactional) โดยตัวเลขขาดดุล-เกินดุลการค้าเป็นประเด็นพิจารณาหลักของนโยบายมหาอำนาจ
นั่นแปลว่ามิติความมั่นคง สงครามการค้า สงครามเศรษฐกิจ และสงครามในสนามรบจริง คือ สิ่งที่เจรจา ต่อรองแลกเปลี่ยนกันได้ทั้งสิ้น
เดิมสหรัฐเป็นประเทศที่วางกติกาว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรม, มนุษยธรรม และการช่วยเหลือเกื้อกูลประเทศที่อ่อนแอกว่า
อีกทั้งยังชักชวนคนทั้งโลกให้เคารพในความหลากหลายทางความคิด, เพศสภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
แต่วันนี้หลักการเหล่านี้กลายเป็นเรื่อง “ไร้สาระ” ในการกำหนดทิศทางนโยบายของมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกแล้ว
คำถามต่อมาก็คือเมื่อทรัมป์ทำลาย “ระเบียบโลก” ที่เป็น “เสาหลัก” ของ “โลกเสรี” ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ฉากทัศน์ของ “ระเบียบโลกใหม่” จะเป็นอย่างไร
นโยบาย America First หรือ “อเมริกาต้องมาก่อน” ทำให้เกิดความคลางแคลงใจต่อสถาบันพหุภาคี
อีกทั้งแนวทางการ “ทำธุรกรรมทางการทูต” อาจเร่งการกัดเซาะของพันธมิตรและสถาบันที่มีมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็น นาโต สหประชาชาติ และองค์การการค้าโลก (NATO, UN, WTO)
ความเป็นไปได้ที่จะเกิดระเบียบโลกใหม่มีอย่างน้อย 3 กรณี
1 : การเกิดขึ้นของโลกที่มีหลายขั้วอำนาจหรือ Multipolar World
การเสื่อมถอยของความเป็นผู้นำระดับโลกของสหรัฐ ภายใต้การนำของทรัมป์อาจนำไปสู่โลกที่มีหลายขั้วอำนาจ
ผมมองไปที่จีน สหภาพยุโรป และรัสเซียที่อาจฟื้นคืนอำนาจขึ้นมาอีกครั้ง
กลายมาเป็นผู้เล่นที่มีอำนาจเหนือกว่าควบคู่ไปกับสหรัฐ
เมื่อสหรัฐถอยห่างจากสถาบันระหว่างประเทศ จีนก็อาจเข้ามาแทนที่เพื่อถมช่องว่างนี้
ชัดเจนว่าปักกิ่งขยายโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) เสริมความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตร BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้)
และเพิ่มอิทธิพลในประเทศกำลังพัฒนาหรือ Global South ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ
สหภาพยุโรปจะถูกกระตุ้นให้ต้องรวมตัวกันอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นถ้าทรัมป์ตัดสินใจละทิ้งความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์เดิม
สหภาพยุโรปคงจะเร่งดำเนินการริเริ่มด้านการป้องกันประเทศของตนเอง เพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหาร และผลักดันให้ “แยกวง” ทางยุทธศาสตร์
รัสเซียก็น่าจะใช้ประโยชน์จากการถอนตัวของอเมริกาจากยุโรปเพื่อเสริมสร้างอิทธิพลในยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
มอสโกก็อาจคิดขยายตัวทางทหารและเศรษฐกิจขณะที่ความแข็งแกร่งของนาโตเริ่มเสื่อมคลาย
สหรัฐภายใต้การบริหารแบบโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้นด้วยการลดความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ถอนทหารออกจากฐานทัพในต่างแดน และกดดันพันธมิตรให้แบกรับภาระด้านความปลอดภัยที่มากขึ้น
วอชิงตันของทรัมป์จะมุ่งเน้นไปที่ปัญหาภายในประเทศและจำกัดบทบาทของตัวเองในเวทีระหว่างประเทศ
ฉากทัศน์ที่ 2 คือการเพิ่มขึ้นของกลุ่มอำนาจระดับภูมิภาค
นั่นหมายถึงการแบ่งโลกออกเป็นกลุ่มอำนาจระดับภูมิภาค โดยแต่ละกลุ่มมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การทหาร และการเมืองเป็นของตัวเอง
เมื่อสหรัฐลดขนาดพันธกรณีในระดับโลกลง ผู้มีบทบาทในภูมิภาคก็รวมอิทธิพลของตนเข้าด้วยกันและแสวงหาพันธมิตรทางเลือก
กลุ่มอำนาจเอเชียก็จะนำโดยจีน
กลุ่มที่เน้นเอเชียเป็นศูนย์กลางก่อตัวขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศต่างๆ เช่น รัสเซีย อิหร่าน ปากีสถาน และประเทศอื่นๆ ที่สอดคล้องกับวาระเศรษฐกิจและความมั่นคงของปักกิ่ง องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) มีอิทธิพลมากขึ้น และจีนก็อาจมุ่งรวบอำนาจเหนือในทะเลจีนใต้เข้าด้วยกัน
อีกกลุ่มหนึ่งคือสหภาพยุโรปซึ่งอาจถูกกดดันให้สร้างกลไกการป้องกันที่แข็งแกร่งขึ้นซึ่งเป็นอิสระจากนาโต
อีกทั้งพยายามสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจต่อความไม่แน่นอนของอเมริกา
และส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแอฟริกาและละตินอเมริกา
อีกด้านหนึ่งประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกาที่ผิดหวังกับนโยบายของสหรัฐ ก็จะเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีนและข้อตกลงการค้าในภูมิภาค เช่น พันธมิตรแปซิฟิกและเมอร์โคซูร์ ซึ่งได้รับความสำคัญมากขึ้น
และต้องไม่มองข้ามแนวทางตะวันออกกลางและแอฟริกา
เพราะตะวันออกกลางอาจเริ่มตระหนักในการเปลี่ยนแปลงของพันธมิตรเนื่องจากรัฐในอ่าวเปอร์เซียต้องการความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียมากขึ้น
ในขณะที่ลดการพึ่งพาสหรัฐอเมริกา
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของแอฟริกากับจีนจะเพิ่มพูนขึ้น และองค์กรในภูมิภาค เช่น สหภาพแอฟริกาได้รับอิสระจากอิทธิพลของชาติตะวันตกมากขึ้น
แต่ฉากทัศน์ที่ 3 น่าหวาดหวั่นกว่าอีกสองภาพที่ว่ามา
นั่นคือความไม่มั่นคงของโลกและการปริแตกของเศรษฐกิจ เมื่อทรัมป์ฉีกกติกาทุกข้อของระเบียบโลกเก่า ภาพ”เลวร้ายที่สุด” คือโลกที่ล่มสลาย
นำไปสู่ความไม่มั่นคงในวงกว้าง การแบ่งแยกทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น
หากไร้ผู้นำที่ชัดเจนหรือสถาบันระหว่างประเทศที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความวุ่นวายก็อาจแพร่กระจายไปในหลายภูมิภาค
การล่มสลายของข้อตกลงการค้าพหุภาคีทำให้มีอัตราภาษีที่สูงขึ้น การแยกทางเศรษฐกิจ และการหวนกลับไปใช้นโยบายแบบพาณิชยนิยม
องค์การการค้าโลกซึ่งอ่อนแออยู่แล้วนั้นจะไร้ความหมายเพราะเศรษฐกิจหลักๆ จะตัดสินใจกำหนดข้อจำกัดทางการค้าฝ่ายเดียว
ในลักษณะ “ตัวใครตัวมัน” อย่างจะแจ้ง
มีความเป็นไปได้สูงว่าในภาวะเช่นนี้ความขัดแย้งในภูมิภาคอาจทวีความรุนแรงขึ้น
ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี และยุโรปตะวันออกอาจปะทุขึ้น
น่าหวาดหวั่นด้วยว่าสิ่งที่จะตามมาคือวิกฤตการณ์ทางการเงิน
เพราะหากไม่มีกรอบเศรษฐกิจที่มั่นคง สงครามสกุลเงินและวิกฤตการณ์ทางการเงินจะเกิดขึ้นถี่ขึ้น
อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐถูกท้าทายโดยระบบการเงินทางเลือก
รวมถึงสกุลเงินดิจิทัลที่อาจได้รับการหนุนหลังโดยจีนอาจจะผงาดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
มีความน่ากังวลด้วยว่าในสถานการณ์เช่นนี้ธรรมาภิบาลโลกที่อ่อนแอลง
เพราะสถาบันต่างๆ เช่น สหประชาชาติและธนาคารโลกต้องดิ้นรนเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้กุมกฎโดยประเทศต่างๆ ไม่สนใจข้อตกลงระหว่างประเทศ
ความคิดริเริ่มด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหยุดชะงัก ทำให้วิกฤตสิ่งแวดล้อมเลวร้ายลง
มองภาพที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือสถานการณ์นี้ทำให้เกิดช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน ความยากจนทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น และการปกครองแบบเผด็จการก็จะเบ่งบาน
เพราะรัฐบาลหันไปใช้ลัทธิชาตินิยมและการทหารเพื่อรักษาฐานอำนาจตัวเอง
นั่นอาจจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่จะทวีความรุนแรงขึ้น
และนำไปสู่ความไม่สงบทางสังคมที่จะเกิดขึ้นบ่อยขึ้นและหนักหน่วงกว่าเดิม
นี่แค่นักคิดเล่นๆ ว่าอนาคตของโลกจะเป็นอย่างไรในปีสองปีข้างหน้า
ถ้าคิดให้ยาวกว่านั้นสงสัยจะเกิดอาการประสาทหลอนหนักแน่นอน!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022