ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ | ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
เปิดตัวตน ‘กิตติรัตน์ ณ ระนอง’
ฟันธง ‘นโยบายการเงิน’
ภายใต้การนำของ ธปท.ผิด
โต้ง – “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดใจให้สัมภาษณ์ยาวๆ กับ “มติชนสุดสัปดาห์” หลังคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติเอกฉันท์ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากเคยนั่งเก้าอี้ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรียุคเศรษฐา ทวีสิน และประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย อันเป็นตำแหน่งทางการเมือง
และต่อมาจ้าตัวออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมไม่มีอะไรค้างคาใจ ผมได้อาสาทำงานให้ประเทศแล้ว ไม่เคยขลาดกลัวหนีหายเอาตัวรอด”
ในประเด็นนี้ นายกิตติรัตน์อธิบายว่า” ไม่ว่าใครจะตีความว่าผมเป็นอะไร ผมไม่มีตำแหน่งใดๆ ในพรรคเพื่อไทย (พท.) มาเป็นเวลานานกว่าปีแล้ว ผมไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในอดีตเคยมีนักกฎหมายดังๆ บอกว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผมก็ไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะบอกว่าผมไปเป็นคณะทำงานนู้นนั่นนี่ พอไปประกบตรงนั้นก็ไปเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการมืองก็ไม่ได้เป็น เพราะไม่เคยไปมีอำนาจสั่งการอะไรใคร และไม่เคยต้องรายงานอะไรกับใคร”
“คนที่ตีความในตัวผม ท่านมีสิทธิ์ ส่วนมีหน้าที่หรือเปล่าก็แล้วแต่ แต่ที่น่าสนใจคือ ก่อนตีความเรื่องตัวผม เรียกไปถาม เรียกผมไปคุยสักครั้งไหม ถ้าไม่เคยเรียกก็ตีความไป ผมเคารพในการตัดสินใจของคนที่เกี่ยวข้อง จะให้ผมเป็นหรือไม่เป็น ผมเคารพ ไม่คัดค้าน แต่ผมไม่จำเป็นต้องเคารพความคิดเห็นที่ผิดๆ และทั้งๆ ที่ความคิดเห็นผิดๆ เหล่านั้น อาจจะปรักปรำผมด้วยซ้ำไป ตกลงผมไม่มีคุณสมบัติแล้วมาสมัคร ผมเป็นอีแอบใช่ไหม ซึ่งยืนยันว่าผมไม่ได้เป็น ทั้งโดยสาระ และโดยรูปแบบ ในส่วนรูปแบบไม่ต้องห่วง ถ้ารูปแบบผิดเขาไม่ให้สมัครตั้งแต่แรกแล้ว และเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าผมมีคุณสมบัติมีไหม เสียงข้างน้อยเคยเอามาให้ใครดูไหม แล้วใครเป็นคนให้ความคิดเห็นที่เป็นเสียงข้างน้อย”
“สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่อยากจะถาม”
ในเรื่องการสมัครเป็นประธานบอร์ด ธปท.ของนายกิตติรัตน์ครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าเขาเป็นคนของ พท. ในประเด็นนี้ เจ้าตัวมองว่า “ในตอนที่มีข่าวเรื่องแบงก์ชาติก็มีคนที่ไม่รู้จัก รุมตำหนิ โจมตีการเมือง ซึ่งผมยอมรับว่าผมเป็นนักการเมือง และผมก็ไม่รู้สึกว่าการเป็นนักการเมืองเป็นคนเลว ผมเห็นครูเลวและเห็นนักการเมืองดีๆ ก็มี ทุกวงการมีทั้งดีและเลว และผมภูมิใจที่เคยเป็นนักการเมืองที่ดี ปัจจุบันผมเป็นสมาชิก พท. ซึ่งจะมาเปลี่ยนแปลงตัวผมทำไม”
เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้บทเรียนอะไรหรือไม่อย่างไร นายกิตติรัตน์ผู้ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ ทางการเมืองมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี, รมว.คลัง, รมว.พาณิชย์ และเก้าอี้สำคัญในพรรคอย่างรองหัวหน้า พท.
กิตติรัตน์พูดถึงเรื่องนี้ว่า “ผมดูคุณสมบัติตัวเอง มั่นใจว่าผมมีคุณสมบัติเพียงพอ ผมได้ทำหน้าที่ของผมแล้ว ดังนั้น ไม่ได้มีบทเรียนอะไร วันนี้อายุ 66-67 แล้ว จะไปเสนอตัวทำไรอีก ไม่มีอะไรที่ทำให้ผมเสียใจหรือได้บทเรียนอะไรทั้งสิ้น”
“สิ่งที่ผมอยากให้บทเรียนคนอื่นคือ อยากเห็นบ้านเมืองนี้ดี อย่าเอาแต่บ่น หลายคนมาบ่นกับผมว่ากิตติรัตน์ทำไมคุณไม่สู้ล่ะ ถ้าคุณเป็นก็ดี ความจริงไม่ใช่ว่าผมไม่สู้ ผมยังสู้อยู่ตลอด เพียงแต่ผมไม่ใช่คนตัดสินใจว่าจะเป็นหรือไม่เป็น และไม่ต้องให้กำลังใจผม ผมเองต่างหากต้องให้กำลังใจว่าท่านกำลังอยู่ในระบบ ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร”
“ดังนั้น กำลังใจผมเต็มเปี่ยมเสมอ และไม่ใช่ว่าตื่นเช้ามาจะคิดว่าไม่ได้เป็นประธานอะไรที่ไหน วันนี้ไม่ได้ต้องมีตำแหน่งอะไร ตำแหน่งของผม โต้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งการที่ผมไม่ได้เป็นประธานบอร์ด ธปท. คนที่ดีใจมากที่สุดคือภรรยาของผมเอง”
“ถามว่าผมอยากเป็นอะไรอีก ผมก็ไม่อยากเป็นอะไรอีกแล้ว อยากเป็นประธาน ธปท.ไหม สนใจจะเป็นเพราะว่าเชื่อว่าถ้าเป็นจะได้ไปพูดจากันข้างในว่าคุณเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าถึงได้บริหารนโยบายการเงินแบบนี้ ถามว่าการเมืองจะมาแทรก ถ้าผมเป็นผมจะไปแทรกการเมืองด้วยว่าอย่าไปคาดหวังนโยบายการเงินอย่างเดียวที่จะช่วยประเทศไทย เนื่องจากนโยบายการคลังหลายอย่างช่วยได้ ซึ่งผมเคยรับผิดชอบตรงนั้นมาก่อน”
“ผมไม่ได้พยายามไปอวดรู้ว่ารู้มากกว่ารัฐมนตรีในรัฐบาล เพียงแต่ว่าเรายอมรับความจริงกันไหมว่าที่ท่านคิดว่ารู้ก็รู้ไม่หมด แม้กระทั่งสิ่งที่ผมรู้ก็รู้ไม่หมด แต่ผมมั่นใจว่าสิ่งที่ผมรู้ถ้าฟังจะเป็นประโยชน์ และไปตรวจสอบ ถ้าไม่จริงก็ทำตามที่ท่านเชื่อได้ แต่วันนี้เราอยู่ในลักษณะไม่ปรึกษาหารือกันเลย”
นายกิตติรัตน์ร่ายยาวให้ฟังอีกว่า “ผมไม่มีหน้าที่อะไรมากมายที่จะต้องอยากเห็น ธปท.ดีกว่าที่เป็นอยู่เพราะเขาคิดว่าเขาดีแล้ว เขาคิดว่าเขารู้แล้ว คิดว่าการไปเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยสูงๆ ในวิชาเศรษฐศาสตร์ ทำให้เข้าใจวิธีการบริหารดี การที่ผมเรียนมาทางเศรษฐศาสตร์ ปริมาณวิเคราะห์ ผมใช้สมการไม่ได้แปลว่าใช้สมการชุดเดียวกันสามารถอธิบายโลกเศรษฐกิจได้ทั้งโลก ทำให้เราเห็นว่าสมการชุดนี้อธิบายได้กับประเทศนี้ บริบทของความเป็นประเทศนี้ต้องเข้าใจไปในทางลึกด้วย”
อดีตรองนายกรัฐมนตรีผู้นี้ เปรียบเทียบให้ฟังว่า “คนที่เรียนหนังสือดีๆ มาแต่ไม่เคยกินบะหมี่ข้างทาง อาจมีค่าตอบแทนที่สูงมากๆ และไม่รู้เลยว่าประชาชนเขาอยู่กันอย่างไร การที่คุณจะไปบริหารนโยบายทางเศรษฐกิจที่ดีเป็นไปได้ไหม และบางเรื่องเป็นเรื่องที่ผมกังขามาก เช่น ท่านทราบอยู่แล้วเรื่องหนี้ครัวเรือนกับ GDP มาจากการรวมรายได้ของคนในประเทศตลอดเวลา 1 ปี หนี้ครัวเรือนยอดคงค้างสูงเท่าๆ กับ GDP แล้ว น้อยกว่านิดหน่อยแต่ใกล้เคียง GDP ถ้าโตแค่ 2% แล้วหนี้ครัวเรือนที่โตเกือบเท่ากัน แต่ดอกเบี้ยสูงกว่ามาก ประชาชนที่เขาอยู่กับหนี้แบบนั้น จะหารายได้ที่ไหนมาจ่ายหนี้ได้ ภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังรวมทั้งประเทศเกิดขึ้นแน่ๆ”
“ผมอยากเสนอว่า ถ้าคิดว่าดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลงมาแล้วประเทศจะเสียหาย อธิบายเหตุผลมาหน่อย ถ้าคุณบอกว่าหากดอกเบี้ยต่ำเดี๋ยวคนจะไปกู้กันเยอะ คนให้กู้ก็อย่าไปให้เขากู้ กลับกันการไปให้กู้แล้วคิดดอกเบี้ยแพงๆ ถูกต้องไหม ทั้งนี้ ในมุมของการบริหารเศรษฐกิจไม่ใช่ให้โตอย่างเดียว คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาจะรู้ดีว่าเป้าหมายคือการเติบโต การมีเสถียรภาพ การกระจายรายได้ 2 ประเด็นหลังเป็นประเด็นที่นักบริหารเศษฐกิจหลายประเทศ ซึ่งอาจรวมถึงประเทศไทยหลายช่วงเวลาให้ความสำคัญกับเรื่องของสเถียรภาพกับการกระจายรายได้ และอยากได้การเจริญเติบโต บริหารไปอยากให้โต มุ่งไปมุ่งมาก็ละเลย 2 ตัวหลัง ส่งผลให้ 2 ตัวหลัง จึงเป็นแรงฉุดรั้งการเจริญเติบโต ในขณะที่ถ้าปรับปรุง 2 ตัวหลังได้ การเจริญเติบโตก็มาเองด้วย เพราะเวลาคนที่มีความยากจนเป็นทุนเดิม จะเอาที่ไหนมาบริโภค และถ้าบริโภคไม่ได้จะโตได้อย่างไร”
นายกิตติรัตน์เล่าด้วยว่า “ได้มีโอกาสฟังอดีตนายกรัฐมนตรี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ พูด จัดโดยสื่อมวลชนด้านตลาดทุน ท่านบอกว่าเดี๋ยวนี้เป็นอะไรก็ไม่รู้ เหมือนเรามีกำแพงกั้น ต้องถ่วงดุลกัน ไม่พูดไม่จากัน ภาครัฐไม่กล้าพูดกับเอกชน ภาครัฐก็ไม่กล้าพูดกับอีกหน่วยงานหนึ่ง เขาบอกเขาเป็นอิสระ ซึ่งอิสระทางความคิดก็อิสระไป ต่อให้สามีภรรยาอีกคนอยู่หน่วยหนึ่งก็ไม่ต้องไปหย่ากัน คุณก็ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงก็แล้วกัน แต่คุณต้องกล้าพูด กล้าเสนอในสิ่งที่ถูกต้องในสังคมที่เปิด เดี๋ยวนี้มีคำว่า คนดีย์ ผมไม่รู้ว่ามาจากอะไร แต่คงมาจากการเหน็บแหนบเสียดสีก็แล้วแต่ ต้องบอกว่า กิตติรัตน์ไม่ใช่คนดีอะไร พร้อมจะทะเลาะกับคน แต่ผมคิดว่าผมชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้”
หลายคนคงอยากรู้ว่า หลังจากพ้นตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรียุคเศรษฐา ทวีสิน นายกิตติรัตน์ไปทำงานที่ไหน เรื่องนี้ เจ้าตัวเฉลยให้ฟังว่า “ยังคงทำงานอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกษตร แก้ไขหนี้ แก้ท่วม แก้แล้ง แก้ฝุ่น ถ้าถามว่าทำงานอย่างไร ก็ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ผมเชื่อว่ามีคำตอบที่มากพอสมควร เกิดประโยชน์กับการทำงานในเรื่องเหล่านี้ ถ้าหากส่วนราชการใดมีความสนใจเข้ามาสอบถาม ผมยินดีให้ข้อมูล
หรือบางทีเพื่อความสบายใจ ผมก็แนะนำให้ไปพบกับนักวิชาการที่ผมทำงานด้วย และนักวิชาการเหล่านั้นก็ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง
“ไม่ได้แปลว่าพอไม่ได้เป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.แล้วจะล่มสลาย ชีวิตผมดีด้วยซ้ำไปเพราะผมมีความเชื่อว่าวิธีการบริหารเศรษฐกิจของนโยบายการเงินภายใต้การนำของ ธปท.ในปัจจุบันมันผิด”
ถามว่า มองนโยบายต่างๆ ของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้อย่างไร
“ผมคิดว่านโยบายต่างๆ ครอบคลุมดีทีเดียว ส่วนที่น่าให้กำลังใจคือ การจะทำให้เกิดผลสำเร็จของนโยบายเหล่านั้น อยากเห็นเกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น เรารู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องทำ 8 ข้อ ต้องทำให้ดินดี ต้องใส่ปุ๋ยให้ถูกสูตร ต้องอย่าเผาแปลงเกษตร เกี่ยวข้องกับการใช้ฝายซีเมนต์ชะลอน้ำไม่ให้ไหลพรวด การจะทำแหล่งน้ำขนาดย่อมต่างๆ สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องในทางปฏิบัติและต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ ผมหวังว่าทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะมาช่วยกันทำ”
นายกิตติรัตน์ยังพูดถึงเรื่องความเป็นแดงของตัวเองว่า “แดงแน่นอน ความหมายของคำว่าแดง แปลว่าอะไร ถ้าบอกว่าแดงไม่รักสถาบัน คุณไปถามแดงจริงๆ เขาเป็นอย่างนั้นไหม หรือว่าเดี๋ยวนี้เป็นแดงรักสถาบัน ไม่เกี่ยวกับแดงไม่แดง คนที่เป็นแดงในความเห็นของผม คือคนที่อยากเห็นคนด้อยโอกาสมีโอกาสที่ดีขึ้น ดังนั้น ถ้าเป็นแดงในความหมายนี้ต้องปลื้ม”
“แต่ถ้าพูดคำนี้ไม่ได้หมายความว่าสีอื่นไม่ดีอย่างไร คุณก็เป็นของคุณไป ไม่เกี่ยวกับความเป็นแดงของผม หรือว่าวันนี้ผมเป็นสมาชิก พท. ผมก็เป็นของผม ผมไม่เคยว่าพรรคอื่นไม่ดีเท่า พท. เพราะผมไม่รู้และไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคอื่น ผมเป็นสมาชิก พท.ตลอดชีพ ไม่ได้สมัครเป็นปีๆ”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022