คุยกับทูต | วิคเตอร์ ซีมีนอฟ ยูเครน : สามปีแห่งการท้าทาย ต่อการรุกรานทางทหารของรัสเซีย (จบ)

คุยกับทูต | วิคเตอร์ ซีมีนอฟ

ยูเครน : สามปีแห่งการท้าทาย

ต่อการรุกรานทางทหารของรัสเซีย (จบ)

 

รัสเซียกับยูเครนได้เปิดฉาก “สงครามโดรน” ที่แต่ละฝ่ายเน้นใช้อากาศยานไร้คนขับถล่มโจมตีเข้าใส่กันอย่างไม่ยั้ง โดยถือว่าเป็นยุทธการที่รบกันด้วยโดรนครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่สงครามระหว่างสองประเทศได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022

นายวิคเตอร์ ซีมีนอฟ (Viktor Semenov) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทยกล่าวถึง “โดรน” ปัจจัยสำคัญสำหรับชัยชนะในสงครามยุคใหม่

“การเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ๆ ของโดรน ยุทธภัณฑ์สงคราม เทคโนโลยีความมั่นคง นับเป็นอาวุธสำคัญของกองทัพยูเครน โดรนนับพันลำถูกใช้ในสงครามยูเครน ทั้งเพื่อระบุตำแหน่งศัตรู ปล่อยขีปนาวุธ และการโจมตีโดยตรง เช่น โดรนตรวจจับ ออกแบบมาเพื่อทำลายและกำจัดโดรนที่เป็นศัตรูหรือไม่ได้รับอนุญาต โดรนขับเคลื่อนด้วยไอพ่นที่ตรวจจับได้ยาก และการใช้ระบบ fiber optic ในการบังคับโดรน ทำให้สงครามอิเล็กทรอนิกส์สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสนามรบและสร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ให้กับรัสเซียผู้รุกราน”

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวถึง อากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicles (UAVs) นั้นหมายถึง อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินที่เป็นมนุษย์อยู่บนเครื่อง แต่ใช้การบังคับหรือควบคุมจากระยะไกลแทน โดยปกติทั่วไปเรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “โดรน” แต่จริงๆ แล้วโดรนนั้นรวมไปถึงยานพาหนะหรือหุ่นยนต์อื่นๆ ที่มีการบังคับจากระยะไกลด้วย ส่วนคำว่า UAVs จะใช้เรียกสำหรับอากาศยาน (บินได้) เท่านั้น

นายวิคเตอร์ ซีมีนอฟ (Viktor Semenov) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

“ในยูเครน สังคมทั่วประเทศได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้ประกอบการและวิศวกรต่างพัฒนาเทคโนโลยีโดรนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับให้เข้ากับสถานการณ์ในสนามรบ ที่เปลี่ยนแปลงไป”

“ในแนวหน้า ทหารยูเครนจะบังคับโดรนเหล่านี้อย่างชำนาญเพื่อขัดขวางการปฏิบัติการของศัตรู ในขณะเดียวกัน อาสาสมัครก็ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อจัดหาส่วนประกอบจากทั่วทุกมุมโลก”

“โดรนของยูเครนสะท้อนถึงการผสมผสานที่น่าทึ่งในระหว่างนวัตกรรม ความมุ่งมั่น และความสามัคคีของคนในชาติ ขณะที่เทคโนโลยียังคงกำหนดอนาคตของสงคราม ยูเครนแสดงให้เห็นว่าสังคมสามารถใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์และจิตวิญญาณของชุมชนเพื่อปกป้องเสรีภาพจากศัตรูที่ใหญ่กว่าได้อย่างไร”

“ยูเครนและพันธมิตรของเรายินดีแบ่งปันบทเรียนที่ได้มาอย่างยากลำบากดังกล่าวนี้ เพื่อช่วยป้องกันการรุกรานในที่แห่งอื่นๆ และรักษาเสถียรภาพของระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์”

ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิมีร์ เซเลนสกี -Volodymyr Zelensky ภาพ – ABC news

เรียกร้องชาติพันธมิตรให้การสนับสนุนสันติภาพ

“ไม่มีประเทศใดปรารถนาสันติภาพมากไปกว่ายูเครน (No one wants peace more than the people of Ukraine) เรายินดีได้รับการสนับสนุนสันติภาพอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตรของเรา อย่างไรก็ตาม ควรระลึกเสมอว่า การรุกรานยูเครนของกองทัพรัสเซียไม่ได้เริ่มต้นในปี 2022 แต่เริ่มต้นในปี 2014 จากการที่รัสเซียยึดครองสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย (Crimea) และเมืองเซวาสโทโพล (Sevastopol) เป็นการชั่วคราว และการส่งกองกำลังของรัสเซียไปยังภูมิภาคโดเนตสค์ (Donetsk) และลูฮันสค์ (Luhansk) ของยูเครน ซึ่งในเวลานั้น เป็นการแสวงหาสันติภาพภายใต้ข้อตกลงหยุดยิงที่เรียกว่า มินสค์ 1 และ มินสค์ 2 (Minsk Agreements 1 & 2)”

มินสค์ 1 ลงนามในเดือนกันยายน 2014 และมินสค์ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015

“ความจริงที่ว่ามินสค์ 1 และ 2 ได้รับการลงนามในเวลาห่างกันเพียงห้าเดือน หลังจากที่รัสเซียละเมิดข้อตกลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยมีการตอบโต้จากนานาชาติเพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้การรุกรานรุนแรงขึ้นอีก และจุดสุดยอด คือการรุกรานเต็มรูปแบบในปี 2022”

“ประวัติศาสตร์นี้ช่วยอธิบายว่า ทำไมชาวยูเครนจำนวนมากจึงยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพที่ปราศจากการรับประกันที่มั่นคง น่าเชื่อถือ และยั่งยืน เพื่อป้องกันการรุกรานซ้ำอีก”

“นั่นคือเหตุผลที่ชาวยูเครนไม่ต้องการเพียงแค่ข้อตกลงหยุดยิงเท่านั้น หากแต่ต้องการการฟื้นฟูสันติภาพที่ครอบคลุม ยุติธรรม และยั่งยืน”

EU ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตโปแลนด์และยูเครน ฉายภาพยนตร์เรื่อง “People” ถ่ายทอดความทุกข์ทรมาน

สาเหตุหลักของสงครามครั้งนี้

คือจักรวรรดินิยมรัสเซีย

“ในช่วงเวลาสำคัญนี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กำลังแสวงหาการเจรจาอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ใช่กับเรา ยูเครน หากเป็นการเจรจาโดยตรงกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การกีดกันยูเครนออกจากการหารือดังกล่าวถือเป็นแนวทางที่มีข้อบกพร่อง ซึ่งประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพ การเจรจาก่อนหน้านี้ที่ดำเนินการโดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยูเครน ส่งผลให้เกิดการรุกรานทางทหารเป็นเวลานาน และทำให้สถานะของยูเครนอ่อนแอลง เราไม่สามารถปล่อยให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้ซ้ำอีกได้”

ทั้งนี้ ความทะเยอทะยานของรัสเซียยังขยายเกินขอบเขตยูเครนเข้าไปในกลุ่มประเทศรัฐบอลติก

“สื่อมวลชนของรัสเซียได้เปิดเผยแผนของพวกเขาที่จะใช้อิทธิพลเหนือกลุ่มรัฐบอลติก คือลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย เพื่อยึดครองดินแดนเหล่านั้นในลักษณะเดียวกับที่ทำในไครเมีย”

“ดังนั้น เจตนาเชิงยุทธศาสตร์ในการสร้างความไม่มั่นคงและควบคุมภูมิภาคจึงชัดเจน ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการตอบโต้การกระทำที่ผิดกฎหมายของรัสเซียอย่างแข็งขันและเป็นหนึ่งเดียว เนื่องจากการประนีประนอมใดๆ อาจทำให้ประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยมีอำนาจมากขึ้น”

ทหารหน่วยลาดตระเวนทางอากาศพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยูเครน Khyzhak ถือโดรน FPV ในมือ

ยูเครนยืนหยัดอย่างมั่นคง

โดยไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ถ้ายูเครนไม่มีส่วนร่วม

“หลักการ ‘ไม่มีอะไรเกี่ยวกับยูเครนโดยปราศจากยูเครน’ (nothing about Ukraine without Ukraine) ถือเป็นหลักการพื้นฐาน การเจรจาสันติภาพใดๆ จะต้องพิจารณาผ่านมุมมองของผลประโยชน์ของชาติยูเครนและกฎหมายระหว่างประเทศ ยูเครนที่เข้มแข็งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคและสร้างสันติภาพที่ยุติธรรม ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความสามัคคีข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในบริบทของการรับประกันความมั่นคงสำหรับยูเครน”

“การปฏิบัติตามหลักการ ‘สันติภาพผ่านความแข็งแกร่ง’ (peace through strength) ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งของสหรัฐ และการเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยวิธีการคว่ำบาตรรัฐผู้รุกราน”

“เป็นเรื่องสำคัญของนานาประเทศที่ยึดมั่นตามเป้าหมายและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศจะต้องมีจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียวในการยุติสงครามอย่างยุติธรรม และมีการรับประกันความมั่นคงที่เข้มแข็งและเชื่อถือได้”

หนังสือพิมพ์รายวันอุทิศหน้าปกเป็นภาพการสนทนาทางโทรศัพท์ครั้งล่าสุดระหว่างประธานาธิบดีปูตินกับทรัมป์
อาคารต่างๆ ได้รับความเสียหายจากการโจมตีด้วยโดรนและขีปนาวุธในเมืองลวิฟ-Lviv ทางตะวันตก

ผลลัพธ์ของสงครามเต็มรูปแบบ

ของรัสเซียกับยูเครน

จะกำหนดระเบียบโลกในอนาคต

“เราต้องการสันติภาพจากการสร้างขึ้นที่ไม่ใช่ด้วยการประนีประนอมกับผู้รุกราน แต่จากการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ การให้รางวัลแก่รัสเซียสำหรับการรุกรานจะนำไปสู่โลกที่เต็มไปด้วยอันตราย”

“การวางยุทธศาสตร์ที่ระมัดระวังจนเกินไป การจัดการการยกระดับ และการประนีประนอม ล้วนล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง เมื่อต้องทำความตกลงกับมอสโก”

การรุกรานยูเครนของรัสเซียโดยสงครามเต็มรูปแบบตลอด 3 ปีที่ผ่านมาถือเป็นการกระทำที่ไร้ความชอบธรรม สร้างความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์และทรัพย์สิน เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การปกป้องกฎระเบียบระหว่างประเทศตามกฎเกณฑ์ รวมทั้งสิทธิของทุกรัฐในการตัดสินใจในนโยบายด้านความมั่นคง

อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครน วิคเตอร์ ซีมีนอฟ เน้นย้ำว่า

“การบรรลุสันติภาพและความมั่นคงเท่านั้น เป็นเส้นทางเดียวที่จะทำให้เราได้เดินไปข้างหน้าด้วยย่างก้าวอันแข็งแกร่ง การรับประกันสันติภาพที่มั่นคงและยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และจะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อมีการรับประกันความปลอดภัยที่เข้มแข็งเท่านั้น” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin