THE BRUTALIST : ‘อีกด้านของตำนานอเมริกัน’

นพมาส แววหงส์

The Brutalist เป็นหนังมาแรงของปีที่ผ่านมา ได้รับเสียงสดุดีและความนิยมชมชอบจากนักวิจารณ์และแฟนภาพยนตร์พันธุ์แท้ที่ไม่ยอมให้หนังดีหลุดรอดสายตาไปได้

นับแต่สิ้นปีที่แล้ว หนังกวาดรางวัลไปมากมายจากหลายสถาบัน และอยู่ในโผเต็งหนึ่งของออสการ์สำหรับหลายรางวัลใหญ่ ถ้าเผื่อว่าไม่มีกระแสอื่นใดพัดพาพลิกโผไปเสียก่อน…ซึ่งก็อาจมีได้จากการปั่นกระแสในโลกโซเชียลสมัยนี้

เป็นหนังที่เล่าเรื่องราวชีวิตแบบมหากาพย์อันชวนสะท้อนสะท้านและสะเทือนใจของชาวยิวฮังการีที่อพยพมาสู่ดินแดนแห่งเสรีภาพ หนีกระเซอะกระเซิงมาจากประเทศที่ตกอยู่ใต้การครอบครองของนาซีเยอรมัน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

หนีร้อนหวังมาพึ่งเย็นในดินแดนแห่งเสรีภาพและเสมอภาค ซึ่งรัฐธรรมนูญประกาศอวดโอ้ใน “ความฝันแบบอเมริกัน” ซึ่งประชาชนมีความเท่าเทียมโดยถ้วนหน้า และ “การแสวงหาความสุข” (Pursuit of Happiness) เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

หนังเดินเรื่องโดยแบ่งเป็นสองภาค มีช่วงพักสิบห้านาทีคั่นกลาง และแบ่งเรื่องราวเป็นบทๆ เปิดด้วยบทโหมโรง และปิดด้วยบทส่งท้ายอันทรงพลัง

ครอบครัวท็อธเป็นชาวยิวฮังการีที่ถูกจับไปเข้าค่ายกักกัน โดยสามีภรรยาโดนพรากจากกันไปอยู่คนละที่

หลังสงครามใน ค.ศ.1947 ลาสโล ท็อธ (เอเดรียน โบรดี้) เดินทางพร้อม “ความหวังใหม่” ไปสร้างชีวิตใหม่ใน “โลกใหม่” ตามลำพัง โดยไม่ได้ข่าวคราวจากภรรยา ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอเป็นตายร้ายดีประการใด

ภาพแรกที่ผู้อพยพจากยุโรปมองเห็น…และหนังชอบนำเสนอ…เมื่อเดินทางมาขึ้นฝั่งบนดินแดนของอเมริกา คือ รูปปั้นเทพีแห่งเสรีภาพ

ภาพที่ลาสโลเห็นเป็นเทพีแห่งเสรีภาพกลับหัว…ซึ่งเป็นภาพที่ใช้เป็นโปสเตอร์โฆษณา…และต่อมากล้องก็หมุนให้เอียงกระเท่เร่ในแนวนอนซ้าย-ขวา

“สาร” เชิงสัญลักษณ์ของหนังโดดเด่นชัดเจนมากนับแต่ก้าวแรกที่ลาสโลเหยียบแผ่นดินอเมริกา

ลาสโลเดินทางด้วยรถไฟไปหาญาติที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอเมริกาตั้งแต่ก่อนสงคราม และได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น แต่ก็ใช่ว่าจะโอบอุ้มคุ้มชู

เขาถูกจัดให้นอนในห้องเก็บของอันซอมซ่อในร้านเฟอร์นิเจอร์ ต้องเดินออกไปใช้ห้องน้ำคนงานด้านนอกอาคาร และได้รับการออกปากชวนให้ไปกินข้าวที่บ้านเฉพาะวันอาทิตย์ ส่วนวันอื่นๆ ลาสโลต้องไปเข้าคิวรับอาหารจากโรงทานพร้อมคนยากจนไร้ที่อยู่

อัตติลา (อาเลซานโดร นิโวลา) แจ้งข่าวดีให้ทราบว่าเออร์เฌเบ็ต (เฟลิซิตี้ โจนส์) ภรรยาของลาสโลยังมีชีวิต และรอคอยโอกาสจะเดินทางมาอเมริกา แต่เธอไม่สามารถทิ้งหลานสาวกำพร้าไว้ลำพังคนเดียวในบ้านเกิดได้

อัตติลาทิ้งชีวิตเดิมทิ้งรากเหง้าไปหมดสิ้น ใช้ชื่อใหม่ แต่งงานกับสตรีคาทอลิกและเปลี่ยนไปนับถือคาทอลิกตามภรรยา รวมทั้งทิ้งสำเนียงชาวฮังการีไปหมด

ลาสโลช่วยงานร้านเฟอร์นิเจอร์โดยรับงานตกแต่งห้องสมุดในคฤหาสน์มหาเศรษฐี แฮริสัน ลี แวน บิวเรน (กาย เพียร์ซ) โดยลูกชาย แฮร์รี่ ลี (โจ อัลวิน) เป็นคนว่าจ้างเพื่อเป็นของขวัญเซอร์ไพรส์พ่อ

แฮริสันเผอิญกลับบ้านมาก่อนกำหนด และเอะอะเอ็ดตะโรไล่ลาสโลและอัตติลาออกไปโดยไม่ยอมฟังเสียง แถมลูกชายยังเบี้ยวการจ่ายเงินสำหรับงานตกแต่งทั้งหมดเอาดื้อๆ

อัตติลาไล่ลาสโลไปหาที่อยู่อื่นด้วยข้ออ้างที่ไม่เป็นความจริง แต่ในที่สุดแฮริสันก็ส่งคนมาตามลาสโลไป เนื่องจากผลงานของเขาได้รับความชื่นชมมาก

อีกทั้งยังมอบงานออกแบบก่อสร้างสถาบันที่จะเป็นศูนย์รวมของชุมชนให้แก่ลาสโล ซึ่งตอบรับอย่างเหลือเชื่อในชะตากรรมอันพลิกผันของเขา

ชื่อหนัง The Brutalist มีที่มาจากการที่ลาสโลเคยเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในฮังการี ผลงานของเขามีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า Brutalism

สไตล์ของสถาปัตยกรรมแบบนี้คือลักษณะการใช้วัสดุแบบดิบๆ โดยเน้นที่ประโยชน์ใช้สอยมากกว่าการตกแต่งอันวิจิตรพิสดาร แบบสไตล์ที่เกิดและเป็นที่นิยมในทศวรรษ 50-60 อาคารมักจะเป็นวัสดุเปลือย บล็อกคอนกรีต หรือเหล็ก

แต่งานออกแบบของลาสโลในฐานะศิลปิน จะได้แรงบันดาลใจจากความกลมกลืนและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ แสงแดด สายลม เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับนายจ้าง ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้นทุนนิยมที่มีเงินถุงเงินถังแต่ขาดแคลนความรู้ในด้านศิลปะนั้น แปรปรวนขึ้นๆ ลงๆ แต่สิ่งหนึ่งที่แฮริสันต้องการเพื่อชดเชยความด้อยของตัวเองคืออำนาจควบคุม

และสิ่งนั้นย้อนกลับมาทำลายตัวเองและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในที่สุด

หนังทิ้งค้างชะตากรรมของแฮริสันและคนในตระกูลนี้ไว้โดยไม่ให้ข้อสรุป แต่จากเงื่อนงำที่ทิ้งไว้ คนดูก็พอจะได้ข้อสรุปที่สมเหตุสมผลพอควร

นักแสดงทุกคนเล่นได้ลงตัวพอดิบพอดี ไม่ว่าจะเป็นเอเดรียน โบรดี้ เฟลิซิตี้ โจนส์ และกาย เพียร์ซ จนเข้ารอบสุดท้ายและมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลใหญ่อย่างสมศักดิ์ศรี

เหตุการณ์ใน “บทส่งท้าย” เกิดขึ้นหลายสิบปีหลังจากนั้น ซึ่งลาสโลและครอบครัวย้ายจากอเมริกาไปอยู่ในประเทศใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง คือ ประเทศอิสราเอล

ผลงานของลาสโลได้รับการกล่าวขวัญถึงในคำบรรยายของหลานสาวเขา ซึ่งพูดถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบอาคารสถาบันแวน บิวเรน ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ในค่ายกักกันชาวยิวที่เขาเคยถูกจองจำอยู่ในช่วงที่ยากแค้นที่สุดในชีวิต

ในการสัมมนาเชิงวิชาการ โซเฟีย ผู้บรรยายประวัติและผลงานของลาสโล ท็อธ วิเคราะห์ความหมายของงานออกแบบแนวบรูทัลลิสม์และแรงบันดาลใจของเขา และสรุปด้วยถ้อยคำที่ประมวลชีวิตกับมรดกตกทอดของศิลปินที่จะยั่งยืนต่อไปในอนุชนรุ่นหลัง

“ลุงฉันเคยบอกว่า อย่าไปเชื่อคำที่ใครๆ ชอบบอกกันนะ…

…จริงๆ แล้ว จุดหมายปลายทาง (destination) ต่างหากล่ะที่สำคัญ ไม่ใช่การเดินทาง (journey)”

จบได้อย่างลงตัวและสวยงามชวนอึ้งมากเลยเชียว •

THE BRUTALIST

กำกับการแสดง

Brady Corbet

แสดงนำ

Adrien Brody

Felicity Jones

Guy Pearce

Joe Alwyn

Raffey Cassidy

Alessadro Nivola

Emma Laird

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์