ไซเบอร์สุบิน การสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีผ่านศิลปะการแสดง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ไซเบอร์สุบิน

การสำรวจความสัมพันธ์

ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยีผ่านศิลปะการแสดง

 

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมศิลปะการแสดงชุดหนึ่งที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกัน

การแสดงที่ว่านี้มีชื่อว่า ไซเบอร์สุบิน (Cyber Subin) ที่เป็นการร่วมมือระหว่าง พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานี (Pichet Klunchun Dance Company) ร่วมกับ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัยปฏิสัมพันธ์มนุษย์-AI จาก MIT Media Lab ประเทศสหรัฐอเมริกา

การแสดงครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนาฏศิลป์ไทยผ่านเทคโนโลยี ไซเบอร์เนติกส์ (Cybernetics) (ศาสตร์ที่ศึกษาการควบคุมการทำงานของเครื่องจักรหรือสิ่งมีชีวิตที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ซึ่งมักจะใช้ในการวิเคราะห์และออกแบบระบบที่มีความซับซ้อน เช่น ระบบประสาทของมนุษย์ หรือแม้แต่ระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ โดยมักใช้ในการอ้างถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์, หรือการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร) เพื่อขยายขอบเขตของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้ก้าวไกลกว่าอดีตที่เคยเป็น

หนึ่งในแรงบันดาลใจของการแสดงชุดนี้มาจากตอนหนึ่งในมหากาพย์รามายณะ อย่างพิเภกทำนายฝัน ที่กล่าวถึงทศกัณฐ์ ราชาแห่งยักษ์ที่ต้องต่อสู้กับภาพหลอนจากความฝันของเขาเอง โดยพิเภก ผู้เป็นน้องชายและนักพรตตีความความฝันนั้นว่าเป็นลางบอกเหตุถึงสงครามมหาวินาศที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะนำพาอาณาจักรยักษ์สู่ความล่มสลาย

ทศกัณฐ์ปฏิเสธคำเตือนนี้ และขับไล่พิเภกออกจากอาณาจักร ทำให้พิเภกกลายมาเป็นพันธมิตรของพระราม ซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้และวาระสุดท้ายของทศกัณฐ์ในที่สุด

ความฝันของศิลปินผู้สร้างสรรค์การแสดงชุดนี้ คือการสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการหลอมรวมตำนาน วัฒนธรรม และเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน

เพื่อที่จะหาแนวทางในการปรับปรุงวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน ให้เข้ากับโลกปัจจุบันมากขึ้น

โดยการแสดงชุดนี้ถือเป็นบทใหม่ของโครงการหมายเลข 60 ของพิเชษฐที่ถอดรหัสพันธุกรรมของนาฏศิลป์ไทยออกมาได้เป็น 6 องค์ประกอบหลัก และนำมาตีความใหม่เป็นภาษาที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ และสร้างเป็นอัลกอริธึมให้สอดคล้องกับทฤษฎีไซเบอร์เนติกส์ เพื่อแยกและประกอบการเคลื่อนไหวแบบไทยดั้งเดิม และนำเสนอออกมาในรูปแบบใหม่ที่ทำให้ AI สามารถเต้นเคียงคู่กับนักเต้นมนุษย์ได้แบบเรียลไทม์

โดยพิเชษฐ กลั่นชื่น ผู้กำกับการแสดง กล่าวถึงผลงานล่าสุดของเขาครั้งนี้ว่า

“แรงบันดาลใจของการแสดงครั้งนี้ก็เป็นเพียงแค่ เราจะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมของเราถูกดูแลในมิติที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น นี่เป็นหัวใจสำคัญ อีกอย่าง เราต้องการให้คอมพานีของเราเดินทางไปสู่ระดับสากลให้ได้”

“ประเด็นหลักของงานชิ้นนี้ เรามุ่งเน้นไปที่การสื่อสารระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี ว่าวันนี้การที่เรามีเทคโนโลยีอย่างระบบ AI ถ้าเราต้องสื่อสารกับสิ่งนี้ จะเกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง เราจะดูแลตัวเราในโลกยุคปัจจุบันได้อย่างไร กิจกรรมหรือสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันจะมีความสัมพันธ์อย่างไรกับเทคโนโลยีเช่นนี้”

“ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 1923 มีปรากฏการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยคือ เริ่มมีกล้องถ่ายภาพแพร่หลายในประเทศไทย จึงนับเป็นครั้งแรกที่นาฏศิลป์ไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยี คือมีการบันทึกภาพท่ารำเกิดขึ้น”

“การบันทึกภาพท่ารำครั้งนั้น ส่งผลให้เรามีหลักฐานเกี่ยวกับศาสตร์นาฏศิลป์ไทยที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งนี้ส่งผลให้เรามองว่า วันนี้ถ้าเราสร้างกระบวนการผสานนาฏศิลป์ไทยเข้ากับเทคโนโลยี AI จะส่งผลอย่างไร หรือแม้แต่ผมจะสามารถฝากอะไรต่อไปให้กับคนรุ่นหลังในอีก 100 ปีข้างหน้า นี่คือสิ่งที่เราต้องการ”

การแสดงครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการหยิบเอานาฏศิลป์ไทยอย่างโขน มาตีความใหม่ โดยผสานกับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันอย่าง AI ได้อย่างลุ่มลึกและทรงพลังแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการ คือการเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับการแสดง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ป้อนคำสั่งให้ AI ควบคุมการเคลื่อนไหวของเหล่าบรรดานักเต้นบนเวที

ในขณะที่ผู้ชมส่วนใหญ่ (รวมถึงตัวเราเอง) ต่างหัวเราะขบขันไปกับความทุลักทุเลที่นักเต้นต้องตาลีตาเหลือกขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายตามการชี้นำของ AI ให้ทันจนเหนื่อยหอบ เหงื่อโทรมกาย

พิเชษฐและทีมงานกล่าวถึงสถานการณ์ที่ว่านี้ว่า

“ในขั้นตอนนี้ของการแสดง เรากำลังพูดถึงความหมายที่สำคัญมาก ว่าเราจะอยู่ร่วมและทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีอย่างไร เมื่อเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีผลในการเปลี่ยนแปลงความเป็นมนุษย์ หรือการใช้ชีวิตของเราอย่างไร สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อผู้ชมเริ่มหัวเราะขบขัน และเริ่มป้อนคำสั่งให้ AI สร้างท่าเต้นที่มีความซับซ้อนหรือยากขึ้นให้นักเต้นเต้นตามจนเกินขีดจำกัดของตัวเอง นั่นไม่ต่างอะไรกับการที่เราสนุกกับการใช้เครื่องมือนี้ละเมิดความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ในเมื่อเราก็น่าจะรู้ว่าจริงๆ ขอบเขตของมนุษย์นั้นอยู่ตรงไหน แต่เรากำลังสั่งให้นักเต้นเหล่านั้นทำเกินขอบเขตนั้น”

กระบวนการที่ว่านี้ในการแสดง นับเป็นการท้าทายและตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ของผู้ชมอย่างเรา ว่าเรากำลังสนุกสนานกับการที่มนุษย์ (หรือแม้แต่ตัวเราเอง) สามารถใช้อุปกรณ์อย่าง AI ควบคุมหรือแม้แต่กดขี่มนุษย์ด้วยกันเองให้ทำตามคำสั่งอย่างไร้ความเห็นอกเห็นใจได้หรือไม่?

คําถามนี้ทำให้เรานึกไปถึงผลงานของ มารินา อบราโมวิช (Marina Abramović) ศิลปินแสดงสดตัวแม่อย่าง Rhythm 0 (1974) ศิลปะแสดงสดที่มารินาเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ จำนวน 72 ชิ้น อย่าง ดอกกุหลาบ, กรรไกร, ปากกา, ปืนพกบรรจุกระสุน และเชื้อเชิญผู้ชมให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ทำอะไรกับเธอก็ได้ตามใจเป็นเวลา 6 ชั่วโมง โดยที่เธอไม่ต่อต้านหรือป้องกันตัวแม้แต่น้อย

ตอนแรกผู้ชมเริ่มต้นด้วยอะไรเบาๆ อย่างการจูบ หรือเอาขนนกแหย่เธอ

ต่อมาก็เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ บางคนเอาปากกาเขียนบนตัวเธอ บางคนใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าเธอ บางคนกรีดร่างกายเธอด้วยมีดแล้วดูดเลียเลือดของเธอ บางคนลวนลามเธอ หนักที่สุดคือบางคนเอาปืนจ่อหัวเธอ

ผลงานชุดนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของตัวเอง มนุษย์เราก็สามารถทำเรื่องเลวร้ายได้อย่างง่ายดาย เธอยังต้องการให้ผู้ชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและมีประสบการณ์ร่วมในการสร้างงานศิลปะของเธอมากกว่าจะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์อยู่เฉยๆ เท่านั้น

การแสดงครั้งนี้ของพิเชษฐเองก็เป็นเช่นเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มารีนาและพิเชษฐเองก็เคยร่วมงานกันมาก่อนหน้านี้อีกด้วย

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI ในการแสดงครั้งนี้ ยังทำให้เรานึกไปถึงหนังไซไฟอย่าง The Matrix หรือ Blade Runner ซึ่งอ้างอิงไปถึงนิยายวิทยาศาสตร์อย่าง Do Androids Dream of Electric Sheep? ของนักเขียนชาวอเมริกัน ฟิลิป เค. ดิก (Philip K. Dick) ที่สำรวจความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างมนุษย์และแอนดรอยด์ สิ่งมีชีวิตสังเคราะห์สมองกลที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นให้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายมนุษย์จนแทบจะแยกไม่ออก

ความน่าสนใจก็คือ การแยกแยะมนุษย์ออกจากสิ่งมีชีวิตสังเคราะห์เหล่านี้ คือการตรวจสอบความสามารถในการรู้สึกเห็นอกเห็นใจนั่นเอง

ซึ่ง พัทน์ ภัทรนุธาพร นักวิจัยปฏิสัมพันธ์มนุษย์-AI จาก MIT Media Lab ผู้ร่วมงานกับพิเชษฐ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“นิยาย Do Androids Dream of Electric Sheep? นั้นตั้งคำถามกับเราว่า ในยุคสมัยที่เรามีเทคโนโลยีล้ำสมัย ชีวิตของมนุษย์นั้นตกต่ำลงหรือไม่”

“ความเป็นเทคโนโลยี AI นั้นลดทอนความเป็นมนุษย์ไหม เมื่อ AI หรือเครื่องจักรกลเหมือนมนุษย์มากขึ้น”

“เรากำลังทำให้มนุษย์กลายเป็นเครื่องจักรหรือเปล่า ในยุคสมัยปัจจุบัน เรามีเครื่องจักรที่เป็นมนุษย์ แต่เราก็มีมนุษย์ที่เป็นเครื่องจักรด้วย สิ่งนี้เป็นความย้อนแย้งที่ประหลาดมาก ทำไมเราไม่ใช้เทคโนโลยีที่มีความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น”

“สำหรับผม กระบวนการที่เราจะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ คือการกลับไปหารากของเรา มนุษย์เรา ถ้าไม่มีราก เราจะไม่รู้ว่าเราเป็นใคร และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น (เหมือนกับน้ำป่าไหลหลากเข้ามา) เราจะเป็นเหมือนกับต้นไม้ที่ลอยไปตามน้ำ แต่ถ้าเรามีราก มีวัฒนธรรม เราจะรู้ว่าในอดีตเรามาจากไหน ในปัจจุบันเรากำลังทำอะไร ในอนาคตเราจะเป็นอะไรต่อไป”

“เพราะฉะนั้น สำหรับผม การใช้เทคโนโลยี ควรทำให้มนุษย์ไม่ถูกกระบวนการไซเบอร์เนติกส์ทำให้เราต้องเต้นจนเกินขีดจำกัดของตัวเองตลอดเวลา หรือทำให้เราไม่ต้องโดนครอบงำทางวัฒนธรรมโดยที่เราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใครตลอดเวลา”

“สิ่งที่จะทำแบบนี้ได้คือการกลับไปหารากของเราผ่านเทคโนโลยี และใช้เทคโนโลยีทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น”

“เช่นเดียวกับการแสดงที่เราทำในวันนี้ นี่เป็นหน้าที่ของมนุษย์ในทุกรุ่นทุกวัย ที่จะต้องครุ่นคิดว่า เราจะเป็นบรรพบุรุษแบบไหนให้กับคนในอนาคต เราจะสร้างวัฒนธรรมแบบไหนที่คนในอนาคตจะรู้สึกว่า สิ่งนี้นี่แหละที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ดี”

“เพราะคำว่า วัฒนธรรม นั้นมีคำว่า ‘วัฒนะ’ ซึ่งหมายถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ และคำว่า ‘ธรรม’ ที่หมายถึง ความดี เมื่อรวมกันแล้วก็หมายถึง ‘การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น’ นั่นหมายความว่า ถ้าวัฒนธรรมหยุดอยู่กับที่ ไม่เปลี่ยนแปลง ก็จะไม่ใช่วัฒนธรรม”

“ดังนั้น ในการแสดงครั้งนี้ เราพยายามจะตั้งคำถามว่า เราจะใช้เทคโนโลยีทำให้เรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้นได้อย่างไร เราจะกลับไปสำรวจวัฒนธรรมเก่าๆ และสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ สำหรับคนในอนาคตได้อย่างไร เราจะเป็นบรรพบุรุษที่คนในอนาคตจะไม่เกลียดได้อย่างไร”

ไซเบอร์สุบิน เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลศิลปะ 2024 Taiwan International Festival of Arts (TIFA) ที่ประเทศไต้หวัน และจัดแสดงที่เทศกาล Indonesia Bertutur บาหลี อินโดนีเซีย ก่อนจะมาแสดงที่ประเทศไทย ณ ศูนย์ศิลปการละคร สดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 20-23 กุมภาพันธ์ 2568 และกำลังจะเดินทางไปแสดงที่ประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม

การแสดงนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติอย่าง National Theater & Concert Hall ประเทศไต้หวัน และเทศกาล Indonesia Bertutur ประเทศอินโดนีเซีย และเทศกาล Holland Festival (เนเธอร์แลนด์) “ความฝัน” ของเรา คืออยากได้ยินว่า “รัฐบาลไทย” เป็นผู้สนับสนุนการแสดงงานศิลปะดีๆ ที่มีคุณค่าทางความคิดเช่นนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นได้แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ หรือเปล่าน่ะนะ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์คอมพานี •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์