แตก : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
——————-
แตก
——————-
แตก ทั้ง “รูปธรรม” “นามธรรม” กันเลยทีเดียว สำหรับรัฐบาล
รูปธรรม ก็คือ อ่างบัว ในทำเนียบรัฐบาล ที่ถูกรถของตำรวจถอยหลังชนแตกยับ ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ต้องวิ่งวุ่นขนไปทิ้ง หา “โคมแดง” มาแขวนประตูทำเนียบ จุดธูป36ดอกไหว้ฟ้าดินเร่งด่วน
แก้เคล็ดและลางร้าย
ส่วนนามธรรม คือกรณี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปกล่าวพาดพิงกรณีการครอบครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร อย่างรุนแรง ระหว่างงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน เมื่อ 9 กุมภาพันธ์
แม้ นพ.ธีระเกียรติ จะยอมขอโทษที่เสียมารยาทไปพาดพิงพล.อ.ประวิตร แล้วก็ตาม
แต่ การที่พล.อ.ประวิตร “เจ็บคอ”ไม่หาย และไม่ยอมพูดถึงกรณีดังกล่าว ทำให้ถูกมองว่า “ไม่จบ”
ด้วยคำพูดของนพ.ธีระเกียรติ ทั้ง conscience (ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี)
ทั้ง “ถ้าผมถูก exposed (เปิดโปง) เรือนแรก ผมก็ออกแล้ว”
มันเสียดแทงหัวใจ ถือเป็นการกระทืบซ้ำ ให้อภัยกันไม่ได้ง่ายๆ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามจะยืนยันว่า ครม.ไม่ร้าวจากกรณีดังกล่าว
ซึ่งหลายคนก็เห็นด้วย เพราะไม่ร้าว
แต่โดย”นามธรรม” ครม.แตกไปแล้ว
และกำลังรอดูชะตากรรม นพ.ธีระเกียรติ ในอนาคตอันใกล้นี้ว่า จะเป็นอย่างไร
ส่วนพล.อ.ประวิตร นั้น อย่างไรเสีย พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงประคับประคองให้เป็นหลักของรัฐบาลและ คสช. ต่อไป
แม้รู้ว่า จะยากอย่างยิ่งก็ตาม
เพราะ “มรสุม”ซัดใส่ตลอด
เรื่องที่ไม่น่าเกี่ยว แต่ ก็เข้ามาเกี่ยวพันจนได้
อย่าง การแถลง ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (ซีเอสไอ) เดือนธันวาคม 2560 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
พบว่าอยู่ที่ระดับ 52 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน
ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงการสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ระดับ 53 คะแนน
เมื่อสอบถามผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินพิเศษ หรือเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ได้สัญญาหรือไม่
ปรากฏว่ายังมีร้อยละ 24 ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ ซึ่งจ่ายเฉลี่ยที่ร้อยละ 5-15 ของเม็ดเงินโครงการ
ประเมินเป็นมูลค่าประมาณ 100,0000-200,000 ล้านบาท
หากดู 3 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 ที่รัฐบาลและคสช.เข้ามาทำงาน
เคยมีคะแนนถึง 56 ปัจจุบันเหลือ 52 คะแนน
ถือว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยเริ่มอยู่ในภาวะขาลง
โดยกลุ่มตัวอย่าง มองสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เพราะกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต
กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก
ขาดกลไกการกำกับดูแลกิจการหรือตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
และความล่าช้าหรือยุ่งยากของขั้นตอนในการดำเนินการของทางราชการ
โดยรูปแบบการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด ได้แก่ การให้สินบนของกำนัลหรือรางวัลต่างๆ
ซึ่งพอมาถึงตรงนี้ กรณีนาฬิกาหรู ก็เป็น”ตัวอย่าง”ความอิหลักอิเหลือ ของรัฐบาลและคสซ.ที่ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่รัฐบาลและคสช. ได้รับการยอมรับและถูกตั้งความหวังเอาไว้มากที่สุดก็คือ “ปราบโกง”
และรัฐบาล-คมช.ก็อวดเรื่องนี้มาตลอด
ทั้ง รัฐธรรมนูญปราบโกง
ทั้งการชูการต่อต้านการทุจริตถือเป็นวาระแห่งชาติ
มีการตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 ลุยโกงและย้ายข้าราชการกันยกใหญ่
การปราบทุจริตควรต้องดีขึ้น
แต่แล้วไฉน ทำไปทำมา คะแนนปราบโกงถึงลดลง
แถมนับวันยังพูดถึงบางกรณีไม่เต็มปาก และยังมีการแฉโพยกันเองอีก
สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจาก”ภายนอก”เลย
แต่เกิดมาจาก”ภายใน”ทั้งสิ้น
และสะท้อนออกมาด้วยการ”แตก”ทั้ง รูปธรรม และนามธรรมดังกล่าว
—————–