ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
เห็นคำว่า ‘คนขยัน’ คงนึกว่าเป็นคนขยันขันแข็ง ขยันหมั่นเพียรทำงานอย่างแข็งขัน ไม่เกียจคร้าน
ลองเอาสองคำนี้มารวมกับคำว่า ‘แสนกล’ เป็น ‘เจ้าเงาะแสนกลคนขยัน’ หรือ ‘ประสันตาแสนกลคนขยัน‘ ถ้ามีความหมายข้างต้น ทั้งเจ้าเงาะและประสันตาก็คือคนเจ้าเล่ห์มากอุบายที่มุมานะตั้งใจทำงานอย่างไม่ย่อท้อ คนเจ้าเล่ห์และคนขยันทำงาน ดูมันขัดๆ กันชอบกล
แม้ความหมายของคำว่า ‘ขยัน’ ที่ใช้กันในปัจจุบัน คือ ทำงานอย่างแข็งขันไม่ปล่อยปละละเลย ทำหรือประพฤติเป็นปรกติสม่ำเสมอ หมั่นพากเพียรทำไม่ย่อท้อ ไม่เกียจคร้าน
แต่ความหมายของคำนี้ยังมีมากกว่านั้น ได้แก่ เก่ง ดี เข้าที ฯลฯ ‘คนขยัน’ จึงเป็นได้ทั้ง คนเก่ง คนสำคัญ
เจ้าเงาะและประสันตาแสนกลคนขยัน มีหมายความว่า ทั้งสองเป็นคนเก่งคนฉลาดรอบรู้มีแผนการและวิธีการที่แยบยลแนบเนียน
คำว่า ‘คนขยัน’ ใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ไม่ว่าจะมีบทบาทหรือฐานะใดก็ตาม
‘คนขยัน’ ในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ใช่จะมีแต่ประสันตา ซึ่งเป็นตำแหน่งของพระพี่เลี้ยงโอรสกษัตริย์วงศ์เทวาเท่านั้น ยังมีดะหมังและปาเตะ ดะหมัง เป็นเสนาฝ่ายทหาร ปาเตะ เป็นตำแหน่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ดังที่กวีบรรยายว่า
“๏ บัดนั้น ดะหมังเสนีคนขยัน
แจ้งเหตุพากันจรจรัล เข้ายังพระโรงคัลรจนา”
“๏ บัดนั้น ปาเตะเสนาคนขยัน
จึงให้เคลื่อนพลจรจรัล เข้าในเขตขัณฑ์เวียงไชย”
คำว่า ‘คนขยัน’ ยังใช้กับผู้คุมและนักโทษ ขุนหมื่นหมอยา เสนาม้าใช้ ฯลฯ
“๏ บัดนั้น ฝ่ายพวกผู้คุมคนขยัน”
“๏ บัดนั้น ทั้งสี่นักโทษคนขยัน”
“๏ บัดนั้น ขุนหมื่นหมอยาคนขยัน”
“๏ บัดนั้น ฝ่ายเสนาม้าใช้คนขยัน”
คนฉลาดมากแผนการนอกจากตัวละครชายอย่าง ‘เจ้าเงาะแสนกลคนขยัน’ และ ‘ประสันตาแสนกลคนขยัน’ ยังมีตัวละครหญิงเจ้าเล่ห์เลวร้ายเข้าขั้น เช่น นางจันทา เมียน้อยของท้าวยศวิมลที่ใช้อุบายสารพัดกำจัดพระมเหสีจันท์เทวีและลูกน้อยหอยสังข์
เริ่มจากติดสินบนโหรให้ทำนายทายทักว่าพระมเหสีคลอดลูกเป็นหอยสังข์ เป็นกาลกิณีบ้านเมืองต้องถูกขับไล่ไปจากเมือง ท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวีพากันร้องไห้เสียใจจนเป็นลมพับทั้งคู่
ดังที่บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” เล่าว่า
“๏ เมื่อนั้น จันทาแสนกลคนขยัน
เห็นสองสลบทบทับกัน ผันผินรินน้ำกุหลาบมา
ชโลมองค์ทรงทาทั้งสองศรี ค่อยได้สมประดีที่โหยหา
แล้วโลมเล้ากล่าวคำด้วยหยาบช้า เคราะห์กรรมทำมาจะโทษใคร”
น่าสังเกตว่ากวีใช้คำว่า ‘ตัวดี’ และ ‘ตัวเข็ญ’ กับนางจันทา สองคำนี้หมายถึง ตัวการ ตัวร้าย ทั้งการกระทำของนางและความหมายของถ้อยคำครอบคลุมข้อความ ‘แสนกลคนขยัน’ ที่กวีใช้กับนางจันทาผู้มากด้วยจิตริษยา เน้นถึงความร้ายกาจของตัวละครนี้
“๏ เมื่อนั้น จันทาตัวดีไม่มีสอง
สมจิตคิดไว้ดังใจปอง ได้ช่องให้หน้าแล้วว่าไป”
นางจันทาคบคิดกับสาวใช้คนสนิทแอบอ้างรับสั่งท้าวยศวิมลให้เสนารีบเนรเทศนางจันท์เทวีไปจากเมือง เกรงว่าถ้า ‘ช้าไปไพร่ฟ้าจะขึ้งโกรธ’ และ ‘ช้าไปบูรีจะมีภัย’
ต่อมาความจริงปรากฏว่าหอยสังข์ คือ พระสังข์ พระโอรสท้าวยศวิมลกับนางจันท์เทวี นางจันทาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางมิให้ท้าวยศวิมลใจอ่อนรับลูกเมียกลับคืนวัง
“๏ เมื่อนั้น จันทาตัวเข็ญเป็นใหญ่
เดือดฟุ้งพลุ่งพล่านทะยานใจ เข้าใกล้แฝงหลังบังองค์”
นางจันทาทั้งร่ายมนตร์และเป่าหูท้าวยศวิมลให้รีบกำจัดโอรสโดยขู่ว่า
“เพลิงกาฬจะมาผลาญพระบุรี เพราะลูกคนนี้หรือมิใช่
แม้นมิถ่วงลงคงคาลัย ภูวไนยจะม้วยมรณา”
ภายหลังเมื่อท้าวยศวิมลรู้ความจริงจากพระอินทร์ว่านางจันทาเป็น ‘อีคนผิด’ ที่ ‘แสนร้ายดังงูพิษ’ ก็จัดการนางอย่างสาสม
“ตีเสียให้ตาย แสนร้ายรังแก
หวดด้วยไม้เรียว ช้ำเขียวหลายแผล
คนขยันนั่นแน่ วิ่งแร่ไปไย”
กรณีนางจันทาชวนให้คิดว่ากวีใช้คำว่า ‘คนขยัน’ ‘ตัวดี’ ‘ตัวเข็ญ’ แทนกันได้ ในที่นี้ท้าวยศวิมลเรียกนางจันทาอย่างเคียดแค้นว่า ‘คนขยัน’ มาถึงตรงนี้คำว่า ‘คนขยัน’ และ ‘ตัวขยัน’ ก็ไม่น่าจะต่างกัน เพราะ ‘ตัวขยัน’ ใช้ได้ทั้งกับคนและสัตว์
ดังจะเห็นได้จากบทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” นางตะเภาแก้วตะเภาทองรุมด่านางจระเข้วิมาลาด้วยความหึงหวงที่ไกรทอง ผัวนางทั้งคู่ไปแอบพานางมาอยู่กินด้วย
“คิดพลางนางออกสกัดว่า เหวยอีกุมภาตัวขยัน
ปากกล้าหน้าด้านดึงดัน จะประชันให้ชนะไม่ละลด
ชอบแต่จิกหัวมาตบเล่น ให้เพื่อนบ้านเขาเห็นเสียให้หมด
จึงจะสมที่มึงมีพยศ ให้รู้รสรู้จักฝีมือไว้”
ไกรทองพยายามห้ามปรามเมียทั้งสองให้เลิกด่าทอตบตีวิมาลาโดยเตือนว่าที่นางวิมาลากลายเป็นคนเพราะตนใช้ยันต์ปิดศีรษะไว้
“แม้นนางเลิกเลขยันต์ออกเสียได้ จะเป็นกุมภีล์ใหญ่ใจกล้า
จะขบกัดฟัดฟาดเอาสองรา อย่าเต้นแร้งเต้นกาหนักไป”
ปรากฏว่าสองนางไม่เชื่อ หันมาเล่นงานผัวตัวเอง
“เมื่อมันเป็นมนุษย์อยู่เห็นตัว จะหลอกข้าให้กลัวฤๅว่าไร
เกิดวิวาททะเลาะเพราะใครนั่น เพราะหม่อมผัวตัวขยันฤๅมิใช่”
‘ตัวขยัน’ ในที่นี้มีความหมายเชิงแดกดันว่า ตัวดี ช่างเก่งเหลือหลาย เก่งไปเสียหมดทุกอย่าง ไม่เพียงแต่เมียเรียกผัวว่า ‘ตัวขยัน’ ผัวก็เรียกเมียทั้งสองว่า ‘ตัวขยัน’ เช่นกัน ” ชะนางตัวขยันขันสิ้นที ชวนกันด่าตีวิมาลา”
ที่เรียกเช่นนี้เพราะสองนางเป็นตัวการนำบริวารเล่นงานจนนางวิมาลาทนไม่ไหว ดึงยันต์ออกกลายร่างเป็นจระเข้อาละวาดเป็นการใหญ่ และลงน้ำไปในที่สุด
คําว่า ‘คนขยัน’ หรือ ‘ตัวขยัน’ ใช้สั้นๆ แค่ ‘ขยัน’ ก็ยังได้ มีความหมายว่า เข้าที ดียิ่ง เช่น ใช้ชมรูปลักษณ์ของตัวละครทั้งชายหญิง ดังตอนที่พระธิดาทั้งเจ็ดเลือกคู่ บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” บรรยายท่าทีท้าวสามนต์ชวนพระมเหสีไปเมียงๆ มองๆ ดูผู้คนทางหน้าต่าง
“เห็นหน่อกษัตราที่มานั้น หน้าตาคมสันขยันอยู่ (= หน้าตาเข้าทียิ่งนัก)
คนข้างหลังลาดเลาเป็นเจ้าชู้ ตาหูชอบกลเจ้ามณฑา”
ไม่ต่างจากบทละครนอกเรื่อง “คาวี” ตอนที่ยายเฒ่าทัศประสาทร้องเรียกเสนาที่ตีฆ้องร้องป่าวว่าท้าวสันนุราชกำลังตามหานางผมหอม มีรางวัลอย่างงามให้ผู้แจ้งเบาะแส
“ท่านขามานี่จะบอกเล่า นางผมหอมข้าเจ้านี้รู้จัก
รูปโฉมโนมพรรณขยันนัก จะอาสาทรงศักดิ์ไปพามา” (= รูปโฉมงดงามดียิ่ง)
นอกจากใช้กับรูปร่างหน้าตาตัวละคร ยังใช้คำนี้กับสิ่งของอีกด้วย เช่น ยา และข้าวปลาอาหาร ดังจะเห็นได้จากบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนที่พระรามตรัสถามทุกข์สุข พระฤๅษีในป่าทูลตอบว่า
“อันตัวรูปกับฤๅษีชีไพร ไม่มีภัยภาวนารักษาพรต
ซึ่งของฉันมันเผือกไม่เลือกสิ้น เป็นว่าพอใจกินเสียทั้งหมด
ได้ตำรายาดองมธุรส โอสถสำหรับฉันขยันดี”
ตอนราชาภิเษกพระราม สังฆการีมานิมนต์พระฤๅษีไปทำพิธีและแจ้งรายการอาหารที่เตรียมไว้ต้อนรับทำให้พระฤๅษีรู้สึกอยากฉันขึ้นมาทันที
“อันสำรับกับข้าวของฉัน มัสมั่นข้าวบุหรี่มีหนักหนา (= ข้าวหุงอย่างวิธีของแขกมีเครื่องปรุงและเนื้ออยู่ในตัว)
ไก่พะแนงแกงต้มยำน้ำยา สังขยาฝอยทองของชอบใจ
๏ เมื่อนั้น พระดาบสฟังเล่าน้ำลายไหล
ของฉันขยันยิ่งทุกสิ่งไป แต่กระจาดมีหรือไม่จะใคร่รู้” (= อาหารทุกอย่างเข้าทียิ่ง)
‘ขยัน’ ยังมีความหมายว่า แข็งแรง ตอนที่สังฆการีชี้แนะวิธีการเดินหมากรุกให้ พระฤๅษีไม่สบอารมณ์ นอกจากปฏิเสธทันที ยังพูดข่มอีกฝ่ายเสียด้วยว่า สมัยตนยังหนุ่มแน่นแข็งแรง ฝีมือเดินหมากแม้ใครที่ว่าแน่ก็สู้ได้สบายมาก
“ปัดมือไม่ฟังสังฆ์การี กูเดินดีกว่าอ่อเจ้าเป็นเท่าไร
แต่หนุ่มหนุ่มเมื่อกระนั้นขยันอยู่ อินทร์เดชะพระครูก็สู้ได้
ถึงทั้งแก่งกเงิ่นเดินคลายไป ฝีมือไล่มวยเม็ดเข็ดทุกคน”
มาถึงตรงนี้คำว่า ‘ขยัน’ ที่หมายถึง ทำงานแข็งขัน พากเพียรทำสม่ำเสมอ ไม่เกียจคร้าน ซึ่งเป็นความหมายที่สมัยปัจจุบันคุ้นๆ กัน ยังพบในบทละครนอกเรื่อง “มณีพิชัย” พระมณีพิชัยอธิบายให้น้องสาวพราหมณ์รู้ฐานะและบทบาทของพระองค์ขณะนี้
“เจ้าพราหมณ์ไปพาเอามาไว้ หวังจะให้ใช้สอยค่อยขยัน
ปรนนิบัติวัดถากทุกวัน โดยฉันเหมือนเช่นเป็นข้าไท”
‘ขยัน’ คำเดียวกัน ข้อความแวดล้อมต่างกัน ความหมายก็ต่างกัน ปัจจุบันบางความหมายได้หายไป บางความหมายยังใช้อยู่
เป็นปรกติธรรมดาของถ้อยคำสำนวนภาษา •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022