ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ
จากทุนจุฬาฯ ชนบท ถึงทุน ‘โอกาส’
ถ้าความจำผมไม่คลาดเคลื่อนมากนัก ในปีพุทธศักราช 2525 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่ทำงานของผมในเวลานั้นดำริจะจัดให้มีโครงการพิเศษเพื่อรับนักเรียนจากชนบทที่ขาดแคลนและกันดารไปเสียแทบทุกสิ่ง เข้ามาเป็นนิสิตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบบการรับและคัดเลือกพิเศษ
ไม่ใช้วิธีการสอบคัดเลือกที่เวลานั้นเรียกว่าการสอบเอนทรานซ์ตามปกติ เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วหรือเป็นไปได้ยากยิ่งที่นักเรียนจากต่างจังหวัดเหล่านั้น จะสามารถสอบแข่งขันกับนักเรียนที่อยู่ในเมืองใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวง ซึ่งมีทรัพยากรเกื้อหนุนด้านการศึกษามากมาย และครอบครัวก็มักจะมีฐานะ มั่นคงเพียงพอที่จะสนับสนุนให้ลูกสอบเข้าจุฬาฯ ได้อยู่แล้ว
แต่เด็กต่างจังหวัดเหล่านั้นสิ การสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่อยู่สุดหล้าฟ้าเขียว
ยิ่งถ้าเป็นจุฬาฯ ด้วยแล้ว ต้องถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์พันลึกเลยทีเดียว
ผมต้องยอมรับสารภาพว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่การอยู่ในระบบของสังคมไทยไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผมเลยที่จะได้เข้าเรียนหนังสือในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชีวิตทั้งชีวิตในวัยประถมและมัธยมก็อยู่แต่ในกรุงเทพฯ เรียนจบปริญญาตรีก็ไปเรียนปริญญาโทที่นิวยอร์ก กลับมาก็มาสอนหนังสือที่คณะนิติศาสตร์
ภาพชนบทไทยในสายตาของผมจึงไม่ชัดเจนนัก
แต่ก็ยังโชคดีอยู่หน่อยหนึ่ง ที่ผมเรียนหนังสือชั้นปริญญาตรีอยู่เป็นช่วงเวลาระหว่างพุทธศักราช 2516 ถึงพุทธศักราช 2520 สภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้นิสิตนักศึกษาต้องรับรู้ปัญหาของชนบทอยู่แล้ว
แต่จะรู้มากรู้น้อยก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคล
นอกจากนั้น ในระหว่างเวลาที่ผมเป็นนิสิต ผมได้เคยใช้เวลาปิดภาคเรียนฤดูร้อนไปทำงาน ” เผยแพร่ความรู้กฎหมายสำหรับประชาชน” ซึ่งอันที่จริงแล้วก็คือการไปเรียนรู้ปัญหาการใช้กฎหมายในพื้นที่ชนบทของเมืองไทยนั่นแหละ
โดยไปอยู่ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดเสียเกือบหนึ่งเดือน ทำให้พอมีความรู้ความเข้าใจอยู่บ้างว่า ชนบทเมืองไทยคืออะไรและมีปัญหาอะไรบ้าง
เมื่อมาเป็นอาจารย์และจุฬาฯ มีโครงการจุฬาชนบทดังที่ว่า ผมซึ่งทำงานอยู่ในฝ่ายกิจการนิสิตของคณะ จึงมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับนิสิตที่เข้ามาศึกษาในคณะนิติศาสตร์ตามโครงการดังกล่าว
เห็นได้ทีเดียวครับว่า ไม่ง่ายเลยสำหรับเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่เรียนจบมัธยมจากโรงเรียนในต่างจังหวัด วันดีคืนดีต้องมาอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องเรียนวิชากฏหมายในคณะนิติศาสตร์
การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ให้เข้ากับเพื่อนที่ส่วนมากมาจากเมืองใหญ่ ต้องใช้เวลาและทักษะความสามารถเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อให้น้องๆ นิสิตจากโครงการจุฬาชนบทสามารถเรียนหนังสือได้โดยตลอดลุล่วง มหาวิทยาลัยได้ขอให้คณะต่างๆ ที่มีนิสิตตามโครงการนี้เข้าศึกษาอยู่ จัดให้มีการ “ติว” หรือเสริมความรู้ทางวิชาการ หรืออย่างเบาะๆ ก็คือให้คณะสอดส่องดูแลเอาใจใส่นิสิตจำนวนนี้เป็นพิเศษ
วิธีการเช่นนี้จะเรียกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเห็นจะไม่ได้ เพราะต้นทุนชีวิตไม่เท่ากันเสียแล้ว สิ่งที่มหาวิทยาลัยหรือคณะพยายามทำคือ ขอเพียงให้นิสิตจากชนบทได้ก้าวเดินทันเพื่อน ถ้าจะล้มจะเซลงไป ก็ขอแต่เพียงให้ได้รับการประคับประคองในช่วงเวลาที่เปราะบาง
แต่เวลาเข้าห้องสอบแล้ว อาจารย์ที่ตรวจข้อสอบไม่เคยดูและไม่เคยรู้เลยว่า เจ้าของสมุดคำตอบเป็นนิสิตในโครงการจุฬาชนบทหรือเป็นนิสิตนอกโครงการ
ด้วยวิธีการอย่างนี้ และด้วยโครงการจุฬาชนบทที่ยังดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีเด็กนักเรียนจากชนบทจำนวนหลายพันคน ได้รับการศึกษาโดยทุนเต็มที่จากจุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในด้านการเรียนโดยตรง ที่พักอาศัยซึ่งได้รับสิทธิให้พักอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยจะได้สะดวกสำหรับการอยู่อาศัยและการเดินทาง เรื่อยไปจนถึงมีเงินใช้สอยส่วนตัว ซึ่งถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกได้ว่าไม่อัตคัดขาดแคลน
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วได้แยกย้ายกันไปทำงานในที่ต่างๆ ไปสร้างตัวสร้างตน ไปมีครอบครัว ไปมีหน้าที่ความรับผิดชอบอยู่ในหน่วยงานต่างๆ
ในหน้าที่การงานที่ผมยังทำอยู่ทุกวันนี้ ในหน่วยงานแห่งหนึ่งที่ผมคลุกคลีตีโมงอยู่ด้วย ผมได้พบว่ามีบัณฑิตจากโครงการจุฬาชนบทคนหนึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในระดับสูงอย่างน่าพึงพอใจ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายพัน ที่เมื่อผมได้รู้ได้เห็นแล้วก็มีความสุขใจครับ
นอกจากโครงการจุฬาชนบท ซึ่งเป็นเรื่องของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อครั้งที่ผมทำงานอยู่กับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ระหว่างปีพุทธศักราช 2551 ถึง 2554 ผมได้รับการติดต่อจากสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบนักเรียนตามโครงการ ” หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน” หรือที่มีชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษ ODOS (One District One Scholarship) ให้แวะไปเยี่ยมเยียนพูดคุยกับนักเรียนทุนที่กำลังเรียนอยู่ต่างประเทศ อย่างน้อยก็ให้รู้สึกว่ามีผู้ใหญ่ไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ
ทุนนี้มีหลักการสำคัญ คือ การคัดเลือกเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายจากอำเภอต่างๆทั่วประเทศ อำเภอละหนึ่งคน ให้มีโอกาสได้ไปเรียนชั้นปริญญาตรีที่ต่างประเทศ
โดยมีข้อกำหนดว่าต้องเป็นการเรียนในประเทศที่มิได้ใช้ภาษาเป็นหลัก ส่วนเมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ถ้าอยากจะเรียนต่อสูงกว่านั้นก็ต้องขวนขวายหาทุนจากแหล่งอื่น หรือถ้าคิดจะทำงานอยู่ที่นั่น หรือจะกลับมาบ้านเรา หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นอิสระของนักเรียนทุนจะตัดสินใจเองได้ทั้งสิ้น
แน่นอนว่าเด็กนักเรียนทุนโอดอสนี้ เมื่อแรกเดินทางจากเมืองไทยไปหล่นลงกลางมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศซึ่งมิได้ใช้ภาษาอังกฤษ การปรับตัวยิ่งยากกว่าเด็กนักเรียนที่มาเป็นนิสิตในโครงการจุฬาชนบทอีกหลายเท่า
แต่จากประสบการณ์ที่ผมได้ไปพบกับเด็กทุนโอดอสทุกคนครั้งนั้น ทุกคนมีใจสู้เหลือประมาณ จนกระทั่งผมไม่แน่ใจว่าผมจะไปให้กำลังใจใครเพิ่มเติมได้อีก
นึกเสียแต่ว่าคนแก่คนหนึ่งมาเยี่ยมลูกหลานก็แล้วกันนะหนู
มาถึงปี พ.ศ.นี้ จังหวะชีวิตทำให้ผมได้พบกับนักเรียนโอดอสรุ่นแรกๆ สองคน
คนแรกเป็นนักเรียนทุนที่ผมได้เคยพบที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อครั้งที่ผมเดินทางไปเยี่ยมเยียนดังที่เล่ามาแล้วข้างต้น
รายนี้เรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยที่นั่น แล้วกลับมาเรียนกฎหมายที่เมืองไทยอีกหนึ่งปริญญา เวลานี้ทำการทำงานเป็นหลักแหล่งมั่นคง แต่งงานแล้วมีลูกแล้ว มีชีวิตที่มีความสุขและมีอนาคตที่ต้องก้าวเดินไปอีกยาวไกล
คนที่สองเป็นนักเรียนทุนที่เรียนอยู่ที่ประเทศหนึ่งในยุโรปเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ประเทศที่ผมเคยเดินทางไปเยี่ยม ไม่เป็นไรครับ มารู้จักกันทีหลังก็ได้
รายนี้เรียนจบปริญญาตรีด้วยทุนโอดอสแล้ว ได้เรียนต่อปริญญาโทด้วยทุนจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศนั้นเอง เรียนจบแล้วก็ทำงานอยู่ที่นั่นมาหลายปี ตอนนี้คิดว่าตัวเองพอจะยืนได้มั่นคงแล้ว กำลังตั้งใจจะกลับมาทำงานอยู่ที่เมืองไทย
รายนี้เราก็ต้องเอาใจช่วยกันต่อไปนะครับ
ที่ผมพูดเรื่องนี้มายืดยาว ทั้งทุนตามโครงการจุฬาชนบทก็ดี ทุนตามโครงการโอดอสก็ดี ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะขยายความและนำเสนอในที่นี้คือ การลงทุนเรื่องอะไรก็ตาม ผมเห็นว่าสู้การลงทุนในมนุษย์ไม่ได้
พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าผมอยากค้ามนุษย์นะครับ
ผมเพียงแต่จะบอกว่า การสร้างตึกรามบ้านช่อง สร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ทางกายภาพของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นถนน เป็นทางรถไฟหรืออะไรก็แล้วแต่ ซื้อเครื่องบินซื้ออาวุธ ซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ตรวจทะลุทะลวงได้มหัศจรรย์ ของเหล่านี้ถ้าเป็นของจำเป็นก็ซื้อก็ทำเถิด
แต่อย่าละเลยการลงทุนในเรื่องการสร้างมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาเป็นอันขาด เพราะเครื่องจักรเครื่องมือทั้งหลายที่ลงทุนซื้อมาใช้ หรือสร้างขึ้นมาในประเทศ จะไม่มีค่าอะไรเลยถ้าเราไม่มีคนไทยที่มีความรู้ความสามารถทำการงานต่างๆได้ มีแต่ซอมบี้เดินอยู่เต็มเมือง
ผมไม่เก่งกล้าสามารถพอจะชี้ขาดได้ว่า การลงทุนเพื่อเติมเต็มคุณค่าของความเป็นมนุษย์ในลูกหลานไทยจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะผมรู้สึกว่ายังมีเรื่องให้ทำอีกมาก
ตัวอย่างที่ผมยกมาสองเรื่องข้างต้นเป็นเรื่องการศึกษาในระดับอุดมศึกษาซึ่งเป็นเรื่องคุ้นเคยของผม
แต่ถ้าพูดถึงความขาดแคลนในการจัดการเรื่องทำนองนี้แล้ว จะดูใจร้ายเกินไปหรือไม่ครับ ถ้าจะบอกว่าเรามีปัญหาอยู่ในทุกระดับของการศึกษา อุดช่องว่างตรงไหน ถมทุนถมสติปัญญาลงไปตรงไหน ก็ถูกเป้าหมายทุกทีไป
กล่าวเฉพาะเรื่องโครงการจุฬาชนบทที่ยั่งยืนมาถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ผมมีความเชื่อมั่นเต็มร้อยหรือเกินร้อยด้วยซ้ำไปว่า จุฬาฯ จะยังมุ่งมั่นเดินหน้าในแนวทางนี้ต่อไป
สำหรับโครงการโอดอสที่ช่วงแรกเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนทำท่ามาแรงมาเร็ว แต่ต่อมาด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ได้เว้นวรรคขาดตอนไปเสียแล้ว หากมีการนำมาปัดฝุ่น รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยพิจารณารายละเอียดวิธีการให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ผมว่าเราจะไม่ลงทุนเสียเปล่าเลย
ปัญหาอย่างหนึ่งของเมืองไทย คือ การทำกะปริบกะปรอย ทำๆหยุดๆ มัวแต่ไปตั้งข้อรังเกียจว่าโครงการหรือกิจกรรมนี้เป็นของคนโน้นคนนี้ เรามาใหม่ต้องเลิกของเก่าแล้วตั้งต้นใหม่ของเราเอง โดยลืมดูแก่นแท้ซึ่งเป็นหัวใจของโครงการหรือกิจกรรมเหล่านั้นว่าเป็นของดีจริงหรือไม่ ถ้ามีข้อบกพร่องก็แก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น
ถ้าทำอย่างนี้ได้ งานราชการหลายอย่างก็จะมีความยั่งยืน ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กันทุกสี่ปีหรือทุกปีไป
คาถานี้ไม่ได้ใช้แต่เฉพาะเรื่องทุนการศึกษา แต่ใช้ได้อีกหลายเรื่องของเมืองไทย
ผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่มักมาพร้อมกับไอเดียใหม่ และเลิกไอเดียของผู้ว่าฯ คนเก่า
เปลี่ยนรัฐมนตรีทีหนึ่ง เลิกของเก่าเริ่มของใหม่ทุกรอบไป ข้าราชการประจำก็เหนื่อยและหน่ายนะครับ
เกษียณแล้วก็พูดได้แบบนี้แหละครับ พูดไม่กลัวถูกไล่ออก
ใครจะทำไม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022