ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
ยุทธการ แดงเดือด
เมษา พฤษภา 2553
เปิด ‘เสธ.แดง’ ขัตติยะ สวัสดิผล
ตัวละคร ‘เด่น’ ยุทธจักร การเมือง
จุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหว “เสื้อแดง” ที่สำคัญหลังถูก “สลาย” ด้วย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อเดือนเมษายน 2552 คือ การชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 27-28 มิถุนายน 2552
ท่ามกลางสายฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างหนักหน่วง
ภาพที่เห็นคือการปรากฏขึ้นอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาของแกนนำสำคัญของ “เสื้อแดง” ไม่ว่าจะเป็น นายวีระ มุสิกพงศ์ ไม่ว่าจะเป็น นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รวมถึง นพ.เหวง โตจิราการ
1 เป็นการประชุมพร้อมกับคำประกาศจะปรับ “โครงสร้าง” องค์กรนำใหม่ภายใต้ชื่อ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน” ในเดือนกรกฎาคม 2552
1 เป็นการประกาศถึงการขับเคลื่อนการล่ารายชื่อถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ในเดือนสิงหาคม 2552 ล่ารายชื่อได้ถึง 3,532,906 รายชื่อ
ในเดือนธันวาคม 2552 “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” ก็สำแดงความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเคลื่อนไหวอีกครั้งอย่างมีจังหวะก้าว
ดำเนินไปในลักษณะสะสมกำลัง เพื่อรอคอย “โอกาส” อันเหมาะสม
น่าสนใจว่าเมื่อเข้าสู่เดือนมกราคม 2553 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดินก็พุ่งเป้าไปสู่ 2 การเคลื่อนไหวสำคัญ
1 เป็นกรณีเขายายเที่ยง 1 เป็นกรณีเขาสอยดาว
โดยในวันที่ 11-12 มกราคม 2553 นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” ยกพลประมาณ 5,000 คนไปชุมนุมบริเวณตรงข้ามหน้าบ้านพักตากอากาศบนเขายายเที่ยง หมู่ 6 ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
เป็นบ้านของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549
เพื่อกดดันให้คืนที่ดินและแสดงความรับผิดชอบลาออกจาก “องคมนตรี”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงว่า อธิบดีอัยการฝ่ายคดีเขต 3 มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ กับพวกรวม 3 คนกรณีบุกรุกเขายายเที่ยง เนื่องจากขาดเจตนาทำผิด
จึงมีเพียงกรณีการครอบครองที่ดินที่ผิดเงื่อนไขตามมติ ครม.เมื่อปี 2518 เท่านั้น
และอัยการจังหวัดสีคิ้ว มีหนังสือแจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) ให้นำที่ดินคืนแก่ผู้ครอบครอง หรือทายาทผู้ครอบครองที่ได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์
จากนั้น ในวันที่ 17 มกราคม แกนนำ “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” ไปแจ้งความที่ กก.3 กองบังคับการตำรวจปราบปรามให้ดำเนินคดีกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และภรรยา ในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กรณีถือครองที่ดินบนเขายายเที่ยง
ภาพข่าวที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องจากการที่ นายวีระ มุสิกพงศ์ เดินทางไปร่วมทำพิธีเปิดป้าย “หมู่บ้าน 2 มาตรฐาน” ที่บริเวณฝั่งตรงข้ามบ้านพักตากอากาศเขายายเที่ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม
คือภาพของ นายวีระ มุสิกพงศ์ เข้ายื่นหนังสือ-เอกสารสรุปการตรวจสอบการถือครองที่ดินเขายายเที่ยงและคดีสนามกอล์ฟสอยดาว ไฮแลนด์ฯ ที่สำนักงานราชเลขาธิการถึงคณะองคมนตรี เพื่อกดดัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี
ภายหลังการชุมนุมหน้าทำเนียบองคมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม
ด้านหนึ่ง มีการเคลื่อนไหวรุกไปยัง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ รุกไปยัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง ก็มีการรุกไปยัง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง”
“มติชน” บันทึกประเทศไทย ปี 2553 บันทึกว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2553 พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหมให้สัมภาษณ์ว่า มีคำสั่งพักราชการ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ “เสธ.แดง” ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก
ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม
โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงกลาโหม ให้ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก ตามการเสนอของกองทัพบกที่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนความผิดทางวินัย
โดยพิจารณาตั้งข้อกล่าวหา 2 กรณีคือ 1 การหนีราชการไปต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต 2 การให้สัมภาษณ์ดูหมิ่นผู้บังคับบัญชา
ต่อมา เวลา 03.00 น. หรือช่วงเช้ามืดวันที่ 14 มกราคม ได้มีลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงเข้ามาตัวอาคาร 1 ชั้น 6 ที่ตึกกองบัญชาการกองทัพบกซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานผู้บัญชาการทหารบกอันมีห้องทำงานของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก
หลังจากนั้น เย็นวันที่ 21 มกราคม พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนันท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ภายใน ม.พัน 4 รอ.
พบระเบิดสังหาร อาวุธปืนพกสั้นหลายกระบอกพร้อมกระสุนปืนจำนวนมาก และระเบิดชนิดเอ็ม 26
ขณะเดียวกัน กำลังทหารอีกชุดหนึ่งได้เข้าตรวจค้นบ้านพักแฟลตชุมชนทหารภายใน ม.พัน 3 รอ. ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน พบลูกระสุนขนาดเอ็ม 79 กระสุนปืนเอ็ม 16 ระเบิดซีโฟร์ ระเบิดเคโม กระสุนปืนสงคราม ระเบิดทีเอ็นที ฯลฯ
จึงได้เห็นภาพข่าวทหารเวรรักษาการณ์ที่ประตูทางเข้ากองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ถนนสามเสน นำภาพถ่ายทะเบียนรถยนต์ประจำตัวของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล พร้อมสำเนาคำสั่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ มาติดประกาศที่บอร์ดภายในกองพันเมื่อวันที่ 27 มกราคม
ห้าม พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากพูดจาลบหลู่ผู้บังคับบัญชาจนเป็นเหตุให้ถูกพักราชการ
จากนั้นก็ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวทาง “การทหาร” ที่มิอาจมองข้ามได้
ช่วงตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทหารหลายกองพลจัดพิธีรวมพลังปกป้องสถาบันทหารและทำพิธีปฏิญาณตนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีระเบียบวินัย
“มติชน” บันทึกประเทศไทย ปี 2553 ระบุว่า
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นกิจกรรมที่ประท้วง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ให้สัมภาษณ์พาดพิงผู้บังคับบัญชาอย่างรุนแรง
เห็นจากภาพ พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายพรหมโยธี ต.บ้านพระ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี นำกำลังพลสังกัดกองทหารราบที่ 2 และหน่วยขึ้นตรงกว่า 1,000 นาย ทำพิธีปฏิญาณตนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีระเบียบวินัย และให้กำลังใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่ลานอเนกประสงค์ ค่ายพรหมโยธี เมื่อเช้าวันที่ 27 มกราคม
เห็นจากภาพ พล.ต.ชานุกร ตัณฑโกศล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นประธานนำเหล่าทหารมณฑลทหารบกที่ 33 หน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และทหารกองหนุนรวมกว่า 2,000 นาย กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณที่หน้าอนุสาวรีย์พระเจ้ากาวิละ มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 มกราคม
ขณะเดียวกัน พ.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พร้อมนายทหารหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก 17 กองพันรวมตัวกันแถลงแสดงความไม่พอใจ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่ก้าวร้าวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อวันที่ 28 มกราคม ณ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
ในวันเดียวกันนี้ พ.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ในฐานะแกนนำ จปร.31 ยังนัดเพื่อนร่วมรุ่นแถลงข่าวเรียกร้อง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ลาออกจากราชการไปเล่นการเมือง
กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจกองปราบปราม หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีและครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน พร้อมด้วย พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ฝ่ายการเมือง
โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ประมาณ 20 คน ท่ามกลางกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงรายล้อมให้กำลังใจ
เป็นการมอบตัวและได้รับการปล่อยตัวกลับโดยไม่ต้องประกันตัว
การประสานและเชื่อมต่อระหว่าง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล กับ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี มีความสำคัญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022