สงครามยูเครน : เดินหน้าสู่ปีที่ 4 (EP.03) เซเลนสกี้บนเส้นทางสงคราม

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

เดินหน้าสู่ปีที่ 4 (3)

เซเลนสกี้บนเส้นทางสงคราม

“ความขัดแย้งในยูเครนปัจจุบันคือ สงครามรูปแบบเก่าของจักรวรรดิที่ดำเนินการโดยชนชั้นนำรัสเซีย ซึ่งพวกเขามองตัวเองว่าเป็นทายาท หรือเป็นผู้สืบทอดประเพณีการขยายดินแดนของมหาอำนาจใหญ่แห่งจักรวรรดิรัสเซีย และสหภาพโซเวียต”

Serhii Plokhy

ศาสตราจารย์สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

หากเปรียบเทียบแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่าประธานาธิบดีปูตินได้ผันตัวเอง ด้วยการมีบทบาทอย่างสำคัญในการเป็น “นักประวัติศาสตร์” ที่พยายามนำเสนอความเรียงในปี 2021 เพื่อประกอบสร้าง “เรื่องบอกเล่า” (narrative) ของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่แยกขาดจากกันไม่ได้ ดังนั้น ชาวรัสเซียและชาวยูเครนในทัศนะของประธานาธิบดีปูตินจึงเป็นเสมือน “คนคนเดียวกัน” ที่แยกจากกันมิได้

ถ้าเช่นนั้นแล้วในบริบทของสงครามยูเครน ดารานักแสดงอย่างเซเลนสกีจะถูกสงครามกำหนดชะตากรรมให้เขาต้องเดินไปข้างหน้าอย่างไร

 

จากทำเนียบจอแก้ว

สู่ทำเนียบจริง

เรื่องราวชีวิตและความเป็นตัวตนของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) อาจจะดูไม่มีอะไรมากนัก หากยูเครนไม่ได้ถูกรัสเซียบุก เว้นแต่เขาอาจเป็นตัวอย่างของ “ผู้นำรุ่นใหม่” ที่เป็นคนหนุ่ม และได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาเป็นผู้นำประเทศ

ต้องยอมรับว่าผลของชัยชนะจากการเลือกตั้งในปี 2019 ทำให้เขากลายเป็น “ประธานาธิบดีมือใหม่” ของการเมืองยุโรปทันที และเป็นตำแหน่งที่มีความท้าทายอย่างมาก เพราะเพื่อนบ้านของเขาเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างรัสเซีย ที่พร้อมจะกระโจนเข้า “ฮุบ” พื้นที่ของรัฐเอกราชอย่างยูเครนได้เสมอ

แม้รัสเซียจะเคยลงนามในเอกสารค้ำประกันเอกราชของยูเครนในฐานะรัฐเอกราชใหม่ในปี 1994 แต่ชาวยูเครนทุกคนตระหนักดีว่า สถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของการมีรัฐเพื่อนบ้านเช่นนี้ เป็นความเปราะบางในตัวเองอย่างยิ่ง เพราะยูเครนเคยถูกรัสเซียครอบครอง

อีกทั้งรัสเซียทำลาย “ความเป็นชาติ” ของยูเครนมาโดยตลอด ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนยูเครนจะไม่ชอบรัสเซีย และพวกเขาพูดถึงตัวเองเสมอว่า พวกเขาเป็น “ชาวยูเครน” ไม่ใช่ “คนรัสเซีย” และไม่ได้มีความเป็นหนึ่งที่แยกจากกันไม่ได้

 

หากย้อนเวลากลับไปก่อนสงคราม เราไม่ได้รู้จักเซเลนสกีมากนัก เขาเป็นนักเรียนนิติศาสตร์ แต่ก็ไม่เคยประกอบอาชีพใดในทางวิชาชีพกฎหมาย เขากลับมาเอาดีในวงการบันเทิง และแสดงภาพยนตร์หลายเรื่อง ตัวเขามีจุดยืนทางการเมืองชัดในความเป็นนักชาตินิยมและต่อต้านรัสเซีย ผลงานของเขาจึงถูกแบนในรัสเซีย

ต่อมาเราอาจจะเริ่มรู้จักเซเลนสกีในฐานะดาราทีวี ที่เล่นในซีรีส์เรื่อง “Servant of the People” หรืออาจแปลเป็นไทยว่า “ผู้รับใช้ประชาชน” ซึ่งในทีวีซีรีส์เรื่องนี้ เขารับบทบาทเป็นตัวประธานาธิบดีที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อรับใช้ประเทศ รายการทีวีชุดนี้ออกอากาศระหว่างปี 2015 จนถึงปี 2019 และเป็นภาพยนตร์ทีวีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

ด้วยความนิยมเช่นนี้ ทำให้เมื่อเขาตัดสินใจลงเล่นการเมือง พรรคของเขาจึงมีชื่อตามภาพยนตร์ดังกล่าว พร้อมกับมีนโยบายในการต่อต้านชนชั้นนำและต่อต้านคอร์รัปชั่น จนออกจะดูเป็นพรรคที่ไปในแนวประชานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อพรรค สามารถถูกตีความถึงความเป็น “พรรคประชานิยม”

 

พรรค Servant of the People ก่อตั้งในตอนต้นปี 2018 และกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคก็คือ บรรดาลูกจ้างของ Kvartal 95 ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตรายการทีวีดังกล่าวนั่นเอง และเขาถือเอาวันสุดท้ายของปี 2018 เป็นวันประกาศตัวลงเลือกตั้ง เข้าแข่งขันกับประธานาธิบดีในขณะนั้นคือ เปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) ซึ่งเซเลนสกีได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการลงเสียงรอบ 2 คือ 72.23% อย่างคาดไม่ถึง คราวนี้เขาต้องรับบทเป็นประธานาธิบดีจริงๆ ไม่ใช่ประธานาธิบดีในทีวีซีรีส์แล้ว

ในการดำรงตำแหน่งผู้นำยูเครนเช่นนี้ เขาต้องเผชิญกับปัญหาที่สำคัญของประเทศ เช่น การต้องต่อสู้อย่างหนักกับปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศ อีกทั้งประเทศต้องประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันทำให้เกิดผลต่อความถดถอยของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ความพยายามในการต่อสู้กับปัญหาเช่นนี้ ทำให้ผลการสำรวจประชามตินั้น เซเลนสกีได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีทุกคน (เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ของยูเครน) ความเชื่อมั่นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่คนจำนวนมากในสังคมยูเครน มีความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเมืองแบบเก่า และทิศทางการพัฒนาประเทศแบบเก่า ที่ยึดโยงอยู่กับรัสเซีย

คนในสังคมเป็นจำนวนมากต้องการหันยูเครนไปทางตะวันตก โดยเฉพาะการเข้าร่วมสหภาพยุโรป (EU) และแสวงหาความคุ้มครองด้านความมั่นคงจากเนโต้ ไม่ใช่จากรัสเซีย ดังสะท้อนจากเสียงเรียกร้องในการชุมนุมที่จัตุรัสไมดาน จนกลายเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ทางการเมืองของยุโรปคือ “การปฏิวัติยูโรไมดาน” ในปี 2014 (The EuroMaidan Revolution) อันเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของความสัมพันธ์

 

ความล่อแหลมของสงคราม

จากดาราที่รับบทการแสดงเป็นประธานาธิบดีในปี 2015 เป็นต้นมา และก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจริงๆ ในปี 2019… แน่นอนว่าประธานาธิบดีในภาพยนตร์ กับประธานาธิบดีในความเป็นจริงของการเมืองยูเครนเป็นคนละเรื่องกัน เพราะปัญหาและความท้าทายที่รออยู่กับตำแหน่งของความเป็นประธานาธิบดีนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของยูเครนในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้านั้น นั่นคือการมาของ “สงครามใหญ่” จากการบุกของรัสเซีย

นับจากช่วงเดือนพฤศจิกายน 2021 เป็นต้นมา หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐได้เริ่มส่งสัญญาณแจ้งเตือนผู้นำยูเครนถึงความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีปูตินจะตัดสินใจเปิดสงครามเต็มรูปแบบ และใช้การเคลื่อนกำลังจากหลายทิศทางมุ่งเข้ายึดเมืองหลวงคือ คีฟ ซึ่งการแจ้งเตือนเช่นนี้มีความถี่มากขึ้น ว่าที่จริงแล้วความเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียปรากฏชัดตั้งแต่เมษายน 2021 แล้ว ด้วยการที่กองทัพรัสเซียเคลื่อนเข้าใกล้แนวพรมแดนของยูเครน อันเป็นการเคลื่อนไหวทางทหารที่ใหญ่สุดนับจากการปะทะระหว่างกองทัพยูเครนและรัสเซียจากปี 2014-15 เป็นต้นมา

แม้รัสเซียจะยอมถอยกำลังออกไป แต่กลับทิ้งอุปกรณ์และสิ่งปลูกสร้างทางทหารบางส่วนไว้ในพื้นที่ดังกล่าว เสมือนหนึ่งเป็นสัญญาณว่ากองทัพรัสเซียจะกลับมาใช้อีก ขณะเดียวกันในเดือนตุลาคม 2021 ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐ (JCS) ได้แจ้งแก่ทางประธานาธิบดีไบเดนว่า รัสเซียเตรียมเปิดการโจมตียูเครน

 

การประเมินและการแจ้งเตือนของ JCS เริ่มรั่วออกไปในสื่อ ดังปรากฏในรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่า รัสเซียมีการเตรียมกำลังพลราว 175,000 เพื่อทำสงครามกับยูเครน หรือในบางรายงาน กำลังที่ถูกเตรียมมีราว 2 แสนนาย พร้อมกันนี้ในกลางเดือนธันวาคม ปูตินได้ยื่นคำขาดถึงนาโต อันเป็นคำขาดที่คาดไม่ถึง และมีสาระหลัก เช่น นาโตจะต้องยุติการขยายพันธมิตร นาโตจะต้องย้ายกองกำลังของตนเองออกไปจากโปแลนด์และรัฐบอลติก สหรัฐจะต้องถอนอาวุธนิวเคลียร์ออกไปจากยุโรป

นอกจากนี้ คำขาดที่สำคัญของรัสเซียคือ นาโตต้องไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกใหม่เป็นอันขาด และต้องการให้เส้นแบ่งระหว่างอิทธิพลตะวันตกและตะวันออกถอยกลับไปสู่เส้นเดิมในแบบของยุคสงครามเย็น กล่าวคือ เส้นแบ่งของระบบพันธมิตรจะเป็นเช่นในปี 1997 ซึ่งคำขาดเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สหรัฐและนาโตจะยอมรับได้ แต่อาจเป็นคำขาดที่ผู้นำรัสเซียจะใช้เป็นข้ออ้างในการจัดการกับยูเครนได้

 

แน่นอนว่าสถานการณ์จากกลางเดือนธันวาคมนั้น เริ่มทวีความตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งทำเนียบขาวได้ออกมายืนยันชัดเจนว่า หากเกิดสงครามยูเครน สหรัฐจะไม่ส่งทหารไปช่วยเหลืออพยพชาวอเมริกันกลับประเทศ… หลายฝ่ายตีความในเวลาต่อมาว่า คำประกาศเช่นนี้เป็นความผิดพลาดอย่างสำคัญ เพราะทำให้ผู้นำรัสเซียมั่นใจว่าการใช้กำลังของเขาจะไม่ถูกแทรกแซงจากสหรัฐ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ประธานาธิบดีไบเดนต้องการสื่อสารให้คนอเมริกัน และผู้นำในเวทีโลกทราบว่า หากรัสเซียบุกยูเครนจริง ก็จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งด้านอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจใหญ่ทั้งสอง เพราะสหรัฐจะไม่ส่งกำลังทหารเข้าสู่ยูเครนเป็นอันขาด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รับทราบกันว่าหากยูเครนถูกกองทัพรัสเซียยึดครอง สหรัฐจะให้ความสนับสนุนด้านอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้าน เพราะผู้นำตะวันตกทราบกันดีว่า หากสงครามเกิดขึ้นจริง กองทัพยูเครนจะดำรงสภาพการรบได้ไม่กี่วัน ฉะนั้น หากมีการส่งอาวุธให้แก่ยูเครน เช่น อาวุธต่อสู้รถถัง อาวุธต่อสู้อากาศยาน ซึ่งสุดท้ายแล้ว สหรัฐกลัวว่าอาวุธเหล่านั้นจะตกอยู่ในมือของกองทัพรัสเซีย

ฉะนั้น เพื่อให้สถานการณ์วิกฤตคลายตัวลง ประธานาธิบดีของสหรัฐและรัสเซียจึงได้ต่อสายตรงคุยกันในวันที่แทบจะสุดท้ายของปี คือ 30 ธันวาคม 2021 การพูดคุยระหว่าง 2 ผู้นำไม่ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด รัสเซียจึงเปิดการตอบโต้ในแบบอสมมาตร คือการโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของยูเครนอย่างหนัก

 

ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนสงคราม

ในท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้น รัฐสภาอเมริกันเริ่มพูดคุยในเรื่องของมาตรการแซงชั่นในทางเศรษฐกิจต่อผู้นำ และกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซียระดับสูง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์สงครามของรัสเซีย และมาตรการนี้จะรวมถึงการแซงชั่นต่อประธานาธิบดีปูตินด้วย เพราะการประเมินของหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐเชื่อมั่นอย่างมากว่า สงครามยูเครนจากการบุกของรัสเซียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะพบในรายงานของสื่อว่า คำเตือนของกระทรวงต่างประเทศอเมริกันถึงรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ที่เดินทางเยือนวอชิงตัน คือ “ขุดสนามเพลาะ” ได้แล้ว

ในวันที่ 12 มกราคม 2022 วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) อเมริกันเดินทางเยือนยูเครน เครื่องบินลงจอดที่สนามบินฮอสโตเมล (Hostomel Airport) เพราะอยู่ใกล้กับตัวเมืองหลวง การเดินทางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือ การมาแจ้งเตือนประธานาธิบดีเซเลนสกีให้เตรียมอพยพครอบครัวออกจากประเทศ เพื่อความปลอดภัยของเขาและครอบครัว เพราะรัสเซียเตรียมการบุกยูเครนแน่นอน

นอกจากคำเตือนจาก CIA แล้ว ยังตามมาด้วยคำเตือนอีกหลายครั้งจากแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน ให้เขาและครอบครัวเตรียมการอพยพออกจากประเทศ

แต่คำตอบของเซเลนสกีที่ชัดเจนก็คือ เขาไม่อพยพไปไหน จะอยู่ที่ยูเครน พร้อมกันนี้ เขาพยายามร้องขอการสนับสนุนด้านอาวุธจากสหรัฐ… จากนี้เวลาที่เหลือก็เคลื่อนเข้าสู่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2022!