ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง
การต่อต้านการจารกรรม
: เคมเปไทปะทะสายลับก๊กมินตั๋ง (จบ)
ในช่วงปลายสงคราม ดูเหมือนว่า สายลับก๊กมินตั๋งมีความเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก
ส่งผลให้ข้อมูลในรายงานการจับกุมสายลับมีความถี่มากขึ้นและจับได้จำนวนมากขึ้น

นายปรีดีเผยความเสียสละ
ของขบวนการต้านญี่ปุ่น
นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำขบวนการเสรีไทยเล่าถึงความยากลำบากและภยันตรายในการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นในไทยว่า ในช่วงเวลาที่เหล่าสารวัตรทหารไทยและตำรวจไทยยังมิได้เข้าร่วมขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นตามความต้องการของรัฐบาลไทยอยู่นั้น ย่อมทำให้สมาชิกองค์กรต่อต้านญี่ปุ่นต่างได้รับอันตราย ด้วยเหตุนี้ การปฏิบัติการขององค์กรต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงแรกๆ จึงเป็นไปในทางลับ (ปรีดี พนมยงค์, 2525, 49)
ทั้งนี้ เคมเปไทได้ปราบปรามการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรุนแรง ในบางครั้งมีการจับคนในไทยโดยพลการ ไม่แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบ รวมทั้งมีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาด้วย เช่น ในหลักฐานฝ่ายไทย สารวัตรทหารไทยรายงานว่า เคมเปไทมักจับกุมคนไทยและบุคคลในไทยตั้งแต่ต้นสงครามไปโดยพลการหลายครั้ง โดยไม่แจ้งฝ่ายไทย ฝ่ายไทยบันทึกว่า “ผู้ต้องหาบางคนถูกทารุนกัมตบตี” (หจช.(3) กต 1.5/9 กล่อง 1)
ในขณะนั้นเป็นที่เลื่องลือกันว่า การสอบสวนผู้ต่อต้านญี่ปุ่นของเคมเปไทนั้นเหี้ยมโหดและมีการทรมานอย่างพิสดารน่าสยดสยอง เช่น การจับมัดมือมัดเท้าและมัดห้อยหัวลงพื้นแล้วทำการเฆี่ยนตี บ้างก็จับมัดแล้วกรอกด้วยน้ำผสมพริกตำหรือกรอกด้วยซีเมนต์เปียก ใช้สุนัขมากัดฉีกทึ้งเนื้อ กรอกน้ำสบู่ ตีด้วยไม้กระบอง หรือช็อตด้วยไฟฟ้าเพื่อให้สารภาพข้อมูลตามที่เคมเปไทต้องการ (เชาว์ พงษ์พิชิต, 2553, 242-243)

พ่อค้าต้องสงสัยว่าต่อต้านญี่ปุ่น
มีหลักฐานหลงเหลือไม่มากนักเกี่ยวกับชาวจีนที่ถูกจับด้วยข้อหาการจารกรรมหรือให้ความช่วยเหลือเจียงไคเช็กนั้น จากการรวบรวมข้อมูลจากหนังสืองานศพและคำบอกเล่าในครอบครัวชาวจีนเหล่านั้นที่ปรากฏในหนังสืองานศพและบันทึกของลูกหลานนั้นสามารถให้ภาพเหล่าพ่อค้าหรือผู้นำชาวจีนคนสำคัญที่ถูกจับกุมในครั้งนั้นกับสิ่งที่พวกเขาเผชิญได้ ดังต่อไปนี้
กรณีตัน บุญเทียม (บุญเทียม อังกินันท์; 2433-2494) เขาเป็นพ่อค้า นักหนังสือพิมพ์ และผู้นำของก๊กมินตั๋งในไทยมาตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติ 2475 เขาเป็นพ่อค้าจีนที่ให้การสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 อย่างเข้มแข็ง ในช่วงสงครามเขาถูกเคมเปไทจับกุมฐานต่อต้านญี่ปุ่น เขาถูกคุมขังและทรมานเพื่อเค้นเอาความลับของสมาคมต่อต้านญี่ปุ่น แต่เขาปฏิเสธ จึงถูกทรมานอย่างหนักในคุกของญี่ปุ่นนานนับเดือน
ต่อมา สารวัตรทหารฝ่ายไทยให้ความช่วยเหลือเขาตามคำสั่งของสมาชิกในรัฐบาลบางคนที่รับรองความบริสุทธิ์ของเขา ทำให้เคมเปไทจำต้องปล่อยตัวเขาออกมาให้มีอิสระ แต่ผลของการถูกทรมานนานนับเดือนนั้นทำให้เขาเข้าโรงพยาบาลกลางรักษาตัวอยู่ถึง 7 เดือน แต่สภาพเขาหลังจากนั้นกลายเป็นคนความทรงจำเสื่อม หูอื้อ ตาฝ้าฟาง สุขภาพทรุดโทรม (อนุสรณ์งานศพนาย ต.บุญเทียม, 2494, 10)
กรณีอื้อหย่งซอ เขาเป็นพ่อค้าข้าวในพระนคร ในช่วงสงครามเขาถูกเคมเปไทบุกจับกุมเขา จากบันทึกของลลิตาลูกสาวบันทึกเรื่องราวของพ่อไว้ว่า เคมเปไทนำตัวเขาไปสอบสวนที่ค่ายของเคมเปไท ตั้งที่สโมสรไทผิง ข้างโรงพยาบาลกลาง แต่เขายังคงปฏิเสธความเกี่ยวข้อง จึงถูกทรมานด้วยการขังไว้ในกรงเหล็กที่ตั้งตากแดด ให้อดน้ำอดอาหารถึง 3 วัน แต่เขาก็ยังคงยืนกรานปฏิเสธ เคมเปไทจึงนำเขาไปขังที่คุกมืด จับเปลื้องเสื้อผ้า ใช้สายยางอัดน้ำเข้าทางทวารหนัก ทรมานต่างๆ นานา แต่เขายังคงยืนยันปฏิเสธความเกี่ยวข้องเช่นเดิม จนทหารญี่ปุ่นต้องยอมปล่อยเขาออกมาในที่สุด (เชาว์, 246-249; ลลิตา ธีระสิริ, 2534, 377-381)
กรณีตั้งเพี้ยกชิ้ง (ชิน โสภณพนิช; 2451-2531) เดิมเขาเป็นพ่อค้าวัสดุก่อสร้าง สินค้าเกษตรและซื้อขายทองคำก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายธนาคารผู้มั่งคั่งในช่วงหลังสงคราม แต่ในช่วงปลายสงครามนั้น เขาให้การสนับสนุนการต่อต้านญี่ปุ่นจนถูกเคมเปไทจับมาขังอยู่หนึ่งคืน ต่อมามี พล.ร.ต.สังวรยุทธกิจ เจ้ากรมสารวัตรทหาร ช่วยเหลือเขาให้ออกจากเงื้อมมือเคมเปไทได้อย่างปลอดภัยในที่สุด
(อนุสรณ์ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ นายชิน โสภณพนิช, 2531, 87)

เสรีไทยช่วยเหลือชิน โสภณพนิช
นายปรีดี พนมยงค์ บันทึกกรณีเสรีไทยช่วยเหลือตั้งเพี้ยกชิ้ง หรือนายชิน โสภณพนิช จากการถูกซ้อมทรมานของเคมเปไทไว้ว่า “ฝ่ายสารวัตรทหารญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า เคมเปอิ” สมัยนั้น มีอำนาจมาก ได้ทำการจับกุมคนจีนและเชื้อชาติจีนในประเทศไทยไปทรมานและคุมขังหลายคน ซึ่งบางคนก็ถึงแก่ความตายในที่คุมขัง
ศูนย์กลางเสรีไทยเห็นว่า คนจีนและเชื้อชาติจีนที่ทำการต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งถูกจับกุมนั้นก็มีวัตถุประสงค์ตรงกับเราในการต่อสู้ศัตรูเดียวกัน ฉะนั้น จึงสมควรหาทางช่วยเท่าที่จะทำได้ จึงได้ขอให้คุณหลวงสังวรฯ สารวัตรทหารไทยซึ่งได้รับตำแหน่งใหม่ (2487) ทำความรู้จักกับทหารญี่ปุ่นไว้ โดยเชิญมาปรนนิบัติการกินอาหารและสุราอย่างดี เพื่อว่าจะมีเรื่องช่วยคนถูกจับบางคนได้
สารวัตรทหารญี่ปุ่นก็พอใจคุณหลวงสังวรฯ มาก มีกรณีหนึ่งที่พ่อค้าจีนถูกสารวัตรทหารญี่ปุ่นจับ ญาติมิตรของพ่อค้าคนนี้ขอให้ฝ่ายเราช่วย คุณหลวงสังวรฯ ก็ช่วยเจรจากับทหารญี่ปุ่น โดยขอรับรองและประกันให้พ่อค้านั้นออกจากที่คุมขังของญี่ปุ่นได้
ต่อมา พ่อค้าคนนี้ได้มีหุ้นใหญ่ในธนาคารเล็กๆ ซึ่งพึ่งตั้งขึ้น ต่อมาธนาคารนั้นก็มีกิจการกว้างขวางใหญ่โตทั้งภายในประเทศและมีสาขาอยู่ในต่างประเทศ” (อนุสรณ์หลวงสังวรฯ, 2516, 14)
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า เคมเปไทจับกุมสายลับจีน มีทั้งทหาร พ่อค้าและกรรมกรในเอกสารจดหมายเหตุจำนวนมาก แต่กลับไม่พบการจับกุม 3 กรณีข้างต้นในเอกสารฝ่ายไทยแต่อย่างใด
อันสะท้อนให้เห็นว่า เคมเปไทมีการจับกุมคนไทยและคนในดินแดนไทยไปซ้อมทรมานและลงโทษโดยฝ่ายไทยไม่ทราบเรื่อง

ทั้งนี้ มูราซิมาศึกษาเรื่องจำนวนคนจีนที่ถูกเคมเปไทจับกุมฐานต่อต้านญี่ปุ่นในไทย เขาอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์จีนภายหลังสงครามให้ข้อมูลว่า มีจำนวนราว 300 คน เขาเห็นว่า หากเปรียบเทียบจำนวนแล้วไม่มากนักหากเปรียบเทียบกับที่อื่นๆ (เออิจิ มูราซิมา, 2541, 135) ภายหลังสงคราม หนังสือพิมพ์จีนสมัยนั้น รายงานว่า ต่อมา นางจิว สิ่วลั้ง ผู้นำก๊กมินตั๋งในไทยพาชาวจีนมาชี้ตัวสารวัตรทหารที่ถูกจับเป็นเชลยศึกกว่า 800 คน ว่ามีผู้ใดเกี่ยวข้องกับการทรมานชาวจีนบ้าง แต่ปรากฏว่า มีเคมเปไทเพียง 11 คนเท่านั้นที่ถูกผู้เสียหายชี้ตัวได้ (มูราซิมา, 2541, 192)
อย่างไรก็ตาม จำนวนเคมเปไทที่เกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานมีน้อยนั้น มีข้อสังเกตว่า ถึงแม้นผู้เสียหายชาวจีนจะไม่สามารถชี้ตัวเคมเปไทผู้ตองหาได้ครบถ้วนจากเหตุที่เคมเปไทก่อขึ้นก็ตาม อาจเป็นเหตุมาจากสภาพของเคมเปไทในฐานะเชลยศึกในค่ายกักกัน ที่มีการแต่งกาย สภาพร่างกาย หนวดเคราและผมยาวแตกต่างไปจากช่วงปฏิบัติงานก็เป็นไปได้


สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022