ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
ปรีดี แปลก อดุล
: คุณธรรมน้ำมิตร (56)
คณะกรรมการสันนิบาตแห่งเอเชียอาคเนย์
นายปรีดี พนมยงค์ สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการสันนิบาตแห่งเอเชียอาคเนย์” และได้รับการขานรับอย่างดียิ่งจากโฮจิมินห์และเจ้าเพชรราชผู้นำขบวนการกู้ชาติลาว
นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หลักของเรื่องนี้ไว้ว่า ในอนาคตหากประเทศเมืองขึ้นได้เอกราชและร่วมผนึกกำลังกันก็จะสามารถทำให้ไทยและประเทศเหล่านั้นสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้โดยอิสระ หลุดพ้นจากการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการบีบบังคับและการชักจูงทางการเมืองเศรษฐกิจและการทหารจากประเทศมหาอำนาจอย่างเช่นในอดีต
สันนิบาตนี้ประกอบด้วยอดีตผู้นำเสรีไทยอีสานและผู้นำขบวนการกู้เอกราชในอินโดจีน โดยมี นายเตียง ศิริขันธ์ อดีตผู้นำเสรีไทยอีสาน เป็นประธาน นายตันวันเกียง จากขบวนการเวียดมินห์ นายเลอฮาย จากมหาวิทยาลัยฮานอยเป็นเหรัญญิก นายถวิล อุดล เป็นประชาสัมพันธ์ และมีเจ้าสุภานุวงศ์จากประเทศลาวเป็นเลขาธิการ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองจากภาคอีสาน สมาชิกขบวนการปฏิวัติลาวและเวียดนามที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะนั้นใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
“ปฏิญญากรุงเทพฯ 1947 ถึงสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทบาทการต่างประเทศของปรีดี พนมยงค์ ในทศวรรษ 2490” ของสถาบันปรีดี พนมยงค์ 18 กรกฎาคม 2567 บันทึกว่า
“ในราวเดือนกรกฎาคม 2490 (ค.ศ.1947) นายปรีดีในฐานะนายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนให้มีการประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ ได้มีผู้นําทางการเมืองในภูมิภาคนี้ เช่น ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย ฯลฯ มาร่วมประชุม และเมื่อเสร็จการประชุมแล้วก็ได้ออกปฏิญญากรุงเทพฯ 1947 สาระสําคัญของการตกลงกันก็คือ จะผนึกกําลังเพื่อต่อสู้การกลับคืนมาของประเทศอาณานิคม
และต่อมาเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน ผู้นําทางการเมืองของประเทศเหล่านั้น ก็ได้มาประชุมกันที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง และได้ก่อตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia League) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการที่จะร่วมมือประสาน
ส่วนงานและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันในระหว่างประเทศภูมิภาคซึ่งจะนําไปสู่สันติภาพในภูมิภาคนี้ สันติบาตมีคําขวัญว่า Unity In Southeast Asia ซึ่งวัตถุประสงค์อันแท้จริงก็คือ การผนึกกําลังกันเพื่อต่อต้านการฟื้นตัวกลับมาของลัทธิอาณานิคม นับว่าเป็นครั้งแรกของการพยายามรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้มีบทบาทนําร่วมอยู่ด้วย”
สันนิบาตเอเชียอาคเนย์ที่ตั้งขึ้นเป็นเพียงการเริ่มต้นยังดำเนินการได้ไม่มากเท่าที่ควรก็เกิดการรัฐประหารโดยกลุ่มอำนาจนิยมในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมาไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนขบวนการกู้เอกราชในประเทศเพื่อนบ้านจึงได้ขับไล่หน่วยงานลาวอิสระและพวกโฮจิมินห์ออกจากประเทศไทยตามคำขอร้องของฝรั่งเศสซึ่งกำลังต่อสู้กับขบวนการกู้ชาติของโฮจิมินห์ในเวียดนาม
เป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดตั้งสันนิบาตเอเชียอาคเนย์ครั้งนี้นอกจากสร้างความไม่พอใจแก่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในอินโดจีนโดยตรงแล้วยังสร้างความไม่พอใจให้แก่สหรัฐอเมริกาผู้เป็นมหาอำนาจผู้นำฝ่ายโลกเสรีในเวลานั้นด้วย
ดังคำสัมภาษณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ว่า ความคิดในเรื่องสันนิบาตและความเป็นกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่อเมริกันบางพวกไม่พอใจและไม่สนับสนุนท่าน โดยเฉพาะพวกที่เข้ามามีอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
โฮจิมินห์กับสหรัฐอเมริกา
วิทยานิพนธ์ “ความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการเวียดมินห์กับสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1944-1954” โดย ว่าที่ ร.ต.พิชยพรรณ ช่วงประยูร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2560 ให้ข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างโฮจิมินห์กับรัฐบาลสหรับอเมริกาไว้ดังนี้
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดการประชุมสันติภาพขึ้นที่กรุงปารีสระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ค.ศ.1919 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกาได้นำเสนอ “หลัก 14 ประการ เพื่อสันติภาพของโลก” หลักสำคัญประการหนึ่งคือ “ทุกชาติมีสิทธิที่จะเลือกกำหนดการปกครองด้วยตนเอง” หลักการนี้มีส่วนทำให้โฮจิมินห์นิยมปรัชญาและแนวความคิดทางการเมืองของสหรัฐอเมริกามาก และเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่ต่อต้านระบอบอาณานิคมจึงพยายามยื่นเอกสารข้อเรียกร้องเอกราชของชาวเวียดนามแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง
ต่อมาเมื่อโฮจิมินห์เข้ามาเคลื่อนไหวในไทยช่วง ค.ศ.1928 ก็ยังคงแสดงทัศนะความนิยมแนวความคิดทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในเรื่องการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ อิสรภาพและความเท่าเทียมผ่านหนังสือที่เขียนเพื่อใช้อบรมสมาชิก
โฮจิมินห์เน้นย้ำประเด็นการต่อสู้ปฏิวัติของชาวอเมริกันในสงครามประกาศเอกราชมาเป็นต้นแบบในการต่อสู้เพื่อเอกราชของเวียดนาม และต่อมาได้ปรากฏในคำประกาศอิสรภาพเวียดนาม
ด้วยทัศนะเช่นนี้จึงนำไปสู่การร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเต็มที่ในการต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดครองอินโดจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหวังเต็มที่ว่าสหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนการได้รับเอกราชเมื่อสิ้นสุดสงคราม
สหรัฐกับการปลดปล่อยอาณานิคม
ตั้งแต่กลาง ค.ศ.1942 เป็นต้นมา สหรัฐอเมริกาได้ประกาศจุดยืนชัดเจนหลายครั้งว่าเป็นชาติที่ต่อต้านระบอบอาณานิคม ซัมเนอร์ เวลล์ส ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของประธานาธิบดีรูสเวลต์ได้กล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ระลึกทหารผ่านศึกเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1942 ว่า “ยุคสมัยลัทธิจักรวรรดินิยมนั้นได้ยุติลงแล้ว หลักการที่ได้ประกาศไว้ในกฎบัตรแอตแลนติกจะต้องถูกนำไปใช้ปฏิบัติทั่วทั้งโลก” ติดตามด้วยแนวความคิดการจัดตั้ง “ภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ” (International Trusteeship) ของรูสเวลต์ในเวลาต่อมา
ประธานาธิบดีรูสเวลต์กล่าวถึงแนวความคิดภาวะทรัสตีระหว่างประเทศครั้งแรกเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1942 ในระหว่างการหารือร่วมกับนายโมโลตอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหภาพโซเวียตซึ่งเดินทางมากรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
รูสเวลต์เสนอความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ได้ประกาศไว้ในกฎบัตรแอตแลนติก การธำรงรักษาสันติภาพของโลกในช่วงหลังสงครามควรจะยุติระบอบอาณานิคมเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดของสงครามจากการต่อสู้เพื่อเอกราชของอาณานิคมเหล่านั้น อาณานิคมต่างๆ ควรได้รับเอกราช
และในการเตรียมความพร้อมปกครองตนเองจะมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการภายในภาวะทรัสตีระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และสหภาพโซเวียตจะร่วมกันกำกับดูแลชาติอาณานิคมต่างๆ จนกว่าจะพร้อมในการปกครองตนเอง
ซึ่งควรสังเกตว่า ไม่มีฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมใหญ่อีกประเทศหนึ่งเข้าร่วมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์อันดีเพื่อความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับชาติพันธมิตร แต่แนวความคิดภาวะทรัสตีระหว่างประเทศของประธานาธิบดีรูสเวลต์ทำให้คณะรัฐมนตรีของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเกรงว่าอาจทำลายความสัมพันธ์อันดีที่มีอยู่และจะส่งผลต่อสถานการณ์สงครามได้ โดยเฉพาะกับอังกฤษแกนนำของฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีอาณานิคมต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก และแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของประธานาธิบดีรูสเวลต์มาตั้งแต่ต้น
อีกทั้งยังต้องการให้ฝรั่งเศสกลับมาเป็นชาติมหาอำนาจอีกครั้งภายหลังสงครามจึงสนับสนุนนโยบายของฝรั่งเศสในการฟื้นฟูระบอบอาณานิคมในอินโดจีนขึ้นใหม่
แม้รูสเวลต์จะพยายามคัดค้านฝรั่งเศสในทุกวิถีทาง แต่เมื่อสงครามในยุโรปใกล้จะสิ้นสุดใน ค.ศ.1945 สหรัฐอเมริกาซึ่งต้องการเผด็จศึกญี่ปุ่น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ดังนั้น การรักษาไว้ซึ่งความสัมพันธ์และการร่วมมือกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษและฝรั่งเศสจึงมีความสำคัญมาก
ฮัลล์และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงต่างประเทศจึงพยายามโน้มน้าวรูสเวลต์ให้เปลี่ยนแนวความคิดภาวะทรัสตีระหว่างประเทศ รวมไปถึงนโยบายที่มีต่ออินโดจีน
ในการประชุมที่ยัลต้าระหว่างวันที่ 4-11 กุมภาพันธ์ 1945 แม้ประธานาธิบดีรูสเวลต์จะยังคงยึดมั่นแนวความคิดภาวะทรัสตีระหว่างประเทศและนโยบายที่มีต่ออินโดจีน แต่มติของที่ประชุมที่ให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการสูงสุดแห่งยุโรปโดยมีฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในชาติคณะกรรมาธิการนั้นเป็นเสมือนการฟื้นฟูสถานะของฝรั่งเศสให้กลับสู่ความเป็นชาติมหาอำนาจอีกครั้ง
ฝรั่งเศสและอังกฤษจึงร่วมมือกันเพิ่มการกดดันสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ยุตินโยบายต่อต้านระบอบอาณานิคมและแนวความคิดภาวะทรัสตีระหว่างประเทศเสีย
ต้นปี 1945 ปรากฏแนวโน้มที่ชัดเจนว่า สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้อำนาจต่อรองของสหรัฐอเมริกาเริ่มลดลง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022