ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | Multiverse |
ผู้เขียน | ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ |
เผยแพร่ |
Multiverse | บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
ทอร์นาโดไฟ
ปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งซึ่งอาจเกิดแถมมาพร้อมกับไฟป่า หรือในสถานการณ์จำเพาะ อย่างเช่น ฟ้าผ่าถังเก็บน้ำมัน หรือการทิ้งระเบิดในสงคราม ได้แก่ ทอร์นาโดไฟ (fire tornado)
ตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต เช่น ทอร์นาโดไฟที่เกิดท่ามกลางไฟป่าในโปรตุเกส เมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม ค.ศ.2007 ทอร์นาโดไฟที่เรียกว่า Tubbs Fire ทางเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ.2007 ทอร์นาโดไฟที่รัฐโคโลราโดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ.2016 ส่วนเหตุการณ์ที่ค่อนข้างใหม่หน่อย เช่น ทอร์นาโดไฟที่เกิดระหว่างอภิมหาไฟป่าแคลิฟอร์เนียที่พาลิเสดส์ (Palisades) เมื่อวันที่ 11 มกราคม ค.ศ.2025
ปรากฏการณ์นี้อาจมีหลายคนสงสัยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีแง่มุมน่าสนใจอะไรบ้าง

ที่มา : https://wjla.com/news/offbeat/tornadoes-of-fire-caught-on-camera-in-oregon-colorado
ก่อนอื่นควรรู้ว่าชื่อ fire tornado รวมทั้งชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ไฟร์นาโด (firenado) และ ไฟร์ทวิสเตอร์ (fire twister) เป็นชื่อเรียกที่ฝรั่งทั่วไปใช้เรียก แต่นักวิทยาศาสตร์อาจไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะชวนให้เข้าใจผิดไปว่าปรากฏการณ์นี้มีลักษณะคล้ายกับพายุทอร์นาโด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะกลไกการเกิดแตกต่างกันมาก
ส่วนชื่อที่เป็นทางการ คือ ไฟร์ดีวิล (fire devil) และไฟร์เวิร์ล (fire whirl) ดังนั้น ถึงแม้ชื่อบทความจะเขียนว่าทอร์นาโดไฟ แต่ในบทความนี้ขอเรียกว่าไฟร์เวิร์ลนะครับ
อันที่จริง ปรากฏการณ์ไฟร์เวิลด์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะอย่างน้อยที่สุด ได้มีบทความวิชาการเขียนถึงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ.1926 โน่นแล้ว โดย เจอี ฮิสซอง (J.E. Hissong) ได้ตีพิมพ์บทความใน Monthly Weather Review
ต้นเรื่องก็คือ เกิดฟ้าผ่าที่ถังเก็บน้ำมันของ Union Oil Company ในเมืองแซนลูอิสโอบิสโพ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ.1926 จากนั้นได้เกิดไฟไหม้ยาวนานถึง 5 วัน และมีคนเห็นไฟร์เวิร์ลนับร้อยเกิดขึ้นในระหว่างนั้น บทความดังกล่าวยังมีภาพถ่ายไฟร์เวิร์ลหลายภาพเป็นหลักฐานอีกด้วย ดูภาพขาวดำที่ผมนำมาจากบทความดังกล่าวได้

ที่มา : https://docs.lib.noaa.gov/rescue/mwr/052-058/054/mwr-054-04-0161.pdf
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1923 ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหนักขนาด 8.3 ที่ภาคคันโต โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโตเกียว เหตุการณ์นี้เรียกว่า The Great Kanto Earthquake แผ่นดินไหวนี้นอกจากจะสร้างความเสียหายโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องหลายอย่าง เช่น ดินถล่ม สึนามิ และไฟไหม้ครั้งมโหฬาร
กล่าวเฉพาะไฟไหม้ครั้งมโหฬารในเหตุการณ์ The Great Kanto Earthquake ไฟไหม้ได้ทำลายกรุงโตเกียวราวครึ่งหนึ่ง เหตุหลักของไฟไหม้ครั้งนี้คือ การที่แผ่นดินไหวเกิดในช่วงเวลาใกล้เที่ยง ซึ่งขณะนั้นผู้คนกำลังเตรียมอาหารกลางวัน มีการใช้ถ่านและน้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตา การสั่นสะเทือนขนาดหนักทำให้ไฟที่ติดอยู่เกิดลุกลามไปทั่ว
ไฟไหม้ในครั้งนั้นยังทำให้เกิดไฟร์เวิร์ลซึ่งคร่าชีวิตคนญี่ปุ่นไปเกือบ 45,000 คน ในขณะที่ภาพรวมของผู้เสียชีวิต (นับรวมผู้สูญหาย) ประมาณ 140,000 คน นั่นคือ เฉพาะไฟร์เวิร์ลได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตไปถึงราว 1 ใน 3 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์ครั้งนั้นเลยทีเดียว
น่ารู้ด้วยว่า ความเสียหายอย่างหนักครั้งนั้นทำให้ญี่ปุ่นประกาศให้วันที่ 1 กันยายนของทุกปีเป็นวันป้องกันภัยพิบัติจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงที่เกิด The Great Kanto Earthquake เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1923
ที่มา : https://web.archive.org/web/20140513010536/ http://www.seic09.eis.uva.es/Presentaciones/IL4.pdf
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่น่ารู้จัก คือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คือเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1943 สหราชอาณาจักรได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดไปบอมบ์เมืองฮัมบูร์ก ซึ่งเป็นเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรมสำคัญของเยอรมนี ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเริ่มปฏิบัติการที่เรียกว่า Operation Gomorrha ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมแล้ว
แต่วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1943 นั้นพิเศษตรงที่ว่าในช่วงเวลาเพียงแค่ 43 นาที ที่ระเบิดปริมาณ 2,326 ตัน ถูกทิ้งลงสู่เมืองฮัมบูร์ก ได้เกิดไฟไหม้ครั้งมโหฬารถึงขนาดทำให้เกิดคำใหม่ในภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกปรากฏการณ์นี้ นั่นคือ firestorm (พายุไฟ) กันเลยทีเดียว!
พายุไฟในครั้งนั้นได้คร่าชีวิตพลเรือนชาวเยอรมันไปถึง 42,000 คน และยังทำให้เกิดไฟร์เวิร์ลที่มีความสูงถึงราว 460 เมตรเลยทีเดียว!
ได้เห็นกรณีศึกษาสำคัญๆ ไปแล้ว คุณผู้อ่านอาจสงสัยว่าไฟร์เวิร์ลเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ดัดแปลงจาก http://www.sfgate.com/bayarea/article/Tubbs-Fire-unleashed-fiery-tornadoes-that-12289228.php#photo-14375202
ตอบอย่างย่อก็คือ ต้องมีปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เริ่มจากต้องมีไฟเริ่มต้นก่อน (ไฟป่า ไฟจากการหุงต้มอาหาร ไฟจากฟ้าผ่า ไฟจากการทิ้งระเบิด ฯลฯ) มีเชื้อเพลิงปริมาณมากอยู่ในบริเวณดังกล่าว ความร้อนจากไฟจะทำให้อากาศใกล้ๆ ร้อนขึ้นและยกตัวสูงขึ้น เปิดโอกาสให้อากาศที่เย็นกว่าโดยรอบไหลเข้ามา
หากอากาศที่เข้ามาในบริเวณต่างๆ ไหลเร็วไม่เท่ากัน ก็จะทำให้เกิดการหมุนวนของกระแสอากาศ ไฟร์เวิร์ลรูปร่างคล้ายทอร์นาโดจึงก่อตัวขึ้น อากาศที่ไหลเข้ามานี้ยังมาช่วยเติมออกซิเจนและอาจเติมเชื้อเพลิงอีกด้วย
ในปัจจุบันมีการศึกษาไฟร์เวิร์ลในห้องปฏิบัติการ โดยการสร้างไฟร์เวิร์ลขึ้นมาในอุปกรณ์ที่ออกแบบไว้โดยเฉพาะ แล้วตรวจวัดค่าต่างๆ เช่น ความสูง อุณหภูมิที่ระดับต่างๆ และอัตราเร็วในการไหลของเปลวไฟในแนวระดับ และมีการคำนวณโดยใช้วิชาพลศาสตร์ของการไหลเพื่อเปรียบเทียบกับผลการทดลอง ภาพที่นำมาให้ชมเป็นงานวิจัยของญี่ปุ่นครับ
คุณผู้อ่านที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกัลไฟร์เวิร์ลเพิ่มเติม ขอแนะนำบทความ Whirling Flames : How Fire Tornadoes Work ที่ www.livescience.com/45676-what-is-a-firenado.html

การศึกษาไฟร์เวิร์ลในห้องปฏิบัติการที่ญี่ปุ่น
ที่มา : http://www.iafss.org/publications/aofst/6/2a-2/view/aofst_6-2a-2.pdf
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022