ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
‘บิ๊กอ้วน’ ยึด กห.
โผ ทบ.ฉบับ RDF
ราบ 31 คึกคัก
‘บิ๊กปู’ สงบศึก ตท.27-28
สัญญาณ ‘อมฤต-สราวุธ’
การปรากฏตัวของ ‘บิ๊กแดง’
เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลกลางปี หรือโผเมษายนแล้ว หลังจากมีรายงานว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพได้พูดคุยกันในตำแหน่งสำคัญๆ และตำแหน่งแลกเปลี่ยนระหว่างเหล่าทัพ กับกองบัญชาการกองทัพไทย และสำนักปลัดกลาโหมแล้ว
และนัดประชุมบอร์ด 7 เสือกลาโหม ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน หลังการประชุมสภากลาโหม 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 เพราะต้องเตรียมทำขั้นตอนให้จบ เพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรีก่อน 15 มีนาคม
การจัดทำโผโยกย้ายทหารชั้นนายพลโผนี้ ยังคงเป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมเดิม เพราะยังไม่มีการแก้ไข แม้ว่าก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยจะมีนโยบายในการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมก็ตาม
แต่มาตอนนี้ ได้ถูกชะลอไว้ก่อน หลังจากที่ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ ได้เปิดอกพูดคุยกับนายภูมิธรรม แสดงความเห็นคัดค้านการแก้ไขในทุกประเด็น หลังจากที่ในยุคนายสุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม ได้ยกร่างแก้ไข ฉบับต้านรัฐประหาร และรวบรัดให้ผ่านสภากลาโหมไปแล้ว
ส่งผลให้นายภูมิธรรมชะลอเรื่องนี้ไว้ ด้วยการให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยให้บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม และบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ร่วมกันรับผิดชอบในการรับฟังความเห็น ผบ.เหล่าทัพ แต่ก็มีรายงานว่า ไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ
จนเป็นที่รู้กันในกลาโหมว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม โดนดองไว้แล้ว
แม้แต่ข้อเสนอของนายภูมิธรรม ที่จะไม่แตะประเด็นใดๆ ทั้งหมดที่ ผบ.เหล่าทัพข้องใจ และคัดค้าน ทั้งโผทหารไม่ต้องเข้า ครม. ไม่ต้องให้อำนาจนายกฯ ในการย้ายทหารที่คิดจะก่อการรัฐประหาร เพราะอาจมีการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง แต่จะขอเพิ่มแค่ จากบอร์ด 7 เสือกลาโหม เป็น 9 เสือกลาโหม โดยเพิ่มมา 2 เสียงฝ่ายการเมือง คือ นายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง
แต่ ผบ.เหล่าทัพไม่เห็นด้วย จึงทำให้การแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ถูกแช่แข็งไว้ก่อน

โผโยกย้ายนายพลเมษายนนี้เป็นการโยกย้ายเพื่อรองรับคนที่จะเกษียณกันยายนนี้ และนายพลที่ลาออกก่อนเกษียณ 6 เดือน ในตำแหน่งหลัก
ที่น่าจับตาคือการปรับเปลี่ยนทีมงาน รมว.กลาโหม ใหม่หมด แบบยกแผง 10 นาย โดยเป็นตำแหน่งยศพลเอก 1 พลโท 3 และพลตรี 6 นาย ซึ่งเป็นการพิจารณาของ รมว.กลาโหมโดยตรงในการแต่งตั้งนายทหารที่จะมาเป็นทีมงานฝ่ายเสนาธิการประจำ รมว.กลาโหม
ซึ่งปกติจะเป็นตำแหน่งหมุนเวียน ที่ รมว.กลาโหมให้โบนัสนายทหารที่มาช่วยงาน เพราะชุดที่แล้วเป็นชุดที่นายสุทิน คลังแสง ตั้งไว้ ที่ส่วนใหญ่นายสุทินให้ พล.อ.สนิธชนก ปลัดกลาโหมเป็นคนจัด โดยส่วนใหญ่เป็นนายทหารสายพี่น้อง 3 ป.และบ้านป่ารอยต่อฯ จึงเป็นธรรมเนียมที่นายภูมิธรรมสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้
แต่ที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือในส่วนของกองทัพบก ที่ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผบ.ทบ. ได้จัดโผเองอย่างเต็มอำนาจเป็นครั้งแรกหลังขึ้นมา ผบ.ทบ.เมื่อ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

มีรายงานว่า พล.อ.พนาเติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็ว Rapid Deployment Force-RDF) ของกองทัพบก จะดึงนายทหารที่เคยอยู่ ร.31 รอ.มาด้วยกัน ทั้งเพื่อนและรุ่นน้อง ขึ้นมาลงตำแหน่งหลัก
จนถูกมองว่าจะกลายเป็นยุคทองนายทหารหมวกแดง ร.31 รอ. ที่จะได้กลับมาเติบโตในยุคของ พล.อ.พนา ที่จะเป็น ผบ.ทบ.นานถึง 3 ปี
เพราะ พล.อ.พนา เองเมื่อครั้งอยู่ ร.31 รอ. ก็เคยไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายระดับพันเอกพิเศษ หรือผู้บังคับการกรม สมัยเป็นรอง ผบ.ร.31 รอ. แต่ไม่ได้ขึ้นเป็นผู้บังคับการกรม แม้จะเติบโตมาตามลำดับ ผบ.ร.31 พัน 1 รอ. และขึ้นรอง ผบ.ร.31 รอ.
และในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2549 พล.อ.พนาต้องถูกโยกออกมาเป็นรอง เสธ.พล.1 รอ. เพื่อเปิดทางให้นายทหารเพื่อนร่วมรุ่น ตท.26 อีกคนหนึ่ง ขึ้น ผบ.ร.31 รอ.แทน จนกลายเป็นตำนานเล่าขานกันขึ้นมาอีกครั้ง ในเวลานั้น มีนายทหารหลายคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
จนทำให้เส้นทางในสายคอมแมนด์ของ พล.อ.พนา เบี่ยงออกจากไลน์หลักไปอยู่ มทบ.11 และไปเป็นรอง ผบ.พล.ร.11 และกลับเข้าไลน์อีกครั้ง ได้เป็น ผบ.พล.ร.11 ในยุคบุกเบิกตั้งกองพลสไตรเกอร์
โดยบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ. เห็นว่า พล.อ.พนาเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา และบิ๊กแคล้ว พล.อ.ปรีชา แคล้วปลอดทุกข์ อดีตเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก บิดาเป็นเวสต์ปอยเตอร์ จบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกสหรัฐ จะช่วยในเรื่องการประสานงานกับกองทัพสหรัฐอเมริกา ในเรื่องรถเกราะ Stryker ได้
ประกอบกับที่ พล.อ.ปรีชาเคยเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์มาก่อน ต่อมา พล.อ.อภิรัชต์สนับสนุนให้ พล.อ.พนาขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และมีสัญญาณไฟเขียวให้ไปฝึกหลักสูตรทหารคอแดง 3 เดือนแบบเร่งด่วน ก่อนขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คอแดงเข้าสู่ไลน์ขึ้น ผบ.ทบ.ทันที
ดังนั้น เก้าอี้ ผบ.ทบ.ของ พล.อ.พนา จึงมั่นคงแข็งแรง ยากที่จะถูกขยับไปเป็นผู้บัญชาการฐานสูงสุด ตามที่มีกระแสข่าวลือมาหลายครั้ง

มีรายงานด้วยว่าในบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยเฉพาะในเตรียมทหารรุ่น 24 ได้มีการหารือกันแล้วว่า การวางตัวผู้บัญชาการเหล่าทัพและแม่ทัพนายกองในอนาคตอันใกล้ ให้เป็นไปตามเดิม
เช่น บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ (ตท.24) รองปลัดกระทรวงกลาโหม จะขึ้นเป็นปลัดกลาโหมคนใหม่ แทน พล.อ.สนิธชนก ที่จะเกษียณกันยายนนี้ แม้จะมีแรงผลักดันให้บิ๊กชาย พล.อ.วสุ เจียมสุข ผช.ผบ.ทบ. แกนนำ ตท.25 ข้ามมาชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหม
แต่เป็นที่รู้กันว่า พล.อ.สนิธชนกจะเสนอชื่อ พล.อ.ธราพงษ์ เป็นปลัดกลาโหมคนใหม่แน่นอน และตราบใดที่ยังใช้บอร์ด 7 เสือกลาโหมตามเดิม ฝ่ายการเมืองก็ไม่อาจที่จะแทรกแซงในการดัน พล.อ.วสุขึ้นแทนได้ หาก พล.อ.สนิธชนก (ตท.24) ไม่ยินยอม โดย พล.อ.ธราพงษ์มีอายุราชการถึงกันยายน 2568
แม้ตำแหน่งปลัดกระทรวงจะเป็นอำนาจโดยตรงของรัฐมนตรีว่าการก็ตาม แต่อาจเป็นข้อยกเว้นสำหรับกระทรวงกลาโหม เพราะปลัดกระทรวงกลาโหมเปรียบเสมือนเป็น 1 ใน 5 ผบ.เหล่าทัพ
ขณะที่บิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฎ์ บุญตานนท์ (ตท.24) รอง ผบ.ทหารสูงสุด ก็จะขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแทน พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ตท.24 ที่จะเกษียณราชการ อีกทั้งในเวลานี้ พล.อ.ทรงวิทย์ก็เตรียมผ่องถ่ายงานให้กับ พล.อ.อุกฤษฏ์ ตามสูตร 8:2:2 แล้ว โดย พล.อ.กฤษฏ์มีอายุราชการถึงกันยายน 2570
ขณะที่มีรายงานด้วยว่า ในส่วนของกองทัพภาคที่ 1 พล.อ.พนาได้มีการส่งสัญญาณเป็นการภายในแล้วว่า แม่ทัพใหญ่ พล.ท.อมฤต บุญสุยา แม่ทัพภาคที่ 1 จากสายทหารเสือราชินี จะเป็น ผบ.ทบ.คนต่อจาก พล.อ.พนา ในตุลาคม 2570
ท่ามกลางกระแสข่าวที่ไม่อาจยืนยันว่า พล.อ.พนา จะให้ พล.ท.อมฤต นั่งแม่ทัพภาคที่ 1 ยาว 2 ปี เพื่อทำหน้าที่ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงการปรับโครงสร้างใหม่ เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2567 เพราะมีภารกิจเพิ่มเติมอีกมากมายที่จะต้องมีการจัดวางกำลังพล
อีกทั้งต้องการให้คนเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ได้มีเวลาในการพัฒนากองทัพภาคที่ 1 นานขึ้น เพราะในอดีตแม่ทัพภาคที่ 1 มักเป็นแค่ 1 ปีเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว พล.ท.อมฤตจะต้องมาวนอยู่ใน 5 เสือกองทัพบกอีกถึง 2 ปี 2 ตำแหน่ง กว่าจะได้เป็น ผบ.ทบ.
แต่แน่นอนว่า สำหรับ พล.ท.อมฤต อาจจะหายใจไม่ทั่วท้อง หากต้องนั่งแม่ทัพภาคที่ 1 นาน 2 ปี แทนที่จะขึ้นพลเอกในห้าเสือกองทัพบก ครองอาวุโส จ่อรอไว้เลยจะดีกว่า
แต่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.พนาได้ส่งสัญญาณ และได้คุยกับอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพ ยืนยันว่า จะสนับสนุน พล.ท.อมฤต เป็น ผบ.ทบ.ต่อแน่นอน แม้ พล.ท.อมฤตจะนั่งได้แค่ปีเดียวเพราะจะเกษียณตุลาคม 2571 ก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อสยบความหวั่นไหวและความไม่แน่นอน

ไม่แค่นั้น ยังมีรายงานว่า พล.อ.พนาได้ส่งสัญญาณสยบความเคลื่อนไหวในกองทัพภาคที่ 1 ในการจะแย่งชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เพราะมีแคนดิเดตถึง 4 คน
ทั้ง ตท.28 ถึง 3 คนคือ บิ๊กไก่ พล.ท.วรยส เหลืองสุวรรณ แม่ทัพน้อยที่ 1 รองกอล์ฟ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ รองแอ้ม พล.ต.ณัฐเดช จันทรางศุ รองแม่ทัพภาคที่ 1
และรองลาภ พล.ต.สิทธิพร จุลปานะ รองแม่ทัพน้อยที่ 1 รุ่นน้อง ตท.30
พล.ท.วรยส รอลุ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในโยกย้ายตุลาคม 2568 แต่หาก พล.ท.อมฤตนั่งแม่ทัพภาคที่ 1 ต่อเป็นปีที่ 2 ก็ส่อเค้าว่า พล.ท.วรยส อาจจะต้องถูกแยกตัวออกไปโตที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยเฉพาะตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก
โดยคาดว่าบิ๊กตั้ง พล.ท.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล (ตท.27) จะถูกส่งข้ามไปเป็นรองเสนาธิการทหาร ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ท่ามกลางกระแสข่าวรอยร้าวในใจในอดีตกับ พล.อ.พนา
มีกระแสข่าวว่าในโยกย้ายตุลาคม 2568 นี้ พล.อ.พนาจะดันรองกอล์ฟ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.28) ขึ้นพลโท แม่ทัพน้อยที่ 1 ไว้ก่อน และต่อคิว พล.ท.อมฤต ทั้งแม่ทัพภาคที่ 1 และรวมถึง ผบ.ทบ. เพราะ พล.ต.สราวุธมีอายุราชการถึงกันยายน 2573
โดยกระแสข่าวนี้ถูกปล่อยออกมาในกองทัพภาคที่ 1 และกองทัพบก เพื่อต้องการสยบกระแสข่าวการแย่งชิงเก้าอี้ในกองทัพภาคที่ 1 ที่อาจจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีในกองทัพ
แต่อย่างไรก็ตาม กว่าจะถึงการแต่งตั้งโยกย้ายปลายปี กันยายน 2568 และกันยายน 2569 ยังอีกนาน อะไรก็เปลี่ยนแปลงได้ เพราะไม่มีอะไรแน่นอน โดยเฉพาะเกมอำนาจในกองทัพ
ด้านบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. และอดีตรองเลขาธิการ สนว. หลังจากเงียบหายไปนาน ไม่ออกสื่อและไม่ได้มาร่วมงานของกองทัพ และไปรักษาตัวในต่างประเทศ และพักผ่อนอยู่กับครอบครัว
ได้ปรากฏตัวในวันประชุมสัมมนายานเกราะ Indo-Pacific Motorized Forum (IPMF) ที่จัดโดย ทบ.ไทย และ ทบ.สหรัฐ เป็นเจ้าภาพ โดยมี ทบ.มิตรประเทศ ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ร่วมประชุม เพื่อร่วมเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนบทเรียนจากการปฏิบัติภารกิจ และเสนอแนวความคิดในการพัฒนาและเสริมสร้างหน่วยยานเกราะ ให้กับผู้นำระดับสูงจากกองทัพมิตรประเทศในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
โดยมี พล.ท.อมฤต เป็นผู้แทน พล.อ.พนา ที่ติดภารกิจไปเยี่ยมกำลังทหารช่างไทยในเซาธ์ซูดาน มาเป็นประธานร่วม โดยเป็นการประชุมหน่วยที่ใช้ยานเกราะ โดยกองทัพบกมีกรมทหารราบที่ 11 หรือกรม Stryker พล.ร.11 เป็นหลัก เพราะเป็นกองพลทหารราบยานเกาะที่ พล.อ.อภิรัชต์มีส่วนสำคัญในการจัดตั้งขึ้น และจัดหารถเกราะสไตรเกอร์จากสหรัฐโดยใช้ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดจนทำให้จัดซื้อได้ในราคาถูก ตาม FMS โครงการความช่วยเหลือทางการทหาร และได้ของแถมจำนวนมาก
พล.อ.อภิรัชต์จึงมาปรากฏตัวและเพื่อมาพบปะต้อนรับ พล.อ. Robert B. Brown อดีต ผบ.กกล.ทบ. สหรัฐ ภาคพื้นแปซิฟิก และประธานสมาพันธ์ทหารบกสหรัฐอเมริกา ที่มาบรรยายพิเศษ เนื่องจาก พล.อ.อภิรัชต์มีความสนิทสนมใกล้ชิดและเป็นนายทหารสหรัฐที่ช่วยประสานเรื่องการเสริมสร้างกำลังรถเกราะสไตรเกอร์ให้กับ พล.ร.11
พล.อ.อภิรัชต์สวมสูทลักษณะสมาร์ตเช่นเดิม แม้จะดูผอมลง แต่ก็ดูว่าแข็งแรงดี เนื่องจากได้รับการรักษาเส้นเลือดหัวใจ และโพรงจมูกเรียบร้อยดีแล้ว
กลับมาแข็งแรงและสมาร์ตดังเดิม จนถูกทำให้จับตามองว่า พล.อ.อภิรัชต์จะคัมแบ๊กมาสู่การเมืองในอนาคตหรือไม่
เพราะก็ถือเป็นแกนหลักของ “ดีล” ผสมข้ามขั้ว ตอนจัดตั้งรัฐบาล และก็ยังเป็นน้องรักคนหนึ่งของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อีกด้วย
ที่สำคัญ พล.อ.อภิรัชต์ ถือเป็นพี่เลิฟ และผู้มีพระคุณของ พล.อ.พนา จึงยังถือว่ายังมีเพาเวอร์ และบทบาทต่อกองทัพในยุคนี้ต่อไปอีกไม่น้อย
เพราะเกมการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน เกมอำนาจในกองทัพก็เช่นกัน

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022