ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
บทบาท กองหน้า
จดหมายเหตุ สยามไสมย
บทบาท สะพานเชื่อม
หากประเมินว่า “บางกอก รีคอร์เดอร์” คือที่สถาปนา “วิชาการหนังสือพิมพ์” เป็นครั้งแรกในประเทศนี้
เป็นที่ประกาศตนเองเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ให้ผู้คนเข้ามาเขียนแสดงความคิดเห็น
และยังเป็นที่ปลดปล่อย “ข้อมูลข่าวสาร” และ “ความรู้” ซึ่งเคยเป็นสมบัติของชนชั้นสูงให้ “รั่ว” ลงไปสู่สาธารณชน
ตามบทสรุปของ สุกัญญา สุดบรรทัด
กระทั่งมีชาวอังกฤษคนหนึ่งเขียนมาสรรเสริญว่า อุบัติการณ์ของ “บางกอก รีคอร์เดอร์” นั้นคือ
“จุดเปลี่ยนผันทางประวัติศาสตร์ของชาติสยาม”
ความต่อเนื่องจาก “ราชกิจจานุเบกษา” ในปี พ.ศ.2408 คือผลสะเทือน ตามมาด้วย “ดรุโณวาท” ในปี พ.ศ.2417 และ “COURT ข่าวราชการ” ในปี พ.ศ.2418 คือผลสะเทือนและดำเนินไปในลักษณะของการขยาย “บทบาท”
เป็นบทบาทในการตอบโต้ “บางกอก รีคอร์เดอร์” เป็นส่วนขยายให้กับ “ราชกิจจานุเบกษา”
และเป็น “เครื่องมือ” ในทาง “ความคิด” ในทาง “การเมือง”
เพียงแต่ในยุคแรกอาจเป็นความคิดในหมู่ “ชนชั้นสูง” เป็นการเมืองและการต่อสู้ในหมู่ “ชนชั้นสูง” เป็นไปตามบทสรุปและข้อสังเกตจากงานวิจัยของ จำนง วิบูลย์ศรี ดวงทิพย์ วรพันธุ์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ต่อบทบาทของ “หนังสือพิมพ์” หลังยุค “ดรุโณวาท” และ “COURT ข่าวราชการ”
จากยุค “เจ้านาย”
ถึง ธรรมดา สามัญชน
ในปี พ.ศ.2427 มีหนังสือพิมพ์ “วชิรญาณ” รายเดือนออกจำหน่าย และหลังจากนั้น 2 ปีก็มีหนังสือพิมพ์ “วชิรญาณวิเศษ” ออกตามมา เนื้อหาการเสนอข่าวของทั้ง 2 ฉบับคล้ายคลึงกัน คือ มีสารคดี โคลง กลอน
อย่างไรก็ตาม ทั้ง “วชิรญาณ” และ “วชิรญาณวิเศษ” ก็ต้องหยุดจำหน่ายในปี 2437 เพราะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนเท่าที่ควร
เป็นอันว่า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็หมดยุคของหนังสือพิมพ์ที่จัดจำหน่ายโดยเจ้านายในราชวงศ์ ซึ่งมุ่งที่จะเสนอข่าวของทางราชการและข่าวในราชสำนักเป็นสำคัญ
เมื่อหมดยุคของหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยเจ้านายในราชวงศ์แล้วก็เป็นยุคเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินการโดยสามัญชน
ซึ่งเริ่มด้วย ก.ศ.ร. กุหลาบ ผู้ออกหนังสือพิมพ์ “สยามประเภทสุนทโรวาทพิเศษ” รายเดือนเมื่อปี พ.ศ.2440-2441 โดยเสนอข่าวสารความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีและเสนอแนวความคิดเพื่อยกระดับสังคม
นับเป็นการเบนเนื้อหาไปสู่ประชาชนทั่วไป
หนังสือพิมพ์ประเภทเดียวกันนี้ที่ได้ออกตามมาอีกคือ “ตุละวิภาคพจนกิจ” ออกระหว่าง พ.ศ.2443-2449″ และ “ศิริพจนภาค” ออกระหว่าง พ.ศ.2450-2451
หนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มี “เทียนวรรณ” หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ โดยเสนอเนื้อหาที่มุ่งให้ประชาชนได้รับรู้การปฏิบัติงานของรัฐบาล และได้เสนอแนะรัฐบาลให้ปรับปรุงประเทศให้เจริญ รวมทั้งได้เสนอแนวความคิดในเรื่องความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง
ถึงแม้ว่าความคิดของ “เทียนวรรณ” ในขณะนั้นจะไม่แพร่หลายเท่าที่ควร แต่ก็มีผลกระทบในเวลาต่อมา
ดังจะเห็นได้จากการประกาศเลิกหวยเมื่อปี พ.ศ.2459 และประกาศเลิกทาสเมื่อปี พ.ศ.2448 เป็นต้น
กองหน้า สะพานเชื่อม
จดหมายเหตุ สยามสไมย
หากศึกษาจาก “สยามพิมพการ” อันเป็น “ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย” โดย “คณะทำงานประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย” โดย “ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน 2549
ก็จะตระหนักได้ว่าการปรากฏขึ้นไม่ว่าจะเป็น ก.ศ.ร. กุหลาบ ไม่ว่าจะเป็น ต.ว.ส. วัณณาโภ เทียนวรรณ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ไม่เพียงแต่เป็นการส่งผ่านในทาง “วัฒนธรรม” ความคิดที่เคยอยู่ในมือของ “ชนชั้นสูง” ซึ่งเป็นเจ้านายอยู่ในแวดล้อมของ “ราชสำนัก” เท่านั้น หากแต่ยังเท่ากับเป็นการสำแดงตัวตนของ “สามัญชน” ในการสร้างบทบาทและความหมายในทางสังคมอย่างน่าสนใจ
ทั้งหมดนี้ย่อมสัมพันธ์ระหว่าง 1 โรงพิมพ์ 1 หนังสือพิมพ์หรือที่เรียกว่าจดหมายเหตุ
นั่นคือ โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ นั่นคือโรงอักษรพิมพการในราชวัง
หลังจากนั้นจึงเกิด “บางกอกรีคอร์เดอร์” ตามมาด้วย “ราชกิจจานุเบกษา” ตามมาด้วย “COURT ข่าวราชการ” ตามมาด้วย “ดรุโณวาท” ตามมาด้วย “สยามประเภทสุนทโรวาทพิเศษ” ตามมาด้วย “ตุละวิภาคพจนกิจ”
ขณะเดียวกัน ก็มี “ปรากฏการณ์” หนึ่งซึ่งมิอาจมองข้ามได้
นั่นก็คือ การเกิดขึ้นของ “จดหมายเหตุสยามไสมย” ในความรับผิดชอบของ “หมอสมิธ” ระหว่าง พ.ศ.2424-2428 (ค.ศ.1881-1885) อัน กุลลดา เกษบุญชู มี้ด สรุปอย่างรวบรัดว่า
“เพื่อเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่คริสต์ศาสนา
และพร้อมกันนั้นก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างรุนแรงด้วย
วารสารนี้นำเสนอแนวคิดเรื่องชาตินิยมที่แตกต่างอย่างยิ่งจากแนวทางที่เสนอโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกลุ่มผู้ถวายคำกราบบังคมทูล ทั้งได้บ่มเพาะความคิดซึ่งจะผลิดอกออกผลในคนรุ่นถัดไป”
นี่ย่อมเป็นเงาสะท้อนแห่งการเกิดขึ้นของความคิด “สมัยใหม่” ที่อยู่ในหมู่ “เจ้านาย” ซึ่งเป็นคนชั้นสูง ส่วนหนึ่งเคยสังกัด “สยามหนุ่ม” และมีบทบาทเป็นอย่างสูงในการเคลื่อนไหว แต่ได้พัฒนาไปไกลกว่าระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดยการสมาทานความคิด “ประชาธิปไตย” เข้ามา
การปรากฏขึ้นของ “จดหมายเหตุสยามไสมย” จึงดำเนินไปในลักษณะอันเป็นสะพานเชื่อมและส่งผลสะเทือนให้เกิดคนอย่าง ก.ศ.ร. กุหลาบ คนอย่าง ต.ว.ส. วัณณาโภ เทียนวรรณ ตามมา
พร้อมกับความพยายามในการจัดวางและสถาปนา “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภายในกระบวนการ “ปฏิรูป” จึงกลายเป็น “มูลเชื้อ”
2 ยุค “สยามหนุ่ม”
รุ่นแรก กับ รุ่นใหม่
กุลลดา เกษบุญชู มี้ด มีความเห็นว่า ปัญหาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดจากความจำเป็นที่จะควบคุมความเกินพอดีของฝ่าย “สยามหนุ่ม” มากเสียยิ่งกว่าจะมุ่งจัดการกับพลังต่อต้านจากฝ่าย “สยามเก่า” หรือสยามอนุรักษนิยม
“สยามหนุ่ม” รุ่นที่สองเติบโตขึ้นในทศวรรษ 1880
ประกอบด้วยเจ้านายและขุนนางรุ่นเยาว์ที่ต่างผูกพันกับการปฏิรูปของพระองค์อย่างเต็มที่ สิ่งที่แตกต่างก็คือ แนวความคิดเกี่ยวกับลักษณะของรัฐไทยในอนาคตซึ่งไม่ตรงกับแนวพระราชดำริของพระองค์
ในฐานะกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง คนเหล่านี้เป็นทั้งขุมพลัง เป็นทั้งเสี้ยนหนามของกษัตริย์
ด้านหนึ่ง พวกเขาถวายการรับใช้พระมหากษัตริย์ (เช่น ในกรณีสันนิบาตลับ) แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาก็มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในความเป็น “ตะวันตก” และเย้ยหยันคนที่ถูกหล่อหลอมจากแม่พิมพ์ของ “สยามเก่า” ซึ่งยังเป็นพลังสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับพระองค์อยู่จนกว่าระบบใหม่จะแทนที่ระบบเก่าโดยสมบูรณ์
สภาพการณ์เหล่านี้เองก่อให้เกิดความตึงเครียดภายในระบบราชการซึ่งพระองค์จะต้องรับมือ
ชนชั้นนำกลุ่มใหม่นี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ยอมประนีประนอม หากผลประโยชน์ของตนขัดกับเจตนารมณ์ของพระองค์ที่จะยับยั้งการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในระบบราชการ
คนเหล่านี้มักไม่อดทนกับจังหวะของการปฏิรูป และพร้อมจะวิจารณ์ระบบของพระองค์ในขณะที่แสดงออกซึ่งความจงรักภักดีด้วยก็ตาม
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022