ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | Biology Beyond Nature |
ผู้เขียน | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร |
เผยแพร่ |
Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร
เอไอปะทะไบโอเทค (2)
(ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค)
ทศวรรษที่ 1980s กลายเป็นช่วงเวลาที่ทั้งวงการไบโอเทคและวงการปัญญาประดิษฐ์เปล่งประกายขึ้นพร้อมกัน
หนึ่งในบทความเก่าแก่ที่สุดผมค้นเจอว่าด้วยความสัมพันธ์หว่างวงการไบโอเทคและปัญญาประดิษฐ์คือบทความของ Edward M. Dickson ในวารสาร AI Magazine ตีพิมพ์ในปี 1984 หรือกว่า 40 ปีที่แล้ว
หัวข้อบทความนี้คือ “Comparing Artificial Intelligence and Genetic Engineering : Commercialization Lessons” ว่าด้วยการถอดบทเรียนเชิงเปรียบเทียบระหว่างวงการปัญญาประดิษฐ์และวงการพันธุวิศวกรรมในการนำเอาเทคโนโลยีออกไปสร้างเป็นธุรกิจส่งผลิตภัณฑ์สู่ท้องตลาด
Dickson เล่าว่าทั้งสองวงการนี้มีพัฒนาที่ละม้ายคล้ายคลึงกันหลายประเด็น ตั้งแต่การเริ่มต้นจากงานวิจัยชั้นสูงที่จากมหาวิทยาลัยแนวหน้าอย่าง Stanford และ MIT อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงินทุนพร้อมนักลงทุนกล้าได้กล้าเสียอย่าง Silicon Valley กับ Boston และเริ่มมีโมเดลพันธมิตรระหว่างสตาร์ตอัพหน้าใหม่ที่มาพร้อมไอเดียกับบริษัทใหญ่ที่มีคนมีเงินและประสบการณ์ฝั่งตลาด (สตาร์ตอัพไบโอเทคพันธมิตรกับบริษัทยา; สตาร์ตอัพปัญญาประดิษฐ์กับบริษัทคอมพิวเตอร์)
ทั้งสองวงการยังเจอปัญหาคล้ายกันคือกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญายังไม่พร้อม
เช่น ทั้งซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำปัญญาประดิษฐ์และชิ้นส่วนดีเอ็นเอ หรือสิ่งมีชีวิตปรับแต่งพันธุกรรมสามารถจะถูกก๊อบปี้เพิ่มจำนวนลอกเลียนดัดแปลงได้ง่าย
ปัญหาเรื่องมุมมองของสาธารณชนที่ยังค่อนข้างหวาดระแวงกับเทคโนโลยี
นอกจากนี้ Dickson ยังยกประเด็นว่าแม้สหรัฐอเมริกาจะยังเป็นผู้นำในสองเทคโนโลยีนี้แต่คู่แข่งอย่างญี่ปุ่นก็กำลังตามมาติดๆ
ส่วนในมุมของความต่าง Dickson มองว่าวงการปัญญาประดิษฐ์น่าจะได้เปรียบกว่าเพราะนักวิจัยสายคอมพิวเตอร์คลุกคลีคุ้นเคยกับภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ขณะที่นักชีวเคมีและจุลชีววิทยามักอยู่กันแต่วงการวิชาการ ส่วนในด้านกฎหมายข้อบังคับเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์ออกตลาดงานฝั่งคอมพิวเตอร์แทบไม่มีอะไร
ขณะที่ฝั่งไบโอเทคเข้มงวดกว่ามากเพราะผลิตภัณฑ์พวกนี้ส่วนใหญ่จัดเป็นยาที่ต้องผ่านการทดสอบเพื่อความปลอดภัยหลายขั้นตอนทางคลินิกแต่ละขั้นใช้เวลายาวนานและเงินลงทุนมหาศาล อีกประเด็นน่าสนใจคือในมุมการประยุกต์ใช้ทางทหารซึ่งเป็นอีกแหล่งเงินทุนวิจัยก้อนโตในสหรัฐงานฝั่งปัญญาประดิษฐ์ก็ถูกยอมรับเปิดเผยมากกว่า
ขณะที่ฝั่งไบโอเทคถูกมองเป็นเรื่องอาวุธชีวภาพซึ่งผิดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ

Cr ณฤภรณ์ โสดา
แม้จะเสียเปรียบหลายด้าน Dickson ยังเห็นว่า (ณ ปี 1984 ตอนที่เขียนบทความนั้น) อุตสาหกรรมไบโอเทคก้าวกระโดดไปไวกว่าจนน่าตกใจชวนให้ถอดบทวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้อะไรได้บ้าง
ช่วงเวลาไม่ถึงสิบปีจาก 1973 ถึง 1982 วงการไบโอเทคเติบโตจากผลงานตัดต่อดีเอ็นเอลูกผสมครั้งแรกในห้องแล็บมหาวิทยาลัยจนกลายเป็นอุตสาหกรรมใหม่สุดฮอตที่มีสตาร์ตอัพในตลาดกว่า 160 บริษัท
บริษัทรุ่นบุกเบิกสี่เจ้า (“The Big Four”) ได้แก่ Genentech, Cetus, Biogen และ Genex ระดมเงินลงทุนได้รวมกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีพันธมิตรเป็นบริษัทยาใหญ่ๆ คอยหนุนหลัง และมีสินค้าออกตลาดทำกำไรแล้วอย่างอินซูลินกับฮอร์โมนเร่งโตในมนุษย์
หนึ่งในบทเรียนที่ Dicken กล่าวถึงคือความสำคัญของประสบการณ์บริหารตั้งการวางกลยุทธ์ทางตลาด การจัดสรรทรัพยากร การจัดการการเงิน ฯลฯ ซึ่งจำเป็นไม่น้อยไปกว่าไอเดียและความเชี่ยวชาญทางเทคนิค
Genentech คือตัวอย่างของสตาร์ตอัพที่ทำเรื่องนี้ได้ดีอาจจะเพราะว่าตัวตั้งตัวตีที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งและบริหารคือ Robert Swanson นักบริหารมืออาชีพที่มีประสบการณ์หลายปีในวงการ VC
ขณะที่อีกหลายบริษัทสตาร์ตอัพไบโอเทคร่วมสมัยเอานักวิจัย เอาอาจารย์มหาวิทยาลัยมานั่งบริหารเองก็เลยเละ
ปัญหาหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นคือพอสตาร์ตอัพได้เงินจากนักลงทุนมาเยอะๆ พวกนักวิจัยก็จะเริ่มฟุ้งอยากลองนู่นลองนี่ไปเรื่อยจนหลุดโฟกัสจากผลิตภัณฑ์ที่จะออกตลาดทำกำไรได้จริงในกรอบเวลาอันจำกัด
Genentech ผ่านช่วงนั้นมาได้โดยมี Swanson รับบทผู้กำกับสุดเฮี้ยบ

Cr ณฤภรณ์ โสดา
Dicken เตือนเรื่องกระแสบ้าเห่อ ผลิตภัณฑ์แนวไหนที่ดูจะเซ็กซี่ขายดีก็จะมีสตาร์ตอัพแนว “me-too” (กูเอาด้วย) เฮโลตามกันมา
พอ Genentech ทำโปรตีนลูกผสม (recombinant protein) เป็นยาขายสำเร็จ สตาร์ตอัพอื่นก็เอาบ้าง โปรตีนลูกผสมตัวที่เห่อกันสุดช่วงนั้นคือ interferon (โปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันที่คาดว่าจะสามารถใช้ต้านไวรัสและรักษามะเร็ง) เรียกได้ว่าถ้าหัวข้อนี้อยู่จะระดมเงินได้ง่ายขึ้นมาก
แต่สุดท้ายแล้วปรากฏว่าตลาดเล็กกว่าที่คิด ฤทธิ์ไม่ได้ดีอย่างที่คาดก็เลยเจ๊งหมดเงินกันไปเป็นแถบ
ในทางกลับกันสินค้าบางแนวที่อาจจะดูไม่เซ็กซี่มากตอนนั้นอย่างพวกวัสดุชีวภาพ การเกษตร และปศุสัตว์ซึ่งสามารถเอางานพันธุวิศวกรรมไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกันก็เริ่มมีบางบริษัทที่เข้าไปเจาะตลาดและโกยกำไรเงียบๆ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือบริษัทผลิตเครื่องมือเพื่อให้คนอื่นไปวิจัยและผลิตสินค้าอีกทีด้วยแนวคิด “During the gold rush, sell shovels” (จงขายพลั่ว เมื่อทุกคนแห่กันไปขุดทอง) สำหรับวงการไบโอเทค เครื่องมือพวกนี้ได้แก่ พวกเอนไซม์ ชุดสกัด อุปกรณ์สังเคราะห์และอ่านลำดับดีเอ็นเอ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน “ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค” ตอนที่ 12-18) สินค้าพวกนี้มักจะออกมาขายทำกำไรได้เร็วกว่าสินค้าปลายทาง (เช่น ยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ) แถมยังมีโอกาสโตไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งอุตสาหกรรม
Dicken เสนอว่าซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ หรือปัญญาประดิษฐ์ที่เอาไว้ช่วยพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ตัวอื่นๆ อาจจะเป็นแนวธุรกิจที่น่าสนใจ

Cr ณฤภรณ์ โสดา
บทความของ Dicken ตอนปี 1984 เน้นถอดบทเรียนจากไบโอเทคเสียเยอะ มีพูดถึงฝั่งอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์เองไม่มาก และมีแค่ไม่กี่บรรทัดที่เล่าเรื่องจุดตัดระหว่างสองอุตสาหกรรมนี้
มียกตัวอย่างสตาร์ตอัพชื่อ IntelliCorp ที่ใช้เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ในงานพันธุวิศวกรรม (ผมพยายามค้นหาแล้วแต่ไม่มีข้อมูลรายละเอียดมากกว่านี้ว่าทำอะไร) และยกตัวอย่าง VC บางเจ้าที่ลงทุนในทั้งสองอุตสาหกรรม
ตอนต่อจากนี้เราจะเริ่มมาดูจุดตัดของระหว่างไบโอเทคกับปัญญาประดิษฐ์ที่เริ่มจากงานวิจัยฝั่งชีวโมเลกุลและงานด้านวิศวกรรมกระบวนการชีวภาพ (bioprocess design)

Cr ณฤภรณ์ โสดา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022