‘สามล้อถูกหวย’ กับข้อคิดของ Bill Gates

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

‘สามล้อถูกหวย’

กับข้อคิดของ Bill Gates

 

Bill Gates เคยบอกว่า จะไม่ยกลูกสาวให้คนที่ Mindset แย่

นิยามความรวย-ความจน ของ Bill Gates ไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นแบบแผนทางความคิด

เด็กหนุ่มอาจไม่มีเงินสักบาท แต่เขาเพียรพยายาม แสวงหาความรู้ ลงมือทำธุรกิจแบบไม่ยอมแพ้ นี่คือคนรวยในมุมมอง Bill Gates

เช่นเดียวกับคนถูกหวยรางวัลที่ 1 ไม่ใช่คนรวยในแบบที่ Bill Gates มอง เพราะแค่เป็นคนมีเงิน ที่เงินจะหมดไปหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ

ดังนั้น นิยามคนรวย-คนจนของ Bill Gates คือ Mindset ของแต่ละคนที่ต่างกัน

หนุ่มสาวที่แสวงหาความรู้อยู่เสมอ Bill Gates บอกว่านี่คือ Mindset แบบ Rich Man

แต่หากคุณเห็นคนหนุ่มสาวที่คิดว่าปัญหาชีวิตเกิดจากรัฐ และมองว่าคนรวยคือพวกฉวยโอกาสและขี้โกง Bill Gates บอกว่าคนหนุ่มคนสาวเช่นนั้นที่วันวันเอาแต่วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น นี่คือ Mindset แบบ Poor Man

 

Bill Gates กล่าวว่า ลูกๆ ของเขาได้รับการเลี้ยงดูด้วยการผสมผสานระหว่างเหตุผล กับอารมณ์ ผสมผสานระหว่างความรัก และการคิดที่มีตรรกะ

“พ่อแม่ควรมอบความรัก ความเข้าใจให้แก่ลูกๆ ต้องทำตนเป็นตัวอย่างเพื่อช่วยให้ลูกๆ เข้าใจบางสิ่งบางอย่าง พ่อแม่จำเป็นต้องใช้การคิดอย่างมีตรรกะ”

Bill Gates ชี้ว่า ตัวเขาพยายามสร้างสมดุลในกระบวนการดังกล่าว

“ผมเลี้ยงลูกให้เป็นอิสระที่จะทำในสิ่งที่ต้องการ แต่ก็ไม่ปล่อยให้ลูกตามใจตัวเองเกินไป จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้ใช้เงินมากนักในการเลี้ยงดูลูก”

Bill Gates ยืนยันว่า เขาลงทุนอย่างหนักเฉพาะกับการศึกษาของลูกเท่านั้น

“ผมจะทิ้งมรดกด้านการศึกษาไว้ให้ลูกๆ เพื่อที่จะช่วยให้พวกเขาไม่ตกอยู่ในความยากจน แต่พวกเขาจะต้องมีอาชีพเป็นของตัวเองหากต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่านี้ในอนาคต”

Bill Gates ระบุว่า การที่เด็กๆ ได้รับมรดกนั้นไม่ดีเลย เพราะจะทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยน เด็กๆ ต้องสร้างเส้นทางของตัวเอง

Bill Gates ยกตัวอย่าง คนที่ถูกล็อตเตอรี่ ต่อให้ได้เงินเป็นร้อยล้าน แต่แล้วอีกไม่กี่ปีต่อมา คนเหล่านั้นส่วนใหญ่มักกลับไปจนเหมือนเดิม เพราะพวกเขาไม่รู้วิธีจัดการเงินที่ดีพอ

“ในทางกลับกัน มีคนที่ดูเหมือนจะไม่มีเงินเลย เช่น เจ้าของธุรกิจใหม่ๆ แต่เขากำลังพัฒนาความรู้ทางการเงิน นั่นแหละคือคนรวยที่แท้จริง”

 

Bill Gates ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของคนรวยกับคนจนว่า คนรวยส่วนใหญ่พร้อมที่จะลุยเพื่อรวย แต่คนจนส่วนใหญ่จะชอบทางลัด เช่น ขโมย หรือทำร้ายคนอื่นเพื่อได้เงิน

“คนรวยจะมองว่าตัวเองต้องเรียนรู้ และหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาธุรกิจ แต่คนจนมักคิดว่าชีวิตที่เหลือคือการรอให้คนอื่นมาช่วย”

ได้อ่านความคิดของ Bill Gates แล้ว ทำให้คิดถึงคำว่า “สามล้อถูกหวย” ขึ้นมา

คำว่า “สามล้อถูกหวย” ไม่ใช่สำนวน สุภาษิต หรือคำพังเพยโบราณ แต่เป็นเรื่องจริงของ “นายแทน”

ถ้าจะเอาไปเป็นข่าวพาดหัว ก็พาดได้เลยว่า “ช็อก! หนุ่มอุทัยถูกรางวัลที่ 1 สองครั้ง แต่หมดตัวทั้งสองครั้ง!”

เนื้อข่าวเล่าว่า “นายแทน” เป็นชาวอุทัยธานีโดยกำเนิด มีอาชีพขี่สามล้อรับจ้างในตัวเมืองอุทัยธานีช่วงก่อนปี พ.ศ.2500 เล็กน้อย

“นายแทน” เป็นชายหนุ่มรูปร่างสูงยาวเข่าดี สูงประมาณ 160 เซนติเมตร น้ำหนักราว 60 กิโลกรัม เรียกได้ว่า BMI หรือดัชนีมวลกายสมส่วนยิ่งนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างกายกำยำ กล้ามแขนกล้ามขาแข็งแรงเป็นมัดๆ

แม้ช่วงประมาณปี ค.ศ.2510 “นายแทน” ได้เงียบหายไป เพราะย้ายไปตั้งรกรากอยู่แถบจังหวัดทางภาคเหนือ

แต่ “นายแทน” ได้ทิ้งตำนานอันแสนจะโด่งดังไว้กับเมืองอุทัย จนกลายเป็นที่มาของคติสอนใจคือ “สามล้อถูกหวย”

 

เรื่องมีอยู่ว่า ทุกเช้า “นายแทน” จะห้อสามล้อคู่ใจไปตามตรอกซอกซอยของตัวเมืองอุทัย จากอาชีพสามล้อรับจ้าง

“นายแทน” มีครอบครัวอยู่ในตลาดตัวเมืองอุทัย โดยอาศัยอยู่บ้านเช่า แถวหน้าวัดสังกัสรัตนคีรี ก่อนถึงโรงสี ต่อมาย้ายไปอยู่หน้าวัดโรงโค

ปี พ.ศ.2503 “นายแทน” เป็นที่โจษจันของคนทั้งเมืองอุทัย เพราะ “นายแทน” ควักกระเป๋าลงทุนเพียง 10 บาทเพื่อซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่กลับถูกรางวัลที่ 1 ได้เงินรางวัลมาถึง 500,000 บาท

โดยค่าเงินในสมัยนั้น ถ้าเทียบกับราคาทองคำ ที่มีน้ำหนักแค่บาทละ 400 บาท หรือเปรียบได้กับราคาข้าวเปลือก 1 เกวียน

ขณะที่ในปัจจุบัน สลากกินแบ่งรัฐบาลใบละ 80 บาท เงินรางวัลที่ 1 คือ 6,000,000 บาท ทองบาทละ 48,000 บาท ราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 8,000 บาท

ดังนั้น รางวัลที่ 1 มูลค่า 500,000 จึงนับว่ามากโขในยุคสมัยของ “นายแทน”

เมื่อถูกรางวัลที่ 1 จากอาชีพขี่สามล้อ และจากการเป็นคนหาเช้ากินค่ำ “นายแทน” กลายเป็น “เสี่ยแทน” เศรษฐีใหม่แห่งเมืองอุทัยทันที

บ้านเช่าของ “เสี่ยแทน” หน้าวัดโรงโค ถนนณรงค์วิถี จากที่ไม่มีใครมอง กลายเป็นบ้านที่หัวกะไดไม่แห้งไปเสียแล้ว

เพราะบัดนี้ บ้านเช่าของ “เสี่ยแทน” ห้อมล้อมไปด้วยเพื่อนฝูงญาติมิตร มาขอเงิน มากินเลี้ยง กินเหล้า ฉลองกันทุกวี่วัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงหัวค่ำเย็นย่ำของทุกวัน จะมีสามล้อจอดเรียงรายเต็มไปหมด ทุกคนมาดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน พร้อมกับแกล้มไม่อั้น

นอกจากนี้ “นายแทน” ได้นำเงินรางวัลที่ 1 ก้อนใหญ่ไปลงทุนทำธุรกิจรถโดยสาร แต่ “นายแทน” บริหารไม่เป็น เพราะไม่เคยทำธุรกิจ เพียงไม่ถึงปี ธุรกิจเดินรถก็ขาดทุน

เงินทองของ “นายแทน” หมดลงอย่างรวดเร็ว

“นายแทน” ต้องกลับไปยึดอาชีพเดิม คือขี่สามล้อรับจ้าง ชาวบ้านจึงเรียกนายแทนว่า “สามล้อถูกหวย”

 

แต่ชีวิตจริงไม่อิงนิยาย หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี “นายแทน” ได้โชค 2 ชั้น คือถูกรางวัลที่ 1 อีกเป็นครั้งที่ 2

“นายแทน” กลายเป็น “เสี่ยแทน” อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่เศรษฐีใหม่แล้ว เพราะเขาดำรงตำแหน่ง “เสี่ยแทน” เป็นรอบสอง

แต่แทนที่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต “เสี่ยแทน” ใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายเหมือนเดิมอีก เงินรอบสองของกองสลากจึงหมดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้ง

ก่อนตำนาน “สามล้อถูกหวย” จะจางหายไป “นายแทน” ได้นำเงินก้อนสุดท้ายอพยพครอบครัวไปอยู่จังหวัดใกล้เคียง

และต่อมามีคนเห็น “นายแทน” ที่จังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ โดยไม่กลับมาที่อุทัยธานีอีกเลย

 

อ่านเรื่อง “นายแทน” ผู้ถูกรางวัลที่ 1 สองครั้งแต่หมดตัวทั้งสองครั้ง ทำให้คิดถึงคำสอนของ Bill Gates

“คนที่ถูกล็อตเตอรี่ ต่อให้ได้เงินเป็นร้อยล้าน แต่แล้วอีกไม่กี่ปีต่อมา คนเหล่านั้นส่วนใหญ่มักกลับไปจนเหมือนเดิม เพราะพวกเขาไม่รู้วิธีจัดการเงินที่ดีพอ”

จะมีสักกี่คนในโลกที่โชคดีถูกรางวัลที่ 1 ถึงสองครั้ง แต่ไม่ว่าจะถูกรางวัลที่ 1 สักกี่ครั้ง ถ้าดำรงชีวิตอย่างขาดสติ ไร้ปัญญา เหมือน “นายแทน”

ทรัพย์สินเงินทอง ไม่ว่าจะมีมากมายเท่าไร ก็คงมิอาจรักษาไว้ได้