คลื่นรัสเซียอพยพ กระทบชายหาดไทย

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

คลื่นรัสเซียอพยพ

กระทบชายหาดไทย

 

เมืองไทยกำลังกลายเป็นพื้นที่รองรับผู้คนจากชาติต่างๆ ที่หลั่งไหลกันเข้ามาอยู่อาศัยอย่างถาวรตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์สำคัญของโลกสองเหตุการณ์คือ

(1) การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ (2) สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ซึ่งหากไม่นับชาวอิสราเอลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองปายตามที่ปรากฏเป็นข่าวอย่างอึกทึกตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า กัมพูชา ลาว ที่ทยอยเข้ามาหางานทำอย่างต่อเนื่องแล้ว

ผู้คนจากประเทศจีนนับว่าเป็นกลุ่มที่จำนวนมากที่สุด และมีพฤติกรรมที่แสดงลักษณะเฉพาะของกลุ่มออกมาอย่างเด่นชัดที่สุด

ปรากฏการณ์นี้ทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นในยุคหลังโควิด เมื่อประเทศจีนอนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศได้อีกครั้ง หลังจากที่ล็อกดาวน์ไปอย่างยาวนานตามนโยบาย Zero-COVID ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

นอกจากนั้น ชาวจีนยังย้ายเข้ามาในไทยทุกชนชั้นไม่ว่าจะเป็นชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง รวมทั้งยังมาในทุกรูปแบบทั้งขาว เทา และดำ แถมยังกระจายตัวไปทั่วทุกภูมิภาคในไทยด้วย ดังนั้น จึงได้รับการจับตามองมากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ยังมีชาติอื่นๆ อีกหลายประเทศที่เข้ามามากเช่นกัน แต่กลับไม่เป็นที่สังเกตมากนัก

 

ชนชาติที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในไทยรองลงมาจากจีนมีหลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือ “รัสเซีย” ซึ่งเข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวได้นานนมแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณ “Sea Sun Sand” คือพื้นที่อันมีทะเล แสงแดด ชายหาด และความบันเทิงเริงใจ อย่างเช่น ภูเก็ต พัทยา กระบี่ เป็นต้น

ความนิยมมาเยือนทะเลไทยดำเนินไปในหมู่นักท่องเที่ยวรัสเซียตลอดหลายทศวรรษ กระทั่งมาสู่จุดเปลี่ยนจากเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผลักดันให้ทั้งชาวรัสเซียและยูเครนหันเหจากการเข้ามาพักผ่อนชั่วครั้งชั่วคราวไปสู่การอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นการถาวร

จนทำให้ท้ายที่สุดเกิดสภาพที่ชายหาดไทยเต็มไปด้วยคลื่น “รัสเซียอพยพ”

ภาพของคนรัสเซียอพยพเข้าสู่พื้นที่ชายหาดไทยปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุดในภูเก็ต กระบี่ และพัทยา นอกจากนั้น ยังเริ่มกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ อีก เช่น เกาะพะงัน เกาะสมุย เกาะเต่า เป็นต้น

ประเด็นนี้เป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจในสื่อต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งทำให้เห็นรายงานข่าวและสารคดีเรื่องนี้อยู่เป็นระยะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ตัวอย่างเช่น รายงานข่าวเชิงลึกของสำนักข่าวเดอะ สเตรตส์ ไทม์ส (The Straits Times) ของสิงคโปร์เรื่อง “Rich Russians isolated from the West are flocking to Thailand’s Phuket” ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมานี้เอง

ทางลิงก์ https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/rich-russians-isolated-from-the-west-are-flocking-to-thailand-s-phuket

 

เดอะ สเตรตส์ ไทม์ส ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลโดยเข้าไปสัมภาษณ์คนรัสเซียจำนวนหนึ่งซึ่งย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในภูเก็ต โดยมีปัจจัยสำคัญอันเป็นตัวเร่งให้เกิดปรากฏการณ์นี้ก็คือผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียถูกแบนจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป ทำให้โดดเดี่ยวจากส่วนอื่นของทวีป

เมื่อชาวรัสเซียไม่สามารถเดินทางเข้าออกทวีปยุโรปได้ตามปกติจึงเคลื่อนย้ายมาสู่ดินแดนอื่นแทน

ประเทศไทยซึ่งเปิดกว้างต้อนรับชาวรัสเซียอย่างไม่มีกำแพงกั้นจึงมีปริมาณชาวรัสเซียเข้ามามากขึ้น

เมื่อประกอบกับการที่ไทยเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวรัสเซียทั้งในเรื่องของวีซ่าและเที่ยวบิน ก็ยิ่งทำให้การเดินทางเข้าสู่ไทยเป็นไปอย่างง่ายดาย

ประเภทของวีซ่าในการเข้าสู่ไทยมีหลากหลาย หนึ่งในนั้นก็คือสำหรับนักลงทุนและผู้ที่มีทักษะพิเศษ เช่น ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านโซเชียลมีเดีย ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ฯลฯ ซึ่งสามารถเข้ามาพำนักอยู่ประเทศไทยในระยะยาวได้

รัสเซียถูกแบนจากยุโรปในสารพัดเรื่อง เช่น ระงับการใช้บัตรเครดิตแบบวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ทำให้คนรัสเซียต้องหันไปใช้ช่องทางทำธุรกรรมช่องทางอื่น ผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรยังทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงมาก ฉะนั้น จึงไม่สามารถประกอบธุรกิจการค้าได้อย่างสะดวกสบายเช่นในอดีต

เมื่อเป็นเช่นนั้นนักธุรกิจและนายทุนรัสเซียจึงมองไทยเป็นเป้าหมายที่น่าลงทุนกว่า

นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจแล้วยังมีเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย เพราะคนรัสเซียที่ไม่ปรารถนาจะมีเอี่ยวกับสงครามยูเครนก็พยายามหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ไปรบด้วยการอพยพไปประเทศอื่น ส่วนทรัพย์สินที่มีอยู่ก็ไม่ปลอดภัย

เพราะฉะนั้น ถ้าโยกย้ายได้ก็จะโอนย้ายไปเก็บไว้ในอีกประเทศหนึ่ง

 

สิ่งหนึ่งที่คลื่นผู้อพยพชาวรัสเซียมีความแตกต่างจากผู้อพยพจากประเทศอื่นก็คือมีกลุ่มมหาเศรษฐีเข้ามาเป็นจำนวนมาก และไม่ได้มาซื้อสินค้าและบริการในพื้นที่เพื่อความสะดวกสบายส่วนตัวเท่านั้น หากแต่ยังเข้ามาลงทุนซื้อกิจการและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

รายงานข่าวจากเดอะ สเตรตส์ ไทม์ส บรรยายว่าเศรษฐีรัสเซียบางคนมาพร้อมกับเรือยอชต์ ในขณะที่บางคนเหมาซื้อวิลล่าทีเดียวร่วมยี่สิบหลัง ส่งผลให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตพุ่งขึ้นแบบทวีคูณ

สถิติในปี 2565 ระบุว่ายอดขายวิลล่าสูงขึ้นถึง 82% ที่น่าตกตะลึงคือครึ่งหนึ่งถูกซื้อโดยทุนรัสเซีย

สถิติในปีเดียวกันนั้นยังบอกด้วยว่าลำพังเพียงครึ่งปีแรกก็มีชาวรัสเซียเดินทางมาถึงภูเก็ตเหยียบ 8 แสนคนเข้าไปแล้ว ซึ่งมากกว่าปีก่อนถึง 1,000% ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นปริมาณที่ทะยานขึ้นสูงอย่างเด่นชัด และครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เดินทางเหล่านี้ล้วนแล้วแต่บินตรงจากรัสเซียมาสู่ภูเก็ต แสดงให้เห็นว่าภูเก็ตไม่ใช่เป้าหมายรองของคนรัสเซีย แต่เป็นจุดหมายปลายทางหลักของพวกเขามาตั้งแต่ต้น

ทำให้เมื่อปี 2566 รัสเซียครองตำแหน่งชาวต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในภูเก็ตเหนือกว่าชาติอื่นๆ

การที่มีทั้งคนที่อพยพมาถาวรกับนักท่องเที่ยวที่อยู่ชั่วคราวปะปนกันไป ก็ยิ่งทำให้ภาพของชาวรัสเซียดูแน่นหนาคลาคล่ำไปทั่วทั้งเกาะ

เมื่อมีประชากรรัสเซียอยู่อาศัยในปริมาณมากขนาดนี้ รัฐบาลรัสเซียจึงได้ทำการตั้งสถานกงสุลใหญ่สหพันธรัฐรัสเซียขึ้นที่รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ถ.เทพกระษัตรี ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ “เซอร์เก ลาฟรอฟ” (Sergei Lavrov) เดินทางมาเปิดด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566

พื้นที่ย่านนี้เป็นชุมชนริมทะเลที่หรูหราราคาแพง มีทั้งชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากพอและเศรษฐีรัสเซียอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น

ซึ่งจากทิศทางที่ผ่านมาก็พอประเมินแนวโน้มได้ว่าห้องหับต่างๆ ในละแวกนี้ ถ้าหากไม่ถูกผู้มีอันจะกินจากรัสเซียจับจองไปเรียบร้อยแล้ว ก็คงมิวายต้องถูกกว้านซื้อไปในไม่ช้า

ส่วนผลกระทบที่ตามมาจากการไหลบ่าของคนรัสเซียเข้าสู่เมืองชายทะเลไทยนั้นเป็นอย่างไร

ตอนหน้าจะมาเล่าให้ฟัง