นักท่องเที่ยวจีนหนีไทย เลือกไปญี่ปุ่น-สิงคโปร์

เทศมองไทย

 

นักท่องเที่ยวจีนหนีไทย

เลือกไปญี่ปุ่น-สิงคโปร์

 

รายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องปากท้อง และผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย

บลูมเบิร์กบอกเอาไว้ว่า เป้าที่ทางการท่องเที่ยวของไทยตั้งเอาไว้ว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศให้ได้ถึง 9 ล้านคนในปีนี้ เห็นทีจะไม่แน่ไม่นอนเอาเสียแล้ว หลังจากเกิดกรณีลักพาตัวนักแสดงชายชาวจีนรายหนึ่งไป ที่กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดภาพลักษณ์ในทางลบต่อความปลอดภัยในการเดินทางมายังประเทศไทย

โดยที่บรรดานักท่องเที่ยวชาวจีนพากันเลือกที่จะไปใช้ชีวิตท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยในญี่ปุ่นและสิงคโปร์แทน

รายงานชิ้นนี้ อ้างข้อมูลจากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ รีเสิร์ช เอาไว้ด้วยว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มียอดยกเลิกการจองการเดินทางมายัง “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม” มากถึง 94 เปอร์เซ็นต์

โดยชาวจีนเลือกที่จะขนครอบครัวไปยังลานสกีและบ่อน้ำพุร้อนในญี่ปุ่นแทนในช่วงเทศกาลวันหยุดสำคัญอย่างตรุษจีนปีนี้

แถมยังระบุต่อด้วยว่า จำนวนทริปที่เดินทางมายังประเทศไทยในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ก็ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

บลูมเบิร์กระบุว่า หวัง ซิง ดาราชายชาวจีนถูกลักพาตัวไปยังเมียนมาผ่านทางไทย แม้จะได้รับการช่วยเหลือได้ในเวลาต่อมา แต่ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสการยกเลิกการเดินทางมายังไทยกันขนานใหญ่ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจก็คือ บลูมเบิร์กชี้ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาติที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างไทย เริ่มต้นกวาดล้างขบวนการสแกมเมอร์ ที่คนไทยเรียกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กันขนานใหญ่

“แต่กลับดำเนินความพยามเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อลดความหวั่นกลัวของนักท่องเที่ยวลง”

 

เอริค จู นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ รีเสิร์ช บอกว่า ความกังวลเรื่องความปลอดภัยกลายเป็นปัจจัยถ่วงมากพอที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนต้องยับยั้งชั่งใจกับความคิดที่จะเดินทางมายังไทย ที่สำคัญก็คือ ข่าวร้ายเรื่องนี้แพร่สะพัดไปกว้างขวางกว่าบรรดาขั้นตอนต่างๆ ที่ไทยดำเนินการเพื่อเพิ่มความปลอดภัย “ซึ่งทำให้การฟื้นฟูชื่อเสียงของไทยกลายเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขาไป”

ข้อมูลของบลูมเบิร์กแสดงให้เห็นว่า ยอดจองเที่ยวบินจากจีนไปญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในช่วงไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยมีปัจจัยบวกอื่นเป็นตัวเสริม เช่น การที่เงินเยนอ่อนค่าลง และราคาตั๋วเครื่องบินจากเซี่ยงไฮ้ไปโตเกียวลดลงเหลือเพียง 150 ดอลลาร์เท่านั้น

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ญี่ปุ่นกลายเป็นจุดหมายท่องเที่ยวอันดับแรกสุดของชาวจีนแทนที่ไทยไปในช่วงระหว่างเทศกาลวันหยุดตรุษจีนนาน 8 วันของปีนี้ ยิ่งไปกว่านั้น การยกเว้นค่าธรรมเนียมการประทับตราวีซา ก็ช่วยดึงนักท่องเที่ยวชาวจีนไปยังสิงคโปร์และมาเลเซีย แทนที่จะเป็นไทยไปด้วยเช่นกัน

องค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติของญี่ปุ่น ระบุว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ชาวจีนมากถึง 980,000 คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในญี่ปุ่นจนกลายเป็นสถิติรายเดือนสูงสุด ในขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บอกว่า ชาวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยตั้งแต่ต้นปีจนถึง 2 กุมภาพันธ์ เพียง 711,000 คนเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มาตรการตัดน้ำตัดไฟ รวมทั้งการร่วมกับเพื่อนบ้านเพื่อกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของไทยที่ส่งผลให้สามารถช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกบังคับให้ทำงานซึ่งเป็นชาวจีนหลายร้อยคนเป็นอิสระเมื่อเร็วๆ นี้นั้น จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนหวนกลับมาเที่ยวเมืองไทยกันมากขึ้นหรือไม่ ยังคงต้องรอดูกันต่อไป

แต่เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อไทยไม่น้อย เพราะนักท่องเที่ยวจากจีนคือแหล่งรายได้สำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่มีสัดส่วนสูงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีของประเทศ และยังช่วยสร้างงานให้คนไทยถึง 1 ใน 5 ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศอีกด้วย

 

เอริค จู บอกว่า ไทยคงดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้ตามเป้า 9 ล้านคนในปีนี้แน่ เอาแค่ให้ผ่านหลัก 8.8 ล้านคนก็ยังยาก ถ้าหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาความกังวลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีนให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกนี้ และถ้าหากปัญหานี้ยังยืดเยื้อต่อไปตลอดปี 2025 เขาเชือว่า แค่ให้นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยมาถึง 7.5 ล้านคนก็ต้องดิ้นรนกันหนัก

ข้อมูลของ ไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวแสดงให้เห็นว่า ตัวเลขจองการเดินทางมาไทยของคนจีนในเดือนมีนาคม ยังคงลดลงราว 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ แต่ความต้องการเที่ยวบินในเดือนเมษายนและพฤษภาคม กระเตื้องขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์เศษ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญหาความปลอดภัยเริ่มซาลง

แต่กระนั้น เทียบแล้วก็ยังห่างไกลอยู่มากกับตัวเลขเมื่อปี 2019 แถมตัวเลขของสิงคโปร์กับมาเลเซียก็เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งอีกต่างหาก

นั่นหมายความว่า ไทยเรายังจำเป็นต้องทำอะไรต่อมิอะไรอีกมาก เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวของประเทศ