ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | เขย่าสนาม |
เผยแพร่ |
นับจากตอนนี้ไปเหลือเวลาแค่ 9 เดือนเท่านั้น การแข่งขัน กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพก็จะเริ่มเปิดฉากขึ้นแล้ว
หลังจากภาพน่าผิดหวังที่ถูก สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ยกเลิกการเป็นเจ้าภาพ เอเชี่ยนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ เมื่อปลายปีก่อน ซีเกมส์ครั้งนี้จึงเป็นเวทีให้ประเทศไทยแก้ตัวในการจัดมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติอีกครั้ง
ว่ากันตามตรงความคืบหน้าก็ถือว่าค่อนข้างไปได้ดี เมื่อมีการแบ่งสนามต่างๆ ออกไปยังจังหวัดเจ้าภาพทั้ง 3 จังหวัดได้แล้ว
โดยพิธีเปิดและปิดการแข่งขัน มีการประกาศออกมาแล้วว่าจะใช้สนามหลวง เพื่อเป็นการโปรโมตความสวยงามของประเทศไทยออกไป
ส่วนสนามกีฬาต่างๆ นั้น เจ้าภาพหลักอย่างกรุงเทพฯ จัดไปถึง 31 ชนิดกีฬาด้วยกัน
ศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดก็หนีไม่พ้นการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) หัวหมาก ที่มีจัดถึง 12 ชนิดกีฬา ได้แก่ กีฬาทางน้ำ (ว่ายน้ำ, กระโดดน้ำ และระบำใต้น้ำ), ยิงธนู, เบสบอล 5 คน, มวยสากล, จักรยานประเภทลู่, อีสปอร์ตส์, สเก๊ตบอร์ด, เปตอง, ยิงปืน (ปืนสั้น-ปืนยาว) และวอลเลย์บอลในร่ม-ชายหาด
นอกนั้นก็ถือว่ากระจายๆ กันไปตามจุดต่างๆ ภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่างเช่น สนามกีฬาแห่งชาติศุภชลาศัย ใช้จัดกรีฑา และอาคารนิมิบุตร ใช้จัดบาสเกตบอล หรือศูนย์กีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดโปโลน้ำ, แบดมินตัน และยิมนาสติก ส่วนจุฬาฯ ใช้ศูนย์กีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดฟันดาบ และอาคารจันทนยิ่งยง จัดเน็ตบอล
กีฬาอื่นๆ ที่จัดในกรุงเทพฯ ใช้สถานที่ดังนี้ เบสบอล-สนามเบสบอลภายในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ / ซอฟต์บอล-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี / โบว์ลิ่ง-เมเจอร์รัชโยธิน / คริกเก็ต-สนามกีฬาคริกเก็ตเทิดไทย ลาดกระบัง / จักรยาน บีเอ็มเอ็กซ์-สวนกีฬากมล / ขี่ม้า โปโล-วีเอส สปอร์ตคลับ สมุทรปราการ / เอ็กซ์ตรีม (ปีนหน้าผา)-สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) / สกีน้ำ-เวคบอร์ด-อีเอสซี วอเตอร์ปาร์ค / ฟลอร์บอล-ศูนย์กีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น / ฮอกกี้น้ำแข็ง-ไทยแลนด์ไอซ์ฮอกกี้อารีน่า พระราม 9 / สเก๊ตน้ำแข็ง-อิมพีเรียล สำโรง / ยูยิตสู-ศูนย์กีฬามหาวิทยาลัย รังสิต / คิกบ๊อกซิ่ง-ยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ / รักบี้-สนามกีฬาธูปะเตมีย์ / เซปักตะกร้อ-ยิมเนเซียมเทศบาลนครนครปฐม / ยิงเป้าบิน-สนามยิงปืนโพธาราม จ.ราชบุรี / สควอช-วชิราวุธวิทยาลัย / เทเบิลเทนนิส-เซ็นทรัลพระราม 2 หรือเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ / เทควันโด-ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์
และเทนนิส-ศูนย์พัฒนากีฬาเทนนิสแห่งชาติ เมืองทองธานี
มาที่จังหวัด ชลบุรี บ้าง รับหน้าที่จัดถึง 15 ชนิดกีฬา ซึ่งด้วยความเป็นเมืองท่องเที่ยวด้านทะเล ทำให้สนามกีฬาส่วนใหญ่ที่ใช้ไปอยู่ที่โซนพัทยา-หาดจอมเทียน ค่อนข้างมาก
โดยกีฬาที่จัดอยู่ใน พัทยา และ หาดจอมเทียน จะมีทั้ง ว่ายน้ำมาราธอน, เรือพาย, เจ๊ตสกี, ปัญจกีฬาสมัยใหม่, เรือใบ (เรือใบ-ไคท์บอร์ด-วินด์เซิร์ฟ) ขณะที่กีฬาบิลเลียดและสนุ้กเกอร์ ก็จัดที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซึ่งอยู่ตรงหาดจอมเทียน พัทยา เช่นกัน ส่วนไตรกีฬา อาจจะเลยไปไกลสุดเพราะไปอยู่แหลมแม่พิมพ์ อ.แกลง จ.ระยอง
นอกนั้นก็จะมีอีกหนึ่งศูนย์ใหญ่คือโรงเรียนกีฬาจังหวัดชลบุรี ที่จัดยกน้ำหนักและเทคบอล กับมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตชลบุรี จัดฮอกกี้ และแฮนด์บอล ส่วนศูนย์ฝึกกีฬาภาคตะวันออก ใช้จัดยิงปืนรณยุทธ
ขณะที่เรือพาย (แคนู, คยัค, เรือยาวมังกร) ไปจัดที่ศูนย์ฝึกกีฬาเรือพายราชนาวี, ขี่ม้า จัดที่ไทยโปโล แอนด์ อีเควสเทรี่ยน คลับ พัทยา, วู้ดบอล จัดที่ศูนย์พัฒนากีฬากอล์ฟกองเรือยุทธการ
และที่น่าสนใจสุดสุดก็คงเป็นจักรยานเสือภูเขา ไปจัดที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ให้นักกีฬาได้เข้าไปชม “หมูเด้ง” เจ้าฮิปโปแคระชื่อดังของไทยในเวลานี้ได้
ปิดท้ายที่จังหวัด สงขลา ที่รับหน้าเสื่อจัดไป 10 ชนิดกีฬา แต่ก็ต้องบอกว่าแต่ละสนามกระจายๆ กันหมด ดังนี้ หมากรุกสากล จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาสงขลา / ยูโด-ศูนย์ประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา / กาบัดดี้-ปาริชาติ ฮอลล์ มหาวิทยาลัยทักษิณ / คาราเต้-เซ็นทรัล หาดใหญ่ / มวย-สนามกีฬาพรุค้างคาว / ปันจักสีลัต-อาคารสุวรรณวงศ์ สนามกีฬาจิระนคร / มวยปล้ำ-เซ็นทรัล หาดใหญ่ และวูซู ที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
เรียกว่าตอนนี้เหลือแค่การนำงบประมาณลงไปแก้ไขปรับปรุงสนามต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมแข่งขัน ซึ่งระยะเวลาที่เหลือ 9 เดือน ไม่น่าใช่ปัญหาอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม มันยังมีปัญหาอยู่เล็กน้อยกับสนามแข่งขันกีฬา กอล์ฟ เพราะว่าทางสมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทยฯ เลือกใช้ สนามรอยัลฮิลล์ รีสอร์ท จ.นครนายก เพราะเป็นสนามที่นักกีฬาฝึกซ้อมเป็นหลักและทำให้ประเทศไทยได้เปรียบ
แต่ทาง กกท.มองว่าถ้าไม่ใช่เหตุจำเป็น ก็อยากให้ใช้สนามกีฬาที่อยู่ใน 3 จังหวัดเจ้าภาพเป็นหลักก่อน และสนามในกรุงเทพฯ หรือชลบุรี ก็ยังมีให้เลือกอีกเยอะ ส่วนเรื่องความคุ้นชินสนามยังเหลือเวลาอีก 9 เดือนในการซ้อมปรับตัวกับสนามแข่งขันได้
ว่ากันตามไทม์ไลน์ หลังจากนี้ทุกสมาคมกีฬา ก็จะต้องไปจัดการทำเรื่องของ คู่มือเทคนิคกีฬา (Technical Handbook) ที่จะต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 15 มีนาคมนี้ เพื่อทำการเตรียมส่งให้กับทุกประเทศในวันที่ 8 เมษายนนี้ เพื่อ ลงทะเบียนจำนวนนักกีฬา (Entry From By Number) ภายในวันที่ 8 พฤษภาคมต่อไป
ส่วนกองเชียร์ตอนนี้เมื่อรู้ว่าที่ไหนจัดอะไร ก็เตรียมวางแผนไปชม ไปเชียร์ หรือให้กำลังใจนักกีฬาไทยกันได้เล้ย! •
เขย่าสนาม | Stivie Toon
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022