ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
Nosferatu เป็นรีเมกของหนังชื่อเดียวกัน ซึ่งมีวลีเป็นสร้อยตาม คือ Nosferatu : A Symphony of Horror (1922)
ซึ่งคงไม่มีใครเกิดทันดูเมื่อตอนที่หนังเงียบเรื่องนี้ออกฉาย แต่เดี๋ยวนี้ก็หาดูได้เต็มเรื่องเต็มตาในช่องยูทูบ
“หนังเงียบ” ไม่ได้แปลว่าหนังที่ไม่มีเสียง แต่เป็นหนังที่ไม่มีเสียงพูด แต่มีเสียงดนตรีเดินเรื่องอยู่ตลอด อย่างเช่น สร้อยต่อท้ายว่า ซิมโฟนี ก็ใช้ดนตรีสร้างอารมณ์ตลอด ขนาดขึ้นต้นเรื่องด้วย Overture กินเวลาหลายนาทีโดยแช่ภาพไว้เฉยๆ ให้ฟังเสียงดนตรี “บิลท์” อารมณ์ก่อนเข้าเรื่อง
ซึ่งหนังปี 1922 ก็ได้ไอเดียมาอีกทีจาก Dracula ของ Bram Stoker จนเคยเกิดคดีความฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ห้ามฉายและให้ทำลายฟิลม์ทิ้ง จากภรรยาม่ายของแบรม สโตเกอร์ ผู้เป็นทายาทในทรัพย์สินทางปัญญา…
…จากหนังสือที่ทำให้แวมไพร์เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลักจนถึงทุกวันนี้
คงยังไม่มีใครลืมเลือนเรื่องราวของผีดิบดูดเลือดชื่อเสียงระบือนาม ในหนัง Bram Stoker’s Dracula (1992) ฝีมือฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ซึ่งมีแกรี่ โอลด์แมน คีอานู รีฟส์ และวีโนนา ไรเดอร์ นำแสดง
ก่อนอื่นมารู้จักกับคำ Nosferatu กันเสียหน่อย
ที่มาของชื่อนี้ยังถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ บ้างก็ว่ามาจากภาษากรีกโบราณ nosophoros แปลว่า “พาหะของโรคร้าย” แต่ที่มาของศัพท์นี้ที่ได้รับความเห็นพ้องต้องกันที่สุดคือมาจากคำในภาษาโรมาเนีย nesferitu แปลว่า “อสุรกายที่น่ารังเกียจเหลือทน”
สรุปว่า “นอสเฟราตู” คือผีดิบดูดเลือด หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “แวมไพร์” นั่นเอง
ภาพลักษณ์ของนอสเฟราตูจากหนัง ค.ศ.1922 คือหัวโล้นเลี่ยน หูแหลม มีเขี้ยว และเล็บยาวคม
ใกล้เคียงหรือประมาณเดียวกับตัว “กอลลัม” ใน Lord of the Rings ล่ะมั้ง
ซึ่งก็ยังติดอยู่ในวัฒนธรรมต่อมา กลายเป็นกระแสความนิยมในนิยายหรือหนังที่มีแวมไพร์เป็นตัวเดินเรื่อง หรือไม่ก็เป็นฝ่ายตรงข้ามกับตัวเอก ก็แล้วแต่จะสร้างเรื่องกันไป
อาจจะมีที่ละเว้นความหัวโล้นหูแหลมไปบ้าง เพราะน่าจะทำให้เสน่ห์ของความเป็นพระเอก (อย่างเช่นในหนังชุด Twilight) ลดน้อยถอยลง จนกลายเป็นความน่าเกลียดน่ากลัวชวนขนลุกไปจนนางเอกทำให้ให้รักไม่ลงก็เป็นได้
ผู้กำกับฯ Nosferatu ในเวอร์ชั่นล่าสุดนี้คือ โรเบิร์ต เอ็กเกอร์ส (The Witch) ผู้ได้รับคำยกย่องว่าฝีมือดีเยี่ยมสำหรับหนังชวนสยองประเภท horror ในด้านการใช้องค์ประกอบของความสยองขวัญกลมกลืนไปกับตำนานพื้นบ้าน เรื่องปรัมปรา และนิยายมุขปาฐะในท้องถิ่น ซึ่งมีรายละเอียดสมจริงสมจัง
Nosferatu ของเอ็กเกอร์สโดดเด่นด้วยศิลปะของการถ่ายภาพ การเล่นแสงและเงา งานออกแบบโปรดักชั่น รวมทั้งงานออกแบบเครื่องแต่งกายและการแต่งหน้า
ซึ่งประมวลกันสร้างบรรยากาศของเรื่องเล่ายุคเก่าก่อนของยุโรปสมัยที่ยังตกอยู่ในอันตรายจากโรคระบาดโดยเฉพาะกาฬโรค ความเชื่อในเวทมนตร์และภูตผีปีศาจ ในยุคที่วิทยาศาสตร์เริ่มฉายแสงเข้ามาขจัดความมืดของไสยศาสตร์
ยุคสมัยแห่งแสงสว่างของปัญญา เริ่มเรืองรองสาดแสงเข้ามาให้ความสว่างแก่ยุคสมัยแห่งความเชื่ออันมืดบอดและความเพ้อฝันอันละเมอเพ้อพกในโลกยุคโบราณ
ช่วงเวลานี้ตกอยู่ในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18
โรคระบาดมาพร้อมกับสิ่งชั่วร้ายในรูปของผีดิบดูดเลือดที่สูบชีวิตให้สูญสิ้นไป
จากฝูงหนูที่เป็นพาหะของโรคร้ายที่แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว
จากความละโมบในโภคทรัพย์จนขายวิญญาณให้แก่ปีศาจชั่วร้าย
จากความพยายามแสวงหาสิ่งปลอบใจให้พ้นจากความเปล่าเปลี่ยวเดียวดายของการใช้ชีวิตอยู่บนโลก
หนังเปิดเรื่องที่ตัวเอกฝ่ายหญิง เอลเลน (ลิลี-โรส เดปป์ ผู้เดินตามรอยเท้าอันใหญ่โตมโหฬารของพ่อ จอห์นนี่ เดปป์) เด็กสาวในตระกูลผู้ดีซึ่งกำพร้าแม่ อยู่ในความปกครองของพ่อ ซึ่งปล่อยให้เธอเติบโตขึ้นอย่างเหงาหงอยในโลกที่ผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนให้ใช้ชีวิตในสังคม
ในความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย เอลเลนร้องเรียกเพรียกหาออกไปในความมืดเพื่อหาใครก็ตามที่จะมาเป็นเพื่อนกับเธอ
ให้เผอิญว่าผู้ที่ตอบเสียงเพรียกของเธอคือ ภูตแห่งความชั่วร้าย ซึ่งสัญญาจะผูกพันและผูกมัดเธอไว้ตลอดกาล
ฟังดูเหมือนเรื่องของเฟาสต์ผู้ขายวิญญาณให้แก่ปีศาจเพื่อแลกกับสิ่งที่ตัวเองปรารถนาในชีวิตเลยเชียวล่ะ
ข้ามช็อตต่อมาอีกหลายปี เอลเลนเพิ่งแต่งงานกับโธมัส ฮัตเตอร์ (นิโคลัส โฮลต์) กำลังอยู่ในช่วงระยะข้าวใหม่ปลามันและรักหวานชื่นปานจะกลืนกิน
ทว่า จิตวิญญาณของเอลเลนมีพันธะผูกพันอยู่กับ “นอสเฟราตู” เสียแล้ว เธอจึงฝันถึงงานแต่งงานของตัวเองกับ “มัจจุราช” อย่างแสนสุขท่ามกลางแขกเหรื่อที่พากันล้มตายลงหมดสิ้น
โธมัสไม่ยอมรับฟังความกลัวซึ่งเป็นภาพนิมิตในใจของภรรยา
นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เอลเลน หญิงสาวในยุคสมัยที่สตรียังไม่ได้รับการปลดปล่อย กลายเป็นผู้หญิงที่เก็บกดและหวาดกลัว จนตกอยู่ในภาวะทางจิตที่แสดงออกมาด้วยอาการผิดปกติทางกายต่างๆ นานา
โธมัสต้องการจะสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่นอย่างรวดเร็ว เขาจึงรับงานที่ต้องเดินทางจากบ้านจากภรรยาไปเป็นเวลาหลายสัปดาห์
เจ้านายของโธมัสคือ น็อค (ไซมอน แม็กเบอร์นีย์) มีบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ น็อคมอบหมายงานให้โธมัสไปเซ็นสัญญากับเคาน์ออร์ล็อคผู้ชราและไร้เรี่ยวแรง แต่ต้องการจะซื้อปราสาทเก่าแก่ในเมืองวิสบอร์กเพื่ออยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิต
โดยบอกว่าโธมัสจะได้ค่าป่วยการอย่างงามจากงานชิ้นนี้
และนั่นคือการเดินทางไปสู่ความมืดมนและสิ่งชั่วร้ายที่รออยู่เบื้องหน้า
ขณะที่โธมัสต้องพาภรรยาสาวไปฝากไว้กับครอบครัวของเพื่อนสนิทในระหว่างที่เขาไม่อยู่ในเมือง
สิ่งที่โธมัสต้องเผชิญในระหว่างการเดินทางและเมื่อไปถึงปราสาทในยามวิกาลนั้น คือความสยองขวัญอันชวนขนหัวลุก
เราแทบไม่ได้เห็นตัวตนที่แท้ของเคาน์ออร์ล็อค (บิล สการ์กอร์ด) ได้ยินแต่เสียงแหบลึกและพูดอังกฤษด้วยสำเนียงแปร่งแบบยุโรปตะวันออก…พูดด้วยสำนวนไทยๆ ตรงนี้คือ เหน่อจนสุดขั้วเลยเชียว
และสิ่งที่เอลเลนต้องเผชิญในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของครอบครัวเพื่อน คือความสยองขวัญอีกแบบ ซึ่งการแพทย์สมัยนั้นรักษาอาการชัก การเดินละเมอ ฯลฯ ตามความรู้ทางการแพทย์สมัยนั้น
และนักวิชาการด้านคุณไสย อัลบิน ฟอน ฟรานซ์ (วิลเลม ดาโฟ) ลงความเห็นให้รักษาด้วยการไล่ปีศาจที่สิงร่างให้ออกจากร่างไป
ตรงนี้นึกถึงหนัง The Exorcist (1973) ที่น่ากลัวสุดสุดจากภาพของลินดา แบลร์ โดนผีเข้าจนทำอาการที่พิสดารเกินกว่าคนธรรมดาจะทำได้ เช่น หมุนหัวรอบคอ เป็นต้น
เคาน์ออร์ล็อคเดินทางมาถึงเมืองวิสบอร์กในโลงศพพร้อมกับเรือที่พาเอาฝูงหนูมาขึ้นฝั่ง แพร่โรคระบาดคร่าชีวิตคนจำนวนมาก
และเอลเลนต้องทำการเสียสละครั้งใหญ่เพื่อเอาชนะสิ่งชั่วร้ายนี้ให้พ้นไปจากเมืองและจากคนที่เธอรัก
เรื่องราวของหนังอาจไม่ให้อะไรแปลกใหม่นัก แต่หนังก็น่าจับตาด้วยการถ่ายภาพ การเล่นแสงเงาและการจัดองค์ประกอบภาพอย่างเร้าอารมณ์และสวยงาม… •
NOSFERATU
กำกับการแสดง
Robert Eggers
แสดงนำ
Lily-Rose Depp
Nicholas Hoult
Bill Skargard
Aaron Taylor-Johnson
Willem Dafoe
Simon McBurney
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022