ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์
เดวิด ลินช์ และการสำแดงเดชทางดนตรี
ในฐานะศิลปิน
การเสียชีวิตของ เดวิด ลินช์ นักทำหนังที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลคนสำคัญแห่งวงการภาพยนตร์โลกด้วยอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันและโรคปิดอุดกลั้นเรื้อรัง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสูบบุหรี่จัดมาตั้งแต่เด็กเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา
ไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียผู้กำกับภาพยนตร์ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดคนหนึ่งเท่านั้น แต่นับเป็นการสูญเสียศิลปินนักดนตรีที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการแต่งเพลงอันยากที่จะหาใครมาทดแทนได้อีกด้วย
เดวิด ลินช์ เป็นนักทำหนังแนวเหนือจริงที่พาผู้ชมเข้าสู่ภวังค์แห่งความฝันอยู่เสมอ
ในภาพยนตร์แทบทุกเรื่องที่เขาสร้าง มันเป็นเหมือนโลกใบใหม่ใบหนึ่งที่ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในนั้นอยู่นอกเหนือความเข้าใจ
ครั้งหนึ่ง ลินช์เคยกล่าวว่า ความชุลมุนทางความคิดอันเกิดจากความไม่รู้หรือยากที่จะอธิบายนั้นชวนให้เกิดการตั้งคำถาม “เมื่อใดก็ตามที่ความคลุมเครือเข้ามาครอบคลุม เมื่อนั้นจินตนาการจะสำแดงเดช”
เดวิด ลินช์ ทำงานศิลปะหลากหลายแขนง เขาเป็นทั้งจิตรกร, ช่างภาพ, ศิลปะสื่อการแสดงสด รวมถึงการเป็นนักดนตรีด้วย
น่าเสียดายที่ว่าในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่หรือแม้กระทั่งเมื่อเขาได้จากไปแล้ว ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงวิธีคิดในการทำดนตรีที่สื่อให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะตัวของเขาเท่าไหร่นัก
และในฐานะที่ศึกษางานเพลงที่ลินช์ได้ประพันธ์เอาไว้บ้าง คิดว่าน่าจะเป็นการดีที่จะกล่าวถึงผลงานศิลปะอีกหนึ่งแขนงที่เขาได้มอบไว้ให้กับโลกใบนี้

เดวิด ลินช์ มักจะกล่าวว่าภาพยนตร์เป็นการผสมผสานกันระหว่างภาพเคลื่อนไหวและดนตรีอย่างละครึ่งเท่ากันไม่ขาดไม่เกิน และมันคือความมหัศจรรย์ที่ไม่มีศิลปะแขนงไหนในโลกนี้จะมอบให้ได้
เขาชอบร้องเพลงและเล่นกีตาร์ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง Parker Fly ที่ให้เสียงกังวานใสในทุกโน้ตไม่ต่างไปจากเพชรที่ผ่านการเจียระไนมาเป็นอย่างดี น่าเสียดายที่ในปัจจุบันกีตาร์รุ่นนี้ได้เลิกผลิตไปแล้ว
ในภาพยนตร์ของเดวิด ลินช์ ดนตรีมักจะเป็นสัญญาณบางอย่างที่เป็นสื่อกลางในการก้าวข้ามระหว่างโลกแห่งความฝันอันวิปริตพิสดารไปสู่โลกแห่งความจริงที่ดูภายยอกสวยสดงดงามแต่ข้างในนั้นกลับตรงกันข้าม
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในกรณีนี้ก็คือเพลง In Dream ของรอย ออร์บิสัน ในหนังเรื่อง Blue Velvet ที่พาผู้ชมเข้าไปสู่โลกแห่งความฝันที่งดงามและความชั่วร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงแคแร็กเตอร์ของแฟรงก์ บูธ ชายจิตป่วยที่สวมบทโดยเดนนิส ฮอปเปอร์
ส่วนซีรีส์ชิ้นขึ้นหิ้งเรื่อง Twin Peaks เดวิด ลินช์ เลือกใช้เพลง Threnody For the Victims of Hiroshima ของวาทยากรชาวโปแลนด์ คริสตอฟ เพนเดอเรกกี ในการแสดงให้เห็นถึงความชั่วร้ายที่อาจจะข้ามมิตจากโลกแห่งความฝันมาสู่ความจริงของตัวละครที่ชื่อว่า บ็อบ ตั้งแต่ฉากแรกๆ ที่เขาปรากฏตัว

เดวิด ลินช์ ไม่เพียงแต่มองว่าดนตรีคืองานศิลปะที่ยกระดับภาพยนตร์ให้สูงขึ้นเท่านั้น แต่เขาให้ความสำคัญกับสรรพเสียงทั้งมวลในโลกใบนี้ด้วย ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่เขาทำหนังสั้น Six Men Getting Sick ในปี 1967 ลินช์ได้บันทึกเสียงเครื่องจักรในโรงงานมาใช้ในหนังเพื่อสร้างความรู้สึกคุกคามให้ผู้ชม รวมถึงการนำเสียงพูดมาปรับความถี่ให้บิดเบี้ยวกว่าปกติเพื่อสร้างความกระอักกระอ่วนใจในหนังเรื่อง The Alphabet ในปี 1968
เดวิด ลินช์ อาจจะไม่ใช่นักทำหนังคนแรกที่ให้ความสำคัญของเสียงในหนัง แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เขาเป็นนักทำหนังคนแรกๆ เลยที่ยกระดับ “การออกแบบเสียง” หรือว่า Sound Design เพื่อให้เสียงเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้ชมในระดับที่ซึมลึกเข้าไปถึงระดับจิตสำนึก
โดยนักออกแบบเสียงที่เข้ามาช่วยเติมเต็มจินตนาการให้กับลินช์ ตั้งแต่ทำ Eraserhead ซึ่งเป็นหนังยาวเรื่องแรกของลินช์ในปี 1977 ก็คือ อลัน สเปลท์ ที่ต่อมาได้ออกแบบเสียงสุดหลอนให้กับหนังเรื่อง The Elephant Man และ Blue Velvet ด้วย
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สเปลท์ได้เสียชีวิตลงในปี 1994 ส่งผลให้ลินช์รับหน้าที่ดีไซน์เสียงประกอบหนังของตัวเองเป็นหลักมาตั้งแต่นั้น
โดยเขาสร้างสตูดิโอทำดนตรีทดลองที่มีชื่อว่า Asymmetrical ในแอลเอขึ้นมาและมีการสร้างชั้นวางเถ้ากระดูกของสเปลท์เอาไว้ในสตูดิโอด้วย
ดนตรีที่เดวิด ลินช์ แต่งขึ้นมาก็เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์ที่เขากำกับการแสดงหรือภาพศิลปะแนวเหนือจริงที่เขาสร้าง มันคล้ายกับการดูภาพวาดแนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ของฟรานซิส เบคอน, ภาพเพนติ้งของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์, งานศิลปะแนวเซอร์เรียลของเรอเน มากริต, จิตรกรแนวสัญลักษณ์นิยมอย่างอาร์โนลด์ บัคลิน
งานเพลงของลินช์มักมีส่วนผสมของแนวดนตรีที่หลากหลาย ทั้งดนตรีทดลอง, แอมเบียนท์, อิเล็กทรอนิกส์, อวอง-การ์ด และสำเนียงของดนตรีบลูส์
สไตล์ดนตรีเหล่านี้ปรากฏอยู่ใน Crazy Clown Time อัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของเขา ส่วน The Big Dream อัลบั้มที่วางจำหน่ายในปี 2013 เป็นอัลบั้มที่ทดลองนำดนตรีร็อก, บลูส์ และอิเล็กทรอนิกส์มาผสมผสานกับดนตรีดรีม ป๊อป ที่เต็มไปด้วยเอฟเฟ็กต์แปลกประหลาดนานาชนิด
เดวิด ลินช์ ชื่นชอบศิลปินที่ไม่ได้ทำเพลงตามขนบ เขาจึงไปฝากเสียงพูดเอาไว้ใน Fire is Coming เพลงแนว Intelligence Dance Music (IDM) ของ Flying Lotus เขานั่งเก้าอี้โปรดิวเซอร์, เล่นกีตาร์, ดนตรีเครื่องสาย และสร้างซาวด์แอมเบียนท์ในอัลบั้มแนวคลาสสิคทดลองที่มีชื่อว่า Lux Vivens ให้กับศิลปินหญิง โจเซลิน มอนต์โกเมอรี
โดยงานเพลงชุดนี้เป็นการเรียบเรียงการประพันธ์ดนตรีแห่งศตวรรษที่ 12 ของแม่ชี ฮิลเดการ์ด ฟอน บิงเงน ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักแต่งเพลงหญิงคนแรกของโลกขึ้นมาใหม่
นอกจากนี้ ลินช์ก็ยังร่วมงานกับศิลปินแอมเบียนท์อย่าง มาเรก ซีโบรสกี และ จอห์น เนฟฟ์ ในอัลบั้มแนวอินดัสเทรียล บลูส์ ที่มีชื่อว่า BlueBob ด้วย
นอกจาก แอนเจโล บาดาลาเมนติ คอมโพสเซอร์คู่บุญที่ทำดนตรีประกอบหนังให้กับเดวิด ลินช์ มาตั้งแต่เรื่อง Blue Velvet, ซีรีส์ Twin Peaks ทุกซีซั่นมาจนถึง Mulholland Drive จนกระทั่ง บาดาลาเมนติ เสียชีวิตลงในปี 2022
Chrystabell ถือเป็นศิลปินหญิงชาวอเมริกันที่ลินช์ร่วมงานด้วยบ่อยที่สุดคนหนึ่ง เขาและเธอทำอัลบั้มร่วมกัน 3 ชุดคือ This Train, Somewhere in the Nowhere และ Cellophane Memories ที่เป็นอัลบั้มแนว Slowcore, Experimental Pop และ Ethereal Wave ที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกเหมือนล่องลองอยู่ในความฝันและเสียงดนตรีที่ใช้ในงานเพลงชุดนี้ก็งดงามราวกับอยู่บนสรวงสวรรค์
อัลบั้มชุดนี้เป็นเหมือนการเกิดใหม่ของสำเนียงดนตรีที่เดวิด ลินช์ ทำมาตั้งแต่แรก
สิ่งที่เด่นที่สุดก็คือความ Dreamy เหมือนอยู่ในความฝันที่เกิดขึ้นจากการออกแบบเสียงอย่างแท้จริง
มันคล้ายกับงานสกอร์ที่แอนเจโล บาดาลาเมนติ ทำไว้ในหนังเรื่อง Mulholland Drive และซีรีส์ Twin Peaks คล้ายกับเพลงของ รอย ออร์บิสัน ในหนัง Blue Velvet คล้ายกับเพลง Wicked Game และ Blue Spanish Sky ของคริส ไอแซ็ก ที่ใช้ประกอบหนังเรื่อง Wild At Heart มันมีเสียงประหลาดๆ แบบที่เราได้ยินในหนังเรื่อง Eraserhead รวมถึง Lost Highway เพียงแต่ว่ามันเนิบช้ากว่าและล่องลอยหลอกหลอนเหมือนในความฝันที่ตัวเราเองก็ยังไม่แน่ใจว่ามันคือฝันดีหรือว่าฝันร้ายกันแน่
แต่ถ้าหากคุณชอบเพลงของศิลปินอย่าง Mazzy Star, Kate Bush, The Velvet Underground & Nico ในเวอร์ชั่นที่อ้อยอิ่งนิ่งงันกว่า นี่คืองานเพลงที่คุณต้องลองฟัง
“ผมไม่ได้เป็นนักดนตรี แต่ผมเล่นดนตรี ผมจำเป็นต้องเล่นเพราะสิ่งที่ผมต้องการก็คือเสียงที่ผมอยากได้ยิน และเสียงเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นทำให้ผมไม่ได้” เดวิด ลินช์ เคยกล่าวไว้อย่างนั้น
ดูเหมือนว่าความหมายของคำว่าดนตรีสำหรับเดวิด ลินช์ นั้นคือความคลุมเครืออย่างหนึ่ง และเมื่อความคลุมเครือเข้ามาครอบคลุม
…ก็เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่จินตนาการจะสำแดงเดชของมันออกมา
อ้างอิง : https://www.theguardian.com/
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022