ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์
ข้าว (米) ญี่ปุ่นแพงถ้วนหน้า
ข้าว (米) ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนญี่ปุ่น มีราคาสูงขึ้นมาก รวมทั้งราคาอาหาร ผัก ผลไม้ และสินค้าอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วย
สินค้าสำคัญที่มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนมกราคมปีนี้ พุ่งสูงขึ้นมากกว่างวดเดียวกันของปีที่แล้ว คือ ข้าว ซึ่งราคาสูงขึ้นกว่า 70% สูงที่สุดตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของทุกครัวเรือน อันที่จริง ราคาข้าวก็ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ราคาข้าวแพงขึ้นขนาดไหน?
ข้าวถุง 5 กิโลกรัม ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ราคาเฉลี่ย 3,829 เยน (880 บาท) แพงขึ้นเกือบเท่าตัวของราคาปีที่แล้ว คือ ประมาณ 2,000 เยน ยิ่งถ้าเป็นข้าวอร่อย รสเลิศ พันธุ์โคชิฮิคาริ (こしひかり) ของจังหวัดนีงาตะ ราคาสูงถึง 5 พันเยนทีเดียว ไม่สามารถกินข้าวอร่อยกันแล้ว ขอเพียงข้าวธรรมดา ยังต้องจ่ายแพงขึ้นเกือบเท่าตัว
แต่ข้อมูลที่เปิดเผยของกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง (農林水産省) ต่างกันเล็กน้อย ราคาข้าวที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต 1,000 แห่งทั่วประเทศ ณ เดือนมกราคมปีนี้ ข้าวถุง 5 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ย 3,688 เยน (848 บาท)
แพงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว 82%
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลนิ่งดูดายปล่อยให้ราคาข้าวสูงขึ้นตลอดมาตั้งแต่ปี 2024 โดยไม่ได้เข้ามาแทรกแซงราคา ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด จนล่วงเข้าปี 2025 ราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัว ประชาชนเดือดร้อนกันไปทั่ว
กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง จึงประกาศจะนำข้าวในสต๊อก (備蓄米) ซึ่งเป็นข้าวที่เก็บสำรองไว้สำหรับยามฉุกเฉิน ผลผลิตขาดแคลน ข้าวยากหมากแพงหรือเกิดภัยพิบัติ ตามกฎหมายจะไม่ให้นำออกมาขาย จนพิจารณาเห็นว่าเกิดวิกฤตด้านราคา ดีมานด์และซัพพลายไม่สอดคล้องกัน จึงนำออกมาให้เอกชนประมูล ครั้งนี้มีจำนวน 2.1 แสนตัน ซึ่งเป็นจำนวนเท่าๆ กับข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ตลอดปีของจังหวัดอาโอโมริแหล่งปลูกข้าวสำคัญ แบ่งเป็น 1.5 แสนตันแรก เริ่มประมูลต้นเดือนมีนาคม
คาดว่าภายในสิ้นเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน ข้าวจะออกสู่ท้องตลาดได้ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจะนำข้าวในสต๊อกออกมาจำหน่าย
เป็นโจทย์ที่ท้าทายว่าจะให้ผลสุดท้ายอย่างไร
ข้าวจำนวนนี้จะกระจายไปตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนสามารถซื้อข้าวในราคาที่ค่อยๆ ถูกลง คงไม่สามารถทำให้ราคาถูกลงทันทีทันใด ตั้งเป้าที่ราคา 3,000 เยน แต่จะทำให้ราคาย้อนกลับไปเท่าราคาเมื่อปีที่แล้วคงเป็นไปไม่ได้เลย เหตุผลก็คือ เกษตรกรทั่วประเทศต้องเผชิญกับปัญหาราคาปุ๋ย ราคาค่าเชื้อเพลิงก็ขึ้นสูงมาโดยตลอด ยังไม่เคยลดลงเลย
อีกทั้งในปี 2023 ฤดูร้อนมีอากาศร้อนอย่างต่อเนื่องยาวกว่าปกติ ทำให้ผลผลิตข้าวลดน้อยลง ผลิตได้ไม่ถึง 7 ล้านตัน เทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละ 8 ล้านตัน
นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมากอย่างไม่คาดคิดมาก่อน มาช่วยบริโภคอาหารและข้าวญี่ปุ่นอีก
ทั้งนี้ คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 3 เดือน ราวเดือนมิถุนายน น่าจะมีราคาลดลงจนคงที่ประมาณ 3,400 เยน ซึ่งก็ยังเป็นราคาที่แพงอยู่ดี เพียงแต่จะหยุดยั้งราคาไม่ให้เพิ่มขึ้นเท่านั้น
แต่จะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ต้องจับตาดู!
โดยปกติ รัฐบาลมีข้าวเก็บสำรองไว้ในสต็อกประมาณ 1 ล้านตัน ทุกปีจะซื้อข้าวจำนวนประมาณ 2 แสนตันเข้ามาเก็บไว้ หลังจากเก็บไว้นาน 5 ปี จะถูกนำมาจำหน่ายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ ณ เดือนมิถุนายน 2024 มีข้าวในสต๊อก 9.1 แสนตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวเก่าของปี 2019 จำนวน 1แสนตันอยู่ด้วย มีความกังวลกันว่า ข้าวเก่าที่เก็บมานานจะมีคุณภาพดีพอที่คนจะบริโภคได้หรือ?
กระทรวงเกษตรฯ ให้ความมั่นใจว่า หากเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส คุณภาพข้าวก็ไม่ได้ลดลงมากมายเมื่อเทียบกับข้าวหลังเก็บเกี่ยว 1 ปีเลย จะเชื่อตามนี้ได้หรือไม่ ก็มีผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ข้าวที่เก็บนานถึง 5 ปีจะมีการออกซิไดซ์ รสชาติคงด้อยลงแน่นอน ซื้อไปแล้วจำเป็นต้องมีวิธีเก็บรักษาและวิธีหุงด้วย
แม่บ้าน วัย 60 ปี ชาวโตเกียว บ่นอุบว่า “รัฐบาลแก้ปัญหาช้าเหลือเกิน น่าจะทำให้เร็วกว่านี้” ชายหนุ่มโสดวัย 30 ปี ที่ต้องพึ่งอาหารในร้านสะดวกซื้อก็บ่นทำนองเดียวกัน “ข้าวปั้น ข้าวห่อสาหร่ายแพงขึ้นมาก กระเป๋าแฟบไปเยอะเลย”
ส่วนผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เก็ตโอดครวญว่า “พอขึ้นราคาข้าว ก็ถูกลูกค้าต่อว่า ไม่เห็นแก่ชาวบ้าน อยากจะรักษาลูกค้าไว้ให้นานที่สุด แต่จะให้แบกรับภาระขาดทุนต่อเนื่องก็คงไม่ไหว”
ขณะนี้ประชาชนชาวญี่ปุ่นจึงต้องเผชิญกับข้าวของที่มีราคาแพงขึ้น ไม่เฉพาะแต่ข้าวเท่านั้น ยังนับรวมไปถึงกลุ่มอาหารที่ทำมาจาก ข้าว แป้ง ด้วย อาทิ ข้าวปั้น ข้าวห่อสาหร่าย ข้าวหน้าต่างๆ เส้นบะหมี่ราเมง เส้นอุด้ง โอโคโนมิยากิ (お好み焼き) หรือพิซซ่าญี่ปุ่น ฯลฯ คนญี่ปุ่นจึงต้องรัดเข็มขัด ประหยัดทุกวิถีทางจนเอวคอดแล้ว
แอบกระซิบบอก คนไทยที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น ควรสั่งอาหารมากินแต่พอดีอิ่ม ไม่กินทิ้งกินขว้าง กินทุกอย่างให้หมด ไม่เหลือทิ้งไว้อย่างไม่แยแสเลย
ไม่งั้นจะถูกมองค้อนจากคนญี่ปุ่นโต๊ะข้างๆ ได้…
ก็มาเที่ยวกันเยอะ มาแบ่งอาหารประจำวันของเขา ทำให้ขาดแคลนและราคาสูงขึ้นนี่นา…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022