ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
เรื่องราวครอบครัวไทยผู้ร่ำรวย ถูกหยิบยกขึ้นอีกครั้ง และเทียบเคียงภาพกว้างอย่างน่าสนใจ
นำเสนอโดยสื่ออเมริกันแห่งหนึ่ง-Blomberg ให้ภาพโฟกัสทั้งภูมิภาคเอเชีย ที่น่าทึ่งมีครอบครัวไทยอยู่ใน 20 อันดับ ถึง 3 ราย
Bloomberg-ก่อตั้งปี 2524 สำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีเครือข่ายทั่วโลก รวมทั้งฮ่องกง เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ในจีน อินเดีย และสิงคโปร์ เป็นบริษัทสื่อสารมวลชนและข้อมูลทางการเงินระดับโลก ให้บริการข้อมูล ข่าวสาร และเครื่องมือวิเคราะห์แก่นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทั่วโลก
นอกจากเป็นเจ้าของ Business Week นิตยสารธุรกิจรายสัปดาห์มีชื่อ ที่สำคัญมีสถานีโทรทัศน์ นำเสนอข่าวสารและข้อมูลด้านเศรษฐกิจและการเงินตลอด 24 ชั่วโมง ออกอากาศในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในเอเชีย
เฉพาะในไทย ผ่านทางทรูวิชั่นส์
Bloomberg เพิ่งเผยแพร่ Asia’s 20 Richest Families-2025 (12 กุมภาพันธ์ 2568 อ้างอิงข้อมูล ณ 31 มกราคม 2568) ในภาพกว้างๆ นั้น จากข้อมูลที่ให้มา (www.bloomberg.com) นำเสนอรายชื่อครอบครัวธุรกิจซึ่งมีความมั่งคั่ง ที่สำคัญสามารถส่งต่อผ่านคนในครอบครัวได้อย่างน้อย 2 รุ่น (ทั้งถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจบริหาร)
ภาพแรกๆ ใน List นั้น ดูย้อนแย้งอยู่บ้าง ไม่มีครอบครอบผู้ร่ำรวยแห่งญี่ปุ่น ทั้งๆ เครือข่ายธุรกิจใหญ่ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกว่า Trading company หรือ Sogoshosha ที่มีบทบาทอย่างมากในระดับโลก โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค มีมาตั้งแต่ในช่วงจากสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม
กรณีประเทศไทย Marubeni เข้ามาเปิดสำนักงานเป็นรายแรกๆ ในปี 2500 ตามมาด้วย Mitsui, Mitsubishi, Nissho-Iwai, Nomura trading ในปี 2502 และ Sumitomo ในปี 2503 ในความพยายามแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ และผู้ร่วมทุน นั่นคือที่มาจุดเริ่มต้นผู้ประกอบการไทยใหม่ๆ หลายรายซึ่งเติบโตขึ้น
เชื่อว่าในเวลานั้น ทั้งตระกูลเจียรวนนท์ (อันดับ 2) ตระกูลอยู่วิทยา (อันดับ 8) และตระกูลจิราธิวัฒน์ (อันดับ 17) ล้วนมีความสัมพันธ์ในเชิงเกื้อกูล ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ระดับใดระดับหนึ่ง
ทว่า Sogoshosha เหล่านั้น กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจ มีโครงสร้างภายในอย่างซับซ้อน ประกอบด้วยสถาบันหรือองค์กรธุรกิจหลายหลาย ซึ่งได้สลายความเป็นธุรกิจครอบครัวลงมากแล้ว
เป็นไปในทำทองเดียวกันที่เกาหลีใต้ มีเพียงตระกูล LEE แห่ง Samsung เพียงตระกูลเดียวเท่านั้นอยู่ใน list (อับดับ 10) ก่อตั้งขึ้นช่วงต้นๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 และก่อนสงครามเกาหลีเพื่อแบ่งเหนือ-ใต้ เริ่มต้นจากการค้าส่งออก ผัก ผลไม้และปลา จนพลิกมาสู่ยุคใหม่-Samsung Electronics ในปี 2530 ในช่วงทศวรรษเฟื่องฟูแห่งภูมิภาค จนกลายเป็นผู้ผลิต Chip และ Smartphone รายใหญ่ของโลกในเวลาต่อมา
เป็นชิ้นส่วนหนึ่งว่าด้วยเครือข่ายธุรกิจใหญ่เกาหลีใต้ซึ่งทรงอิทธิพล คล้ายๆ ญี่ปุ่นที่เรียกว่า Chaebol ซึ่งภายในมีตระกูลธุรกิจอยู่ด้วยนั้น ก็ดูเล็กลงไปเช่นกัน
อีกภาพหนึ่งซึ่งแตกต่าง คือกรณีธุรกิจครอบครัวในจีนแผ่นดินใหญ่ ปรากฏว่าใน list ข้างต้น มีเพียงรายเดียวเท่านั้น ว่ากันว่า เกี่ยวเนื่องกับภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ที่น่าสนใจให้ภาพสะท้อนครอบครัวธุรกิจผู้ร่ำรวยในจีนล้วนเพิ่งเติบโตขึ้น ถือว่าเยาว์วัยที่สุดในเอเชีย หรือใน list ที่อ้างถึง
เคยนำเสนอมาบ้าง อ้างอิงธุรกิจจีนในประเทศไทย ไม่ว่ายักษ์สื่อสารอย่าง China mobile ซึ่งเป็นพันธมิตรกับตระกูลเจียรวนนท์
ไปจนถึงผู้ยึดครองระบบค้าปลีกออนไลน์ กรณี Lazada และ Shopee ซึ่งเชื่อมโยงกันถึงเครือข่ายธุรกิจใหญ่ในจีน ล้วนก่อตั้งและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” และเมื่อฮ่องกงกลับคืนสู่จีน
เกี่ยวกับตระกูล Zhang แห่ง China Hongqiao Shandong Weiqiao ก่อตั้งในปี 2537 ในยุคปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง จากโลกคอมมิวนิสต์ที่ปิดตัว เชื่อมโยงกับโลกทุนนิยมในหลายระดับ จนกลายเป็นผู้ผลิตอะลูมิเนียมรายใหญ่ในจีน และสามารถส่งต่อกิจการให้กับคนในครอบครัวรุ่นต่อมา
ทั้งนี้ มีภาพซ้อนที่น่าสนใจ กับผู้ร่ำรวยกลุ่มใหญ่มากถึง 5 ราย อยู่ในฮ่องกง เครือข่ายุรกิจใหญ่ขยายตัวทั้งภูมิภาค เชื่อมโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย ส่วนใหญ่ก่อตั้งมาก่อนหน้านั้นตั้งแต่ยุคฮ่องกงอยู่ในเครือข่ายสหราชอาณาจักร หลายรายก่อตั้งมานับร้อยปีในยุคอาณานิยม และสามารถส่งผ่านมาหลายรุ่น
ทั้งนี้ ไม่ว่าจากฮ่องกง (5 ราย) ไทย (3 ราย) มาเลเซีย สิงคโปร์ (1 ราย) ไต้หวัน (1 ราย) อินโดนีเซีย (1 ราย) และฟิลิปปินส์ (1 ราย) ล้วนมี profile คล้ายกัน ผู้ก่อตั้งล้วนเป็นชาวจีนโพ้นทะเล ผู้มีความสัมพันธ์หลายแง่มุมในระดับภูมิภาค
ขณะกลุ่มใหญ่ที่สุด อยู่ที่อินเดีย (6 ราย) มีภูมิหลังและเชื้อสายที่แตกต่างออกไปในภาวะตลาดหุ้นที่นั่นกำลังเติบโต อันดับหนึ่งใน list-ตระกูล Ambani ให้ภาพที่โดดเด่นที่สุด
หลายคนคงจะจำกันได้ งานแต่งงานบุคคลสำคัญในตระกูล เมื่อต้นปีที่แล้ว ดูยิ่งใหญ่มากๆ ว่ากันว่าใช้งบประมาณถึง 5 พันล้านบาท มีแขกคนสำคัญๆ ระดับโลกมาร่วมงาน แวดวงการเมือง เช่น Tony Blair และ Hillary Clinton แวดวงธุรกิจ อย่าง Bill Gate และ Mark Zuckerberg
สําหรับผู้ร่ำรวยไทยใน list เป็นรายชื่อที่รู้ๆ กัน ในฐานะธุรกิจซึ่งปักหลักในสังคมไทยมานาน ตระกูลเจียรวนนท์ แห่งซีพี มักอ้างอิงยุคก่อตั้งย้อนไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อศตวรรษที่แล้ว ส่วนอีก 2 ราย-ตระกูลอยู่วิทยา กับ ตระกูลจิราธิวัฒน์ ก่อตั้งในช่วงหลังสงครามครั้งที่สอง อีกมิติหนึ่ง ทั้งสามตระกูล ล้วนมีเครือข่ายในต่างประเทศ
ทั้งนี้ Bloomberg มีมุมมองที่แตกต่างไปบ้าง นั่นคือความพยายามเชื่อมโยงสู่รุ่นใหม่ๆ กรณีตระกูลเจียรวนนท์ จากรุ่นบุกเบิก ยุค ธนินท์ เจียรวนนท์ สู่ยุคปัจจุบันที่มีบุตรทั้งสอง (ศุภกิตต์-ศุภชัย) เป็นผู้นำ มายังรุ่นล่าสุด-กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ในวัยราว 30 เขาเป็นบุตรของศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ผู้มีบทบาทวางรากฐานกลุ่มธุรกิจสื่อสาร กรวัฒน์เดินตามโมเดลนักธุรกิจในโลกยุคใหม่ เริ่มต้นธุรกิจในนาม-Amity เป็น tech startup สามารถระดมทุนได้หลายครั้ง เป็นกิจการที่เติบโตอย่างน่าสนใจ มีลูกค้าสำคัญหลายราย เฉพาะในประเทศไทย มีกิจการในเครือซีพีรวมอยู่ด้วย
ทำนองเดียวกันตระกูลจิราธิวัฒน์ Bloomberg นำเสนอรุ่นที่ 4 เป็นรุ่นหลาน สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ในฐานะคนรุ่นที่ 2 เข้ามามีบทบาทในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร กลุ่มธุรกิจหลักหนึ่งในเครือเซ็นทรัล
ขณะที่ตระกูลอยู่วิทยายังอยู่ในรุ่นที่ 2 อ้างถึง สราวุฒิ อยู่วิทยา ซีอีโอของ TCP group มาตั้งแต่ปี 2555 ปีเดียวกับที่เข้าเป็นกรรมการธนาคารกสิกรไทย ต่อเนื่องจากบิดา (เฉลียว อยู่วิทยา) ยังเป็นอยู่จนถึงทุกวันนี้
เรื่องราวแง่มุมอื่นๆ ยังมีอีก เกี่ยวกับผู้ร่ำรวยไม่กี่คนในสังคมไทย •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022