การต่อต้านการจารกรรม : เคมเปไทปะทะสายลับก๊กมินตั๋ง (7)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

การต่อต้านการจารกรรม

: เคมเปไทปะทะสายลับก๊กมินตั๋ง (7)

 

การลงโทษสายลับ

ของกองทัพญี่ปุ่น

ด้วยเหตุที่การจัดการในกองทัพญี่ปุ่นในภาวะสงครามในดินแดนไทยนั้นมีทั้งสารวัตรทหารและศาลทหารญี่ปุ่นดำเนินการตัดสินคดีความอย่างเฉียบขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินลงโทษเหล่าสายลับจีนที่ปฏิบัติการจารกรรม และแทรกซึมเข้าจารกรรม จึงมีความเป็นได้ว่า เหล่าสายลับของก๊กมินตั๋งที่แทรกซึมเข้ามาหรือมีปฏิบัติการถูกจับกุมอย่างลับๆ ในหลายกรณีมาตั้งแต่ต้นสงคราม

หลายกรณีเคมเปไทได้คืนตัวผู้ต้องหากลับคืนแก่ฝ่ายไทยทั้งที่ไม่ปรากฏข้อมูลการจับกุมเอกสารฝ่ายไทยมาก่อน มิพักที่ย่อมมีหลายกรณีที่เคมเปไทจับกุมสายลับโดยฝ่ายไทยไม่ทราบและไม่คืนตัวให้แก่ฝ่ายไทยด้วย ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่สายลับเหล่านั้นอาจถูกตัดสินโทษโดยศาลทหารญี่ปุ่นลงโทษประหารชีวิต โดยการดำเนินการภายในกองทัพญี่ปุ่นเองโดยฝ่ายไทยไม่ทราบ

เป็นที่ชัดเจนว่า นับแต่ช่วงปลายสงครามความร่วมมือระหว่างสหรัฐและจีนแนบแน่นมากยิ่งขึ้นการผลิตสายลับเข้าจารกรรมในดินแดนข้าศึก ราวปลายปี 2486 เมื่อวิลเลี่ยม โดโนแวน หัวหน้าสำนักอำนวยการยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Services; OSS) หรือต่อมาพัฒนาเป็น CIA ได้เดินทางมาที่จุงกิง เพื่อประสานงานการจัดตั้งหน่วยการข่าวร่วมกันพร้อมให้การฝึกฝนงานสายลับให้แก่หน่วยสืบราชการลับของนายพลไต้ลี่ ด้วยการตั้งสำนักงานจีน-อเมริกัน (Sino-American Cooperation Group; SACO) นำโดย ร.อ.มิวตัน มายส์ แห่งหน่วยสายลับกองทัพเรือ สหรัฐ นอกจากนี้ โดโนแวนยังได้จัดตั้งหน่วย OSS ดำเนินการอิสระที่มิได้ร่วมมือกับจีนด้วย

(Frederic Wakeman Jr., 2003, 316-317)

William J. Donovan หัวหน้าหน่วย 0SS

ในปี 2487 ด้วยเหตุที่การเข้าแทรกซึมของสายลับในไทยของฝ่ายสัมพันธมิตรจำเป็นต้องใช้ทหารที่มีเชื้อชาติเอเชียที่มีความกลมกลืนกับผู้คนในไทยมากกว่าชาวตะวันตก ทำให้กองบัญชาการสัมพันธมิตรอังกฤษที่อินเดียประสานงานขอความช่วยเหลือขอกำลังคนจากกองทัพจีน

ในช่วงปลายสงครามนั้น หน่วยจารกรรมของก๊กมินตั๋งของนายพลไต้ลี่ได้ส่งหลานตงไห่เข้ามาปฏิบัติการจารกรรมในไทย เมื่อ 26 สิงหาคม 2487 สารวัตรทหารญี่ปุ่นจับคลื่นวิทยุลึกลับได้ในพระนครจึงประสานงานสารวัตรทหารไทยระดมทหารถึง 104 คน ไปจับกุมศูนย์วิทยุของก๊กมินตั๋งของหลานตงไห่ที่ตั้งที่เขตธนบุรีจับกุมสายลับคนหนึ่งได้ และจากคำสารภาพของสายลับคนนี้ทำให้สารวัตรทหารญี่ปุ่นจับกุมชาวจีนได้อีกถึง 45 คน (มูราซิมา, 2541, 179)

จากบันทึกความทรงจำของหลวงสังวรยุทธกิจ สารวัตรใหญ่กรมสารวัตรทหาร เล่าไว้ว่า ช่วงสิงหาคม 2487 เคมเปไทจับกุมชาวจีนต่อต้านญี่ปุ่นกว่า 60 คนไว้ แต่ทางการไทยไม่ติดใจในการจับชาวจีนเหล่านี้ (อนุสรณ์หลวงสังวรฯ, 2516, 131) ดังนั้น ย่อมเข้าใจได้ว่า ฝ่ายไทยไม่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการของเคมเปไทในการจับกุมและดำเนินคดีกับสายลับจีนมากเท่าที่ควร

ไต้ลี่ ยืนกลางกับสมาชิกสถาบันจีน-สหรัฐ 2488

น้ำใจของนายพลนากามูระ

อย่างไรก็ตาม การจับกุมสายลับจีนกรณีหนึ่งในช่วงปลายสงครามที่ควรบันทึกไว้ มีดังนี้ นายพลนากามูระบันทึกไว้ว่า ในราวเดือนตุลาคม 2487 เคมเปไทตรวจจับสื่อวิทยุลึกลับได้ ด้วยความร่วมมือจากทางบกและทางอากาศของกองทัพญี่ปุ่นทำให้เคมเปไทสามารถระบุตำแหน่งบ้านที่เป็นต้นแหล่งคลื่นวิทยุได้อย่างแม่นยำ บ้านต้องสงสัยดังกล่าวซ่อนตัวอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ปกคลุมหนาแน่นในย่านฝั่งธนบุรี

จากนั้น เคมเปไทนำกำลังเข้าบุกทลายแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุลึกลับนั้นทันที แต่เหล่าสายลับระดับหัวหน้าของรัฐบาลจุงกิงสามารถหลบหนีไปได้ คงเหลือแต่วัยรุ่นคนหนึ่ง แซ่ลี้ อายุ 17 ปีหนีไม่ทัน เคมเปไทจับเขาได้พร้อมค้นพบหลักฐานการจารกรรมได้ในบ้านอีกจำนวนมาก จากการสอบสวนเด็กคนนั้น กองทัพญี่ปุ่นทราบเรื่องราวทั้งหมดพร้อมยึดเอกสารและเครื่องวิทยุสื่อสารต่างๆ ของสายลับได้

เมื่อกองทัพนำคดีเข้าสู่ศาลทหารได้ตัดสินประหารชีวิตเด็กชายแซ่ลี้คนนี้ แต่ต่อมา นายพลนากามูระสั่งระงับการประหารไว้ก่อน พร้อมเรียกสำนวนคดีสั่งฟ้องมาตรวจสอบอยู่สามวันสามคืน เขาจึงส่งคนไปสอบถามความต้องการของจำเลยผู้นี้ เด็กแซ่ลี้กลับฝากจดหมายลาตายไปให้พ่อแม่ เมื่อนากามูระได้อ่านพบเนื้อความว่า

“เขาไม่กลัวตาย และยอมรับว่า ความตายนั้นเป็นคำพิพากษาที่ยุติธรรม เขาไม่มีความแค้นทหารญี่ปุ่น แต่ต้องขออภัยพ่อแม่ที่มีความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีความอกตัญญู” (นากามูระ, 2546, 158)

นายพลนากามูระประทับใจในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเด็กชายชาวจีนคนดังกล่าวมาก จึงสั่งให้ยกเลิกการประหาร ให้คุมตัวเขาและให้เรียนภาษาญี่ปุ่น ต่อมา เด็กผู้นี้มาก้มกราบนายพลนากามูระแล้วร้องไห้พร้อมกล่าวว่า “ลี้ได้ตายไปแล้ว บัดนี้ไปกลายเป็นคนญี่ปุ่น ขอให้ท่านตั้งชื่อให้ใหม่” นากามูระจึงปรึกษานิติกรกองทัพแล้วตั้งชื่อใหม่ให้ว่า คาซูโอะ อาซูมา จากนั้นสั่งให้ ร.อ.โยชิดะ สอนภาษาญี่ปุ่นให้เขาต่อไป (นากามูระ, 2546, 158)

ทั้งนี้ นายพลนากามูระให้ร่องรอยการบุกจับกุมในครั้งนั้นไว้ว่า การบุกทลายแหล่งส่งวิทยุครั้งนี้ เป็นเหล่าสายลับจุงกิงที่ได้รับการฝึกจากสหรัฐและอังกฤษที่มีศูนย์ตั้งที่เดลลีและโคลัมโบ สัมพันธมิตรได้ส่งสายลับแทรกซึมเข้ามาทั้งทางบกและทางน้ำ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เขาทราบดีว่า สายลับเหล่านี้แทรกซึมเข้ามาในแดนไทยด้วยการโดดร่มและได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยคุ้มกันความปลอดภัยให้

นอกจากนั้น เขายังได้รับรายงานจากเคมเปไทว่า จำนวนสายลับในไทยมีเพิ่มขึ้นและมีความพยายามสร้างสนามบินในภาคอีสานเพื่อทำสงครามกองโจรอีกด้วย (นากามูระ, 2546, 159)

ไต้ลี่กับครูฝึกทหารของสหรัฐ

จากบันทึกความทรงจำของนายพลนากามูระในกรณีเคมเปไทบุกศูนย์วิทยุลับของรัฐบาลจุงกิงที่ย่านฝั่งธนบุรีครั้งนั้น สอดคล้องช่วงเวลาความเคลื่อนไหวของเสรีไทยในประเทศพร้อมการแทรกซึมสายลับจากจีนในช่วงปลายปี 2487 ดังนี้

ประสิทธิ์ รักประชา นายทหารก๊กมินตั๋ง ผู้เคยเข้าอบรมสายลับกับ OSS เล่าว่า เท่าที่เขาทราบ ก๊กมินตั๋งส่งสายลับเข้าแทรกซึมเข้าไทยหลายครั้ง และครั้งที่ 3 เกิดเมื่อปลายปี 2487 โดยนายทหารก๊กมินตั๋ง 3 คนได้รับการฝึกจากเมืองเจสเซอร์ ใกล้กัลกัตตา ในอินเดีย พวกเขากระโดดร่มแทรกซึมเข้าไทยลงในป่าอุทัยธานี คณะดังกล่าวประกอบด้วย ร.อ.วิบูลย์ โลกานุวงศ์ (หลิวหย่งเจียน) ร.อ.หวงจื้อหวา และ ร.อ.เฉินอุ๋นปอ การแทรกซึมครั้งนี้ค่อนข้างสะดวกปลอดภัยเพราะมีพลพรรคใต้ดินของเสรีไทยในพื้นที่คอยรับตัว หลังจากซุ่มดูท่าทีในป่า 2 วันก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ จากนั้น พวกเขาเช่าบ้านอยู่ที่ตลาดพลู ฝั่งธนบุรี

ต่อมา พวกเขาอำพรางตัวด้วยการเป็นพ่อค้าเรือเร่ พายเรือแจวล่องกรุงเทพฯ-อยุธยาโดยใช้เรือเป็นสถานีวิทยุรับส่งเคลื่อนที่ติดต่อกับหน่วยบัญชาการที่อินเดีย ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นยากในการค้นหาแหล่งสัญญาณคลื่นวิทยุที่แน่ชัดได้ (ประสิทธิ์, 28-31, 74-81)

ควรบันทึกด้วยว่า ประสิทธิ์ไม่ได้บันทึกว่า เหตุใดสายลับของก๊กมินตั๋งที่ย่านตลาดพลูจึงย้ายที่ทำการจากบ้านพักลงมาเป็นเรือเร่ขายของแทน หรือเป็นไปได้ไหมว่า เคมเปไททำลายที่ทำการสื่อสารบนบกแล้ว พวกเขาจึงใช้เรือเป็นพาหนะในการส่งคสื่นวิทยุแทน

ดังนั้น หากวิเคราะห์แล้ว จึงมีความเป็นไปได้ที่เรื่องราวจากบันทึกความทรงจำของนายพลนากามูระ และประสิทธิ์ รักประชา อาจเป็นเหตุการณ์เดียวกันด้วยสถานที่เกิดเหตุ ย่านตลาดพลูและช่วงปลายปี 2487 นั้นมีความสอดคล้องต้องกัน เรื่องราวของเด็กชายลี้จึงน่าจะคือผลลัพธ์จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

นายพลนากามูระ แม่ทัพหน่วย “งิ”
ทหารก๊กมินตั๋ง
พานจื่อหมิง (ประสิทธิ์ รักประชา) และบันทึกความทรงจำของเขา