Freude! Freude! บทเพลงแห่งการเฉลิมฉลองความเงียบงัน ของศิลปินแสดงสดแถวหน้าของไอร์แลนด์ Amanda Coogan

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Freude! Freude!

บทเพลงแห่งการเฉลิมฉลองความเงียบงัน

ของศิลปินแสดงสดแถวหน้าของไอร์แลนด์

Amanda Coogan

 

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินระดับโลกอีกคนที่เดินทางมาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า อแมนดา คูแกน (Amanda Coogan) ศิลปินร่วมสมัยชาวไอริช ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล จากการทำงานผ่านสื่อหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะแสดงสด, ประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง และภาพถ่าย ผลงานของเธอเป็นการนำเสนอประสบการณ์อันไม่ต้องการคำพูดที่มีความสัมพันธ์กับร่างกายอย่างลึกซึ้ง

คูแกนมีความเชี่ยวชาญในการกลั่นกรองแนวความคิดให้เหลือแต่เพียงแก่นแท้ใจความสำคัญอันจำเป็นและสื่อสารผ่านร่างกายของเธอ โดยมีภาษามือ เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของเธอ

ด้วยความที่เธอเกิดในครอบครัวที่พ่อและแม่เป็นคนหูหนวก การถูกเลี้ยงดูด้วยการสื่อสารทางสายตาและภาษามือ ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อการทำงานศิลปะของเธอ

ในปี 2015 นิทรรศการแสดงเดี่ยวของเธอในไอร์แลนด์อย่าง I’ll sing you a song from around the Town ได้รับคำชมจากนิตยสาร Artforum ว่าเป็น “ศิลปะแสดงสดที่ดีที่สุดงานหนึ่งที่เคยมีมา”

ด้วยการใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย และบริบทเนื้อหาอันเข้มข้น คูแกนเป็นที่รู้จักจากการแสดงสดอันยาวนานและทรงพลัง กระบวนการทำงานของเธอเต็มไปด้วยความหลากหลายและเต็มไปด้วยอิสรเสรี ทั้งการแสดงสดเดี่ยวคนเดียว การแสดงสดแบบกลุ่ม และศิลปะแสดงสดผสานศิลปะจัดวาง

ผลงานของเธอมักจะสำรวจเรื่องราวและสถานะของคนชายขอบของสังคม โดยนำเสนอออกมาเป็นผลงานแสดงสดแบบร่วมสมัย เธอยืนหยัดในฐานะศิลปะผู้ร่วมงานกับชุมชนชายขอบผู้ด้อยโอกาสได้อย่างโดดเด่นเป็นเอก

หนังสือพิมพ์ Irish Times กล่าวถึงเธอว่า “คูแกนเป็นศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับพิธีกรรม ความอดกลั้น และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างทรงพลัง และถือเป็นศิลปินแสดงสดชั้นนำคนสำคัญที่สุดของประเทศไอร์แลนด์”

คูแกนเป็นศิลปินผู้ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน เธอสรรค์สร้าง พัฒนา และทำความเข้าใจกระบวนการทำงานใหม่ๆ ผ่านกิจกรรมทางร่างกายในการทำงานศิลปะ ผลงานของเธอเป็นการผสมผสานข้ามกันระหว่างงานศิลปะหลากศาสตร์ ทั้งในรูปแบบและเนื้อหา ด้วยการใช้สื่อทางศิลปะหลากหลายในการทำงาน ทั้งวัตถุ ข้อความ ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ที่เชื่อมโยงร้อยรัดไปกับการทำงานศิลปะแสดงสดของเธอ

ผลงานของเธอเต็มไปด้วยความสนุกสนาน หากแต่ท้าทาย และตีแผ่การต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตและความยืดหยุ่นทางจิตใจ ผลงานของเธออ้างอิงถึงคำศัพท์ในภาษามือของไอริช รวมถึงวรรณกรรมท้องถิ่นของไอริชมากมาย โดยสื่อสารผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกายและเนื้อหา นำเสนอออกมาเป็นผลงานอันเต็มไปด้วยมิติอันซับซ้อน และทิ้งร่องรอยอันยากจะลืมเลือนในความทรงจำของผู้คน

อแมนดา คูแกน เกิดในปี 1971 ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ เธอเคยศึกษาเล่าเรียนกับศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ตัวแม่อย่าง มารีน่า อบราโมวิช (Marina Abramovi?) ในวิทยาลัยวิจิตรศิลป์ (Hochschule f?r Bildende K?nste) ที่เมืองเบราน์ชไวค์ ประเทศเยอรมนี และจบปริญญาเอกบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอัลสเตอร์ ในประเทศอังกฤษ

ด้วยความที่พ่อแม่ของเธอเป็นคนหูหนวก เธอจึงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ภาษามือแบบไอริช เธอใช้การสำรวจวิธีการใช้ร่างกายและเสียงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงานศิลปะแสดงสดอันต่อเนื่องยาวนาน (Long durational performance) อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินแสดงสดในสำนักของมารีน่า อบราโมวิช นั่นเอง

ในปี 2023 คูแกนร่วมงานกับคณะละครคนหูหนวก ในกรุงดับลิน และคณะนักร้องประสานเสียงในเมืองคอร์ก ประเทศไอร์แลนด์ จัดแสดงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน ที่หอศิลป์ครอว์เฟิร์ด เมืองคอร์ก ในขณะที่ดนตรีบรรเลง คูแกนทำหน้าที่เป็นวาทยากรให้ศิลปินหูหนวกสร้างการเคลื่อนไหวประกอบบทเพลงในความเงียบงันอย่างทรงพลัง

คูแกนมีผลงานจัดแสดงและทำงานศิลปะแสดงสดในสถาบันทางศิลปะหลากหลายแห่งทั่วโลก ทั้ง Broad Contemporary Art Museum ในมิชิแกน, The Museum of Contemporary Art ในแจ็กสันวิลล์ ฟลอริดา, Oscar Niemeyer International Cultural Centre ในประเทศสเปน, Contemporary Irish Art Centre LA ในลอสแองเจลิส, The National Gallery of Ireland และ The Irish Museum of Modern Art ในดับลิน, MoMA PS1 ในนิวยอร์ก, Van Gogh Museum ในอัมสเตอร์ดัม เธอยังร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ และ ลิเวอร์พูลเบียนนาเล่ อีกด้วย

ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ อแมนดา คูแกน นำเสนอผลงาน Freude! Freude! (2023) (Joy! Joy!) ศิลปะแสดงสดที่ทำการตีความบทเพลง Ode to Joy ออกมาเป็นภาษามือ โดยทำงานร่วมกับอาสาสมัครผู้ใหญ่และเยาวชนชาวไทยผู้มีปัญหาด้านการได้ยิน ในบทบาทของคณะนักร้องประสานเสียงเงียบร่วมกับคูแกนในฐานะวาทยกร ในคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ฝั่งธนบุรี

ในการเตรียมการแสดงสดของคูแกนกับเหล่าบรรดาอาสาสมัครต่อหน้าผู้ชมเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากสำหรับคูแกนและผู้แสดงชาวไทย ด้วยความที่ภาษามือของไทยกับไอริชนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การสื่อสารด้วยภาษาร่างกายจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ท้ายที่สุดทั้งหมดก็สามารถทำการแสดงสดอันน่าทึ่งที่เป็นการก้าวข้ามพรมแดนทางภาษาและเชื้อชาติได้อย่างทรงพลัง

“โครงการศิลปะของฉันมีที่มาจากภาษาแม่ของฉัน ซึ่งก็คือภาษามือ ซึ่งหยิบเอางานดนตรีเก่าแก่คลาสสิค อย่าง ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน ที่แปลงเป็นภาษาแม่ของฉันอย่างภาษามือ และในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ฉันได้พบกับเหล่าบรรดานักศึกษาผู้มีปัญหาทางการได้ยินที่แสนวิเศษ ฉันจึงแปรเปลี่ยนการแสดงสดด้วยภาษามือในการตีความบทเพลง Ode to Joy ใน ซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟน ให้กลายเป็นภาษามือของไทย”

“เราเปลี่ยนแปลงความหมายของภาษา เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคสำหรับทุกคน งานชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนการเฉลิมฉลองความหลากหลาย ในความเสมอภาคทางภาษา ความเสมอภาคในความสมบูรณ์และความบกพร่อง หรือแม้แต่ความเสมอภาคในการได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ตาม”

“ด้วยความที่ฉันเติบโตและถูกเลี้ยงดูมากับภาษามือ ฉันจึงมองว่าการสื่อสารเช่นนี้เป็นการสื่อสารด้วยร่างกายของเรา แทนที่จะเป็นการพูดออกมาด้วยปาก การหยิบเอาบทเพลง Ode to Joy มาใช้ในการแสดงสดด้วยภาษามือ โดยละทิ้งเนื้อเพลงและถ้อยคำให้เหลือแต่ภาษาท่าทาง นั้นเป็นการปรับเปลี่ยนบริบทของบทเพลงเสียใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้ประพันธ์เพลงอย่างเบโธเฟน ซึ่งเป็นคีตกวีผู้สูญเสียการได้ยินในช่วงบั้นปลายของอาชีพ และมีอาการหูหนวกสนิทในขณะที่แต่งบทเพลงชิ้นนี้ขึ้นมา”

การแสดงสดที่ว่านี้ถูกบันทึกและถ่ายทอดอีกครั้งในรูปแบบของงานวิดีโอจัดวาง จัดแสดงในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ประกอบกับงานศิลปะจัดวางจากเหล่าบรรดาเสื้อผ้ามือสองแขวนเรียงรายจากด้านบนจนดูคล้ายกับหลังคาของฉากเวทีในการแสดงที่ว่านี้ (แถมในวันที่ 26 ตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา คูแกนยังทำงานศิลปะแสดงสดในพื้นที่แสดงงานของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอีกด้วย)

“เสื้อผ้าเหล่านี้ ฉันได้มาจากตลาดมือสอง สำหรับฉัน เสื้อผ้าพวกนี้เป็นตัวแทนของเหล่าผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินในช่วงเวลาต่างๆ สืบเนื่องมาหลายพันปี เราไม่อาจปฎิเสธข้อเท็จจริงที่ว่ามีผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินเหล่านี้ และมีภาษามืออยู่ในโลกใบนี้จำนวนมาก ลักษณะที่เสื้อผ้ามือสองเหล่านี้ก่อตัวเป็นหลังคาเหนือหัวเรานั้นยังเป็นตัวแทนของสังคมในอุดมคติที่เต็มไปด้วยความเท่าเทียม”

ที่น่าสนใจก็คือ ลักษณะของเสื้อผ้ามือสองที่ก่อตัวเป็นหลังคาที่เป็นตัวแทนของสังคมในอุดมคติในงานของคูแกนเอง ก็มีความสัมพันธ์อันย้อนแย้งกับการแสดงสดที่ใช้บทเพลง ซิมโฟนีหมายเลข 9 ซึ่งเดิมที เบโธเฟนเริ่มต้นแต่งขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่ นโปเลียน โบนาปาร์ต ที่เขาเคยมองว่าเป็นวีรบุรุษผู้ลุกขึ้นมาปฏิวัติล้มล้างระบอบการปกครองเก่าเพื่อสร้างสังคมในอุดมคติ หากแต่เมื่อนโปเลียนกลับลุแก่อำนาจ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิเสียเอง

เบโธเฟนก็ผิดหวังจนขีดฆ่าคำอุทิศออกไปจากโน้ตเพลงด้วยความชิงชังรังเกียจ

การหยิบบทเพลงที่มีปูมหลังทางประวัติศาสตร์เช่นนี้มาใช้ นั้นไม่ต่างอะไรกับการเสียดเย้ยความเป็นสังคมในอุดมคติที่เต็มไปด้วยความเท่าเทียมอันไม่เคยมีอยู่จริง หรือแม้แต่ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคมของเรา ที่เหล่าบรรดาประชาชนผู้บกพร่องและขาดไร้โอกาสในสังคมเอง ก็ไม่เคยได้รับความเท่าเทียมและถูกปฏิบัติอย่างเสมอภาคโดยแท้จริงนั่นเอง

ผลงาน Freude! Freude! (2023) ของ อแมนดา คูแกน จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567-25 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ 10:00-20:00 น

ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก BAB2024, BACC ภาพถ่ายโดย Seni Chunhacha •

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์