เลือดตา

ญาดา อารัมภีร

เห็นชื่อเรื่องวันนี้แล้วอย่าคิดว่าเป็นอาการโรคตาขั้นวิกฤต มีเลือดออกจากดวงตา ต้องรีบไปหาจักษุแพทย์โดยด่วน

‘เลือดตา’ เป็นสำนวนเปรียบเทียบแสดงถึงความสะเทือนใจอย่างรุนแรง หาใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ เพียงแต่นำภาพที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาเทียบ

นั่นคือภาพของคนที่ร้องไห้อย่างหนัก ร้องไห้ตลอดเวลา น้ำตาที่พรั่งพรูไม่ขาดสายทำให้ดวงตาแดงก่ำจนดูราวกับน้ำตานั้นไหลออกมาเป็นสายเลือด

สื่อถึงความเดือดร้อนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ความโกรธเคืองเดือดดาล ความคับแค้นใจไปจนถึงความเศร้าโศกเสียใจอย่างใหญ่หลวง ฯลฯ

สำนวนนี้เก่าแก่มีใช้มาแต่โบราณ วรรณคดีสมัยอยุธยาใช้กันแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น ลิลิตพระลอ – บทดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่า – กำสรวลโคลงดั้น (กำสรวลสมุทร)” ฯลฯ

ลักษณะของ ‘เลือดตา’ ที่บอกถึงสภาพการณ์ตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ ‘ย้อย – หยัดย้อย – กระเด็น – ไหล’ แต่ละอาการสื่อความหมายแตกต่างกันไป

 

อย่างวรรณคดีสมัยอยุธยา เรื่อง “ลิลิตพระลอ” ตอนพระลอลาพระมเหสีลักษณวดี ความทุกข์โทมนัสของนางเกิดขึ้นเนื่องจากพระสวามีสุดที่รักกำลังจะเดินทางไปเมืองสอง ไปอยู่ในเงื้อมมือของศัตรู มิรู้ว่าจะมีอันตรายใดๆ รออยู่ นางทั้งกลัดกลุ้มกังวลความปลอดภัย ทั้งเศร้าโศกเสียใจต่อการจากลาที่ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้พบกันอีกหรือไม่ รู้สึกทุกข์ระทมพ้นพรรณนาราวกับ ‘เลือดตา’ ของนางจะย้อย หรือไหลลงมาเป็นทาง เราจะมองเห็นภาพน้ำตาหลั่งไหลลงมาจนนัยน์ตาบวมช้ำ

“๏ ลักษณวดีกรมทรวงสร้อย ทุกข์แทบเลือดตาย้อย

เนตรน้ำนองนูน”

“บทดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่า” ไม่ว่าจะเป็นบทโต้ตอบของชายหรือหญิง ล้วนไม่พลาดสำนวน ‘เลือดตา’

(ชาย) “เรียมรักเจ้าสุดแสนทวี ตัวพี่ไม่ไข้แต่ใจสร้อย

ดังหนึ่งเลือดตาจะหยัดย้อย เพราะเพื่อน้องน้อยเจ้านานมา”

คำว่า ‘สร้อย’ ในที่นี้มิใช่สายสร้อย แต่หมายถึง โศกเศร้า เช่นเดียวกับ ‘ลักษณวดีกรมทรวงสร้อย’

ข้อความว่า ‘พี่ไม่ไข้แต่ใจสร้อย’ หมายความว่า พี่มิได้ป่วยไข้ แต่เป็นไข้ใจเพราะใจเศร้าหมอง ความทุกข์ทรมานใจจากการรอคอยน้องช่างท่วมท้นดุจดัง ‘เลือดตา’ ค่อยๆ ไหลลงมา

มาดูคารมฝ่ายหญิงกันบ้าง ไม่เป็นสองรองชายแต่อย่างใด

(หญิง) “ข้าเจรจาดังคนอุตริ เจ้าตริตราดูข้างในจิตร

เลือดตาจะกระเด็นอยู่เปนนิจ จะคิดเปล่าแล้วอย่าปรารมภ์” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ตัวอย่างที่ยกมานี้ ฝ่ายหญิงพยายามห้ามปรามฝ่ายชายว่าอย่าเสียเวลากับนางเลย เพราะเกรงจะยากลำบากเกินไป จะเห็นได้ว่าแม้เป็นสำนวนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา

แต่สำนวน ‘เลือดตากระเด็น’ ก็ยังใช้กันเรื่อยมาจนทุกวันนี้ ใช้ในความหมายว่า ลำบากมาก ลำบากยากแค้นแสนสาหัส บางทีก็พูดว่า ‘ลำบากเลือดตาแทบกระเด็น’

 

ในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ ประไหมสุหรีดาหากระทบกระเทียบอิเหนาว่านางบุษบาพระธิดาเป็นต้นเหตุแห่งความวิบัติ ตลอดเวลาพระนางต้องแบกรับความอับอายทุกข์ทรมาน ลำบากใจราวเลือดตาจะกระเด็น

“สงครามครั้งนี้ไม่ควรเป็น

เพราะลูกเจ้ากรรมทำแค้นขัด จนวิบัติบ้านเมืองได้เคืองเข็ญ

ทั้งทุกข์ทั้งอายไม่วายเว้น เลือดตาจะกระเด็นอยู่เป็นนิจ”

สำนวนนี้ยังพบในบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนหนุมานทูลพระรามว่าจะแกล้งสวามิภักดิ์กับทศกัณฐ์เพื่อชิงกล่องดวงใจมาเยาะเย้ยให้เจ็บใจเล่น

“ข้าจะลวงยักษามาให้ใกล้ จะชูกล่องดวงใจขึ้นให้เห็น

ให้เลือดตาทศเศียรเจียนกระเด็น เย้ยหยันมันเล่นเวลานี้”

อีกตอนหนึ่งในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” นางบุษบาถูกอิเหนาลวนลามไม่เกรงใจ ได้แต่รำพันว่า

“ตัวกูแม้นม้วยมรณา ก็ดีกว่าที่เป็นดังนี้

ไม่สรงไม่เสวยกระยาหาร เยาวมาลย์มัวหมองรัศมี

ยิ่งคิดยิ่งแค้นแสนทวี ดังเลือดตามารศรีจะหยัดลง”

 

จาก ‘เลือดตากระเด็น’ ‘เลือดตาย้อย’ ‘เลือดตาจะหยัดย้อย’ ที่ค่อยๆ ไหลลงมาเป็นทางก็กลายเป็นเลือดตาหลั่งไหลลงมาราวกับสายฝนทั่วทุกหนแห่ง ‘เลือดตา’ ในที่นี้ คือความทุกข์ระทมรัก ปริมาณเลือดสัมพันธ์กับปริมาณความทุกข์ เลือดตายิ่งมากเท่าไหร่ ความทุกข์ก็ยิ่งมากเท่านั้น ดังที่ “กำสรวลโคลงดั้น” หรือ “กำสรวลสมุทร” วรรณคดีสมัยอยุธยา รำพันด้วยความอาลัยที่จากหญิงคนรักมาไกลแสนไกลว่า

“๏ รฦกชู้แก้วเกื่อน ใจตาย แลแม่

รยมร่างเปนต้นเลอย น่าน้อง

เลือดตายิ่งฝนราย ราย่าน

อกพี่พ้นฟ้าร้อง รยกศรี ฯ”

ทำนองเดียวกับบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระรามรำพันอาลัยรักนางสีดาที่แทรกแผ่นดินหนีไปต่อหน้า

“ถึงจะเคืองแค้นพี่ว่ามีผิด ก็จะคิดถึงสองโอรสา

นี่สลัดตัดได้ไม่เมตตา เห็นสุดสิ้นเสนหาอาลัย

โอ้สงสารปานนี้โฉมตรู จะไปอยู่แห่งหนตำบลไหน

ถึงจะคิดติดตามทรามวัย ก็เห็นไม่คืนมาธานี

เสียแรงพี่ดับเข็ญเย็นยุค หวังได้ร่วมสุขเกษมศรี

ควรฤๅเป็นต่างต่างไปอย่างนี้ ให้มีแต่ช้ำระกำใจ

พระยิ่งโศกศัลย์รัญจวนจิต สุดคิดปิ้มเลือดตาไหล”

 

‘เลือดตา’ มิใช่จำกัดเฉพาะความรักฉันชู้สาวเท่านั้น ความรักฉันญาติก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน

ดังกรณีปู่ย่าเป็นห่วงหลานตัวน้อยจะต้องไปตกระกำลำบากในป่า ‘เลือดตา’ สื่อถึงความทุกข์ใจใหญ่หลวงจากความห่วงหาอาทร ดังจะเห็นได้จาก “มหาเวสสันดรชาดก” ทานกัณฑ์ เมื่อพระเจ้ากรุงสญชัยและพระนางผุสดีรู้ว่าพระเวสสันดร (พระโอรสผู้ต้องโทษเนรเทศ) จะพาพระนางมัทรี และกัณหา ชาลี ลูกน้อยทั้งสองไปอยู่ด้วยกันในป่า ต่างก็รำพันว่า

“พรุ่งนี้เช้าเจ้าจะชวนกันไปเดินในดงดอน จะตรำฝนทนร้อนทุกเวลา สงสารสองนัดดาดวงสมร เดินเหนื่อยก็จะอ้อนให้แม่อุ้ม จะร้องไห้ฟักฟูมในกลางทุ่ง เขาอุ้มเหนื่อยเขาก็จะจูงให้เจ้าเดิน จะระหกระเหินแม่จะเดินยังนับย่าง พระบาทเจ้าก็บอบบางแต่จะย่างก็ลุกล้ม ปู่นี่ปรารมภ์ไม่รู้วายดั่งเลือดตาจะลามไหล”

พระนางผุสดีสงสารหลานทั้งสองยิ่งนัก เอ่ยวาจาว่า

“อนิจจานิจจาพระหลานเอ๋ยไม่เคยยาก มาได้ความลำบากแต่น้อยๆ ดั่งว่าเลือดตาย่าจะหยดย้อยลงลามไหล”

สำนวน “เลือดตา” เดินทางมายาวนานตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นที่นิยมสืบต่อกันจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์และยังเหลือร่องรอยอยู่บ้างในปัจจุบัน วรรณคดีไทยหลายเรื่องใช้สำนวนนี้เปรียบเทียบกับอารมณ์ความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นจากนานาสาเหตุ ตั้งแต่ความโกรธเคือง ความเคียดแค้นชิงชัง ความอับอาย ความเศร้าโศกสูญเสีย ความทุกข์ยากลำบากตรากตรำ ฯลฯ

เป็นสภาพการณ์ ‘หนักหนาสาหัส’ และ ‘สุดจะทานทน’ ทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ

อย่าเกิดแก่ใครได้แหละดี •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร