20 (ขุนพล) ลิขิตฟ้า 44 (ส.ส.) ต้องฝ่าฟัน ต้องสู้ ต้องสู้ (ส้ม) จึงจะชนะ?

บทความในประเทศ

 

20 (ขุนพล) ลิขิตฟ้า

44 (ส.ส.) ต้องฝ่าฟัน

ต้องสู้ ต้องสู้ (ส้ม) จึงจะชนะ?

 

หลังมีข่าวฮึ่มๆ จากค่ายสีส้ม พรรคประชาชนในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้าน เตรียมยื่นญัตติเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ปลายเดือนกุมภาพันธ์

โดยจะเปิดฉากอภิปรายจริงช่วงเดือนเมษายน

พลันก็มีข่าวเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับข่าวยื่นญัตติซักฟอก ป.ป.ช.ส่งหมายเรียกถึงมือ 44 อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งหลายคนเป็น ส.ส.พรรคประชาชนในปัจจุบัน ขณะที่อีกหลายคนก็วางมือจากการเมืองในระบบ หันมาช่วยทีมงานพรรคส้มอยู่เบื้องหลังอย่างขมีขมัน

เล่นเอาผู้ได้รับหมายเรียกหลายคนฉุนขาด บ้างประกาศจะไม่ไปตามหมายเรียก บ้างก็บอกจะไปตั้งแต่วันแรกเพื่อยืนยันในอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร

ปีนี้จึงเป็นอีกปีที่ไม่ง่ายของพรรคส้ม

การชนะการเลือกตั้งปี 2566 เห็นจะเป็นเพียงขาขึ้นเดียว เพราะในทางการเมืองหลังจากนั้น พรรคส้มพ่ายแพ้ตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น

และที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นการถูกล้อมปราบจาก “กระบวนการนิติสงคราม”

ผู้บริหารแถว 2 ทั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทั้ง ชัยธวัช ตุลาธน ถูกประหารชีวิตทางการเมืองตาม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล ไปติดๆ

รอบนี้จึงถูกจับตาเป็นพิเศษถึงอนาคตของนักการเมืองระดับนำแถว 3 ของกองทัพส้ม จะเป็นอย่างไร?

 

หากศาลฎีกาฯ ตีความให้น้ำหนักหลักฐานต่างจากศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่ารอบนี้อาจจบไม่เหมือนเดิม

เพราะศาลฎีกาฯ ยึดระบบยุติธรรมแบบกล่าวหา ถ้าความผิดไม่ชัด พฤติการณ์คลุมเครือ มีสิทธิยกประโยชน์ให้จำเลย

เคยมีคำตัดสินเช่นกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ย้ายนายถวิล เปลี่ยนสี พ้นเลขาธิการ สมช.มิชอบ ศาลรัฐธรรมนูญให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ป.ป.ช.ก็ยื่นฟ้องต่อ แต่ศาลฎีกาฯ ตัดสินว่าไม่ผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีเจตนากระทำผิด เป็นต้น

แต่หากศาลฎีกาฯ เชื่อตาม “สารตั้งต้น” จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า 44 ส.ส.และอดีต ส.ส.ลงชื่อแก้ไข ม.112 เพราะมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครอง โทษรุนแรงสุดคือตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต

แบบเดียวกับนักการเมืองหลายคนโดนมาแล้ว เช่น ช่อ พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ ที่โดนกรณีโพสต์รูปภาพไม่เหมาะสม

 

สําหรับรายชื่อ 44 ส.ส.ก้าวไกล ที่ลงชื่อเสนอกฎหมายดังกล่าวเมื่อสมัยปี 2564 นั้น ปัจจุบันยังเป็น ส.ส. สังกัดพรรคประชาชน จำนวน 25 ราย แบ่งเป็น ส.ส.เขต 8 ราย 1.นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. กทม. 2.นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. กทม. 3.นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส. กทม. (ขณะนั้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ) 4.น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส. จันทบุรี 5.นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 6.นายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.ชลบุรี 7.นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราด 8.นายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.สมุทรปราการ

ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17 ราย อาทิ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ (ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรค ปชน. ในช่วงเกิดเหตุเป็น ส.ส. กทม.) น.ส ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ปชน. นายนิติพล ผิวเหมาะ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานวิปฝ่ายค้าน นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม นายวรภพ วิริยะโรจน์ นายคำพอง เทพาคำ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ นายมานพ คีรีภูวดล นายวาโย อัศวรุ่งเรือง น.ส.วรรณวิภา ไม้สน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ นายรังสิมันต์ โรม และนายสุรวาท ทองบุ เป็นต้น

ไม่ได้เป็น ส.ส.สมัยปัจจุบัน 11 ราย เช่น นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ เป็นต้น

และถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี จากการ “ยุบพรรคก้าวไกล” เนื่องจากใช้นโยบายแก้มาตรา 112 หาเสียง เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง โดยทั้งหมดเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลในขณะนั้น 8 ราย ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ นายสุเทพ อู่อ้น นายอภิชาติ ศิริสุนทร นายปดิพัทธ์ สันติภาดา นายสมชาย ฝั่งชลจิตร

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือความเห็นของนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการ ป.ป.ช. ที่ออกมาระบุว่า หากไต่สวนครบ และมีพยานหลักฐานชัดเจนก็สามารถพิจารณาชี้มูลความผิดได้ใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งขณะนี้การรวบรวมหลักฐานค่อนข้างครบแล้ว น่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน

 

แม้จะมีการขยับจากรังสิมันต์ โรม หรืออมรัตน์ โชคปมิตต์กุล และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ไม่แง่มุมของความไม่กังวล ปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ส่วนตัวยังคงมุ่งมั่นผลักดันวาระทางการเมืองของพรรคต่อ

แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า ข่าวการออกหมายเรียก 44 ส.ส.พรรคก้าวไกล สร้างแรงกระเพื่อมทั้งในพรรคและนอกพรรคไม่น้อย เพราะใน 44 ส.ส.ก้าวไกลเดิมนั้น ล้วนแต่เป็นดาวเด่นของพรรคในแง่การทำงานและขยายความคิดทางการเมือง

โดยเฉพาะในวันที่ กองทัพส้ม เตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอยู่

รังสิมันต์เองยังบ่นว่า ไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าทำไม ป.ป.ช.ต้องรีบ เรื่องนี้ทำให้เขาเองเสียสมาธิในการเตรียมอภิปราย ก่อนจะแฉต่อว่า หมายเรียกจาก ป.ป.ช.รอบนี้ บางคนก็ต้องถอนตัวจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แน่นอนว่า หากศาลฎีกาฯ รับพิจารณาคดี ก็อาจมีคำสั่งให้ไม่ต้องหยุดหรือหยุดปฏิบัติหน้าที่ นั่นคือดอกแรกที่กองทัพส้มต้องเจอ งานการขับเคลื่อนโดย ส.ส.แม่เหล็กหลายคนก็ต้องหยุดลง

นอกจากงานฝ่ายค้านต้องสะดุด ยังต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกหลายเขต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนก็หายไปอีกเพียบ

 

ในแง่หนึ่ง นี่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทาง “ดุลอำนาจ” ครั้งใหญ่

ฝ่ายค้านจะอ่อนแรงลงมากถึงมากที่สุดในระยะเวลา 2 ปีก่อนจะมีการเลือกตั้งปี 2570

ตรงกันข้ามกับฝั่งรัฐบาล ความสัมพันธ์ของพรรคเพื่อไทย และภูมิใจไทย ก็จะเปลี่ยนไปอีกมิติ

มีโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะเข้มแข็งขึ้น อำนาจต่อรองของภูมิใจไทยก็อาจลดลง

ดังนั้น การอภิปรายรัฐบาลเพื่อไทยในเดือนเมษายนนี้ จึงทวีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายของชาวสีส้ม จากการถูกรุมถล่มทางการเมืองอย่างหนัก

ทั้งจากการเมืองในระบบ การเมืองในรัฐสภา การเมืองจากมรดก คสช. การถูกจัดการด้วยนิติสงครามต่อเนื่อง จนน่วมกันไปทั้งพรรค

การอภิปรายรัฐบาลรอบนี้อาจจะเป็นเดิมพันครั้งสำคัญทางการเมืองว่า กองทัพสีส้มจะสามารถดึงความนิยมทางการเมืองไว้ได้หรือเปล่า จะเรียกฟอร์มเดิมเช่นที่เคยทำได้สมัยพรรคก้าวไกล กลับคืนมาได้หรือไม่

ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคประชาชน ประธานวิปฝ่ายค้าน แย้มข้อมูลเบื้องต้นว่า การอภิปรายรอบนี้จะไม่ยื่นอภิปรายทั้งคณะ เพราะเยอะเกินไป แต่จะล็อกเป้าเล็งบุคคลสำคัญไว้ราวๆ 10 คน

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนบอกว่าเตรียมขุนพลพรรค 20 กว่าคน ไว้สำหรับการซักฟอก โดยขุนพลเหล่านี้จะไม่อภิปรายซ้ำซ้อน แต่ละคนจะเตรียมเนื้อหาเพื่อลิขิตอนาคตของรัฐมนตรีเป้าหมายอย่างเข้มข้น

ส่วนนายกฯ อิ๊งค์ ตอบคำถามนักข่าวแบบผ่อนคลาย ระหว่างนำ ครม.ไปประชุมสัญจรที่ จ.สงขลาว่า ได้เก็งข้อสอบล่วงหน้าไว้อยู่บ้าง เพราะให้เข้าไปแบบตัวเปล่าคงไม่ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าเก็งเรื่องอะไรไว้

 

นี่จึงเป็นการปะทะกันครั้งแรกของ พรรคประชาชนภายใต้การนำของแม่ทัพคนใหม่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ และรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เกิดขึ้นในบริบทที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องทุนจีนสีเทา ปัญหาการทลายแก๊งสแกมเมอร์ เรื่องมลพิษทางอากาศ

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยต่ำรั้งท้ายอาเซียน สถานการณ์หุ้นดิ่งหนักเป็นประวัติการณ์ ปัญหาปากท้องชาวบ้านยังมีเสียงบ่นถ้วนหน้า การแจกเงินหมื่นสองเฟส ที่หวังจะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจ แต่ก็ดูจะไม่เห็นผลระดับมหภาคนัก

ปัญหาทางการเมืองยิ่งหนัก ที่พรรคเพื่อไทยเดินหน้าตามนโยบายที่หาเสียงไว้ไม่ค่อยคืบหน้า เช่น เรื่อง กฎหมายประชามติ การแก้รัฐธรรมนูญ ที่สุดท้ายถูกสกัดขัดขวาง ท้าทายโดยพรรคร่วมรัฐบาลเอง

แม้อาจจะหมดกำลังใจ ข่าวหมายเรียก ป.ป.ช.อาจทำบรรยากาศเตรียมพร้อมอภิปรายกร่อยลงไปบ้าง แต่ในอีกมุมก็น่าท้าทายว่า พรรคประชาชนที่นำโดย 20 กว่าขุนพลจะลิขิตทิศทางการเมืองและจะแก้เกมการเมืองขณะนี้อย่างไร

ในภาวะที่ 44 ส.ส.และอดีต ส.ส.ของพรรคประชาชนถูกต้อนในทางการเมืองให้ค่อยๆ ถอยจนมุม เดินหน้าสู่การกวาดล้างขุนพลคนสำคัญ

สนามซักฟอกครั้งนี้จึงสำคัญบีบให้ต้องสู้ แม้ยังไม่เห็นหนทางที่จะชนะ แม้ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าเป็นเช่นไร?

แต่ 20 ขุนพลต้องเดินหน้าลุยซักฟอกเต็มที่ ขณะที่ 44 ส.ส.ก็ต้องสู้เพื่อให้หลุดรอดโทษประหารทางการเมืองไปให้ได้