สันติภาพจำแลง แฝงผลประโยชน์ที่ยูเครน

บทความต่างประเทศ

 

สันติภาพจำแลง

แฝงผลประโยชน์ที่ยูเครน

 

ความเคลื่อนไหวสำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในระดับนานาชาติในยามนี้ ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงไปถึงฝ่ายบริหารชุดใหม่ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่งเข้ารับผิดชอบบริหารประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกามาหมาดๆ แทบทั้งสิ้น

กรณีตัวอย่างหลังสุดในเรื่องนี้ก็คือ ความเคลื่อนไหวของฝ่ายอเมริกันในอันที่จะยุติสงครามในยูเครนลง ซึ่งควรที่จะได้รับการสนับสนุนและแซ่ซ้องจากหลายๆ ฝ่าย

แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ท่าทีและแนวทางดำเนินการของสหรัฐอเมริกา กลับถูกไม่เห็นด้วย โจมตีและปฏิเสธ แม้แต่จากประเทศคู่สงครามอย่างยูเครนเอง

เพราะเงื่อนงำหลากหลายอย่างที่แฝงเร้นอยู่ในความเคลื่อนไหวครั้งนี้

 

ข้อคลางแคลงใหญ่โตที่สุดในกรณีนี้ก็คือ การเจรจาเพื่อยุติการสู้รบในยูเครนซึ่งกำหนดจะมีขึ้นที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ภายในไม่กี่วันนี้ ไม่เพียงไม่มีตัวแทนหรือผู้นำของยูเครนเข้าร่วมด้วยเท่านั้น

แม้แต่บรรดาผู้นำสำคัญๆ ในภาคพื้นยุโรป ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการสู้รบ กลับไม่ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจาแม้แต่รายเดียว

ดูเหมือนว่า การเจรจาดังกล่าวขึ้นอยู่กับตัวแทนของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเท่านั้นเอง

ผู้ที่ออกมายืนยันว่า จะมีการเจรจา “เพื่อยุติความขัดแย้ง” ระหว่างยูเครนและรัสเซียดังกล่าวนี้ก็คือ สตีฟ วิทคอฟฟ์ มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสหายสนิทของทรัมป์ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตพิเศษของสหรัฐอเมริกาประจำตะวันออกกลาง ที่เปิดเผยว่า ตนเองกำลังเตรียมเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบีย เพื่อ “เปิดการเจรจาต่อหน้า” กับฝ่ายรัสเซีย ว่าด้วยการยุติสงครามดังกล่าว

ก่อนหน้านั้นประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุเองว่า ได้ส่งวิทคอฟฟ์ไปยังมอสโก และได้พบปะกับ วลาดิมีร์ ปูติน “เป็นเวลานาน อาจถึงสามชั่วโมงด้วยซ้ำ” ทั้งที่เป้าหมายในการเดินทางของวิทคอฟฟ์เป็นเพียงแค่ไปเจรจาให้ปูตินปล่อยตัวครูอเมริกันรายหนึ่งที่ถูกจับขังอยู่ในรัสเซียฐานครอบครองกัญชาเท่านั้นเอง

ตามรายงานข่าวที่แพร่หลายออกมา ฝ่ายสหรัฐอเมริกา นอกจากวิทคอฟฟ์แล้ว ยังมี มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศ กับ ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ เดินทางไปร่วมอยู่ในการเจรจาด้วย

ขณะที่มีการระบุเช่นกันว่า ทางฝ่ายรัสเซียนำโดย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ มือเก๋าด้านการต่างประเทศที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคู่บุญของปูติน เป็นหัวหน้าคณะ

 

ที่น่าสนใจก็คือ ขณะที่ในทางหนึ่ง ทรัมป์ส่งวิทคอฟฟ์ไปมอสโก ในอีกทางหนึ่ง ก็ส่งตัวแทนอีกคณะหนึ่งเดินทางไปเจรจากับยูเครน ทั้งนี้ ตัวแทนระดับสูงของยูเครนในการเจรจาหารือดังกล่าวเปิดเผยกับนิตยสารโพลิติโค เผยแพร่ออกมาเมื่อ 15 กุมภาพันธ์นี้ว่า ทั้งสองฝ่ายเจรจากันว่าด้วย “เงื่อนไข” ของสหรัฐอเมริกาในการให้การสนับสนุนทางทหารต่อยูเครนต่อไป

โดยฝ่ายยูเครนต้องลงนามใน “ร่างความตกลง” ระหว่างสองฝ่ายว่า ยูเครนจะมอบครึ่งหนึ่งของสินแร่หายาก (rare earth minerals) ที่ผลิตได้ในแต่ละปีให้กับสหรัฐอเมริกา

ตามรายงานข่าว ร่างความตกลงดังกล่าวยังไม่มีการลงนาม เพราะ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ประธานาธิบดียูเครนปฏิเสธเสียงแข็ง ชี้ว่า กรณีนี้ไม่เพียงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติเท่านั้น แต่การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อกฎหมายของยูเครนอีกด้วย

ด้วยท่าทีของการอาศัยสถานการณ์ฉกฉวยประโยชน์แบบแอบแฝงดังกล่าว เมื่อประกอบกับการเจรจา “สันติภาพ” ที่เกี่ยวเนื่องกับอำนาจอธิปไตยของยูเครนที่ซาอุดีอาระเบีย มีขึ้นโดยที่ไม่มียูเครนมีส่วนร่วมอยู่ด้วย จึงไม่น่าแปลกที่เซเลนสกี้จะออกมาย้ำหลายครั้งว่า ไม่มีวันที่จะยอมรับความตกลงสันติภาพใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยที่ยูเครนไม่มีส่วนร่วม

รวมทั้งการให้สัมภาษณ์เครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซีของสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจนว่า “จะไม่มีวันยอมรับการชี้ขาดใดๆ ของสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย เกี่ยวกับยูเครน ไม่เด็ดขาด”

ในทางตรงกันข้าม เซเลนสกี้ออกมาเรียกร้องให้ชาติในยุโรปจัดตั้ง “กองทัพแห่งทวีปยุโรป” ขึ้นมา ด้วยเหตุที่ว่า ยุโรปไม่อาจพึ่งพาสหรัฐอเมริกาในด้านนี้ได้อีกต่อไปแล้ว

และแม้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวยังไม่มีการขานรับอย่างเป็นทางการ แต่บรรดาแกนนำคนสำคัญของยุโรป พากันตระหนักมากขึ้นทุกทีว่า โอกาสที่จะถูกปิดกั้นจากการทำความตกลงสันติภาพยูเครนนั้นมีความเป็นไปได้สูงยิ่ง ก็เตรียมการจัดการประชุมสุดยอดขึ้นที่กรุงปารีส เพื่อหารือเรื่องนี้โดยเฉพาะ

เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งประกาศจะเข้าร่วมหารือด้วย ให้สัมภาษณ์เอาไว้ก่อนหน้าว่า สหราชอาณาจักรพร้อมแล้วที่จะทำหน้าที่เป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับยูเครน รวมทั้งการส่งกำลังทหารเข้าไปในสมรภูมิหากจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

 

แม้ทุกอย่างที่รัฐบาลอเมริกันภายใต้การนำของทรัมป์ กำลังดำเนินการอยู่ยังคลุมเครืออยู่ในหลายเรื่อง หลายประเด็น ด้วยเหตุที่ว่า ขณะที่กำลังพยายามดำเนินการอยู่นั้นก็พกพาผลประโยชน์แฝงเร้นเข้าไปอยู่ด้วย

แต่รูปการณ์กำลังสะท้อนให้เห็นว่า กรณีนี้กำลังเป็นอีกครั้งหนึ่งแล้วที่ชาติยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งหลาย อาศัยอำนาจและอิทธิพลที่มีมาตัดสินชะตากรรม ขีดเส้นเขตแดนให้กับชาติอื่น โดยที่ผู้คนในประเทศเหล่านั้นไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วยเลยแม้แต่น้อย

นักประวัติศาสตร์ชี้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ชาติยักษ์ใหญ่ทั้งหลายกระทำการทำนองเดียวกันนี้มาแล้วมากมายหลายครั้ง ลงเอยด้วยผลลัพธ์น่าเศร้าชวนสลดใจทุกครั้งไป

ตัวอย่างเช่น กรณีของความตกลงระหว่างตัวแทนของอังกฤษและฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ความตกลงไซค์-พิโคต์ ที่เป็นการตกลงแบ่งเขตและแนวพรมแดนในตะวันออกกลางเสียใหม่ตามใจชอบ ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของสองชาติเป็นสำคัญ ที่ก่อความขัดแย้งและสงครามขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

หรือกรณีการประชุมในปี 1938 ที่รู้จักกันในชื่อ “เอเวียง คอนเฟอเรนซ์” ซึ่งตัวแทนของ 32 ชาติเข้าร่วมประชุมกันในฝรั่งเศสเพื่อหารือว่าจะทำอย่างไรกับผู้อพยพชาวยิวที่กำลังหาทางหลบหนีการกวาดล้างของนาซีเยอรมันออกมา ที่ประชุมซึ่งไม่มีตัวแทนยิวคนใดได้รับอนุญาตให้เข้าร่วม ตกลงกันไม่ได้

ผลลัพธ์ในที่สุดคือโศกนาฏกรรมของมวลมนุษยชาติที่รู้จักกันในชื่อ “โฮโลคอสต์” นั่นเอง