คัมแบ๊กยิ่งใหญ่ ‘บอลประเพณี’ ‘มธ.-จุฬาฯ’ ลุยขับเคลื่อนสังคม

กลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่หลังหายไปนานกว่า 5 ปี สำหรับการแข่งขัน ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ซึ่งระเบิดศึกฟาดแข้งกันที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้จัดอย่างสมศักดิ์ศรี ทั้งการดวลแข้งกันในสนามของเหล่านักฟุตบอล และยกทัพขบวนผู้นำเชียร์ คทากร ขบวนสะท้อนสังคม พร้อมด้วยการแปรอักษรที่มีการตอบโต้กันไปมาสุดเดือด

“ฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ” เป็นการแข่งขันที่มีประวัติมายาวนาน สุดยิ่งใหญ่แห่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี ระหว่าง 2 มหาวิทยาลัยเก่าแก่ ที่มีชื่อเสียงอยู่คู่ประเทศไทยมาหลายยุคสมัย

กลับมาจัดแข่งขันอีกครั้งในปี 2568 นี้ หลังว่างเว้นไปนานกว่า 5 ปี โดยปีนี้ทางสมาคมธรรมศาสตร์ฯ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ สลับกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นเจ้าภาพในครั้งที่ผ่านมา

ในปีนี้ฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Dawn of Memory ความทรงจำในวันใหม่” เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกคนก้าวต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็ง โดยยังคงความยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีของสถาบันการศึกษาอันเก่าแก่ของประเทศไทย และเป็นกระบอกเสียงสะท้อนสังคมตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต

ไฮไลต์ของงานอยู่ที่การแปรอักษรบนอัฒจันทร์ที่งดงามและพร้อมเพรียง ตื่นตาตื่นใจกับขบวนพาเหรดชุดต่างๆ ซึ่งสร้างสีสันความประทับใจให้กับงานครั้งนี้

ทั้งฝ่ายธรรมศาสตร์ และจุฬาฯ ต่างยกทัพขบวน ทั้งขบวนเฉลิมพระเกียรติ ขบวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ขบวนผู้อัญเชิญธรรมจักร รวมถึงผู้นำเชียร์ คทากร ขบวนสะท้อนสังคม

พร้อมด้วยการแปรอักษรที่มีการตอบโต้กันไปมา น้องๆ นิสิต นักศึกษา ใส่ความคิดสร้างสรรค์เต็มที่ โดยที่ขบวนล้อการเมืองไม่มีแผ่ว เสียดสีสะท้อนสังคมไทยอย่างมีนัยยะลึกล้ำ และโชว์เปิดตัวทีมผู้นำเชียร์จากฝั่งจุฬาฯ และเชียร์ลีดเดอร์จากฝั่งธรรมศาสตร์ เรียกเสียงเชียร์ลั่นสนาม

ขบวนพาเหรดปีนี้ ทางจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ร่วมมือกันพยายามสะท้อนสังคมเพื่อให้เห็นปัญหาสังคม พร้อมข้อเสนอแนะในความคิดของนิสิต

ทางธรรมศาสตร์ ล้อเลียนการเมือง ออกไปทางสร้างสรรค์

เปิดตัวนำขบวนโดยจุฬาฯ หยิบประเด็นสังคมไทยกับมิติชวนตั้งคำถาม

ส่วนฝั่งธรรมศาสตร์ ยังคงโดดเด่นเรื่องเสียดสีการเมืองไทย อาทิ หุ่นวิวาห์ล่ม หุ่นโกโกวาตุลาการ ตลอดจนบทประพันธ์ “คำแถลงต่อศาล” รวมทั้งการแสดงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย, คอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง, งานออกบูธจากผู้สนับสนุน, สนุกกับกิจกรรม-เกมสันทนาการกลุ่ม อัดแน่นตลอดการจัดงาน

ด้านเกมการแข่งขันฟุตบอลในสนามก็ดุเดือดไม่แพ้ขบวนพาเหรด และการแปรอักษร ทีมฟุตบอลธรรมศาสตร์ยังคงคุมทัพโดย “โค้ชวัง” ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล กุนซือสมองเพชรคนหนึ่งของวงการฟุตบอลไทย ขณะทีมฟุตบอลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กุมบังเหียนโดย “โค้ชแดง” ทรงยศ กลิ่นศรีสุข ยอดโค้ชระดับมันสมองของลูกหนังไทย

ในส่วนของนักฟุตบอลทีมธรรมศาสตร์ชุดนี้นำทัพโดย “เฟย” ศิวกรณ์ เตียตระกูล กัปตันทีมจอมทัพ และกานต์นรินทร์ ถาวรศักดิ์ ผสมผสานกับ อัษฎาวุธ ช้างทอง, ศาสตรา รัตน์ลงเมือง และชูคิด วรรณประเภา รวมทั้งแข้งตัวเก๋าอย่าง “บาส” อภิภู สุนทรพนาเวศ และ “เอฟ” วัชรพงษ์ คงช่วย 2 นักเตะลูกแม่โดมที่จะรับใช้ทีมเป็นปีสุดท้ายอีกด้วย

ขณะที่ทีมฟุตบอลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย “ลีซอ” ธีรเทพ วิโนทัย กองหน้ากัปตันทีมจอมเก๋า, “กลิ้ง” ศิวกร จักขุประสาท มิดฟิลด์ตัวเก่ง, ฤทธิพร หวานชื่น, ภานุพงศ์ รุ่งสุรีย์, อะหมัด หีมเบ็ญหมัด และสมปอง สอเหลบ อดีตนักเตะกองหน้าทีมชาติไทย ซึ่งการแข่งขันปีนี้เป็นการเล่นให้กับจุฬาฯ เป็นปีสุดท้ายของสมปองด้วยเช่นกัน

หลังจากฟาดแข้งกันอย่างสุดเดือด ผลการแข่งขันจบเกมเป็นทางธรรมศาสตร์ เฉือนชนะ จุฬาฯ 2-1 โดยธรรมศาสตร์ได้ประตูจากศิวกรณ์ เตียตระกูล กัปตันทีม นาทีที่ 22 และกานต์นรินทร์ ถาวรศักดิ์ นาทีที่ 30 จุฬาฯ ได้ประตูตีไข่แตก ในนาทีที่ 90+4 จากลูกโหม่งของ อาทิตย์ บุตรจินดา ส่งผลให้ธรรมศาสตร์คว้าแชมป์ฟุตบอลประเพณีในรอบ 9 ปี และเป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 25

เรียกได้ว่าหลังจากหายไป 5 ปี การกลับมาแข่งขันฟุตบอลประเพณีครั้งนี้ มีทั้งศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว และศิษย์ปัจจุบัน เข้าร่วมงานเยอะมาก ซึ่งแม้ว่าการเตรียมการจัดการแข่งขันจะมีเวลาน้อย แต่ภาพรวมทุกอย่างออกมาได้เป็นอย่างดี และยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 75

การแข่งขันฟุตบอลแม้ว่าจะฟาดแข้งกันดุเดือด แต่ยังคงเน้นความรักและความสามัคคีระหว่างสองสถาบันเอาไว้ รวมทั้งการแปรอักษร ขบวนพาเหรด ก็เป็นเสน่ห์ฟุตบอลประเพณี และยังคงเป็นกระจกสะท้อนสังคมเพื่อให้ประเทศไทยเกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น มีลูกเล่นหลากหลายครอบคลุมเพื่อสะท้อนปัญหาสังคม ผลักดันให้เกิดแก้ไข เพื่อการขับเคลื่อนในสังคม

ลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการดำเนินงานการแข่งขันฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬา ครั้งที่ 75 เปิดเผยว่า ปีนี้เราสามารถเริ่มต้นได้ดี หลังจากหายไป 5 ปี เรานำฟุตบอลประเพณีกลับมาจัดการแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่ในปีที่ 75 สำหรับปีหน้า จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 76 ส่วนปีนี้ธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ 75 สลับกัน การที่จุฬาฯ จะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า เราพร้อมจะจัดการแข่งขันให้ประสบความสำเร็จแน่นอน

“การแข่งขันฟุตบอลประเพณจึงเป็นการแข่งขันแบบพี่น้อง แบบฉันมิตร และได้เห็นความร่วมมือร่วมใจพี่ๆ น้องๆ ทุกๆ คน เราเชื่อว่าครั้งนี้ ครั้งที่ 75 การจัดการแข่งขันว่ายากแล้ว แต่ครั้งต่อไป ครั้งที่ 76 ไม่ยาก เราพร้อมจะจัดการแข่งขันให้ออกมาอย่างยิ่งใหญ่ ไม่แพ้ปีก่อนๆ แน่นอน” ลวรณกล่าว

ถือเป็นการคัมแบ๊กกลับมาได้อย่างสมศักดิ์ศรีในรอบ 5 ปีของฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ซึ่งยังคงเสน่ห์ของการแข่งขันฟุตบอลที่ไม่ได้มีเพียงการแข่งขันในสนามเท่านั้น แต่ยังมีทั้งขบวนพาเหรด การแปรอักษร และกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยสะท้อนสังคมในปัจจุบัน ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นปัญหา และนำไปปรับแก้ไขต่อไป

เชื่อว่าการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ จะยังคงอยู่คู่กับสังคมไทยไปอีกอย่างยาว

และจะเป็นส่วนเล็กๆ ที่มีพลังช่วยช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ประเทศไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต… •

 

เขย่าสนาม | เมอร์คิวรี่

[email protected]