ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
เอสซีจี ในสภาวะความสมดุลค่อนข้างยาวนาน กำลังเผชิญความท้าทายมากขึ้นๆ เป็นลำดับ
“กระแสเงินสดแข็งแกร่ง เงินปันผลประจำปี 2567 อยู่ที่ 5.0 บาทต่อหุ้น” สาระสำคัญบนปก เอกสารสำคัญ (29 มกราคม 2568) ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (ชื่อย่อในตลาดหุ้น-SCC) หรือที่ทราบกันคือ เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีซี ในหัวข้อ “คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการไตรมาสที่ 4/2567 (ก่อนตรวจสอบ)”
ผู้ติดตามความเป็นไปมองว่า ไฮไลต์ซึ่งตั้งใจไม่กล่าวตัวเลขสำคัญๆ โดยตรงนั้น สะท้อนผลประกอบการในปีที่เพิ่งผ่านพ้น (โปรดพิจารณา “ข้อมูลจำเพาะ”) มีความแตกต่างจากที่ผ่านๆ มาพอสมควร
ทั้งนี้ ขอยกถ้อยแถลง (เอกสารที่อ้างถึงข้างต้น) ประกอบโดยแทบไม่ตัดทอน เพื่อให้เข้าใจเหตุและปัจจัยบางระดับ
“…กำไรธุรกิจปิโตรเคมีที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนพลังงานที่ยังมีความผันผวนและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมาก จากอัตรากำไรที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการปิโตรเคมีหลายรายต้องหยุดดำเนินการ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ นอกจากนี้ เอสซีจีเคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) ได้มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการลองเซินปิโตรเคมิคอลส์คอมเพล็กซ์ที่ประเทศเวียดนาม (LSP) ส่งผลทำให้ในปี 2567 มีค่าใช้จ่าย (จากค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ย) ประมาณ 6,000 ล้านบาท…”
ข้อความข้างต้น นำเสนอปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรง
หนึ่งปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านผู้นำผู้บริหาร จากยุค CEO คนก่อน (2559-2566)
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส มาสู่คนใหม่ – ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม (2567-ปัจจุบัน) และถือว่าภาระอันหนักหน่วงนั้น อยู่ในบ่าของคนคนหนึ่งที่ควร เกี่ยวกับธุรกิจเคมีภัณฑ์ค่อนข้างมาก ด้วยความเป็นไปเอสซีจีเคมิคอลส์ หรือ SCGC ทั้งนี้ CEO คนใหม่มีประสบการณ์เชี่ยวกรำในธุรกิจนั้นมากว่า 20 ปี โดยเฉพาะกับโครงการใหญ่มากๆ ในประเทศเวียดนาม-Long Son Petrochemical Complex (LSP) เขาเองเคยมาดูแลในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ (2555-2561) มาด้วย
หากพิจารณาเฉพาะกำไรในปีที่ผ่านมา อาจเทียบเคียงย้อนไปถึงช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เมื่อเอสซีจีเผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วงอย่างไม่เคยประสบมาก่อน ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้นมา ด้วยประสบการขาดทุนและกำไรค่อนข้างต่ำในช่วงต่อเนื่อง (2539-2544) ที่สำคัญไม่สามารถจ่ายเงินปันผลติดต่อกันถึง 3 ปี (2541-2543) ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์กว่าศตวรรษ
ปรากฏการณ์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นในยุคใหม่ จึงกลายเป็นหมุดหมายที่น่าสังเกตพอประมาณ
ว่าด้วยธุรกิจเคมีภัณฑ์ ควรย้อนไปถึงยุค ชุมพล ณ ลำเลียง (2536-2548) ได้วางรากฐานมั่นคงให้กับกลุ่มธุรกิจที่มิใช่ปูนซีเมนต์ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเคมีภัณฑ์ ถือเป็นธุรกิจใหม่ล่าสุดของเอสซีจีในเวลานั้น
“เมื่อชุมพล ณ ลำเลียง ก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะการร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลกมากรายขึ้น การเข้าซื้อกิจการอื่นๆ ข้างเคียงหลายราย สร้างเป็นกลุ่มธุรกิจกลุ่มสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของเอสซีจี นอกจาก ซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง และกระดาษ ในเวลาเดียวกันโอกาสได้เปิดขึ้นด้วยการเปิดเสรีโครงการปิโตรเคมีในระยะที่สอง (2536-2544) เอสซีจีได้ลงทุนอย่างขนานใหญ่ในช่วงก่อนวิกฤตการณ์ เข้าสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ สร้างเป็นอุตสาหกรรมครบวงจรขึ้น” ผมเคยกล่าวทำนองนี้ไว้
โดยเฉพาะโครงการใหญ่ในภูมิภาคแห่งหนึ่งที่มาก่อน LSP – ธุรกิจเคมีภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเชีย เพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น ต้องชะงักลงทันที เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งมีผลกระทบทั่วภูมิภาคเอเชีย
ในยุค กานต์ ตระกูลฮุน (2549-2558) มองว่าธุรกิจเคมีภัณฑ์เป็นธุรกิจระดับภูมิภาคที่สำคัญมากๆ และเขาเองเติบโตในตำแหน่งบริหารอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์การบริหารโครงการเคมีภัณฑ์ขนาดใหญ่ในอินโดนีเชีย เขาจึงเดินหน้าซึ่งค้างไว้อย่างเต็มที่ในปี 2554 ตามแผนการธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรแห่งเดียวของอินโดนีเซีย
เป็นแผนการบุกเบิก นำร่องให้ธุรกิจอื่นๆ มีความมั่นใจมากขึ้น จนถึงขั้นนำพาธุรกิจดั้งเดิม-ปูนซีเมนต์ ออกสู่โลกภายนอกครั้งแรก
ธุรกิจเคมีภัณฑ์ กลายเป็นธงนำ (Flagship) ของเอสซีจีอย่างแท้จริง ในฐานะสร้างรายได้ สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจได้มากที่สุด ตั้งแต่นั้น
จะว่าไปเกี่ยวข้องกับรายได้เอสซีจีโดยรวม ได้ปรับสูงขึ้นจากระดับ 2-3 แสนล้านบาท (2548-2554) ขึ้นสู่ระดับ 4 แสนล้านบาท (2555-2563) และสามารถทำกำไรได้สูงสุดระดับ 50,000 ล้านบาทติดต่อกัน 2 ปี (2559-2560) เท่าที่มีการบันทึกไว้
ส่วนเงินปันผลนั้น เอสซีจีให้ความสำคัญแต่ไหนแต่ไรมา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีระดับลดลงพอสมควร สะท้อนผลกำไรที่ลดลงอย่างไม่ต้องสงสัยด้วย เมื่อเทียบเคียงกับช่วงทศวรรษก่อนหน้า อาจมีความสัมพันธ์กับดัชนีราคาหุ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วยก็ได้
ในช่วงระยะใกล้ๆ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีความผันผวน เอสซีจีได้มีการปรับตัวทางธุรกิจอื่นๆ อย่างตื่นเต้นอยู่บ้าง ขณะเดียวกันธุรกิจอื่นๆ ในภูมิภาค เติบโตขึ้น ฐานรายได้รวมเอสซีจึงสามารถขยับขึ้นสู่ระดับ 5 แสนล้านบาท (ตั้งแต่ปี 2564) แม้เป็นทิศทางควรเป็นไป แต่ไม่อาจเทียบเคียงกับธุรกิจอิทธิพลใหม่ๆ ในสังคมไทย
หลายๆ คนเชื่อว่า ด้วยมีผู้บริหารมืออาชีพที่มีความสามารถ คงสร้างโอกาสให้มีผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ในไม่ช้า บวกกับวงจรอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่วนความสามารถพลิกโฉมสู่ธุรกิจที่เป็นอนาคต และเติบโตขึ้นอีกระดับ เฉกเช่นการเข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์เมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว
ดูแล้ว เป็นไปไม่ง่ายนัก •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022