ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ศิลปินผู้สำรวจความซับซ้อน
ของสังคมและจิตใจมนุษย์
ผ่านงานศิลปะ
ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินระดับโลกอีกคนที่เดินทางมาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า อเดล อับเดสเซเหม็ด (Adel Abdessemed) ศิลปินร่วมสมัยชาวแอลจีเรีย-ฝรั่งเศส ผู้ทำงานในหลากสื่ออย่าง ประติมากรรม, ศิลปะจัดวาง, ภาพวาดลายเส้น, วิดีโอ และแอนิเมชั่น ผลงานของเขามักสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความรุนแรง ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ประสบการณ์ของมนุษย์ และมักจะท้าทายให้ผู้ชมเผชิญหน้ากับความจริงอันไม่น่าอภิรมย์ในโลกใบนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความงดงามละเอียดอ่อนราวกับบทกวี
ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผลงานของอับเดสเซเหม็ดผลักดันขอบเขตทางการรับรู้ และกระตุ้นให้เกิดการสนทนา ถกเถียง จนทำให้เขาได้รับการยอมรับอย่างมากในโลกศิลปะร่วมสมัย
ผลงานของเขา ไม่ว่าจะในขนาดมหึมาหรือเล็กจิ๋ว มักมีคุณสมบัติอันรุนแรงในการกระตุกความรู้สึกผู้ชม และสำรวจความซับซ้อนของสังคมและจิตใจมนุษย์อย่างถึงแก่น อีกทั้งยังเชื้อเชิญให้ผู้ชมตั้งคำถามที่สะท้อนถึงมุมมองและการรับรู้ของตัวเอง
ด้วยผลงานอันห้าวหาญที่ผลักดันขอบเขตทางศิลปะอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นทั้งอารมณ์และความคิดของผู้ชมไปพร้อมๆ กัน




อับเดสเซเหม็ดเกิดในปี 1971 ที่ประเทศแอลจีเรีย จนกระทั่งสงครามกลางเมืองปะทุขึ้นในปี 1992 ทำให้เขาลี้ภัยจากแอลจีเรียไปยังประเทศฝรั่งเศส และเข้าศึกษาทางด้านศิลปะในสถาบันวิจิตรศิลป์ École nationale supérieure des Beaux-Arts de Lyon ในเมืองลียง หลังจากนั้นเขาย้ายไปยังนิวยอร์ก, เบอร์ลิน และลอนดอน ปัจจุบันเขาอาศัยและทํางานอยู่ในปารีส
ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักของเขาก็มีอย่าง Cri (2012) ประติมากรรมขนาดเท่าจริงที่ดัดแปลงมาจากภาพถ่ายของเด็กหญิงวัย 9 ขวบ พัน ทิ คิม ปุก (Phan Thị Kim Phúc) หรือ เด็กหญิงนาปาล์ม (Napalm Girl) ผู้วิ่งหนีจากการโจมตีด้วยระเบิดนาปาล์มในช่วงสงครามเวียดนามในปี 1972 ภาพถ่ายที่ว่า แสดงภาพของเธอกำลังวิ่งหนีจากการทิ้งระเบิดและเปลวเพลิงจากระเบิดนาปาล์มของอเมริกา ด้วยอากัปกิริยากางแขนกรีดร้องด้วยความทรมาน เสื้อผ้าของเธอถูกเผามอดไหม้จนเหลือแต่ร่างเปลือยเปล่า
ภาพนี้ถูกถ่ายโดย นิก อึ๊ต (Nick Ut) ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ความโหดร้ายและสยองขวัญของสงครามที่สุดในศตวรรษที่ 20



ผลงานประติมากรรม Cri (ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ร้องไห้”) ชิ้นนี้ของอับเดสเซเหม็ด จำลองภาพถ่ายอันน่าสยดสยองภาพนี้ขึ้นมาใหม่ในลักษณะสามมิติจนดูคล้ายกับรูปสลักของพระเยซูคริสต์ที่กำลังถูกทรมานโดยไม่มีไม้กางเขน
ตัวประติมากรรมทำจากงาช้างทั้งหมด แต่ด้วยความที่งาช้างเป็นวัสดุที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย และเป็นการสนับสนุนการลักลอบล่าสัตว์ป่า อับเดสเซเหม็ดจึงเลือกทำประติมากรรมแกะสลักชิ้นนี้ด้วยการใช้วัสดุจากงาช้างแมมมอธ ที่เขาซื้อและสะสมเอาไว้ ซึ่งไม่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายและศีลธรรม เพราะแมมมอธเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เคียงข้างกับประติมากรรมยังมีภาพวาดลายเส้นของทหารในชุดเต็มยศอาวุธครบมือจัดแสดงอยู่ด้วย
ผลงานชิ้นนี้ของอับเดสเซเหม็ดเป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์แทนเสียงร่ำไห้ด้วยความทุกข์ทรมานของเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามและความรุนแรง ไม่เพียงแค่สงครามเวียดนาม หากแต่เป็นทุกสงครามที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้



หรือผลงาน Headbutt (2012) ที่จำลองเหตุการณ์ที่นักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศส ซีเนดีน ซีดาน (Zinedine Zidane) ใช้ศีรษะกระแทกนักฟุตบอลทีมชาติอิตาลี มาร์โก มาแตรัซซี่ (Marco Materazzi) ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 2006 จนทำให้ซีดานได้รับใบแดง ถูกไล่ออกจากสนาม และทีมชาติฝรั่งเศสแพ้การแข่งขันในที่สุด ที่น่าเศร้าก็คือ การแข่งขันครั้งนั้นเป็นการแข่งขันครั้งสุดท้ายในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพของซีดานด้วย
ผลงานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างของการหยิบฉวยเอาเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปรากฏในวัฒนธรรมร่วมสมัย สื่อกระแสหลัก หรือแม้แต่มหกรรมกีฬาระดับโลก มาแช่แข็งให้หยุดนิ่งเอาไว้อย่างยืนยงคงกระพันราวกับเป็นอนุสาวรีย์แห่งความอัปยศก็ไม่ปาน
Headbutt ถูกนิยามว่าเป็นผลงานที่อยู่ตรงข้ามกับประเพณีในการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะ เพราะมันคือบทกวีสรรเสริญความพ่ายแพ้เสียมากกว่า
ผลงานชิ้นนี้ของอับเดสเซเหม็ด ได้แรงบันดาลใจมาจากประติมากรรมแกะสลักหินอ่อนของ อันโตนิโอ คาโนวา (antonio canova) ประติมากรผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคนีโอคลาสสิค (Neo-Classic) ผลงานของเขามักจะเป็นการแสดงอากัปกิริยาระหว่างคนสองคน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ พลอดรัก เคล้าเคลีย หรือประคับประคองกัน
อับเดสเซเหม็ดเป็นศิลปินที่ขึ้นชื่อในเรื่องของอารมณ์ขันอันเจ็บแสบและความตลกร้ายเสียดสีในผลงานของเขา ถึงขนาดที่ว่า ในขณะที่กำลังเรียนศิลปะอยู่ในแอลจีเรีย อาจารย์คนหนึ่งของเขาถึงกับออกปากว่า อารมณ์ขันในงานของอับเดสเซเหม็ดเป็นเหมือน “เสียงหัวเราะของปีศาจ” เลยทีเดียว
ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ อเดล อับเดสเซเหม็ด นำเสนอผลงานสองชิ้น ในสองสถานที่แสดงงาน เริ่มจากผลงาน Politics of the Studio, Nelson (2020) ที่จัดแสดงในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) วิดีโอจัดวางที่นำเสนอภาพเคลื่อนไหวของวัวขาวขนาดใหญ่เบ้อเร่อเท่อ กำลังเดินดุ่มๆ ในสตูดิโอของศิลปิน ดวงตาของมันดูสับสน งุนงง ตื่นตัว ขณะกำลังพยายามเดินมองหาตำแหน่งปลอดภัยในพื้นที่ที่มันไม่คุ้นเคย
ผลงานอันแปลกพิลึกพิลั่นปนอุตริชิ้นนี้ของอับเดสเซเหม็ด ทำให้เรานึกไปถึงผลงานของศิลปินในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ อาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera) อย่าง ยานนิส คูเนลลิส (Jannis Kounellis) เจ้าของผลงาน Untitled (12 Horses) (1969) ที่เปลี่ยนพื้นที่แสดงงานศิลปะให้กลายเป็นคอกปศุสัตว์ ด้วยการผูกม้าจำนวน 12 ตัวไว้กับผนังหอศิลป์
ผลงานชิ้นนี้เป็นที่กล่าวขานและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างอื้อฉาว และกลายเป็นตำนานในโลกศิลปะ ด้วยแนวคิดที่ว่า งานศิลปะอาจจะเป็นอะไรก็ได้ และไม่จำเป็นต้องมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์เลยด้วยซ้ำ
ผลงานนี้ของเขาถูกยกให้เป็นจุดกำเนิดของศิลปะ อาร์เต้ โพเวร่า เลยก็ว่าได้ ที่น่าสนใจก็คือ แม้แต่ตัวคูเนลลิสเอง ก็กล่าวถึงอับเดสเซเหม็ดในบทความประกอบเทศกาลศิลปะ Biennial of Young Artists from Europe and the Mediterranean ในกรุงโรม ที่อับเดสเซเหม็ดเข้าร่วมแสดงว่า
“อเดล อับเดสเซเหม็ด บอกเล่าให้เรารับรู้ด้วยตาอย่างตรงไปตรงมาและไม่หวั่นเกรง ถึงความรุนแรงอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่ปรากฏในแนวโน้มของการกำหนดมาตรฐานของยุคปัจจุบัน”

และผลงานที่เป็นไฮไลต์ของอับเดสเซเหม็ดคือ Telle mère telfils (2008) (Like mother like son) ที่จัดแสดงในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ประติมากรรมขนาดมหึมาที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหัวและหางของเครื่องบินจริงๆ สามลำ หัวและหางเครื่องบินแต่ละลำถูกเชื่อมต่อกันด้วยผ้าขนสัตว์ที่ถูกเย็บเป็นทรงกระบอกยาวเหยียด จนเหมือนลำตัวงูยักษ์กำลังเลื้อยพันกันไปมา ราวกับจะเปลี่ยนให้เครื่องจักรกลจากน้ำมือมนุษย์หวนกลับไปสู่ธรรมชาติอันเป็นต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง
การม้วนผืนผ้าเป็นทรงกระบอกในงานชิ้นนี้ อับเดสเซเหม็ดได้แรงบันดาลใจมาจากเทคนิคการทำแผ่นแป้งห่อขนมอบของแม่ของเขา การเชื่อมร้อยการทำอาหารของแม่ของอับเดสเซเหม็ดในผลงานชิ้นนี้ (หรือแม้แต่ผลงาน Bourek (2005) ประติมากรรมจากซากหัวเครื่องบินที่ถูกบีบอัดให้แบนแต๊ดแต๋จนดูคล้ายกับ โบ-เรค ขนมพายของตรุกีเหมือนชื่องาน) ดึงให้เราสัมผัสถึงความอบอุ่นและสายใยระหว่างลูกชายกับแม่
ซึ่งย้อนแย้งกับรูปลักษณ์ของหัวเครื่องบินที่ดูคล้ายกับลึงค์ สัญลักษณ์ของความเป็นพ่อและเพศชายอยู่ไม่หยอก


และด้วยการเปลี่ยนสำนวนที่ใช้กันทั่วไปอย่าง “Like father like son” (ลูกชายหล่นไม่ไกลพ่อ) ให้กลายเป็น “Like mother like son” (ลูกชายหล่นใกล้ๆ แม่) อับเดสเซเหม็ดแปรเปลี่ยนเศษโลหะจักรกลที่เคยเป็นสัญลักษณ์แห่งระบบชายเป็นใหญ่ หรือ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของแม่ หรือเพศหญิง ซึ่งบังเอิญพ้องกับสัญลักษณ์ที่ปรากฏภายใต้แนวคิดหลักของงานเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในปีนี้อย่างเรื่องราวของพระแม่แห่งธรณี (Gaia) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ธีมงานนี้อย่าง Nurture Gaia นั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยผลงานชิ้นนี้ อับเดสเซเหม็ดยังสร้างความหมายในเชิงกามารมณ์อย่างกำกวม ระหว่างเครื่องบินที่รูปทรงยาวเหยียดเหมือนงู อันเป็นตัวแทนขององคชาต เข้ากับความเป็นแม่ ที่ล้อไปกับปมลูกชายติดแม่ หรือ ปมอีดิปุส (Oedipus complex) ในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บิดาแห่งจิตวิเคราะห์


ในทางกลับกัน แนวคิดนี้ก็บังเอิญล้อไปกับบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่เป็นการสืบทอดอำนาจในตระกูลแบบ “Like father like daughter” (ลูกสาวหล่นไม่ไกลพ่อ) ได้อย่างเปี่ยมอารมณ์ขันแสบสันเช่นเดียวกัน
ผลงานของ อเดล อับเดสเซเหม็ด จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567-25 กุมภาพันธ์ 2568 ผลงาน Politics of the Studio, Nelson (2020) จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ 10:00-20:00 น, ผลงาน Telle mère telfils (2008) จัดแสดงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น B2 เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11:00-19:00 น ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก BAB2024, BACC •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022