อนุสรณ์ ติปยานนท์ : My Chefs (เขมราฐ)

My Chefs (21)

…โอ้ฝั่งลำน้ำโขง

ยามเมื่อแลงค่ำลง

สาวเจ้าคงลงเล่นตามท่า

สาวเจ้าคงสิเพลินหนักหนา

ข้อยหรือมาคอยท่า

สาวเจ้าอย่ามัวหลงลอย

ขึ้นจากโขงเถิดหนา

มาเฝ้าคอยขวัญตา

น้องอย่าช้า

เพราะเฮาเฝ้าคอย

โขงพาใจข้อยนี้เลื่อนลอย

เกรงฮักเฮาจะปล่อย

ไหลล่องลอยบ่กลับคืนมา…

ลมหนาวพัดมาจากอีกฝั่งฟากของแม่น้ำ

การใช้คำว่าลมหนาวกับช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นั้นไม่ถึงกับว่าเกินเลย เพราะเราทุกคนที่มาพำนักในกระท่อมน้อยริมแม่น้ำโขงที่บ้านนาสนาม เขมราฐ ในเช้าวันนั้นล้วนห่อหุ้มตนเองด้วยเสื้อผ้ามากกว่าหนึ่งชิ้น

บางคนใส่เสื้อหนาวพร้อมผ้าพันคอ

บางคนถึงกับพกผ้าผวยคลุมกาย

ดวงอาทิตย์นั้นโผล่พ้นขึ้นท้องฟ้านานแล้ว แต่ความหนาวเย็นดูจะยังไม่จางหาย

ใครสักคนที่ตื่นก่อนเปิดเพลงสาวฝั่งโขง ของ ปอง ปรีดา จากมือถือของเขา

และเสียงของปอง ปรีดา นั้นเองที่ปลุกพวกเราทุกคนที่เหลืออยู่ให้ตื่นจากการหลับใหล

ไม่น่าเชื่อว่าเวิ้งน้ำโขงอันเงียบสงบเบื้องหน้านี้เมื่อหลายสิบปีก่อนจะเป็นแดนสงคราม

คืนก่อนหน้าผมนั่งสนทนากับผู้อาวุโสในหมู่บ้านถึงเรื่องราวของแม่น้ำในช่วงลาวแตกหรือช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองของลาวในปี 1975 หรือ 2518 เรารับรู้ว่าวันเปลี่ยนแปลงการปกครองของลาวนั้นคือวันที่ 23 สิงหาคม

แต่สำหรับชาวเขมราฐแล้ว เหตุการณ์ของความขัดแย้งดำรงตนอย่างคุกรุ่นและเร่าร้อนมาก่อนหน้านั้นนานนัก

“รบกันมานานก่อนที่ลาวจะแตก สมัยก่อนก็นอนฟังเสียงปืนยิงกันไปมาในฝากขะโน้น” ผู้เฒ่าไทบ้านเริ่มต้นเรื่อง

ฝั่งขะโน้นคือบ้านสองคอนในแขวงสะหวันนะเขตของลาวอันเป็นแขวงใหญ่ที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมและเป็นแขวงที่ครอบครองเส้นทางสายหลักที่เชื่อมต่อไปยังเวียดนามอันได้แก่ทางหลวงหมายเลข 9 ดังนั้น จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญจุดหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ครั้งนั้น การรบรากันในแขวงสะหวันนะเขตนั้นจึงเป็นการรบราที่ดุเดือดมากที่สุดพื้นที่หนึ่งดัง

“ช่วงแรก เขายังรบกันอยู่ในพื้นที่ ต่อไปต่อมา พวกลาวฝ่ายขวา ฝ่ายรัฐบาลนั้นดูจะย่ำแย่ รับมือไม่ไหว ถึงกับต้องล่องเรือหนีมาพักที่ฝั่งนี้ ตามท่าน้ำนี่แหละ ว่างตรงไหนก็หาที่นอน หาที่หุงหาอาหารไป ตอนค่ำตามหาดริมแม่น้ำนี่มีแต่พวกทหารลาวแทบทั้งนั้น พักผ่อนเต็มที่ เช้าก็ล่องเรือข้ามแม่น้ำโขงไปรบใหม่ เป็นอย่างนี้อีกหลายเดือน”

“เขาข้ามไปมาได้สะดวกเลยหรือครับ?” ผมอดมีคำถามไม่ได้

“สะดวกสิ” ผู้เฒ่าตอบ สมัยก่อนยังไม่มี นปข. ยังไม่มีเรือตรวจลำน้ำของทางเรา นั่นน่าจะมีทีหลังกระมังหลังลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แม่น้ำโขงนี่อิสระเลย ใครใคร่ค้า ใครใคร่ขาย ข้ามไปข้ามมานั่นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือสองฟาก สองฝั่งนี้ว่าไปแล้วก็ญาติๆ กันทั้งนั้น เป็นเขยฝั่งโน้น เป็นสะใภ้ฝั่งนี้ กินดอง แต่งงาน ข้ามไปข้ามมาแบบนี้มานานแล้ว”

“แล้วพอลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว การข้ามไปข้ามมานี่เปลี่ยนไปไหมครับ?”

“เปลี่ยนสิ เปลี่ยนมากเลย แต่เดี๋ยวก่อนยังไม่ไปถึงตอนนั้น มันมีช่วงรบหนักๆ ด้วย ตรงนี้ไม่เท่าไหร่ แต่เหนือขึ้นไปแถวมุกดาหาร แถวนั้นสิ หนักเลย เรารู้ได้เพราะมีศพลอยน้ำมาแทบทุกวันจนถึงช่วงที่ลาวแตก ตอนนั้นแหละวุ่นวายมาก ทั้งศพลอยน้ำมา ต้องคอยเอาไม้เอาเรือไปดันออกไป เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ถามคนแถวนี้ถ้าไม่รู้จักก็ดันศพออกไป ให้ไหลไปตามน้ำ นั่นคนตายนะก็วุ่นพอแล้ว แต่คนเป็นสิ วุ่นกว่า”

ผู้เฒ่าหยิบยาเส้นจากซองพลาสติกมามวนเป็นยาสูบ จุดไฟแล้วสูบ หนึ่งฟอดใหญ่ก่อนเล่าต่อ

“พอลาวแตก คนอพยพสิ มาเป็นลำๆ เลย กลางวันกลางคืน วุ่นวายมาก ทั้งฝ่ายที่มารับ ทั้งญาติ ตั้งศูนย์รับผู้อพยพชั่วคราวน่าจะตรงอำเภอ ก่อนเข้าไปในเมือง คนเป็นร้อยเป็นพันมาขึ้นฝั่งแถบนี้ เมื่อหลายสิบปีก่อนนะ”

ผมมองไปที่หาดทรายริมน้ำ แม่น้ำโขงช่วงนี้เงียบสงบ ไร้วี่แววของความวุ่นวาย

ไม่น่าเชื่อว่าในอดีตแม่น้ำสายนี้ได้เป็นประจักษ์พยานแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งนั้น

บทสนทนาในเย็นวันนั้นจบลงที่การสำรวจปลาที่ชาวบ้านได้จากลำน้ำโขง

นอกจากปลาหว้า ปลาเพี้ย แล้วเรายังพบกับปลาขบที่มีซี่ฟันอันน่าสะพรึงกลัวด้วย

เป็นครั้งแรกที่ผมได้พบกับปลาขบหรือมีอีกชื่อหนึ่งว่าปลาหวิด และมีอีกชื่อหนึ่งว่าปลาคางเบือนที่ปรากฏในกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์หรือเจ้าฟ้ากุ้ง

ในกาพย์เห่เรือท่อนนั้นชวนให้นึกถึงความอ่อนหวานของหญิงสาว แต่ปลาขบที่ผมได้พบนั้นหากเผลอ ซี่ฟันของมันน่าจะเล่นงานเราได้ไม่ยากเลย

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์

มัศยายังรู้ชม สาสมใจไม่พามา

นวลจันทร์เป็นนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา

คางเบือนเบือนหน้ามา ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย

เช้าวันถัดมา หลังจากการกินลาบปลาแค้ที่หลงเหลือ เราพร้อมแล้วที่จะออกสำรวจตลาดเช้าในเขมราฐ

น่าสนใจว่านอกจากตลาดเช้าที่เต็มไปด้วยอาหารท้องถิ่นแล้ว

เขมราฐยังมีตลาดบ่ายที่ท่าเรือไม่ไกลจากตัวอำเภอนัก

ความแตกต่างระหว่างตลาดเช้าและตลาดบ่ายคือที่ตลาดบ่ายนั้น ผู้ค้าจำนวนมากเป็นแม่ค้าจากฝั่งลาวที่นั่งเรือข้ามมาขายของในยามเช้าและกลับบ้านในยามเย็น

สิ่งของที่ขายเป็นของพื้นบ้านจากฝั่งลาว อาทิ ไข่มดแดงขนาดใหญ่ กระบองหรือขี้ไต้เป็นมัด กะปอมหรือกิ้งก่า เขียดขาคำ (อันปรากฏในเรื่องสั้นอันลือชื่อของ ลาว คำหอม ชุดฟ้าบ่กั้น) หอยโข่ง รวมถึงปูนาดองใส่ขวดที่เมื่อจี่ไฟแล้วใช้จิ้มกับข้าวเหนียวให้รสชาติที่หวานมันเหลือเกิน

การเดินตลาดของเราไม่จบลงตรงเท่านี้แม้จะเป็นเวลาบ่ายแล้ว ฟาง สาวน้อยเจ้าของพื้นที่เอ่ยขึ้นว่าไปตลาดนัดงานบุญกันต่อไหมพี่

“ช่วงนี้มีงานนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ที่วัดพระโต ปากแซง ในอำเภอนี่เอง แม่ค้าทั้งหมดน่าจะไปรวมตัวที่นั่น”

ไม่เกินเลยจากคำกล่าวของฟาง ในตอนแรกผมคิดว่าตลาดนัดงานวัดที่วัดพระโตน่าจะไม่ต่างจากงานวัดทั่วไปที่ผมเคยเจอ งานภูเขาทอง งานพระปฐมเจดีย์ งานพระเจดีย์กลางน้ำ

แน่นอนสิ่งที่เหมือนกับงานวัดเหล่านั้นยังคงมี ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือของเล่นเด็ก

แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคืออาหารสด ในตลาดนัดงานวัดที่วัดพระโต ส่วนหนึ่งของบริเวณถูกกันเป็นส่วนที่ขายอาหารสด

เราพบกบตัวโต ร้านลาบสารพัดแบบ

ร้านขายปลาสดอย่างปลาตอง ปลาหว้า

ร้านขายสินค้าหัตถกรรมพื้นถิ่น กระจาดหรือเขิง ตะกร้าหรือกะต้า ยาเส้น พริก หอม กระเทียม

ฟางเล่าว่าผู้คนจากสองฟากฝั่งทั้งไทยและลาวถือว่างานวัดนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อเป็นงานสำคัญ

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยขอมและได้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่องตลอดมา

งานประเพณีนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อจะจัดขึ้นระหว่างวันขึ้นเก้าค่ำถึงวันขึ้นสิบห้าค่ำของเดือนสามในทุกปี

ช่วงเวลานี้ ท่าเรือหน้าวัดปากแซงอันเป็นด่านสากลระหว่างประเทศไทยและลาวจะคึกคักและคับคั่งไปด้วยผู้ที่มาร่วมงาน

ตลอดทางเดินในวัดไม่มีพื้นที่ใดที่ไม่มีผู้คน ตลาดนัดแห่งนี้จะทำการตั้งแต่เช้าจนถึงดึก มีทั้งงานมหรสพ

ที่นี่เป็นตลาดนัดจริงๆ ที่ทุกคนนัดกันมาเพื่อค้าขายและอวดสิ่งของที่ตนเองคิดว่าน่าสนใจ ไม่ใช่ตลาดนัดเพื่อการค้าอย่างเดียว

“อะไรคือของกินที่ขึ้นชื่อในเขมราฐนอกจากปลา” ผมถาม

“ตำกล้วยตานี” ฟางตอบก่อนจะนำพวกเราทั้งหมดที่เดินตามมาไปยังหน้าร้านส้มตำแห่งหนึ่งภายในวัดและสั่งตำกล้วยมาหนึ่งจาน

แม่ค้าสาวคนหนึ่งหยิบกล้วยตานีขึ้นมาฝานทั้งเปลือกใส่ลงไปในครกไม้และออกแรงตำอย่างตั้งใจ ตามด้วยการใส่น้ำตาลปึก น้ำมะขามเปียก มะเขือขื่น น้ำมะนาว และน้ำปลาร้า

ใครชอบปู ชอบพริกก็สั่งให้ใส่ลงไปตำได้

รสชาติของตำกล้วยตานีที่ได้คือมีความฝาด เปรี้ยว หวาน ครบในหนึ่งจาน

เราปิดท้ายการเดินตลาดงานวัดด้วยการซื้อปลาตองหรือปลากรายตัวใหญ่เพื่อไปทำลาบในเย็นวันนี้

“สรุปว่าอะไรคือวิถีของการหาเช้ากินค่ำในแถบนี้?” ผมหันไปถามศักดินันท์ เพื่อนร่วมการเดินทางอีกคนหนึ่ง

“น่าจะมีความหมายถึงการที่เราทำงานทั้งวันเพื่อจะได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาแบบเต็มวงข้าวในตอนเย็นหรือตอนค่ำนะครับ ยามเช้าทุกคนต้องออกไปทำงานในไร่ ในนา หรือไปรับจ้างตามที่ต่างๆ ทุกคนต้องห่อข้าวปลาอาหารไปกิน ได้ปลามาต้มปลา หรือกินส้มตำอะไรง่ายๆ แบบนั้น แต่ยามค่ำเป็นช่วงที่ทุกคนกลับมาพบหน้ากันจึงเป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุด คำว่าหาเช้ากินค่ำไม่ได้หมายถึงการทำอะไรแบบขอไปที เช่น การตำข้าวสารกรอกหม้อ แต่หมายถึงทำทุกอย่างในวันนั้นให้เต็มที่เพื่อกลับมากินข้าวยามค่ำอันเป็นมื้อที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด”

ผมพยักหน้าเห็นด้วยกับคำอธิบายนี้ แทบทุกชุมชนมีตลาดเช้า แต่การจับจ่ายนั้นเป็นไปเพื่อการทำอาหารค่ำ

มื้อค่ำเป็นมื้อสำคัญของคนที่ใช้ชีวิตตื่นยามเช้า เข้านอนยามดึก ไม่นับหน้าหนาวที่การนั่งผิงไฟรวมกันในยามค่ำคือการรวมตัวกันพูดคุยในทุกเรื่องที่อัดอั้นมาตลอดวัน พวกเราออกเดินสวนทางกับผู้คนที่พากันมาตลาดนัดในยามเย็น

อีกไม่นานเราจะเริ่มอาหารมื้อค่ำของเราด้วยเช่นกันจากสิ่งที่เราหาได้ตลอดวัน ปลาตอง ไข่มดแดง และผักหวานป่า

ผมมองไปที่แม่น้ำโขงหน้าวัดปากแซงอีกครั้ง เรือที่นำพาผู้คนล่องข้ามไปมาอย่างสุขสงบ

ไม่มีสงคราม ไม่มีการสู้รบ ไม่มีเสียงปืนเหมือนดังหลายสิบปีก่อน

ยามนี้ บริเวณนี้ มีแต่เพียงเสียงสวดมนต์จากในวิหารดังก้องออกมาเท่านั้นเอง