ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
กลอนบทหนึ่งที่ชอบมากมาจาก “รำพันพิลาป” สุนทรภู่เปรียบเปรยเป็นเชิงน้อยใจชะตาชีวิต ตัวท่านเป็นทั้ง ‘ใบศรี’ และ ‘ใบตอง’ ยามมีประโยชน์ต่อผู้อื่นก็ได้รับการยกย่องเชิดชูประดุจ ‘ใบศรี’ หรือ ‘บายศรี’ ที่ใช้ในพิธีกรรม ยามหมดประโยชน์ก็ไร้ค่าไม่ผิดอะไรกับใบตองที่เป็นแค่วัสดุทำ ‘ใบศรี’ หรือ ‘บายศรี’ เท่านั้น
“เหมือนใบศรีมีงานท่านสนอม เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง”
ระหว่าง ‘ใบศรี’ และ ‘บายศรี’ คำที่ถูกต้องคือ ‘บายศรี’ หมายถึง เครื่องเชิญขวัญ หรือรับขวัญ ทำด้วยใบตอง รูปคล้ายกระทงเป็นชั้นๆ เรียงจากใหญ่ขึ้นไปหาเล็กตามลำดับ ทำเป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น มีเสาปักตรงกลางเป็นแกน มีเครื่องสังเวยวางอยู่ในบายศรี และมีไข่ขวัญเสียบอยู่บนยอดบายศรี มีหลายแบบ เช่น บายศรีตอง บายศรีปากชาม บายศรีใหญ่
ในที่นี้สุนทรภู่ใช้คำว่า ‘ใบศรี’ แทน ‘บายศรี’ คงเพื่อเล่นคำให้เข้าคู่กับคำว่า ‘ใบตอง’ เคยจำได้เลาๆ ว่าภาคเหนือเขาเรียกว่า ‘ใบศรี’ หรือ ‘ขันศรี’ อะไรนี่แหละ ลองถามแม่บ้านซึ่งเป็นคนเชียงราย ได้คำตอบว่าเดี๋ยวนี้แถวบ้านเขาเรียกทั้ง 3 ชื่อ คือ ‘ขันศรี’ ‘บายศรี’ และ ‘ใบศรี’
ตัวอย่างข้างต้นผู้เขียนติดใจตรงคำว่า ‘สนอม’ ออกเสียงว่า (สะหฺนอม) เป็นคำเดียวกับ ‘ถนอม’ (ถะหฺนอม) หมายถึง คอยระวังประคับประคองไว้ให้ดี หรือเก็บรักษาไว้อย่างดี สุนทรภู่สมัยหนุ่มๆ ผลงานชิ้นแรกๆ นิทานคำกลอนเรื่อง “โคบุตร” แทนที่จะใช้คำว่า ‘สนอม’ อย่างใน “รำพันพิลาป” ก็เลือกใช้คำว่า ‘ถนอม’ แสดงว่า 2 คำนี้ใช้แทนกันได้
“นางมณีพี่ถนอมให้เป็นใหญ่ ไม่รู้ไว้ตัวเลยทำหยาบหยาม
วันหนึ่งพี่มาหาพงางาม มาติดตามหวงหึงให้อึงอาย”
นอกจากคำว่า ‘สนอม – ถนอม’ ยังมีคำว่า ‘สนิม – ถนิม’ และ ‘สนัด – ถนัด’ เพราะพยัญชนะ ส แผลงเป็น ถ ได้เช่นเดียวกับ ถ แผลงเป็น ส ได้ มีหลายคำที่ถือว่าเป็นคำเดียวกัน มีความหมายเดียวกัน
อย่างคำว่า ‘สนิม’ (สะหฺนิม) มีหลายความหมาย ความหมายหนึ่งหมายถึง เครื่องประดับ เป็นคำเดียวกับ ‘ถนิม’ (ถะหฺนิม) เช่น สนิมพิมพาภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์
“ไตรภูมิพระร่วง” วรรณคดีสมัยสุโขทัย ใช้ทั้งคำว่า ‘สนิม’ และ ‘ถนิม’ เช่น ตอนกล่าวถึง อัศวรัตนะ หรือม้าแก้ว
“ธ จิงสั่งให้ประดับประดาม้าแก้วตัวประเสริฐนั้น ด้วยเครื่องประดับทั้งหลายมีอาทิคือใส่กะดิงแลพรวนทองเครื่องสนิมอาภรณ์” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
ส่วนตอนกล่าวถึง พระอินทร์ ใช้คำว่า ‘ถนิมอาภรณ์’ ความหมายเดียวกัน
“องค์พระอินทร์นั้นสูงได้ ๖๐๐๐ วา แลประดับนิ์ด้วยแก้วถนิมอาภรณ์ทั้งหลายแล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
วรรณคดีเรื่องนี้ยังใช้คำว่า ‘สนิมพิมพาภรณ์’ ตอนกล่าวถึง ต้นไม้สารพัดนึก หรือต้นกัลปพฤกษ์ในแผ่นดินอุดรกุรุทวีป หรืออุตตรกุรุทวีป ว่า
“ถ้าแลคนผู้ใดปราถนาจะใคร่ได้เงือนแลทองของแก้ว แลเครื่องประดับนิทั้งหลายเป็นต้นว่า เสื้อส้อยสนิมพิมพาภรณ์ก็ดี แลผ้าผ่อนท่อนแพรพรรณสิ่งใดๆ ก็ดี แลเข้าน้ำโภชน อาหารของกินสิ่งใดก็ดี ก็ย่อมบังเกิดปรากฏขึ้นแต่ค่าคบต้นกัลปพฤกษ์นั้นก็ให้สำเรทธิความปราถนาแก่ชนทั้งหลายนั้นแล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)
อีกความหมายของคำว่า ‘สนิม’ หมายถึง ส่วนของผิวโลหะที่แปรสภาพไปจากเดิมเนื่องด้วยปฏิกิริยาเคมีเป็นสาเหตุให้เกิดการผุกร่อน เช่น มีดขึ้นสนิม
โดยเฉพาะคำนี้น่าสังเกตว่าตัวอย่างมาจากกลอนบทเดียวกันตอนเดียวกัน จากวรรณคดีเรื่องเดียวกัน คือ บทละครนอกเรื่อง “คาวี” ต่างกันตรงปีที่พิมพ์ ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2508 ใช้คำว่า ‘ถนิม’ ตอนที่พระคาวีจะชำระกายพร้อมพระขรรค์คู่ใจในแม่น้ำ ยายเฒ่าทัดประสาทก็ทักท้วงว่า
“ไฉนเหน็บพระขรรค์ไว้มั่นคง ลงสรงถูกน้ำจะเป็นถนิม
เสียดายพลอยประดับล้วนทับทิม จะช่วยเชิญไว้ริมชลธาร”
ส่วนฉบับพิมพ์ พ.ศ.2558 ใช้คำว่า ‘สนิม’
“ไฉนเหน็บพระขรรค์ไว้มั่นคง ลงสรงถูกน้ำจะเป็นสนิม
เสียดายพลอยประดับล้วนทับทิม จะช่วยเชิญไว้ริมชลธาร”
จากฉบับพิมพ์ พ.ศ.2508 ถึงฉบับพิมพ์ พ.ศ.2558 เวลาห่างกัน 50 ปี คำว่า ‘ถนิม’ น่าจะไม่คุ้นหน้าคุ้นตาอีกแล้ว น้อยคนที่รู้ว่าเป็นคำเดียวกับ ‘สนิม’ ถ้ายังพิมพ์ตามฉบับ พ.ศ.2508 ดีไม่ดีอาจคิดว่าพิมพ์ผิด เป็นไปได้ที่การพิมพ์ครั้งหลังปรับอักขรวิธีให้ตรงตามความนิยมและการใช้ของผู้คนสมัยนั้น
อย่างไรก็ดี พอมาถึงคำว่า ‘สนัดสนี่’ (สะหฺนัด สะหฺนี่) หรือ ‘ถนัดถนี่’ (ถะหฺนัด ถะหฺนี่) (คำหลังใช้พูดกัน มีความหมายว่า ถนัดชัดเจน เช่น เห็นถนัดถนี่ หรือหมายถึง เต็มที่ เช่น โดนหมัดเข้าถนัดถนี่ คือโดนชกเข้าจังๆ เต็มแรง) ปรากฏว่าทั้งบทละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” ฉบับ พ.ศ.2508 และ พ.ศ.2558 ต่างพร้อมใจกันใช้คำว่า ‘สนัดสนี่’ ดังตอนที่นางแมวพานางสุวิญชาไปดูหลุมที่นางสนมทั้งเจ็ดฝังพระโอรสไว้ที่โคนต้นไทร
“ข้าไปดูที่ฝังสังเกตไว้ จำได้สันทัดสนัดสนี่
ทูลพลางทางรีบจรลี นำนางเทวีไปทันใด”
สําหรับคำว่า ‘สนัด’ (สะหฺนัด) และ ‘ถนัด’ (ถะหฺนัด) “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” อธิบายว่า ถ้าทำหน้าที่เป็นคำกริยา หมายถึง ถนัดชัดเจน สันทัด ชำนาญ ถ้าเป็นวิเศษณ์หรือคำขยาย หมายถึง สะดวก ชัด แม่นยำ บางสมัยกวีใช้คำว่า ‘ถนัด’ บางสมัยใช้คำว่า ‘สนัด’ ดังจะเห็นได้จาก “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” วรรณคดีสมัยอยุธยา ใช้คำว่า ‘ถนัด’ ที่มีความหมายว่า ทำได้คล่อง ทำได้สะดวก
“๏ ฝูงนาคมากหมู่มา ดำน้ำท่าหาอาหาร
ฝูงปลามาพะพาน ขบได้ถนัดกัดกินเนือง”
บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ใช้คำว่า ‘สนัด’ ทันทีที่พระฤๅษีรู้ข่าวนางสีดาตายจากพระลบ
“๏ เมื่อนั้น พระดาบสตกใจไม่มีขวัญ
ฉวยไม้เท้าก้าวผิดอัฒจันทร์ เหยียบยันไม่สนัดพลัดตกตึง”
ไม่ต่างจาก “ประชุมบทสักรวาเล่นถวายในรัชกาลที่ ๕”
“ทำหน้าโง่ไม่สนัดที่จัดจ้าน ได้พยานไหนเอออวยไม่ขวยเขิน
นอกละเมิดน่าเบื่อทำเหลือเกิน หม่อมฉันเชิญทูลกระหม่อมชำระเอย”
ผู้เขียนลองค้นคำว่า ‘สนัด’. ใน “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์สมัยรัชกาลที่ 5 เทียบกับ “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ก็เห็นความนิยมที่ต่างกัน “อักขราภิธานศรับท์” เก็บคำว่า ‘สนัด’ จำนวนมาก เช่น สนัด สนัดขวา สนัดครบ สนัดเจน สนัดตีน สนัดทร้าย (สนัดซ้าย) สนัดนัก สนัดมือ และสนัดสนี่ และเก็บคำจำนวนน้อย เช่น ถนัด ถนอม ส่วนคำจำนวนมากที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเก็บไว้คือ ถนัด ถนัดขวา ถนัดใจ ถนัดซ้าย ถนัดถนี่ ถนัดปาก ถนัดมือ คำจำนวนน้อย คือ สนอม สนัด สนิม เป็นการเก็บคำที่มิได้มีใช้แค่ในวรรณคดีเท่านั้น แต่ใช้ในชีวิตประจำวันด้วย รูปคำและจำนวนคำของแต่ละฉบับน่าจะบ่งบอกถึงความนิยมของสมัยนั้นๆ ได้อีกทางหนึ่ง อาจจะพอกล่าวได้ว่าพยัญชนะต้นสมัยรัชกาลที่ 5 นิยมใช้ ส ส่วนสมัยหลังจากนั้นนิยมใช้ ถ
นอกจากนี้ คำที่ใช้ในวรรณคดียังบอกให้รู้ถึงความนิยมของยุคสมัยอีกด้วย คำว่า ‘สนัดมือ’ ก็คือ ‘ถนัดมือ’ หมายถึง พอเหมาะมือ แม้จะใช้แทนกันได้ แต่น่าสังเกตว่าวรรณคดีสมัยอยุธยาใช้คำว่า ‘ถนัดมือ’ ไม่ว่าจะเป็น “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก”
“๏ วันเสาร์เดือนคุมรอด เจ้างามสอดกอดถนัดมือ
เสาร์พักตรรักนางฤๅ เสาร์ซ่อนไว้ในเรือนเสาร์ ฯ”
หรือบทละครนอกครั้งกรุงเก่า เรื่อง “สังข์ทอง” ตอนนางจันทาต่อว่าท้าวยศวิมล
“๏ พระจะพาลพาโลตีรัน ขอรับโทษทัณฑ์ไม่ลงไป
จะอยู่จนให้รับกลับมา จะขอดูน้ำหน้ามันให้ได้
ถึงจะห้ำหั่นให้บรรลัย ตามเถิดทำให้ถนัดมือ”
ยิ่งไปกว่านั้นคำว่า ‘สนัดใจ’ น่าจะนิยมใช้ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้จาก บทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ตอนที่นางจระเข้วิมาลาตอบโต้ไกรทอง ผัวใหม่ที่เป็นมนุษย์
“๏ เจ็บเอยเจ็บใจ ช่างพิไรเสกสรรรำพันว่า
สารพัดจัดให้วิมาลา สมน้ำหน้าแล้วสิสนัดใจ”
รวมทั้งบทสักรวาที่เล่นถวายรัชกาลที่ 3 เรื่อง “อิเหนา” ใช้คำนี้เช่นกัน
“๏ สักรวาเจ้าช่างชักยักเยื้อง เมื่ออิเหนาเผาเมืองดาหา
น้อยฤๅไม่เสียทีมีปัญญา เลือกว่าตามสันทัดสนัดใจ”
ทั้งยังพบคำว่า ‘สนัดใจ’ ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์นอกเหนือจากนี้อีกเป็นจำนวนมาก บอกให้รู้ว่าคำนี้เป็นที่นิยม
คำที่มีความหมายเดียวกัน เช่น ‘สนอม – ถนอม’ ‘ถนิม – สนิม’ ‘ถนัด – สนัด’ แม้หน้าตาจะต่างกันอยู่บ้าง ถือได้ว่าเป็นคำเดียวกัน จะใช้คำไหน ความนิยมขึ้นอยู่กับยุคสมัย นิยมใช้ก็ใช้กันไป เลิกนิยมก็เลิกใช้ ไม่มีอะไรซับซ้อน •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022