การต่อต้านการจารกรรม : เคมเปไทปะทะสายลับก๊กมินตั๋ง (6) พยายามจับกุมบุตรชายเซียวฮุดเสง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

การต่อต้านการจารกรรม

: เคมเปไทปะทะสายลับก๊กมินตั๋ง (6)

พยายามจับกุมบุตรชายเซียวฮุดเสง

 

การต่อสู้ของจีนกับกองทัพญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับความเคลื่อนไหวในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในไทยมานับแต่ต้นสงคราม

กิจกรรมต่อต้านญี่ปุ่นของคนจีนกลุ่มก๊กมินตั๋งในไทยมี 5 ลักษณะ เช่น การเรี่ยไรซื้อพันธบัตรของรัฐบาลจุงกิงของเจียงไคเช็ก การสนับสนุนปัจจัยด้านต่างๆ ส่งไปยังชาวจีนที่บ้านเกิด การกลับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อเข้าร่วมการต่อสู้กับญี่ปุ่น การลงทุนในจีน และคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่น (มูราซิมา, 2539, 47)

นอกจากกิจกรรมต่อต้านญี่ปุ่นข้างต้นแล้ว จีนยังมีสายลับจีนปฏิบัติงานจารกรรมในไทยซึ่งสังกัดหน่วยงานสายลับของนายพลไต้ลี่ที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลจุงกิงของเจียงไคเช็ก โดยกลุ่มปฏิบัติการจารกรรมของจีนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเซียวซงขิม (萧松琴) บุตรชายของเซียวฮุดเสง-ผู้นำก๊กมินตั๋ง

ซงขิมจบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และบิดาส่งไปเรียนต่อที่จีน ในช่วงนั้น เขามีตำแหน่งหน้าที่การงานสำคัญในรัฐบาลเจียงไคเช็ก เรื่องราวของเขาปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ในจีนอย่างต่อเนื่อง โดยซงขิมร่วมมือกับนายพลไต้ลี่ในปฏิบัติการของสายลับจีนในไทยด้วย

นอกจากซงขิมเป็นหัวหน้าแล้ว ยังมีนางจิวสิ่วลั้ง ภรรยาของเซียวซงขิมและหลานตงไห่ (สมุทร เลิศบูรพา) เป็นรองหัวหน้าด้วย

ในช่วงเวลานั้น ซงขิมได้เดินทางออกจากไทยไปจุงกิงในวันที่ 10 ตุลาคม 2484 ส่วนหลานตงไห่กลับเข้าในไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพาระเบิดขึ้นไม่นาน ต่อมาเมื่อสงครามระเบิดขึ้นแล้ว มีการติดต่อทางวิทยุระหว่างไทยกับจุงกิงจนทำให้เคมเปไทจับคลื่นวิทยุแปลกปลอมได้ในราวเดือนกันยายนปีเดียวกัน (มูราซิมา, 2541, 134)

เมื่อเคมเปไทสืบทราบการจารกรรม จึงพยายามจับกุมเซียวซงเขียนแต่คลาดกันไป ต่อมาจึงไปจับกุมคนในครอบครัวที่บ้านถนนสี่พระยาของนายเซียวซงขิมแทนจนปรากฏอยู่ในเอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

นายพลไต้ลี่ หัวหน้าหน่วยสายลับจีน และจอมพลเจียงไคเช็ก

ในเอกสารฝ่ายไทยบันทึกไว้ว่า ในช่วงต้นสงคราม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2485 ครอบครัวของเซียวซงขิมมาร้องเรียนกับสารวัตรทหารไทยว่า ถูกเคมเปไทนอกเครื่องแบบ 12 คนบุกเข้าค้นบ้านด้วยอ้างว่าต้องการจับเซียวซงขิมฐานเป็นสายลับให้รัฐบาลจุงกิง แต่ไม่พบตัวจึงจับนายสันติ สีบุญเรือง ผู้หลานไปสอบสวนเพื่อเค้นที่หลบซ่อนของนายเซียวซงขิมให้จงได้

ในวันรุ่งขึ้น นางโสฬส สีบุญเรือง มาร้องเรียนอีกว่า เคมเปไทจับนายโก ซึ่งเป็นคนในบ้านไป และในวันถัดมา เคมเปไทจับนางโสฬสไปสอบสวนอีก จากนั้น เคมเปไทก็จับ น.ส.สุดใจ ชลังสุด น.ส.ชื่น โพธิ์สวัสดิ์ นางวงเดือน แจ่มพงศ์ คนในบ้านไปเค้นที่หลบซ่อนของเซียวซงขิมไปโดยพลการ ดังเอกสารสารฝ่ายไทยบันทึกว่า การกระทำของเคมเปไทที่ผ่านมามีพฤติกรรมจับกุมคนไทยไปโดยพลการหลายๆ ครั้ง และในครั้งนี้เคมเปไทก็จับกุมคนในบ้านเซียวซงขิมไปอย่างโดยพลการติดๆ กันหลายครั้ง (หจช.บก.สูงสุด 1.12.1/10 กล่อง 4)

อย่างไรก็ตาม คุณหญิงอมร สีบุญเรือง น้องสาวของเซียวซงขิมเล่าไว้ว่า ด้วยเหตุที่ครอบครัวสีบุญเรืองมีความใกล้ชิดกับการเมืองจีนมาแต่การปฏิวัติจีนตั้งแต่ครั้งบิดา (เซียวฮุดเสง) ดังนั้น พี่ชายทั้ง 2 คน คือ เซียวซงเขียนและเซียวซงขิม จึงทำงานให้กับกับเจียงไคเช็ก

เมื่อเกิดสงคราม พี่ชายทั้ง 2 คนมีบทบาทในการต่อต้านญี่ปุ่นทำให้พี่ต้องหลบหนีการจับกุมและเคมเปไทไม่สามารถจับเซียวซงขิมได้ ด้วยเขาสามารถหลบไปทางพม่ากลับไปยังจีนได้ในช่วงต้นสงคราม (อมร สีบุญเรือง, 2540, 9)

พันธมิตรไทย-ญี่ปุ่น

การแทรกซึมของสายลับสัมพันธมิตร

ต่อมา ในช่วงปลายสงคราม เมื่อฝ่ายญี่ปุ่นเริ่มปราชัยในหลายสมรภูมิทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรต่างส่งสายลับเข้าปฏิบัติการในไทยจำนวนมากเพื่อจารกรรมข้อมูลทางการทหาร การติดต่อกับเสรีไทย การฝึกและเตรียมการต่อสู้แบบกองโจรในแดนไทย ด้วยเหตุนี้ การต่อต้านการจารกรรมโดยกองทัพญี่ปุ่นในไทยจึงดุเดือดมากยิ่งขึ้น

ดังที่ในช่วงปลายสงคราม นายพลนากามูระบันทึกว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2487 นั้น สายลับสัมพันธมิตรแทรกซึมเข้ามาในไทยจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ฝ่ายญี่ปุ่นเสียเปรียบในการรบ ทำให้สัมพันธมิตรเร่งส่งสายลับจากหลายประเทศเข้ามาในไทยเพื่อจารกรรมและเตรียมทำสงครามกองโจรกับกองทัพญี่ปุ่น ทำให้การต่อต้านการจารกรรมในไทยเป็นไปอย่างรุนแรง (นากามูระ, 2546, 155)

เซียวฮุดเสง บิดาของเซียวซงขิมและทหารก๊กมินตั๋ง

เคมเปไทจับสายลับจีน

ด้วยเหตุนี้ การต่อต้านการจารกรรมจากสัมพันธมิตรโดยกองทัพญี่ปุ่นในช่วงปลายสงครามดำเนินไปอย่างเข้มข้น ดังปรากฏในรายงานสารวัตรทหารฝ่ายไทยที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ดังนี้

เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2488 สารวัตรทหารผสมได้ร่วมจับกุมนายหลีเอง และนายเฮง สรีวงศ์ไทย ช่างเครื่องเรือด้วยข้อหาเป็นสายลับที่บริษัท กสิกรรมอุตสาหกรรม จำกัด สามเสน (หจช.(3) กต 1.5/27 กล่อง 1)

ในขณะนั้นเลื่องลือกันว่า การสอบสวนผู้ต่อต้านญี่ปุ่นของเคมเปไทนั้นเหี้ยมโหดและมีการทรมานอย่างพิสดารน่าสยดสยอง ดังมีผู้บันทึกว่า ระหว่างสงคราม กรรมกรชาวจีนหยุดงานประท้วงในโรงงานที่ผลิตสินค้าและชิ้นส่วนยุทโธปกรณ์ทางทหาร เคมเปไทจับกุมกรรมกรมัดมือมัดเท้าและมัดห้อยหัวลงพื้นแล้วทำการเฆี่ยนตี บ้างก็จับมัดแล้วกรอกด้วยน้ำผสมพริกตำหรือกรอกด้วยซีเมนต์เปียก ใช้สุนัขมากัดฉีกทึ้งเนื้อ กรอกน้ำสบู่ ตีด้วยไม้กระบอง หรือชอร์ตด้วยไฟฟ้าเพื่อให้สารภาพข้อมูลตามที่เคมเปไทต้องการ (เชาว์ พงษ์พิชิต, 2553, 242-243)

รวมทั้งมีคำเล่าลือในหมู่คนไทยในสมัยนั้นว่า ทหารญี่ปุ่นมีวิธีสอบสวนการพิสดาร เช่น การสูบน้ำสบู่เข้าช่องท้องทางทวารหนักจนท้องแตกตาย บ้างจับมัดที่ต้นไม้แล้วเฆี่ยนอย่างโหดเหี้ยม ตอกเล็บ วิธีการทรมานเหล่านี้สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนมาก (ฤดี ภูมิภูถาวร, 2562, 110)

ครูฝึกของสหรัฐที่ส่งมาช่วยฝึกงานจารกรรมให้แก่กองทัพจีน

ในช่วงปลายสงคราม หน่วยจารกรรมของก๊กมินตั๋งของนายพลไต้ลี่ได้ส่งหลานตงไห่แทรกซึมเข้ามาในไทย เมื่อ 26 สิงหาคม 2487 สารวัตรทหารญี่ปุ่นจับคลื่นวิทยุได้จึงประสานงานสารวัตรทหารไทยระดมทหารถึง 104 คน ไปจับกุมศูนย์วิทยุของก็กมินตั๋งของหลานตงไห่ที่ตั้งที่เขตธนบุรีจับกุมสายลับคนหนึ่งได้และจากคำสารภาพของสายลับคนนี้ทำให้สารวัตรทหารญี่ปุ่นจับกุมชาวจีนได้อีก 45 คน (มูราซิมา, 2541, 179)

ทั้งนี้ หลวงสังวรยุทธกิจ สารวัตรใหญ่กรมสารวัตรทหาร เล่าว่า ช่วงสิงหาคม 2487 เคมเปไทสามารถจับกุมชาวจีนต่อต้านญี่ปุ่นกว่า 60 คนไว้ แต่ทางการไทยไม่ติดใจในการจับชาวจีนเหล่านี้ (อนุสรณ์หลวงสังวรฯ, 2516, 131)

ต่อมา เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2488 นางชั้น แซ่พัว มาร้องเรียนว่า นายตุ้น แซ่พัว คนงานของบริษัททำรองเท้าที่ถนนเดโช ถูกเคมเปไทจับกุมไปด้วยต้องสงสัยเป็นสายลับจากการลักลอบเข้าไปในเขตหวงห้ามของทหารญี่ปุ่น (หจช.(3) กต 1.5/27 กล่อง 1)

ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยเล่าถึงเคมเปไทว่า เมื่อ “กองกำลังทหารญี่ปุ่นที่รุกรานเข้ามาในประเทศไทยนั้น มิได้มีแต่ทหารหน่วยรบและหน่วยพลาธิการของญี่ปุ่นเท่านั้น หากญี่ปุ่นได้มีหน่วยสารวัตรทหารพิเศษ ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า เคมเปไต อันมีลักษณะเช่นเดียวกับสารวัตรทหารพิเศษของฮิตเลอร์ เยอรมัน ที่เรียกว่า เกสตาโป

สารวัตรทหารพิเศษนี้มีอำนาจจับคนที่ต้องสงสัยไปกักขัง ทรมานและเข่นฆ่าได้ ดังที่ญี่ปุ่นเคยทำมาแล้วในดินแดนจีนที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น” (ปรีดี พนมยงค์, 2525, 49)

เคมเปไท และ ร.ต.เสถียร ตามรภาค นายทหารสารวัตร ผู้บันทึกเรื่องเคมเปไท
เคมเปไท