สงครามยูเครน : เดินหน้าสู่ปีที่ 4 (EP.01) ความเป็นไปไม่ได้ของสงครามยุโรป

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

เดินหน้าสู่ปีที่ 4 (1)

ความเป็นไปไม่ได้ของสงครามยุโรป

 

“สงครามเป็นวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงที่สุด”

Owen Matthews

Overreach (2022)

 

ไม่น่าเชื่อเลยว่าสงครามยูเครนกำลังย่างก้าวสู่ปีที่ 4… ใครเลยจะคาดว่าเมื่อผู้นำรัสเซียตัดสินใจเปิดสงครามกับยูเครนที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 นั้น กองทัพและประชาชนชาวยูเครนจะสามารถยันการบุกของกองทัพรัสเซียได้ และยันได้อย่างยาวนานจนล่วงเข้าปีที่ 4 อย่างนึกไม่ถึง อีกทั้งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียประสบปัญหาอย่างหนักในสมรภูมิยูเครน พร้อมกับการสูญเสียกำลังพล และยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมากอย่างที่คาดไม่ถึง

หากย้อนเวลากลับไปสู่วันเริ่มต้นของสงครามแล้ว นักวิเคราะห์หลายฝ่ายดูจะมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า กองทัพรัสเซียคงใช้เวลาไม่นานนักในการส่งกำลังเข้ายึดคีฟที่เป็นตัวเมืองหลวงของประเทศ และหลังจากนั้นก็เป็นสูตรสำเร็จทางการเมืองที่จะตามมาด้วยการตั้ง “รัฐบาลหุ่น” ที่นิยมรัสเซียขึ้น แล้วถ้ารัสเซียชนะสงคราม ยูเครนแม้จะไม่ถูกผนวกกลับคืนสู่ “จักรวรรดิรัสเซีย” ก็อาจกลายเป็น “รัฐบริวาร” ที่ถูกควบคุมโดยศูนย์กลางอำนาจที่มอสโค

ดังเช่นในแบบของเบลารุส ซึ่งแทบไม่มีความเป็นรัฐเอกราชเหลือแต่อย่างใด นอกจากมีสถานะเป็นรัฐบริวารของผู้นำรัสเซีย

 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว รัสเซียคือหนึ่งในประเทศที่ค้ำประกันสถานะความเป็น “รัฐเอกราช” ของยูเครนหลังการได้รับเอกราชในปี 1991 ด้วยการจัดทำ “บันทึกช่วยจำบูดาเปสต์เรื่องหลักประกันความมั่นคง” (The Budapest Memorandum on Security Assurances, 1994) การค้ำประกันดังกล่าวแลกกับการส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียตที่ติดตั้งในยูเครน คืนให้แก่รัสเซีย (บางทีอดคิดไม่ได้ว่า ถ้ายูเครนยังมีอาวุธนิวเคลียร์ประจำการอยู่เป็นปกติเช่นก่อนปี 1994 แล้ว การบุกยูเครนของกองทัพรัสเซียจะเกิดขึ้นหรือไม่ และถ้าประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจบุกจริงแล้ว รูปลักษณ์ของสงครามจะเป็นไปในแบบใด)

หลังจากการค้ำประกันความเป็นเอกราชของยูเครนเป็นเวลา 28 ปีแล้ว กองทัพรัสเซียก็ตัดสินใจฉีกเอกสารการค้ำประกันทิ้ง พร้อมกับยกกำลังข้ามเส้นพรมแดนเปิดสงครามกับยูเครน จนสงครามยูเครนกลายเป็นสงครามใหญ่ของโลกในยุคปัจจุบัน และเป็นสงครามใหญ่ที่สุดของรัฐยุโรปหลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2

 

การเปลี่ยนผ่านของสงคราม

หากย้อนอดีตกลับสู่ยุคสงครามเย็นแล้ว ยุทธบริเวณของยุโรปเป็นความน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะในมุมมองทางทหารนั้น หากเกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่ในความหมายของการเป็นการรบระหว่างกำลังตามแบบของกองทัพนาโตและกองทัพแดงภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียต ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าการรบดังกล่าวอาจขยายตัวกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้ไม่ยาก (สภาวะเช่นนี้ทำให้นักเรียนในสาขาความมั่นคงระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น จำเป็นต้องเรียนของการแข่งขันสะสมอาวุธ และอาวุธนิวเคลียร์ในเวทียุโรปไปด้วย)

ปัจจัยการแข่งขันของรัฐมหาอำนาจในเวทีการเมืองยุโรป ทำให้ความเป็นสนามรบของพื้นที่ของยุโรปอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว ปัญหาดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายต้องกังวลอย่างมากในยุคสงครามเย็น เพราะโอกาสที่ยุโรปจะถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นสนามรบในสงครามนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และอาจนำสภาวะเช่นนี้ให้กลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ได้ไม่ยาก

แต่ก็โชคดีที่สงครามเย็นยุติลงโดยไม่ต้องผ่านเงื่อนไขสงคราม เช่น ในแบบของสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา (จินตนาการไม่ได้เลยว่า หากความขัดแย้งของรัฐยุโรปในยุคสงครามเย็นเกิดจริง และดำเนินไปด้วยสภาวะสงครามแล้ว ความเสียหายจากอำนาจการทำลายล้างของอาวุธสมัยใหม่จะทำลายเมืองอันสวยงามยุโรปเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อเกิดการก้าวข้ามจากสงครามตามแบบไปสู่สงครามนิวเคลียร์)

 

ดังนั้น เมื่อสงครามเย็นยุติลง จึงมีนัยโดยตรงว่าโอกาสความเป็นสนามรบของพื้นที่ของบรรดารัฐในยุโรป ได้สิ้นสุดลงตามไปด้วย หรืออย่างน้อยความเป็นไปได้ที่เมือง บ้านเรือน และสถานที่ท่องเที่ยว จะถูกทำลายจากภัยพิบัติของสงครามใหญ่นั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ซึ่งทำให้หลายคนในยุคหลังสงครามเย็นเชื่อว่า โอกาสของการเกิดสงครามใหญ่ที่มีนัยถึงความเป็น “สงครามระหว่างรัฐ” นั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ในกรณีของรัฐยุโรป และหากจะมีความรุนแรงเกิดในบริเวณยุโรป ก็คงเป็นเรื่องการก่อการร้าย มากกว่าจะเป็นเรื่องของสงครามตามแบบ

อีกทั้งสงครามตามแบบในความหมายของการเป็นการรบระหว่างรัฐในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น แทบจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดในบริบทยุโรปอีกแต่อย่างใด

ฉะนั้น จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 1991 แล้ว เราจะมีจินตนาการและความเชื่อว่าโอกาสที่จะเกิด “สงครามใหญ่” ในอาณาบริเวณของยุโรปนั้น ไม่น่าเป็นไปได้… ราคาที่ต้องจ่ายของสงครามใหญ่ในยุโรปนั้น แพงเกินไป จนไม่น่าจะมีรัฐมหาอำนาจฝ่ายใด กล้าตัดสินใจ “เล่นเกมสงคราม”

อีกทั้งสงครามใหญ่ของยุโรปยังมีอัตราเสี่ยงที่อาจขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ของโลกได้ไม่ยาก อย่างน้อยหนังสือประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เป็นข้อเตือนใจอย่างดีในเรื่องนี้ และสุดท้ายแล้วผู้นำรัฐยุโรปตระหนักดีว่า สงครามใหญ่เช่นนี้อาจจะหมายถึงหายนะของสังคมยุโรปโดยตรง และไม่มีความคุ้มค่าในตัวเอง ซึ่งก็สอดรับกับแนวคิดทางยุทธศาสตร์ที่มองว่า “สงครามตามแบบตายแล้ว”

อันทำให้ไม่มีใครคาดว่า สงครามตามแบบที่เป็น “สงครามระหว่างรัฐ” จะหวนคืนสู่สมรภูมิยุโรป

 

ปัจจัยเหนี่ยวรั้งสงคราม

สภาวะเช่นนี้อาจกล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า การสิ้นสุดของสงครามเย็นมีนัยถึงการถดถอยของภาวะสงครามใหญ่ หรือสงครามระหว่างรัฐได้ถูกทำให้กลายเป็นเพียงปรากฏการณ์ในวิชาประวัติศาสตร์ทหาร ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาต่อมา สงครามที่รัฐยุโรปต้องเผชิญมีสภาวะเป็น “สงครามอสมมาตร” (Asymmetric Warfare) ที่เกิดจากการก่อการร้ายของกลุ่มติดอาวุธของชาวมุสลิม เช่น ปฏิบัติการจากเครือข่ายของกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) จนมีสถานะเป็นภัยคุกคามหลักของบรรดารัฐยุโรปในต้นศตวรรษที่ 21

การเคลื่อนตัวของสงครามอสมมาตรด้วยการก่อการร้ายที่เกิดในฝรั่งเศสหรือในเยอรมนีจากต้นปี 2015 เป็นต้นมา กลายเป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึงการมาของสงครามในรูปแบบใหม่ หรือจะเรียกว่า “สงครามใหม่” ก็คงไม่ผิดนัก อีกทั้งสงครามแบบนี้ไม่อาจเอาชนะได้ด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า และขณะเดียวกันก็ทำให้สงครามตามแบบที่เป็นสงครามใหญ่ กลายเป็น “สงครามเก่า” ที่ไม่ใช่แบบแผนสงครามของยุคสมัย เพราะการก่อการร้ายปรากฏให้เห็นแล้วอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเคลื่อนตัวของ “กระแสสุดโต่ง” (Extremism) ที่นำโดยกลุ่มรัฐอิสลาม จากตะวันออกกลางเข้าสู่พื้นที่ของยุโรป

แน่นอนว่าในภาวะที่ต้องเผชิญกับการก่อการร้ายของกลุ่มรัฐอิสลามอย่างหนักในยุโรป คงไม่มีใครกล้าจินตนาการไปในอนาคตว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้าสงครามใหญ่จะกลับสู่สนามรบในยุโรปอีกครั้ง ว่าที่จริงก็อาจคาดเดาได้ยาก ไม่ต่างจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อีก 5 ปีถัดจากการก่อการร้ายในยุโรปของกลุ่มรัฐอิสลามแล้ว ทั้งโลกและยุโรปต่างก็เผชิญกับภัยคุกคามขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบการเข้าตีของกองทัพข้าศึก เช่นในแบบกองทัพแดงของยุคสงครามเย็น หากแต่ข้าศึกในปี 2020 คือการระบาดของเชื้อไวรัส ที่ทำลายชีวิตผู้คนในหลายสังคมไม่ต่างจากความสูญเสียที่เกิดในยามสงคราม

ในขณะที่โลกและยุโรป รวมทั้งชาติมหาอำนาจอื่นๆ เช่น สหรัฐ และจีน ล้วนกำลังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในทุกประเทศนั้น ยิ่งไม่น่าที่จะมีผู้นำของชาติใดกล้าที่จะตัดสินใจพาประเทศเข้าสู่สงคราม เพราะงบประมาณของรัฐในขณะนั้น ถูกทุ่มให้กับการแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อโรค

นอกจากนี้ ยังเห็นได้จากตัวแบบในประวัติศาสตร์ว่า สงครามตามแบบมีลักษณะเป็นสงคราม “บริโภคทรัพยากร” ของรัฐในทุกด้าน กล่าวจากบทเรียนในอดีตได้ว่า รัฐที่ไม่มีพื้นฐานการผลิตที่เข้มแข็ง ทำสงครามไม่ได้ ในอีกด้านหนึ่งรัฐที่ตัดสินใจทำสงครามใหญ่จะต้องตระหนักเสมอถึงความสูญเสียที่จะเกิดกับประชาชนของตน เพราะสงครามเช่นนี้มีอัตราความสูญเสียกำลังพล (ตาย บาดเจ็บ และสูญหาย) มากกว่าความสูญเสียในสงครามอสมมาตรอย่างเห็นได้ชัด

ตลอดรวมถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพราะรัฐจำเป็นต้องทุ่มพลังการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการทางทหาร หรืออาจทำให้เกิดระบบ “เศรษฐกิจสงคราม” (War Economy) ที่มุ่งการผลิตเพื่อสงคราม ไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในฐานะผู้บริโภค เพราะในยามสงคราม ผู้บริโภคหลักคือ “กองทัพ”

สิ่งที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นก็คือความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า สงครามใหญ่จะเกิดในพื้นที่ของรัฐยุโรป นักการทหารและนักยุทธศาสตร์มักมีความเห็นคล้ายกันว่า ความน่ากังวลของโอกาสที่จะเกิดสงครามน่าจะเป็นในเอเชีย เช่น ปัญหาความขัดแย้งในเอเชีย เช่น ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี และปัญหาไต้หวัน

ส่วนสงครามในตะวันออกกลางก็เป็นเรื่องที่เกิดตามปกติ แต่ก็เป็นปัญหาความขัดแย้งที่อยู่ในรูปของ “ความรุนแรงในระดับต่ำ” ไม่น่าจะมีโอกาสขยายตัวเป็นสงครามใหญ่เช่นปัญหาในเอเชีย

 

ปูตินกำลังเล่น “รัสเซียนลูเล็ต”!

ในขณะที่เราไม่คาดคิดว่าโอกาสการเกิดของสงครามตามแบบในบริเวณของยุโรปจะมีความเป็นไปได้ แม้ท่าทีของประธานาธิบดีปูตินจะสร้างความกังวลในหลายครั้งในเวทีโลก แต่หลายคนก็มีความคิดในทำนองเดียวกันว่า รัสเซียในยุคหลังสงครามเย็นไม่มีความพร้อมที่จะทำสงครามใหญ่แต่อย่างใด แม้จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของรัสเซียในความเป็นรัฐมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทในจอร์เจีย (2008) วิกฤตการณ์ยูเครน (2014) และการเข้าไปมีบทบาทในสงครามกลางเมืองซีเรีย (2015) ก็ตาม

สัญญาณการฟื้นสภาวะเชิงอำนาจเช่นนี้ มิได้มีนัยโดยตรงที่จะเปิดโอกาสให้เราตีความถึงความพร้อมทางทหารของรัสเซีย ที่ประธานาธิบดีปูตินจะพาประเทศกลับเข้าสู่สงครามใหญ่อีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เพราะการทำเช่นนั้น คือการเดิมพันอนาคตครั้งสำคัญของรัสเซีย จนอยากจะเปรียบเป็นเสมือนผู้นำรัสเซียกำลังเล่นเกม “รัสเซียนลูเล็ต” (Russian Roulette) ในเวทีโลก!