ทางเดินของปัญญาชนสยามร่วมสมัย ชื่อ ‘คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง’ | ปราปต์ บุนปาน

"คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง" //ภาพประกอบ : ฐานข้อมูลนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาไทย

ถ้าพิจารณาจากปลายทศวรรษ 2540 มาจนถึงปลายทศวรรษ 2560

ต้องยอมรับว่าทางเดินของบุคคลสาธารณะ-ปัญญาชนสาธารณะชื่อ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม “เชฟหมี” ก็ดี “อาจารย์ตุล” ก็ดี

นั้นบรรเจิด เพริศแพร้ว มีชีวิตชีวา มีหลากรสหลายชาติ และเปี่ยมสีสันเป็นอย่างยิ่ง

 

สังคมไทยเริ่มทำความรู้จักกับเด็กหนุ่มชื่อ “คมกฤช” ในฐานะ “แฟนพันธุ์แท้ตำนานเทพเจ้า” ประจำปี 2548

โดยมีรายละเอียดต่อท้ายว่า เขาคือบัณฑิตสาขาสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้กำลังจะเป็นว่าที่อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาปรัชญา แห่งเทวาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขาคือวัยรุ่นผู้คล้ายกำลังจะก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นในโลกของเซเลบ-วงการบันเทิง บนพื้นที่ของสื่อหลักเดิมอย่างโทรทัศน์ ผ่านการมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอันหาตัวจับยากของตนเอง

ไม่กี่ปีต่อมา เราก็ได้ทำความรู้จักอดีตแฟนพันธุ์แท้คนนั้นในนามของ “เชฟหมี” แห่งรายการ “ครัวกากๆ”

“เชฟหมี” คือ หนึ่งในยูทูบเบอร์/อินฟลูเอนเซอร์รุ่นบุกเบิกของเมืองไทย ส่วน “ครัวกากๆ” ก็บ่งบอกว่าระบบนิเวศของสื่อ วัฒนธรรม และสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว

ผ่านรายการทีวีออนไลน์ที่ดูสนุก เรียกเสียงหัวเราะได้อย่างเมามัน และถ่ายทอดสาระความรู้ออกมาอย่างผิดแผกแหวกแนวกลับหัวกลับหาง

นี่เป็น “ปรากฏการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจ” ทั้งเมื่อเทียบเคียงกับความซ้ำซากจำเจที่ปรากฏตามสื่อกระแสหลัก ณ ต้นทศวรรษ 2550 หรือเมื่อนำไปวางลงในบริบทของสังคมไทยยุคหลังรัฐประหาร 2549 และก่อนการลุกลามขยายตัวของ “สงครามเสื้อสี”

อันนำไปสู่ “ปฐมบท” ของการปะทะชนกันระหว่างคุณค่า “อนุรักษนิยม” กับ “เสรีประชาธิปไตยก้าวหน้า”

 

สุดท้าย “อาจารย์คมกฤช” ก็เลือกมาลงหลักปักฐาน หรือจัดวางตำแหน่งแห่งที่สาธารณะของตนเอง ในฐานะ “ครูบาอาจารย์/ปัญญาชน/นักคิด/นักเขียน/นักวิชาการ”

ทั้งด้วยการเป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และการเป็นคอลัมนิสต์-ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของลัทธิความเชื่อ ศาสนา และศาสนพิธีในสังคมร่วมสมัย เช่นเดียวกับการรับหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ทำนองเดียวกัน ในรายการทีวีออนไลน์และอีเวนต์ออนกราวด์ต่างๆ

“ปัญญาชนสยามร่วมสมัย” ชื่อ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” มีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะบ่งชี้ว่า สังคมไทยนั้นก่อตัวและมีพัฒนาการขึ้นมาจาก “ความหลากหลาย”

ในทางศาสนา ปัญญาชนรุ่นใหม่ผู้นี้รับสืบทอดมรดกภูมิปัญญามาจากปัญญาชนอาวุโส “นิธิ เอียวศรีวงศ์” และชี้ชัดว่า จริงๆ แล้ว คนไทยนับถือ “ศาสนาไทย” หรือ “ศาสนาผี-พราหมณ์-พุทธ” โดยมี “ผี” เป็นแก่นแกนความเชื่อหลัก

แม้แต่ “อาจารย์ตุล/เชฟหมี” เอง ก็เป็นตัวแทนของความหลากหลายดังกล่าว คือ ด้านหนึ่ง เขาก็เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องปรัชญา วัฒนธรรม และศาสนาของอินเดีย แต่อีกด้าน เขาก็ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเชื่อแบบจีน (ที่แฝงฝังอยู่ในสายเลือดของครอบครัว “อุ่ยเต็กเค่ง”) อย่างลึกซึ้ง

อาจพูดอีกแง่ได้ว่า “อาจารย์คมกฤช” นั้นมีทั้งจุดยืนแบบ “อนุรักษนิยม” ที่ต้องการธำรงรักษาความเชื่อ-ศรัทธา-พิธีกรรม-ความศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมเอาไว้ในโลกยุคปัจจุบัน

ตัวอย่างชัดเจน คือ การเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดพิธี “คเณศจตุรถี” อย่างใหญ่โต คึกคัก เข้มขลัง จริงจัง ที่ทับแก้ว

แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ “ก้าวหน้า” พอที่จะยืนกรานว่า ทุกศาสนา ทุกความเชื่อ จากโลกยุคโบราณ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับ “คุณค่าสากล” หลายประการในสังคมสมัยใหม่

ถ้าให้พูดอย่างตรงไปตรงมา ก็คือ ศาสนาต่างๆ จะมีสถานะเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ชนชั้นปกครองและอำนาจรัฐใช้ในการกดขี่ควบคุมผู้คนพลเมืองไม่ได้อีกแล้ว

สำหรับโลกการเมือง มิตรสหายที่รู้จัก “อาจารย์คมกฤช” ย่อมทราบดีว่า นักวิชาการผู้นี้นั้นต่อสู้ร่วมกับ “ฝั่งประชาธิปไตย” มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตลอดห้วงความขัดแย้งในทศวรรษ 2550 มาสู่การตื่นตัว ตระหนักรู้ และเบิกบานของ “ม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่” ต้นทศวรรษ 2560

 

ไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดหรอกว่า ปลายทางหลังการอำลาจากโลกนี้ของ “ผศ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” จะมุ่งหน้าไปสู่แห่งหนไหน? สภาวะใด?

จะเป็นแดน “สุขาวดีพุทธเกษตร” หรือสภาวะ “พรหมัน” หรืออะไรอย่างอื่น

แต่เรื่องที่หลายคนสามารถรับรู้ได้กระจ่างชัดก็คือ หลายสิ่งที่ “อาจารย์คมกฤช/เชฟหมี/อาจารย์ตุล” เคยลงมือทำไว้ระหว่างมีชีวิตโลดแล่นอยู่บนโลกมนุษย์ใบนี้ นั้นมีคุณประโยชน์มหาศาล และเกาะเกี่ยวเป็นเนื้อเดียวกับ “ระลอกความเปลี่ยนแปลงใหญ่” ของสังคมไทย ที่ดำเนินมาตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา

และยังคงดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน