ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
หากจะใช้คำพูด กับสภาพอากาศในป่าว่า “เอาแน่นอนอะไรไม่ได้” ดูเหมือนว่าจะมีความจริงอยู่ไม่น้อย
อย่างเช่น ในฤดูหนาว ที่อากาศเย็นยะเยือก แสงแดดจัดจ้ามาตลอดวัน จู่ๆ ช่วงบ่าย ท้องฟ้ากลับมืดครึ้ม ลมแรง มาพร้อมกับสายฝน เป็นเช่นนี้อยู่สอง-สามวัน
เราเรียกฝนที่มาผิดฤดูกาลอย่างนี้ว่า “ฝนหลงฤดู”
ฝนตกไม่นาน แต่มันให้เส้นทางที่เริ่มดีขึ้น การสัญจรสะดวก กลับเป็นเช่นเดิม หลังฝนจากไป ความหนาวเย็นหวนคืน และครั้งนี้อุณหภูมิจะลดต่ำกว่าเดิม
เช่นเดียวกับในฤดูฝน เราอยู่ในป่าซึ่งสายฝนกระหน่ำ หนักสลับเบาต่อเนื่อง ยาวนานนับสัปดาห์
จู่ๆ ฝนก็หยุดตก ท้องฟ้าใสกระจ่าง สีครามเข้ม กลางคืนดาวมหาศาลแข่งประกายระยิบ
ท้องฟ้าใสราวกับว่า เมื่อสองวันก่อนไม่ได้มืดครึ้ม ชื้นแฉะ
สายฝนหายไป ทิ้งไว้เพียงร่องรอยลึกๆ และรอยลื่นไถลบนเส้นทาง
บนด่าน รอยตีนสัตว์ป่า ก็มีรอยลื่นไถลปะปนอยู่
แม้สายฝนจะจากไป แต่นี่คือช่วงเวลาที่สัตว์ป่ามีอาหารสมบูรณ์ หญ้ารกทึบ หน่อไม้โผล่พ้นดิน แหล่งน้ำมีทั่วไป
ระดับน้ำในลำห้วยสายหลักเอ่อล้นตลิ่ง
สัตว์ป่าเปลี่ยนเส้นทางเดิน จากด่านริมน้ำ เป็นการมาใช้เส้นทางเดียวกับที่คนทำไว้สัญจร ช้าง นอกจากใช้เส้นทางร่วมกับคนแล้ว พวกมันมักทำความยุ่งยากให้ด้วย โดยดึงต้นไผ่จำนวนมากล้มขวาง บางครั้งทั้งกอ พวกมันกินไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือคือสิ่งที่ขวางทาง
เสือก็เลือกที่จะเดินบนเส้นทางอันไม่รกทึบ บริเวณแอ่งโคลน ดินนุ่ม รอยตีนมันดูคล้ายจะใหญ่โตกว่าความเป็นจริง
กลางคืน เสียงเสือคำรามก้อง ทั้งคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงทอแสง และในคืนแรมที่มืดมิด
เสือเป็นสัตว์ที่มีกล่องเสียง ไม่เพียงแต่จะส่งเสียงได้กึกก้องกังวาน พวกมันยังทำได้อีกหลายเสียง
บางครั้งมันทำเสียงเลียนเสียงกวาง บางทีทำเสียงประหลาดๆ วัวแดงรุ่นๆ สงสัย หันมองรอบๆ สำหรับเสือ มันได้รับการออกแบบร่างกายมาเพื่อการล่า
อีกทั้งมีทักษะ รวมทั้งเทคนิคอันยอดเยี่ยม แต่กระนั้น ก็มีความจริงว่า การล่าของเสือ ไม่ได้พบกับความสำเร็จทุกครั้ง ล้มเหลวเพื่อเริ่มต้นใหม่ รอคอย อดทน คือส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกมัน
ในค่ำคืนที่จันทร์ทอแสงนวล เสียงเสือก้องกับวาน ได้ยินจากที่ไกลๆ ผมไม่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินหมายความว่าอย่างไร
อาจเป็นเสียงเสือตัวเมีย ที่ร้องบอกในความหมายว่าเธอพร้อมรับความสัมพันธ์จากตัวผู้ เป็นการประกาศอาณาเขต
หรือเปล่งเสียงเพียงเพื่อเป็นเพื่อนตัวเองขณะอยู่ลำพัง
สายฝนกลับมา ท้องฟ้ามืดครึ้ม ฟ้าคำรามครืนๆ มรสุมพัดผ่านมา ฟ้ามืดราวกับเมื่อวาน ไม่ได้สดใส หลายวันเราอยู่ภายใต้พายุฝน
ผมร่วมทีมอยู่กับผู้ช่วยนักวิจัย ภารกิจของเราคือ ติดตามเสือโคร่งตัวเมีย ที่วิทยุซึ่งติดกับปลอกคอ แบตเตอรี่อ่อน ใกล้ถึงเวลาต้องปลด
พลังงานวิทยุเหลือน้อย ข้อมูล ตำแหน่งที่อยู่ของมันไม่ปรากฏในระบบผ่านดาวเทียม วิธีที่จะติดตามมันได้คือใช้เสาอากาศและเครื่องรับเข้าไปในพื้นที่ที่เสืออยู่
มันเป็นเสือตัวเมีย ที่นักวิจัยมีข้อมูลว่า ใช้พื้นที่เพียง 30 กว่าตารางกิโลเมตร แตกต่างจากเสือตัวเมียในพื่นที่อื่นๆ ซึ่งจะใช้พื้นที่ราว 60-70 ตารางกิโลเมตร
“เป็นไปได้ว่า บริเวณนี้มีความหนาแน่นของประชากรสัตว์ที่เป็นเหยื่อมาก จึงใช้พื้นที่ไม่กว้าง” นักวิจัยให้ความเห็น
จากการติดตามพบว่า มันล่าเหยื่อ เฉลี่ยอาทิตย์ละครั้ง เหยื่อส่วนใหญ่เป็นกวางโตเต็มวัย
เป็นข้อมูลที่ดี สัญญาณตำแหน่งที่อยู่ชัดเจน
ถึงวันนี้ สัญญาณหายไป งานหนักเริ่มต้น
เรียนรู้จากเสือ เพื่อปกป้องแหล่งอาศัย รวมทั้งเหยื่อของพวกมัน
ปกป้องเสือไว้ ย่อมเท่ากับต้องดูแลทุกสิ่งไว้

ไม่ใช่งานง่ายดายสักเท่าใด ทุกๆ วันเราเดินป่า ไต่ขึ้นสันเขาสูง โดยหวังว่าจะรับสัญญาณได้และรู้ตำแหน่งเสือ แต่ก็ไร้ผล
ท้องฟ้ามืด ยุงตอม กลางคืนนั่งรับไออุ่นข้างกองไฟ
ไออุ่นช่วยให้วันที่ตกอยู่ภายใต้มรสุมไม่เปียกชื้น หนาวยะเยือกเกินไป
แคมป์อยู่ริมลำห้วยสายหลัก ในคืนแรมไม่มีแสงจันทร์
ในความมืด ผมคิดถึงคืนที่แสงจันทร์นวลทอทาบผืนน้ำ
หากไม่มีมรสุม คงไม่คิดถึงคืนที่ท้องฟ้าสดใส
หากวันใดไร้เสียงคำรามของเสือ ท้องฟ้าในคืนแรม ที่มรสุมมาเยือน อาจมืดมิดกว่าที่มองเห็น
เรื่องบางเรื่อง จะกระจ่างเมื่อสูญเสียไปแล้ว ดูเหมือนว่า เป็นเรื่องง่ายๆ
เป็นความจริงง่ายๆ ที่ยากจะ “เข้าใจ” •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022