ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
ตามข่าวซูเปอร์โมเดล (ผู้เคยโด่งดัง) ระดับโลกอย่าง “นาโอมิ แคมป์เบลล์” เดินทางมาเยือนไทย ด้วยความรู้สึกนึกคิดสองสามแบบระคนกันไป
อย่างแรกเลย คือ ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าตนเองที่เติบโตขึ้นมาในยุครุ่งเรืองของ “ซูเปอร์โมเดลไทย-เทศ” นั้นน่าจะมีรสนิยมเรื่อง “ความงาม” สอดคล้องกับท่านอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” อยู่พอสมควร
แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่า รสนิยมเช่นนั้นจะยังมีสถานะเป็นบรรทัดฐานหรือมาตรฐานปกติทั่วไป สำหรับสังคมและแวดวงบันเทิง-วงการแฟชั่นยุคปัจจุบัน
ส่งผลให้ยิ่งไม่มั่นใจว่า ความฝันอันบังเกิดจาก “รสนิยมเฉพาะ” ของผู้ชายวัย 40-70 กว่าปีจำนวนหนึ่ง จะสอดคล้องต้องตรงกับ “ความฝันมวลรวม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความฝันของคนหนุ่มสาว” ในสังคมยุคใหม่มากน้อยแค่ไหน?
ในมุมมองส่วนตัว ผมกลับคิดสวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลและคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ กำลังพยายามทำอยู่ (แม้จะมีรสนิยม-ประสบการณ์ใกล้เคียงกัน)
นั่นคือแทนที่จะมองไปยังอนาคตและโลกกว้างด้วยวิสัยทัศน์และความใฝ่ฝันที่ยังคลุมเครือ พร่าเลือน กระจัดกระจาย เราน่าจะลองย้อนกลับไปพิจารณาถึงความเป็นมา-พัฒนาการของ “รสนิยมความงามในอดีต” ที่ใกล้จะสูญหายไปในวันนี้ แล้วพยายามเทียบเคียงรสนิยมแบบนั้นเข้ากับรสนิยมกระแสหลักของยุคปัจจุบัน
เพื่อมองหา “ความเปลี่ยนแปลง” และเส้นทางเดินที่ชัดเจนขึ้นว่า เราควรก้าวต่อไปอย่างไรในอนาคต
สิ่งที่ผมอยากเสนอ ก็คือ น่าจะมีคนคิดทำ “นิทรรศการ” (ชั่วคราวก็ได้ ถาวรยิ่งดี) ว่าด้วย “ประวัติศาสตร์นิตยสาร” ในสังคมไทย ซึ่งแน่นอนว่า ควรต้องมีพื้นที่โซนหนึ่ง (หรือหลายโซน) ในนิทรรศการดังกล่าว ที่อุทิศเนื้อหาให้แก่ “นิตยสารผู้หญิง/แฟชั่น” อย่างน้อยก็ตั้งแต่ “ลลนา” เป็นต้นมา
ด้านหนึ่ง นิตยสาร (ไม่ว่าจะรายเดือนหรือรายปักษ์) กลุ่มนี้ก็มีความสำคัญ มิใช่เพียงแค่การเป็น “หนังสือผู้หญิง” เท่านั้น
ทว่า งานเขียนที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ ตั้งแต่บทความ คอลัมน์ตอบจดหมาย นิยาย เรื่องสั้น บทวิจารณ์หนัง/ละคร/ดนตรี ไปจนถึงบทกวี มักเป็นงานคุณภาพสูง ที่มีความหลากหลายรุ่มรวยในเชิงเนื้อหาอย่างมาก ชนิดที่ผู้หญิงผู้ชายอ่านได้ เด็กผู้ใหญ่อ่านดี
(กระทั่งผมเอง ก็ขอสารภาพว่าได้บ่มเพาะประสบการณ์การอ่านหนังสือในช่วงวัยรุ่นยุคต้นของตัวเอง ผ่านการเสพนิตยสารผู้หญิง/แฟชั่น)
คำถามที่หลายคนคงสงสัย ก็คือ แล้ว “ประวัติศาสตร์นิตยสารไทย” หรือ “พัฒนาการของนิตยสารผู้หญิง/แฟชั่น” นั้นข้องเกี่ยวกับ “วัฒนธรรม/อุตสาหกรรมนางแบบ” อย่างไร?
คําตอบของผมคือ เราต้องพิจารณาความมีชีวิตชีวา ความเข้มแข็ง และเครือข่ายที่หนาแน่นกว้างขวางของวงการนางแบบไทยจากยุคปลาย 1980 มาถึงตลอด 1990 และต้นๆ 2000 โดยไม่แยกขาดออกจากการ (เคย) ดำรงอยู่ของนิตยสารแนว ผู้หญิง/แฟชั่น
อันเป็นทั้งเวทีแจ้งเกิดนางแบบใหม่ (นิตยสารบางฉบับถึงกับจัดประกวดนางแบบ-และนายแบบ-เองเลยด้วยซ้ำ) และเป็นเวทีโชว์ของประจำปี/ซีซั่นของเหล่านางแบบ-ดีไซเนอร์-เมกอัพอาร์ติสต์-ช่างภาพรุ่นเก๋าๆ
พูดอีกแบบคือวงจรการทำงานของอุตสาหกรรมแฟชั่นในสังคมไทยสมัยโน้น ไม่ได้พึ่งพาแค่เพียงเสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ และงานแฟชั่นโชว์/แฟชั่นวีก แต่บุคลากรทุกฝ่ายยังสามารถอาศัยนิตยสารผู้หญิง/แฟชั่นจำนวนมากมายหลายหัว เป็นเวทีในการฝึกฝน เคี่ยวกรำ และพัฒนาทักษะของตนเองด้วย
นอกจากนั้น ความเฟื่องฟูของวงการนางแบบและยุครุ่งเรืองของนิตยสารผู้หญิง/แฟชั่น ยังมีส่วนสำคัญในการสถาปนานิยาม “ความงามเฉพาะ” รูปแบบหนึ่งขึ้นมา (ซึ่งน่าเชื่อว่าคนรุ่นคุณทักษิณน่าจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลนี้ แม้กระทั่งผม ซึ่งอายุน้อยกว่าอดีตนายกฯ ร่วมสามทศวรรษ ก็หนีไม่พ้นเช่นกัน)
เป็น “รสนิยมความงามแห่งยุคสมัย” ที่ก่อรูปขึ้นมาจากองค์ประกอบอันจำเพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นรูปหน้า โครงสร้างรูปร่าง รวมไปถึงชาติพันธุ์ ฯลฯ
เช่น ถ้าย้อนไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน “นางแบบพิมพ์นิยม” ที่ปรากฏตัวในหน้านิตยสารและบนแคตวอล์ก นั้นมักเป็นลูกครึ่งฝรั่ง ใบหน้าเก๋ๆ เฉี่ยวๆ หรือจะมีเหลี่ยมมุมชัดๆ ก็ยังได้ แล้วก็มีอยู่ห้วงเวลาหนึ่งที่กินระยะยาวนานนับทศวรรษ ซึ่งเรามีแนวโน้มจะเชื่อว่า “นางแบบที่ดี” คือผู้หญิงที่ต้องมีส่วนสูงอย่างน้อย “170-175 ซ.ม.” ขึ้นไป
ขณะที่ในปัจจุบัน “สตรีผู้โดดเด่น” ในแฟชั่นอีเวนต์ต่างๆ เรื่อยไปถึงในหน้าแฟชั่นของนิตยสาร (ที่เหลือวางจำหน่ายอยู่แค่ไม่กี่ฉบับ) นั้นมักมีบุคลิก-หน้าตาออกไปทาง “ไอดอลเอเชีย” หรือ “เด็กสาวข้างบ้าน” (พูดอีกแบบคือเป็น “ลูกหลานคนจีน”) มากขึ้น และไม่ต้องตัวสูง 170 กว่าๆ กันอีกแล้ว เพราะผู้หญิงสูงระดับ 160 ซม. ก็สามารถ “ถ่ายแบบ-เดินแบบ” ได้
ในแง่มุมนี้ เหมือนกับว่า “วงการแฟชั่นปัจจุบัน” จะโอบรับ “ความงามที่หลากหลาย” ได้ดีขึ้น
แต่ในอีกมุมหนึ่ง “ความสวยงาม” บางรูปแบบ ที่เคยมีอยู่ใน “วัฒนธรรมนางแบบ” ยุคก่อน ก็อาจสูญหายไปตามกาลเวลาได้เช่นกัน
การเดินทางมาพบปะนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ของ “นาโอมิ แคมป์เบลล์” ทำให้ผมย้อนคิดทบทวนประสบการณ์ไปไกลว่า จริงๆ แล้ว ก่อนหน้าที่ “รสนิยมความงาม” ของสังคมไทยในยุคปลาย 1990 เป็นต้นมา จะถูกผูกติดอยู่กับ “ความขาว” เราก็เคยให้คุณค่ากับความงามแบบ “ผิวพม่านัยน์ตาแขก”
กระทั่งในวงการแฟชั่นยุคต้นๆ 1990 เคยมีนางแบบที่ขึ้นชื่อว่า “สวยแบบสาวมอญ” เช่น “นวพร คชเสนี” และ “จันทร์จิรา จูแจ้ง” เป็นต้น
บางที ก่อนที่จะคิดปั้น “นางแบบไทย” ให้ไปไกลระดับโลก เราอาจต้องกลับมาไตร่ตรอง-ประมวลข้อมูลกันให้ดีๆ ก่อนว่า “ความงามแบบไทยๆ” นั้นเปลี่ยนแปลงหรือมีพลวัตอย่างไรบ้าง? อะไรคือแก่นแกนของ “ความงามแบบไทยๆ” ในยุคสมัยนี้?
และมีสิ่งใดตกหล่นไปหรือถูกเสริมเติมเข้ามาใหม่ใน “คุณค่าปัจจุบัน” ดังกล่าว? •
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022