จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์ 2568

 

• เทรนด์ “รัก”

บริษัทจัดหาคู่ ระดับไฮเอนด์ Bangkok Matching ทำงานจัดหาคู่ให้กับกลุ่มคนโสดชายหญิงในไทยที่มีรายได้ขั้นต่ำ 5 หมื่นบาทต่อเดือนเป็นต้นไป

พบว่า คนโสดชายหญิงไทย ตระหนักและรู้คุณค่าของตนเองมากขึ้น รักตนเองมากขึ้น

โดยเฉพาะหญิงโสดไทย ก่อนที่จะรักคนอื่น จะกลับมาให้ความรักตนเองก่อน

และเห็นคุณค่าของตนเองที่จะไม่ให้ใจกับคนที่ไม่ให้ค่า ไม่ให้ความเคารพ รักตนเองอีกต่อไป

คนโสดไทยทั้งชายหญิง นิยมการพบคู่ด้วยวิธีธรรมชาติมากที่สุด

เพราะอยากให้ความรักเกิดจากพรหมลิขิต บังเอิญมาเจอกัน

มันโรแมนติกกว่าการใช้แอพพ์หาคู่ บริการจัดหาคู่ หรือการพบกันออนไลน์

วิธีที่คนโสดไทยชอบมากที่สุด คือ การหาคู่ผ่านการแนะนำของคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือจากครอบครัว การทำกิจกรรมต่างๆ และการลงคอร์สต่างๆ

หากช่องทางธรรมชาติไม่สำเร็จ ไม่ได้ผล คนโสดที่ต้องการจะมีคู่ ก็จะขยายพื้นที่ในการหาคู่ไปช่องทางต่อๆ ไป

หนุ่มโสด สาวโสดไทยไม่ต้องการ และจะไม่ฝืนเป็นคนที่ตนเองไม่ได้เป็น

หนุ่มโสด สาวโสดไทยชอบที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเองเลยตั้งแต่ต้นที่รู้จักกัน

เพราะอยากให้คนที่ตนพบ ชอบตนที่ตัวตนจริงๆ

ต้องการเริ่มต้นทำความรู้จักกันด้วยตัวตนเองอย่างแท้จริง

เพราะอยากมีความสัมพันธ์ที่ตนเองไม่ต้องปรับเปลี่ยน จนไม่เป็นตนเองเพื่อใครสักคน

การแต่งงาน การมีลูก = การมีชีวิตที่สมบูรณ์ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับหนุ่มโสด สาวโสดชาวไทยอีกต่อไป

แต่กลับมาโฟกัสที่ตนเองและการมีคู่ชีวิตที่ดี เป็นเพื่อนคู่คิด ใช้เวลาสุข ทุกข์ไปด้วยกัน

คนโสดไทยหันมาโฟกัสที่ความสุขเฉพาะตัว ณ ปัจจุบัน

การออกเดต การเลือกคู่ตามที่ใจต้องการ เน้นประสบการณ์ชีวิต ความสุข ณ เวลานั้นๆ ความสุข ณ ปัจจุบันสำคัญที่สุด

หนุ่มโสด สาวโสดไทยส่วนใหญ่ยังต้องการมีคู่อยู่ หากคู่นั้นเป็นคนที่ดี มีทัศนคติ การใช้ชีวิตสอดคล้องต้องกัน คู่ที่ต้องมาเสริมชีวิตกันและกันให้ดีขึ้น

สโลแกน “หากได้แฟนที่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่เอา”

ยังเป็นสโลแกนยึดต่อเนื่องมาสู่การหาคู่ปี 2568

Bangkok Matching

บริษัทจัดหาคู่พรีเมี่ยม

 

ในโอกาส “วาเลนไทน์”

เลยเอาเรื่องความรักของคนโสดไทย

มาเล่าสู่กันฟัง

อาจด้วยเป็นข้อมูลจากคนโสดที่มีรายได้สูง

คือ 5 หมื่นบาทต่อเดือนขึ้นไป

รักจึงมั่นแบบ

“หากได้แฟนที่ไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่เอา”

คนกลุ่มนี้จึงมีทางเลือกที่จะมีคู่รัก หรือโสด

แต่ชายหญิงโสดอื่นๆ “มั่น” ได้แบบนี้หรือไม่

–น่าติดตาม

 

• “สุข” ที่มีสติ

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมใหญ่เครือข่ายจากทั่วประเทศเนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปี ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมอุบลฮอล์ โรงแรมเซนทารา จังหวัดอุบลราชธานี โดยชูสโลแกน “ความสุขที่มีสติ” ในสถานการณ์สังคมแบบเสรีนิยม

พร้อมประเมินสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ในภาคอีสาน

ในภาพรวมสถิตินักดื่มเปรียบเทียบปี 2560 กับปี 2564 พบว่า จังหวัดนครราชสีมา และอำนาจเจริญ ความชุกลดลง

ส่วนอีก 6 จังหวัด สถิติเพิ่มขึ้นได้แก่ มุกดาหาร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ชัยภูมิ อุบลราชธานี

ส่วนจังหวัดศรีสะเกษสถิติความชุกคงเดิม คือ ร้อยละ 26.90 รวมทั้งความชุกของเยาวชนอายุ 15-19 ปีของจังหวัดศรีสะเกษ สถิติลดลงอย่างชัดเจน จากร้อยละ 12 ปี 2560 เป็นร้อยละ 7.3 ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสถิติปัญหาของภาคอีสานในหลายจังหวัดน่ากังวล

โดยเฉลี่ยพบว่า ร้อยละ 32.3 พบการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.9

การดื่มในงานประเพณี / คอนเสิร์ต งานเลี้ยง ร้อยละ 70.0

การขายในวันพระใหญ่ต่างๆ ร้อยละ 15.7

การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาห้ามขาย ร้อยละ 25.2

การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขาย ร้อยละ 7.1

และดื่มในบ้านตนเอง กว่าร้อยละ 88.6

พบว่า จังหวัดมุกดาหาร เป็นจังหวัดที่ดื่มสูงในภาค กว่าร้อยละ 38.6 เป็นอันดับ 5 ของประเทศ ซึ่งคงต้องเจาะลึกสถานการณ์ปัญหาของแต่ละจังหวัด

นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 22 ปี ของการก่อตั้งเครือข่ายองค์กรงดเหล้า นอกจากจะเป็นช่วงเวลาทบทวนและพบปะเพิ่มพลังเครือข่ายแล้ว ยังต้องมองอนาคตใน 2-3 ปีจากนี้ไป

โดยข้อมูลปี 2564 ความชุกนักดื่มโดยรวมประเทศ ร้อยละ 28

ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์ปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพจะเพิ่มมากขึ้น

ส่วนหนึ่งเกิดจากรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การแก้ไขกฎกระทรวงของกรมสรรพสามิตให้การผลิตสุราทำได้ง่ายขึ้น

กรณีปัญหากัญชากระท่อมที่เริ่มส่งผลต่อเด็กเยาวชน รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า พนันออนไลน์ ที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำให้ถูกกฎหมายมากขึ้น

โดยในโซนภาคอีสาน ซึ่งกำลังถูกส่งเสริมให้มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นสุราท้องถิ่น

วิถีชีวิตที่ชอบสนุกสนานม่วนหน้าฮ่านรถแห่ ประเพณียิ่งใหญ่บุญบั้งไฟ บุญแข่งเรือ

รวมทั้งวิถีกินเหล้าหลังเสร็จงาน การเลี้ยงแขกด้วยเหล้า เป็นบรรทัดฐานและกิจกรรมการส่งเสริมตลาดของธุรกิจที่มาพร้อมกับการเป็นสปอนเซอร์จัดงานแบบ CSR ปลอม

ซึ่งในความเป็นจริงผู้ที่ผลิตนำเข้าหรือขายสินค้าต้องรับผิดชอบต่อการขายสินค้าที่ไม่ธรรมดา เช่น ต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งต้องควบคุมผู้ขายให้ทำตามกฎหมาย การไม่ขายคนเมา ไม่ขายให้เด็ก

รวมทั้งการปฏิบัติตามการควบคุมโฆษณาอย่างเคร่งครัด เป็นต้น

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)

 

ประชุมคณะรัฐมนตรี

ก่อนวัน “มาฆบูชา” หนึ่งวัน

นายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร

สั่งศึกษาการ “ขยายเวลา” ขายเหล้า

เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

คงเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันมาก

สคล.เอง ก็คงต้องติดตามใกล้ชิด •