ตู้ห่าวและความจำเป็น ต้องมีรัฐธรรมนูญประชาชน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

ตู้ห่าวและความจำเป็น

ต้องมีรัฐธรรมนูญประชาชน

 

ผมเป็นเหมือนคนจำนวนมากที่ฟังข่าวยกฟ้องคดีตู้ห่าวด้วยความตกใจ เพราะคดีนี้ข้อหาร้ายแรงตั้งแต่เรื่องยาเสพติดยันฟอกเงิน ผู้ต้องหาถูกเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติ ซ้ำตัวคดีก็เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการปราบปราม “จีนเทา” ที่ตอนนี้ลุกลามเป็นปัญหาโจรชายแดน

ตู้ห่าวเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เปิดประเด็นจนตำรวจดำเนินคดี ลำพังการที่ประชาชนต้องชี้ประเด็นในเรื่องที่ตำรวจมีหน้าที่รับผิดชอบก็แย่แล้ว แต่ที่แย่กว่าคือตำรวจทำคดีล่าช้า มีพิรุธ และมีการเปิดเผยว่าภรรยาตู้ห่าวเชื่อมโยงกับอดีตรองนายกและนายก อบจ.คนหนึ่งพรรคเพื่อไทย

แน่นอนว่าการยกฟ้องคดีที่หลักฐานอ่อนเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่การวินิจฉัยว่าคดีไหน “หลักฐานอ่อน” เกิดได้จากหลักฐานอ่อนจริงๆ, ยัดข้อหาจนหลักฐานอ่อน และจงใจทำสำนวนให้อ่อนเพื่อให้คดีหลุด การยกฟ้องจึงทำให้คนสงสัยคำตัดสินของศาลไปจนถึงการทำสำนวนของตำรวจและอัยการ

การยกฟ้องตู้ห่าวและพวก 19 คนทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก และที่น่ากลัวกว่าคือผู้ต้องหาทั้งจะทำอาชญากรรมแบบเดิมทำร้ายประชาชนอีก คุณชูวิทย์อาจเสี่ยงอันตราย และเมื่อคำนึงว่าตู้ห่าวเคยพูดว่าตำรวจไทยซื้อได้

การยกฟ้องยิ่งอาจตอกย้ำคำพูดตู้ห่าวเรื่องนี้จริงๆ

 

ขณะที่มีการยกฟ้องตู้ห่าวซึ่งเชื่อมโยงเรื่องค้ามนุษย์, ฆ่า, ฟอกเงิน และค้ายา แต่มีการจำคุก กสทช. พิรงรอง รามสูต 2 ปี จากคดีที่อาจารย์พิรงรองเตือนว่าทรูไอดีมีโฆษณาไม่ได้ กองเชียร์รัฐบาลบอกว่าคุกแบบนี้สมควรแล้ว และบางคนใน กสทช.บอกว่าจะเอาคำตัดสินนี้ยื่น ป.ป.ช.ให้ถอดอาจารย์พ้นจากตำแหน่งไปเลย

แน่นอนว่าสองคดีนี้ไม่เกี่ยวกันและมีข้อเท็จจริงต่างกัน แต่ในประเทศที่อาจารย์พิรงรองถูกจำคุกเพียงเพราะบริษัทเจ้าสัวไม่พอใจคำพูดว่า “จะล้มยักษ์” ส่วนตู้ห่าวถูกยกฟ้อง คนรุ่นใหม่จะมองเห็นอนาคตของประเทศได้อย่างไรกัน ไม่ต้องพูดถึงคนรุ่นเก่าที่ต้องอยู่เป็น, ยอมจำนน หรือไม่มีที่ไป

คดีตู้ห่าวและอาจารย์พิรงรองทำให้คนเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมน้อยลง หน้าที่กระบวนการยุติธรรมคือทำให้คนเชื่อมั่น “ระบบ” และเมื่อใดที่ตำรวจถูกมองว่าซื้อได้ อัยการถูกมองว่าขายสำนวน และกระบวนการยุติธรรมถูกมองว่าไม่เที่ยงธรรม

ระบบก็ต้องใช้อำนาจบังคับให้คนเคารพมากกว่ายอมรับด้วยความจริงใจ

 

ผมต้องย้ำต่อว่า “ตู้ห่าว” เป็นปฐมบทของการดำเนินคดีกับ “จีนเทา” ในวันที่คนพวกนี้เพิ่งเริ่มแผ่อิทธิพลทั่ว กทม. แต่วันนี้ “จีนเทา” ข้ามพรมแดนไปก่ออาชญากรรมข้ามชาติกับทหารพม่า, ไทยเทา และพ่อค้าสงครามกะเหรี่ยง อิสรภาพของตู้ห่าวจึงเป็นสัญญาณว่ารัฐไทยจะไม่ทำอะไรคนพวกนี้เลย

พูดก็พูดเถอะ คดีอาชญากรรมชายแดนเริ่มจากการเปิดประเด็นของพรรคประชาชนและเป็นธรรม แต่ทุกข้อเรียกร้องอย่างการตัดไฟและออกหมายจับหม่องซิตูถูกรัฐบาลปฏิเสธ เพียงแต่ท่าทีรัฐบาลเปลี่ยนจากดำเป็นขาวทันทีที่จีนส่งตัวแทนรัฐบาลมากดดันไทยตั้งแต่การประชุมไม่เป็นทางการ

มองอย่างผิวเผินแล้วเรื่องเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์เอกเทศที่ไม่เกี่ยวกัน แต่ผมเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นอาการของรัฐที่ไม่รับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะ, รัฐบาลที่ไม่รับผิดชอบต่อประชาชน และรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้สังคมคุมรัฐไม่ได้

จนรัฐอยู่ได้โดยแทบไม่ต้องตอบสนองประชาชนเลย

 

คนไทยถูกสอนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตำรากฎหมายและรัฐศาสตร์ทุกเล่มก็บอกว่าไม่มีกฎหมายไหนสูงกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่อะไรที่ “สูงสุดของประเทศ” ก็ควรเปลี่ยนไม่ได้และเป็นเช่นนั้นตลอดกาล ส่วนประเทศไทยรัฐธรรมนูญกลับมีอายุเฉลี่ยแค่ฉบับละ 4 ปี

ถ้ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจริงๆ รัฐธรรมนูญก็ควรเกิดขึ้นและมีที่มาจากประชาชน เปลี่ยนยาก ฉีกไม่ได้ มีหลักการใหญ่ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญไทยเลย

ตรงข้ามกับความเชื่อเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐธรรมนูญไทยถูกเขียน, ถูกฉีก และถูกเขียนใหม่โดยทหารและผู้มีอำนาจแต่ละยุคตามใจชอบ รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจึงสะท้อน “วาระ” ของผู้มีอำนาจแต่ละช่วงมากกว่าจะเป็น “วาระ” ของประชาชน

นักรัฐศาสตร์บางคนบอกว่าแทนที่จะมองรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ สถานะของรัฐธรรมนูญคือเป็น “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” ซึ่งแปลง่ายๆ คือเป็นการกำหนดว่าใครใหญ่ ใครไม่ใหญ่ ใครคุมใคร และใครจะได้อะไรแค่ไหน

โดยคนกำหนดเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ใช่ประชาชนตาดำๆ

 

เมื่อคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐประหารและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2560 วาระของผู้มีอำนาจซึ่งคุณประยุทธ์เป็นส่วนหนึ่งใน “เครือข่าย” คือความต้องการควบคุมสังคมโดยทำให้ “อำนาจประชาชน” น้อยกว่าอำนาจของ “เครือข่าย” ที่คุณประยุทธ์สังกัดจนในที่สุดเสียงประชาชนไม่มีความหมายอะไรเลย

จิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญ 2560 คือการสถาปนาระบอบการปกครองที่การเลือกตั้งเป็นเพียง “พิธีกรรม” ส่วนสถาบันจากการเลือกตั้งถูกกดให้อยู่ใต้สถาบันที่ประชาชนเลือกไม่ได้ ยุคสมัยของคุณประยุทธ์จึงให้ ส.ว.เลือกนายกฯ, ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้ และให้องค์กรอิสระสามารถล้มรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งหรือไม่มี รัฐธรรมมนูญ 2560 ก็ล้วนทำให้สถาบันที่ประชาชนเลือกไม่ได้มีอำนาจเหนือสถาบันที่ประชาชนเลือกมาโดยตลอด รัฐ, ระบบราชการ และองค์กรอิสระใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงใช้อำนาจแบบไหนก็ได้โดยแทบไม่ต้องสนใจความต้องการของประชาชน

ยกตัวอย่างง่ายๆ ขณะที่ประเทศไทยก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 มีนายกฯ จากพรรคที่ชนะเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยใต้รัฐธรรมนูญ 2560 กลับไม่เคยมีนายกฯ จากพรรคที่ชนะเลือกตั้ง เพราะนายกฯ ทุกคนล้วนสังกัดพรรคที่แพ้เลือกตั้ง แต่ได้เป็นนายกฯ เพราะเสียงโหวตทั้งทางตรงและทางอ้อมของ ส.ว.

 

เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดจากประชาชนแต่เกิดจาก “เครือข่าย” ที่ครอบครองอำนาจ คนที่อยากมีอำนาจก็ต้องดิ้นรนเข้าสู่ “เครือข่าย” มากกว่าทำให้ประชาชนยอมรับที่สุดจนชนะเลือกตั้ง รัฐบาล, ผู้มีอำนาจ และองค์กรอิสระในระบบนี้จึงทำอะไรบ๊องๆ ที่ขัดใจประชาชนได้ตลอดเวลา

แม้การเมืองจะเป็นเรื่องของการ “ดีล” หรือเจรจาต่อรองเป็นบางเรื่องบางกรณี แต่ไม่เคยมียุคไหนที่คำว่า “ดีลลับ” ถูกพูดแบบที่ทุกคนเข้าใจว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ดีลกับใครจนได้เป็นรัฐบาล เพราะดีลปกติคือดีลที่เปิดเผยได้ ส่วน “ดีลลับ” เป็นปรากฏการณ์ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เปิดเผยไม่ได้แต่เป็นที่รู้กัน

ไม่เพียงแต่ตำแหน่งนายกฯ จะเกิดจากดีลลับจนคนแพ้เลือกตั้งได้ตั้งรัฐบาล ตำแหน่ง ส.ว.หรือองค์กรอิสระก็เกิดจากขบวนการ “ดีลลับ” ในทางใดทางหนึ่งด้วย ส.ว.ที่ควรมาจากเลือกตั้งกลายเป็นมาจากการวางแผนของคนที่ทุกคนรู้ว่าใคร แม้แต่ประธาน ป.ป.ช.ก็ถูกแฉคลิปหลุดกรณีไปดีล

รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจประชาชน และถึงแม้คนแต่ละกลุ่มจะนิยามต่างกันว่าประชาธิปไตยคืออะไร แต่ไม่มีระบอบการปกครองที่ดีในสังคมไหนที่อยู่ได้ด้วย “ดีลลับ” ยั้วเยี้ยไปหมดจนกลายเป็นการปกครองระบอบเครือข่ายในความเป็นจริง

แม้รัฐธรรมนูญจะหมายถึงกฎหมายสูงสุดตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ใช่กฎหมายสูงสุดที่แท้จริงเพราะเต็มไปด้วยบทบัญญัติที่จรรโลงอำนาจ “เครือข่าย” ที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมา

 

“อํานาจสูงสุด” ในรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ที่อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญทั้งที่เขียนและไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ การทำงานของรัฐบาล, องค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองแบบต่างๆ จึงไม่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ (Public Accountabilit) เป็นลำดับแรกอย่างที่ควรเป็น

ตราบใดที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังอยู่ คนไทยก็จะต้องเจอการเมืองห่วยที่ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญมาจาก “ดีลลับ” ระดับต่างๆ ไม่รู้จบ ระบบราชการเป็นภาพสะท้อนระบบอุปถัมภ์มากกว่าความสามารถ เช่นเดียวกับระบบการเมืองที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเป็นคนซึ่งเก่ง, ดี และประชาชนยอมรับที่สุดอีกต่อไป

คดีตู้ห่าว, คดีอาจารย์พิรงรอง และคดีมาเฟียชายแดนเป็นอาการของโรคที่รัฐธรรมนูญ 2560 สร้างให้กับสังคมไทย ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปัญหาการปกครองโดยระบอบเครือข่ายอุปถัมภ์ก็จะรุนแรงแบบนี้ต่อเนื่อง เพราะไม่มีความจำเป็นที่ใครต้องทำตามประโยชน์สาธารณะหรือประชาชน

แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ปัญหาทุกอย่าง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 คือเชื้อร้ายที่ทำให้โรคร้ายกลายเป็นเรื่องปกติจนแปดปีแล้วที่ประเทศเป็นแบบที่ไม่ควรเป็น การเมืองไทยกลายเป็น “ระบอบประยุทธ์” ที่ประชาชนเป็นเพียงองค์ประกอบ ต่อให้นายกฯ จะไม่ได้ชื่อประยุทธ์แล้วก็ตาม

ประเทศไทยและคนไทยดีเกินกว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองแบบที่เป็นมาแล้วเกือบสิบปี และระบอบนี้ห่วยเกินกว่าที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือปกครองประเทศไปตลอดกาล