ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
Blue วาเลนไทน์
แก้ รธน. ‘ไม่หวาน’
ไม่รู้ว่าคนจะเอ็นจอยกับเทศกาล “เดือนแห่งความรัก” ใน “ปีแห่งความเดือดดาล” นี้แค่ไหน …
เพราะระดับโลก ช่วงนี้ก็วิกฤตหนัก ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เริ่มต้นประกาศสงครามการค้าอย่างเป็นทางการ เล่นเอาตลาดทุนทั่วโลกปั่นป่วนไปทั้งตลาด
ในไทยก็เจอผลกระทบหนัก แว่วมาว่า สยามเมืองยิ้มเราก็อยู่ในลิสต์กำแพงภาษีเช่นกัน ได้แต่อวยพรให้รัฐบาล “วางแผนรับมือไวๆ” ช่วยผ่อน “เสียหายมากให้กลายเป็นเสียหายน้อย” ก็ยังดี
เศรษฐกิจไทยว่าหนักแล้ว การเมืองไทยยิ่งไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
รู้กันว่าปัญหาเชิงโครงสร้างสำคัญสุดที่เป็น “พันธนาการกดขี่ทางการเมืองและระบอบประชาธิปไตยไทย” คือรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หรือที่รู้จักกันดีว่าฉบับ “มรดก คสช.”
บังคับใช้มาเข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่า “จะแตะต้องได้”
หลังจากดึงดันไม่บรรจุเป็นวาระพิจารณามายาวนานด้วยความกังวลจะขัดต่อ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สภาก็ได้ฤกษ์หารือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมการแก้ไขมาตรา 256
เป้าหมายหลักๆ คือเพื่อเปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมี 2 ร่าง คือร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคประชาชน
และนั่นก็คือปัญหา เพราะเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ก็ควรจะมีร่างของพรรคร่วมอื่นๆ ยื่นประกบ แม้แต่ ครม.เองก็ไม่ส่งเสียงสักแอะ
กล่าวโดยเปรียบเทียบ ร่างของเพื่อไทยกับพรรคประชาชน มีหลักการใหญ่ๆ ตรงกัน แตกต่างกันในรายละเอียด
เช่น ให้ยกเลิกเสียง ส.ว. 1 ใน 3 ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปใช้เสียงกึ่งหนึ่งของ 2 สภา และจัดให้มี ส.ส.ร.
ที่ต่างกันก็เช่น ที่มาของ ส.ส.ร. และคุณสมบัติ ส.ส.ร. พรรคประชาชนกำหนดไว้ว่า ส.ส.ร.ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐและระบอบการปกครอง ขณะที่เพื่อไทยเขียนระบุไว้เลยว่าห้ามแก้หมวด 1 และ 2 ใน รธน.ปัจจุบัน เป็นต้น
โดยภาพรวมก็ถือว่าค่อนข้างสมเหตุสมผลในทางหลักการและวิชาการ
ในรายละเอียด ต้องยอมรับว่า พรรคประชาชนอาจจะเขียนข้อกฎหมายได้อย่างก้าวหน้าสมเหตุผลในทางวิชาการกว่าในบางเรื่อง
แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ในทางความคิด ว่าทำไมเพื่อไทยถึงลดเป้าหมายทางการเมืองลง เพราะจุดยืนของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันคือการเขียนกฎหมายแบบพยายามปิดทางให้กลุ่มพลังการเมืองอื่นๆ ยกมือให้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในทางการเมือง การเดินเกมของทั้ง 2 พรรค จัดได้ว่าเป็นการเปิดเกมรุกของฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะวาระการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 มีการเพิ่มหมวดใหม่ ให้มี “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) ซึ่งปลายทางก็คือการรื้อรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ครั้งใหญ่นั่นเอง
พลันที่มีข่าวการเปิดฉากรื้อรัฐธรรมนูญฉบับมรดก คสช. ด่านแรกคือการแก้ ม.256 เพื่อลดอำนาจ ส.ว.ในการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการร่างและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ…
พลังฝ่ายต้านการเปลี่ยนแปลงรอบนี้เป็นของวุฒิสภาสีน้ำเงิน และปีกพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค
เริ่มแรก แท็กทีมส่งเสียงยืนยันว่าการอภิปรายโหวตญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 มีความเสี่ยง เพราะต้องยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เมื่อปี 2564 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องผ่านกระบวนการทำประชามติ ขอความเห็นชอบจาก “ประชาชน” ผ่านกระบวนการประชามติ ในครั้งแรกเสียก่อน
ขณะที่อีกฝ่ายยืนยันว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 นั้น มีความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบ
เด่นชัดเริ่มจากฟากสภาบน การให้สัมภาษณ์ของ ส.ว.สายสีน้ำเงินหลายคน แสดงจุดยืนขอขัดขวางแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ไม่ว่าจะเป็นที่เปิดหน้าสุดโต่งกันไปเลย เช่น พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ ประกาศขอคว่ำทั้ง 2 ร่าง ไม่ว่าของใครก็คว่ำหมด พร้อมแสดงจุดยืนรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องแก้รายมาตราเท่านั้น
หรือจะเป็น วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ที่แสดงจุดยืนว่า ส.ว.ส่วนใหญ่มองไม่ตรงกับ ส.ส. ไม่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญที่กระทบหมวด 1 หมวด 2
หรือจะเป็น ปริญญา วงษ์เชิดขวัญ อีกหนึ่ง ส.ว.ที่ออกมายืนยัน คัดค้านตัดอำนาจ ส.ว. ในการร่วมโหวตรัฐธรรมนูญ
ความหมายก็คือ ไม่เอาด้วยกับการโหวตร่างแก้ไข รธน.ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนนั่นแหละ
มาชัดเจนตรงไปตรงมาฝากของสภาบน ก็คือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ วันก่อนการประชุม
นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ทำหนังสือแจ้งต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา อ้างความเห็นสำนักงานกฎหมาย ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง
ตามมาติดๆ ด้วย สีน้ำเงินตัวจริงเสียงจริง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แถลงข่าวด่วน แจ้งมติพรรคภูมิใจไทยจะไม่ร่วมสังฆกรรมการแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมด
เมื่อวุฒิสภาสีน้ำเงินออกมาส่งสัญญาณไม่เอาด้วยการแกัไขรัฐธรรมนูญ พร้อมๆ ไปกับ เบอร์ 1 แห่งพรรคภูมิใจไทย ประกาศไม่ขอร่วมสังฆกรรมการแก้รัฐธรรมนูญ การรื้อมรดก คสช.ครั้งนี้จึงไร้อนาคต
เพราะภูมิใจไทยคือพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหลัก มีเสียงเป็นอันดับ 2 รองจากเพื่อไทย ทั้งยังกุมกระทรวงสำคัญๆ ไว้หลายกระทรวง
ขณะที่วุฒิสภา ก็เป็นที่รู้กันว่า 80-90% ของสภาบนแท็กทีมกันแน่นขนาดไหนในนาม ส.ว.สีน้ำเงิน
ถามว่าการขยับของ “ส.ว.สีน้ำเงินและพรรคภูมิใจไทย” เป็นเรื่องน่าประหลาดใจไหม? คำตอบเบื้องต้นก็คือ ไม่น่าแปลกใจและเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
หากยังจำได้กับกรณีการขวางการโหวต กม.ประชามติ พลิกจุดยืนขอเปลี่ยนเกณฑ์กะทันหัน เมื่อไม่นานมานี้ จนต้องยับยั้งแช่แข็งร่าง กม.ประชามตินานถึง 180 วัน
การขวางแก้ไข ม.256 เพื่อปูทางไปสู่การรื้อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เป็นสายธารเดียวกัน ต่อเนื่องกันมานั่นแหละ
ถามว่าภูมิใจไทยกับ ส.ว.สีน้ำเงินเดือดร้อนอะไร ถึงจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ คำตอบคือแทบไม่เดือดร้อนเลย ได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ หากจะมีสิ่งที่อยากแก้บ้าง ก็สามารถทำด้วยการแก้รายมาตราได้
อย่าลืมว่าวันนี้ภูมิใจไทยกำหนดสถานะทางการเมืองของตัวเองแบบใด
แถมในทางการเมือง การเดินเกมของภูมิใจไทยยังเป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับพรรคแกนนำหลักรัฐบาลอีกต่างหาก
ขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง ผลจากการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างตั้งรัฐบาล ทำให้โจทย์เรื่อง “การประนีประนอมเพื่อให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจจนครบวาระ” มีความสำคัญกว่าการรื้อมรดก คสช.อย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปโดยปริยาย
ไม่แปลกใจหากจะไม่ได้ยินนโยบายผลักดันแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากปากคนสำคัญอย่าง นายกฯ กระทั่งนายทักษิณ ชินวัตร (ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง)
ไม่มีการพูดคุยใน ครม. หรือมีมติผลักดันใดๆ ออกมา มีเพียงทีมงานพรรคคนเดิมๆ ออกมาพูด
นับวัน “แสงสว่างปลายทางอุโมงค์แห่งการรื้อมรดก คสช.” จึงยิ่งหดแคบลง
วันนี้คนไทยจึงหมดความหวังกับการยกร่างรัฐธรรมนูญในระบบการเมือง คนที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างมั่นคง เหลือน้อยลงทุกที
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับมรดก คสช.ที่วิจารณ์กันมาหลายปี สังคมมีฉันทามติมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ว่าต้องแก้ไข
คราวนั้น พรรคที่ชนะเลือกตั้งคือเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ รวมเสียงข้างมากได้สำเร็จ แต่ถูกกลเกมองค์กรอิสระ มรดกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย จนต้องหลุดจากอำนาจ
เช่นเดียวกับปี 2566 เป็นการเลือกตั้งที่คนมอบฉันทามติอย่างชัดเจนให้รื้อมรดก คสช. พรรคที่หาเสียงรื้อรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นนโยบายล้วนชนะการเลือกตั้ง คือก้าวไกลและเพื่อไทย รวมเสียงได้เด็ดขาด แต่ท้ายที่สุดก็ต้องพ่ายกลเกมมรดก คสช. ที่ออกแบบไว้
รัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้มาแล้วเกือบ 8 ปี สร้างวิกฤตรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายครั้ง
การอภิปรายโหวตแก้ รธน.มาตรา 256 รอบนี้ จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในรอบหลายปีที่จะรื้อมรดก คสช. ทิ้ง และออกแบบ “รัฐธรรมนูญใหม่” โดยได้ชื่อว่ามีที่มาอย่าง “ชอบธรรม”
แต่ประเมินจากจุดยืนของเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจ จุดยืนของ ส.ว.สีน้ำเงิน และพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรควันนี้แล้ว
ต้องยอมรับว่า “เป็นไปได้ยาก”
ดังนั้น ที่คนไม่ค่อยสนใจติดตามการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้ อาจไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่าสำคัญ แต่อาจจะเป็นเพราะรู้ว่าสำคัญมาก แต่ก็รู้มานานแล้วว่ามันแก้ไม่ได้
“ศึกแก้รัฐธรรมนูญช่วงต้นเดือนแห่งเทศกาลแห่งความรัก” จึงจบลงแบบ “ไม่หวาน” เป็น Blue วาเลนไทน์ ที่ดูหม่นหมอ
เอวัง…ก็มีด้วยประการฉะนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022