ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ
แก๊งคอลเซ็นเตอร์
สะพานข้ามสู่พม่า
ตามยุทธศาสตร์ของจีนต่อไทยและพม่า
การเดินทางไปเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เป็นความจำเป็น เหมือนต้องแล่นเรือจากเกาะไปสู่แผ่นดินใหญ่ในท่ามกลางคลื่นลมแรง จากการปะทะกันของมหาอำนาจจีนและอเมริกา แม้ผ่านการต่อสู้มาหลายปีแล้ว แต่ปีนี้ได้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งประกาศต่อต้านจีนแบบเอาเป็นเอาตาย
ช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมาจีนได้พัฒนาประเทศกลายเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ต้องการทรัพยากรและพลังงาน รวมทั้งตลาดระบายสินค้าจากทุกทวีป การฟื้นฟูเส้นทางสายไหมในยุคใหม่จึงเกิดขึ้น เราจึงได้เห็นการลงทุนของจีนในการเสาะหาทรัพยากรในแอฟริกา ออสเตรเลีย การบุกตลาดในยุโรปและทวีปอเมริกา การเข้าไปแสวงหาพลังงานในตะวันออกกลาง เอเชียกลาง และรัสเซีย
แม้ประเทศจีนจะมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลอยู่ด้านแปซิฟิกเป็นส่วนใหญ่ แต่เกาหลีและญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้กันก็เป็นประเทศอุตสาหกรรมซึ่งในอดีตจีนแข่งขันสู้ไม่ได้และก็ไม่ได้เป็นตลาดใหญ่อะไร ทั้งไม่สามารถแสวงหาทรัพยากรและพลังงานได้
ทางออกสู่โลกที่ดีสุดกลับอยู่ที่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีช่องทางที่จะผ่านชายแดนทางบกลงไปได้ ก็คือจะต้องผ่านปากีสถาน พม่าและไทย ตามยุทธศาสตร์จีนที่ดำเนินไปแล้ว
เส้นทางที่ 1 ท่าเรือที่กวาดาร์ ปากีสถาน
ระยะทางจากจีนนับจากเมืองคาชการ์ ที่อยู่ทางตะวันตกสุดของมณฑลปกครองตนเองของชนชาติอุยกูร์ในซินเจียง ไปสู่กวาดาร์เมืองริมมหาสมุทรอินเดีย ยาว 1,500 กิโลเมตร ด้วยเหตุนี้ จีนจึงช่วยปากีสถานสร้างท่าเรือที่กวาดาร์ ให้เป็นท่าเรือน้ำลึกในเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่
จีนที่ต้องการพลังงานน้ำมันและก๊าซในเอเชียกลาง มองว่าปากีสถานจะเป็นจุดรวมพลังงานโดยมีแผนจะต่อท่อน้ำมัน/ก๊าซจากที่ต่างๆ ในสาธารณรัฐเอเชียกลาง 5 แห่ง มายังกวาดาร์
รวมทั้งทำให้กวาดาร์เป็นจุดแวะพักเรือบรรทุกน้ำมันดิบของตน ที่มาจากอิหร่านและแอฟริกาอีกด้วย
เส้นทางที่ 2 ท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิว
และระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า
ที่จีนทำนานแล้วคือโครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิวในอ่าวเบงกอล ประเทศพม่า กับคุนหมิงในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2552 โดยมีจุดเริ่มต้นที่เมืองเจ้าผิว ในรัฐยะไข่ ผ่านเขตมาเกว เขตมัณฑะเลย์ และรัฐฉาน และเข้าสู่เขตเมืองหรุยลี่ ในมณฑลยูนนานของจีน ท่อก๊าซในเขตพม่าความยาว 793 กิโลเมตร พอถึงปี 2556 จีนก็ส่งก๊าซได้ และปี 2557 ก็ส่งน้ำมันได้ น้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา ไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา
ปี 2558 รัฐบาลพม่าได้อนุมัติสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิว มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ CITIC Consortium ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนของ 6 บริษัท CITIC Group เป็นกลุ่มบริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลจีน และกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์จากประเทศไทย
สมัยออง ซาน ซูจี ได้ตกลงกับจีนในปี 2561 เพื่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจ (China-Myanmar Economic Corridor) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลงนามไว้ระหว่างการเดินทางเยือนพม่าเมื่อเดือนมกราคม 2563 จากนั้นก็ได้ร่วมทุนกับรัฐบาลพม่า ในสัดส่วน 85 : 15 ตั้งบริษัทผู้ดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกที่เมืองเจ้าผิว ซึ่งถือเป็นโครงการเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ตาม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า ซึ่งมีโครงข่ายเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนนและรถไฟที่เชื่อมจากรัฐยะไข่ ผ่านพม่า ขึ้นไปถึงนครฉงชิ่ง และมณฑลเสฉวน
หลังรัฐประหาร 2564 จีนยังเดินหน้าต่อ… เมษายนปี 2567 จีนส่งคนงานและช่างเทคนิคกว่า 300 คนไปก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิว
การรัฐประหารและสงครามในพม่าหยุดจีนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลออง ซาน ซูจี หรือกองกำลังในเขตแดนของกลุ่มชาติพันธุ์ จีนต้องเดินหน้าโครงการไปเรื่อยๆ เพราะนี่คือเส้นเลือดใหญ่
ความสำคัญของประเทศไทย
ในยุทธศาสตร์เส้นทางที่ 3
ออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
เส้นทางที่ 3 ดูได้จากการที่จีนลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงเข้ามาจนถึงเวียงจันทน์ประเทศลาวและเตรียมต่อกับรถไฟความเร็วสูงในไทย และสามารถต่อลงไปยังประเทศมาเลเซียได้ตามแผนที่วางไว้
แต่รถไฟความเร็วสูงในไทยที่ยังล่าช้าอยู่มาก
การเดินทางไปของนายกรัฐมนตรีไทยครั้งนี้ก็เหมือนไปยืนยันว่าจะเร่งก่อสร้างให้เร็วขึ้น
1) ถ้าหากไทยไม่ทำเส้นทางนี้ การลงทุนของจีนที่มาถึงลาวก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยเพราะประเทศลาวมีคนไม่กี่ล้านคน และไปออกทะเลตรงไหนก็ไม่ได้
2) ความหวังที่จะขุดคลองไทยเพื่อเชื่อมอ่าวไทยกับมหาสมุทรอินเดียก็ดูเป็นความหวังที่เลือนรางเพราะยังไม่มีแนวโน้มว่าฝ่ายชนชั้นปกครองของไทยในหลายระดับจะมีใครเห็นด้วยแม้จะมีการผลักดันผ่านนักการเมืองและนักธุรกิจกลุ่มต่างๆ ก็ดูแล้วยังไม่มีผล
ถ้าไม่มีคลองไทย ท่าเรือน้ำลึกในประเทศกัมพูชาก็ไม่มีประโยชน์ ต้องย้อนกลับไปผ่านช่องแคบมะละกา เป็นการลงทุนก่อสร้างที่ไม่คุ้ม สภาพขณะนี้จีนดูเหมือนจะหมดหวังและทิ้งความสำคัญของกัมพูชาไปแล้ว
3) แนวชายแดนพม่าซึ่งติดอยู่กับไทย และจีน เกินกว่า 4,000 กิโลเมตร ถ้าจีนร่วมมือกับประเทศไทยอย่างจริงจัง อาจสามารถสร้างแรงกดดันได้เกือบตลอดทั้งแนวชายแดนพม่า จะทำให้เกิดการต่อรองกับกองกำลังชาติพันธุ์ได้ระดับหนึ่ง ซึ่งมากพอที่จะทำให้การดำรงชีวิตและการทำธุรกิจประกอบอาชีพสุจริต เติบโตขึ้นได้ แทนธุรกิจผิดกฎหมาย
ถ้าเป็นแบบนี้ทั้งจีนและไทยก็จะได้ประโยชน์จากการค้า และสามารถเปิดเส้นทางไปใช้ท่าเรือในประเทศพม่าเพื่อออกมหาสมุทรอินเดีย ทั้งท่าเรือและตอนเหนือที่เจ้าผิวซึ่งจีนสร้างไปแล้วและโครงการที่ไทยเคยเสนอคือท่าเรือทวาย
ต้องลงมือทุบคอลเซ็นเตอร์
ตอนเหล็กร้อนแดง
วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาครบ 4 ปีของการรัฐประหารในพม่า ไม่เพียงสถานการณ์การเมืองยังปั่นป่วน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในพม่ากลับยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ ประชาชนทุกชนชาติในพม่ายากลำบากมากขึ้น คนที่มีความรู้ความสามารถพยายามหนีออกจากประเทศ คนใช้แรงงานก็หนีเข้ามาทำงานในประเทศไทย สถานการณ์การสู้รบเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นความแน่นอน
ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสใหญ่เกี่ยวกับการใช้พม่าเป็นฐานของแก๊งอาชญากรข้ามชาติซึ่งทำอาชีพหลอกลวงผู้คนผ่านคอลเซ็นเตอร์และค้ายาเสพติด ที่ได้ทำลายเศรษฐกิจทั้งจีน ไทย และประเทศอื่นๆ ถ้าจะปราบปรามเรื่องนี้จะต้องร่วมมือกันทั้งจีนและไทย รวมทั้งจะต้องเข้าไปกดดันชนชาติต่างๆ ซึ่งมีพื้นที่เป็นฐานการก่ออาชญากรรม ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ตามชายแดนไทย-พม่า
ถ้าการกดดันด้วยมาตรการต่างๆ ได้ผล แก๊งทั้งหลายอาจย้ายประเทศ เข้าไปยังกัมพูชาและลาว ซึ่งจีนและไทยพอจะต่อรองรัฐบาลประเทศนั้นไปจัดการได้ง่ายกว่าในพม่า
แต่ที่สำคัญคือไทยต้องจัดการเจ้าหน้าที่ไทยที่ทุจริต และต้องปรับปรุงกฎหมายไทย
นักวิเคราะห์ประเมินว่าจังหวะนี้จีนจะต้องตัดสินใจเข้าไปดูแล จัดการให้เกิดความเรียบร้อย เพื่อคุมเส้นทางยุทธศาสตร์ จากประวัติศาสตร์ของพม่าประเมินได้แล้วว่าไม่มีทางที่จะรวมประเทศเป็นเอกภาพได้ ดังนั้น การติดต่อกับรัฐบาลกลางจึงเป็นขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้ถูกต้องตามหลักสากล
ในทางปฏิบัติเปิดเผยจีนไม่สามารถส่งกำลังเข้ามายึดครองพม่าได้ จีนจึงจะต้องจัดการกลุ่มการเมืองที่มีกำลังปกครองพื้นที่ตลอดเส้นทางและแนวชายแดน พม่า ไทย จีน ต้องใช้ทุกวิธีที่จะบีบ ทั้งเศรษฐกิจและการทหาร เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย
การกำจัดอาชญากรข้ามชาติ จะกลายเป็นสะพานข้ามแดนเข้าไปในพม่าเป็นจริงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เดือดร้อนในทุกประเทศ จีนยิงกระสุนนัดนี้จะได้นกหลายตัว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022