ทำไมมีคนไทยจำนวนมาก ถูกฮามาสจับเป็นตัวประกัน

Thai citizens, who were released from Hamas captivity in Gaza as part of the Israel-Hamas ceasefire deal, leave Shamir Medical Center (Assaf Harofeh) in Be'er Ya'akov, Israel, Saturday, Feb. 8, 2025. (AP Photo/Ohad Zwigenberg)

บทความต่างประเทศ

 

ทำไมมีคนไทยจำนวนมาก

ถูกฮามาสจับเป็นตัวประกัน

 

คนไทย 5 คน ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ปี 2023 ระหว่างที่ฮามาสสู้รบกับอิสราเอล ที่สุดแล้ว ก็เดินทางกลับประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังได้รับการปล่อยตัวออกมา

คนไทยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของคนไทย 31 คน ที่ถูกกลุ่มฮามาสจับไว้เป็นตัวประกันระหว่างการสู้รบกับอิสราเอล และก่อนหน้านี้ ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว 23 คน เสียชีวิต 2 คน และอีก 1 คน สถานะยังไม่แน่ชัดว่าเป็นอย่างไร

สำนักข่าวเอพี ได้รายงานโดยอ้างตัวเลขจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่ระบุว่า มีคนไทย 46 คนถูกสังหารจากการปะทะกันของฮามาสกับอิสราเอล ซึ่งรวมทั้งคนไทย 2 คนที่เสียชีวิตระหว่างที่ถูกฮามาสจับกุมตัวไว้ด้วย

ซึ่งคนไทยที่ถูกจับไปเป็นตัวประกัน 31 คนนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแรงงานไทยหลายหมื่นคนที่ทำงานในอิสราเอล เป็นตัวเลขที่หลายคนสงสัยว่า ทำไม จึงมีคนไทยอยู่ที่อิสราเอลจำนวนมากเช่นนี้

 

เอพีรายงานเรื่องนี้ไว้ว่า สมัยก่อน อิสราเอลเคยต้องพึ่งพาแรงงานชาวปาเลสไตน์ ก่อนที่จะเริ่มมีแรงงานอพยพเข้าไปเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ชาวปาเลสไตน์ก่อกบฏในช่วงปี 1987-1993 ที่เรียกว่าเหตุการณ์ อินติฟาดา

โดยแรงงานอพยพที่เข้าไปทำงานในอิสราเอล ส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย และคนไทยยังเป็นแรงงานต่างชาติภาคการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในอิสราเอลยุคปัจจุบัน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับแรงงานกลุ่มนี้มากกว่าการทำงานอยู่ที่บ้านเกิด

ทั้งนี้ ประเทศไทยและอิสราเอล ได้ทำข้อตกลงทวิภาคีเมื่อราวสิบปีก่อน เพื่อผ่อนปรนแนวทางให้กับแรงงานในภาคการเกษตร

โดยอิสราเอลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงสภาพการทำงานของแรงงานภาคการเกษตรชาวไทย โดยเมื่อปี 2015 ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า คนงานเหล่านี้มักจะถูกจัดให้อยู่ในที่พักอาศัยชั่วคราวที่ไม่เหมาะสม และยังได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายอย่างมาก อีกทั้งยังถูกบังคับให้ทำงานเป็นเวลานานเกินกว่ากฎหมายกำหนด

แถมยังต้องอยู่ในสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และถูกปฏิเสธสิทธิในการเปลี่ยนนายจ้าง

และจากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ก็ยังพบว่า แรงงานเหล่านี้ยังได้รับเงินค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดอยู่

 

ทั้งนี้ เอพีรายงานว่า ก่อนหน้าสงครามฮามาส-อิสราเอล จะเกิด มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในอิสราเอลราว 30,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานภาคการเกษตร หลังเกิดเหตุรุนแรงในเดือนตุลาคม 2023 มีแรงงานไทยกลับบ้านเกิดราว 7,000 คน จากการช่วยเหลือของรัฐบาลในการนำแรงงานกลับบ้านเกิด แต่ด้วยค่าแรงที่สูง ทำให้แรงงานไทยหน้าใหม่หลายคนเดินทางไปทำงานที่อิสราเอล

พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอล บอกว่า ตอนนี้ยังมีแรงงานไทยกว่า 38,000 คนอยู่ในอิสราเอล

จากสงครามที่เกิดขึ้น ทำให้อิสราเอลประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานอพยพหนีออกนอกประเทศจำนวนมาก จนกระทรวงเกษตรอิสราเอล ต้องออกมาตรการจูงใจ เพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติให้กลับไปทำงานอีกครั้ง

หนึ่งในมาตรการคือการยืดระยะเวลาวีซ่าทำงานออกไป และจ่ายโบนัสให้อีกราว 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17,000 บาท) ต่อเดือน

ขณะที่เมื่อปี 2024 กระทรวงแรงงานของไทย อนุมัติให้แรงงานไทย 3,966 คน เดินทางไปทำงานที่อิสราเอล ทำให้อิสราเอลเป็น 1 ใน 4 จุดหมายปลายทางของแรงงานไทยเมื่อปีที่ผ่านมา

เอพีทิ้งท้ายว่า แรงงานต่างด้าวชาวไทยส่วนใหญ่ มาจากภูมิภาคที่ยากจนของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเงินที่ได้จากค่าแรงก็มากกว่าทำงานอยู่ที่ประเทศไทยหลายเท่า

ยังไม่นับรวมเงินโบนัสที่อิสราเอลจูงใจเพื่อให้แรงงานกลับไปทำ

เครดิตภาพ “เอพี”