ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

“เรียนกอง บ.ก.มติชนสุดสัปดาห์

ขอส่งบทความครับ

ตามไฟล์แนบ

อ4/2/2025 4.45″

 

นั่นคือการสื่อสารสั้นๆ ที่ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” แห่งคอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ มีมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์”

แจ้งการส่งบทความ “เราไหว้บรรพชนกันทำไม? : คุณค่าของการเซ่นไหว้ในชีวิตคนจีน” มาให้นำเสนอ

ถือเป็นบทความ “สุดท้าย” ของ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง”

สุดท้าย—ด้วยเมื่อ ส.8/2/2025 20.51 หรือสี่วันหลังจากนั้น

เราได้รับข่าว “การจากไป” อย่างไม่มีวันกลับด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

ในวัยเพียง 43 ปี

 

ภาพ “จำ” ที่มีต่อ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” มีหลายภาพ

หลายคนมีภาพจำ “เกรียน-เกรียน” ของเชฟ “หมี” แห่งครัวกาก-กาก ในยุคบุกเบิกของการทำคลิปผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ที่มากด้วยความดิบ กระด้าง

จนหลายคนเบิกตากว้างตอนติดตาม

แต่วันนี้ กลายเป็นเรื่องแสนธรรมดา เมื่อเราชมคลิปต่างๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย

ในยุคหลัง ภาพจำของ “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” ออกไปในทาง อาจารย์ นักวิชาการ ทางด้านศาสนา ศรัทธา ความเชื่อ

ที่มุ่งขยายกรอบ คลี่คลาย ความคิด ออกไปโดยกว้าง

ไม่ติดยึด ว่าศาสนา หรือเชื่อ ความศรัทธา อันไหนดี หรือดีกว่า

คอลัมน์ “ผี พราหมณ์ พุทธ” คือเวทีที่สะท้อนจุดยืนนั้นโดยแจ้งชัด

 

บทความสุดท้าย “เราไหว้บรรพชนกันทำไม? : คุณค่าของการเซ่นไหว้ในชีวิตคนจีน”

“คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” ก็ยืนยันเช่นนั้น

ขออนุญาตยกบางส่วนมานำเสนออีกครั้ง

“…การอ้างความจริงสูงสุด (Truth claim)

ซึ่งมักก่อให้เกิดความขัดแย้งในทางศาสนาอยู่บ่อยๆ

เพราะใครก็ล้วนอ้างว่าตนถือความจริงสูงสุดทั้งนั้น

พุทธก็มีของตัวเอง

อิสลาม คริสต์ ฮินดู หยู ฯลฯ ต่างก็มีความจริงสูงสุดที่แตกต่างกัน

แล้วใครกันแน่ที่ถูกต้องที่สุด?

จริงๆ จะเชื่อแบบนี้ในใจ ในกลุ่มก้อนศาสนิกพวกตนนั้นไม่แปลก

แต่เมื่อป่าวประกาศออกมาอย่างแข็งกร้าวรุนแรง

ผมคิดว่าท่าทีเช่นนี้อาจมีปัญหาได้

โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เราพยายามสร้างการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย

ที่กล่าวมานั้นผมเป็นห่วง

ไม่อยากให้ชาวพุทธบางส่วนทำให้พุทธศาสนาซึ่งเคยโอบรับ เปิดกว้าง ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของผู้คนแล้วปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลาย

กลายเป็นสิ่งรุนแรง แข็งกร้าว ไล่ตัดสินผู้คนที่เห็นต่าง

เราอาจแสดงถึงความเมตตาด้วยบุคลิกลักษณะที่หลากหลายได้

แต่เราจะเมตตาได้อย่างไรจากทัศนคติที่คับแคบเช่นนั้น…”

การ์ตูนโดย อรุณ วัชระสวัสดิ์

จากจุดยืนที่สะท้อนผ่านบทความสุดท้ายข้างต้น

ชัดเจน “คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง” เรียกร้อง การลด “ทัศนคติที่คับแคบ” ลง โดยเฉพาะในเรื่องความเชื่อ ศรัทธา ต่อสิ่งต่างๆ

ผี พราหมณ์ พุทธ และศาสนา อื่นๆ ควรถูกมอง สัมผัส เรียนรู้ อย่างเท่าเทียม เปิดกว้าง

ไม่ตัดสินว่า อะไรเหนือกว่าอะไร

หากเราทำเช่นนั้นได้

ย่อมทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน

สามารถเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงศาสนา แต่เป็นสิ่งอื่นๆ ได้อย่างรอบด้าน เปิดกว้าง อ่อนน้อมถ่อมตน

 

ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2565

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เคยเขียน คารวาลัย การจากไปของท่านติช นัท ฮันห์ (มรณภาพวันที่ 22 มกราคม 2565)

ที่เคยได้สร้างแรงดลใจอย่างมากมายในวัยหนุ่ม

แต่ในตอนหลัง เขายอมรับว่า “ผมไม่ได้รู้สึกใกล้ชิดท่านเหมือนในวัยหนุ่มอีกแล้ว”

“ผมไม่ได้อ่านงานของท่านมานานเพราะชีวิตและวิธีคิดเปลี่ยนไป”

แต่ถึงจะเปลี่ยนอย่างไร คมกฤช อุ่ยเต็กเค็ง ยังคารวาลัยถึงท่านติช นัท ฮันห์ ว่าเป็นดั่งกวีที่ท่านเขียน

คือ “เป็นเมฆ

เมฆไม่เคยตาย

แต่กลายเป็นฝน เป็นแม่น้ำ

และกลับกลายเป็นเมฆอีกครั้ง”

หวังว่า คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คงเป็น “เมฆ” เฉกเช่นนั้น •