วาระแห่งอาเซียน

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

วาระแห่งอาเซียน

 

หลังจากดาราจีนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ล่อลวงมาบังคับทำงานให้ธุรกิจจีนเทา อาชญากรรมยุคดิจิทัลที่สร้างความเดือดร้อนให้คนไทย เสียหายมายาวนานเริ่มได้รับการจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง

ผู้ช่วยรัฐมนตรีจากจีนเดินทางมาประเทศไทยพร้อมข้อมูลที่ชัดเจนว่าทำการข่าวมาเป็นอย่างดี มาประชุมในข้าราชการไทย ร่วมกันวางมาตรการเคลียร์ปัญหาเด็ดขาด

รัฐบาลจีนเชิญ “นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร” ไปเยือน พบ “สี จิ้นผิง” ซึ่งได้ขอบคุณผู้นำไทยที่ร่วมแก้ไขการทำหาหากินของแก๊งอาชญากรรมจีนอย่างจริงจัง

การตัดไฟ ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ต หยุดส่งน้ำมันที่ก่อนหน้านั้น รองนายกรัฐมนตรี 2 คนเถียงกันให้วุ่นวายว่าทำได้หรือไม่ได้ อ้างความเสียหายมากมายว่าจะเกิดขึ้นกับการผิดสัญญาที่ทำไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน กลับถูกสั่งการให้จัดการทันทีก่อนที่นายกรัฐมนตรีไทยจะไปเยือนจีน

จัดการแล้วไม่เห็นมีอะไรยุ่งยากอย่างที่รัฐมนตรีที่ดูแลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอ้างและอ้อยอิ่งไม่ยอมดำเนินการก่อนหน้านั้น เช่นเดียวกับสายสัญญาณอินเตอร์เน็ต และน้ำมันเชื้อเพลิงที่หยุดส่ง

 

ความเดือดร้อนของประชาชนประเทศเพื่อนบ้านถูกหยิบยกมาขอความเห็นใจ

แต่การจัดการเด็ดขาดไม่ได้หยุดที่ชายแดนเมียนมาเท่านั้น คิวต่อไปที่ต้องเคลียร์ให้จบคือชายแดนกัมพูชา ซึ่งมีปัญหาเดียวกัน

กลายเป็นว่าแม้ตึกที่เป็นศูนย์บัญชาการจะอยู่พื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่เครื่องไม้เครืองมือ สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดส่งไปจากประเทศไทย การจับกุมตามข้อมูลการข่าวทำให้ภาพประเทศไทยเป็นแหล่งพักพิงของอาชญากรข้ามชาติ ศูนย์ปฏิบัติการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ที่อยู่แหล่งพำนักเพื่อบัญชาการอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพมหานครที่มีความเลิศหรู สะดวกสบายมากกว่า

การทำมาหากินของธุรกิจใต้ดิน ทั้งแก๊งโจรดิจิทัล ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การพนันออนไลน์ สร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กับนักธุรกิจสีเทา สีดำ โดยเจ้าหน้าที่ไทยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เหมือนรู้ทั้งรู้แต่ไม่คิดจะทำอะไร ด้วยเหตุผลที่พูดกันว่า “รู้ๆ กันอยู่”

มหันตภัยที่หลับหูหลับตาปล่อยให้ประชาชนได้รับผลกระทบ เริ่มถูกกดดันให้ต้องจัดการอย่างเด็ดขาด

“ทักษิณ ชินวัตร” พ่อนายกรัฐมนตรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน มีภารกิจสำคัญคือช่วยแก้ไขปัญหาในเมียนมาที่ชนกลุ่มน้อยจับอาวุธต่อต้านอำนาจรัฐบาลกลางที่เป็นเผด็จการ และสร้างปัญหามากมายให้กับเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนธุรกิจผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาซื้ออาวุธ และผู้อพยพทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบเข้ามาหางานทำ

ก่อความยุ่งยากใหญ่หลวงให้ประเทศไทยเราในการหาทางคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม เพราะประเทศเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ประชากรที่หลั่งไหลเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย

 

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ประเทศไทยเคยมีเด็กเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปีในช่วงปี 2506-2526 และเคยมีเด็กเกิดจำนวนสูงสุดในปี 2514 มากถึง 1,221,228 คน ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีจำนวนเด็กเกิดต่ำ 6 แสนคนตั้งแต่ปี 2562 จำนวนเด็กเกิดได้ลดต่ำลงมาอีก จนในปี 2567 เด็กเกิดในประเทศไทยได้ลดลงมาต่ำกว่า 5 แสนคนเป็นปีแรก

จำนวนเด็กเกิดที่ลดลงอย่างมากนี้ ทำให้อัตราส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัยเมื่อปี 2548 คือมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด จากนั้นประเทศไทยใช้เวลาอีกเพียงไม่ถึง 20 ปี จนกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2567 (อัตราส่วนผู้สูงอายุเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด)

สถาบันวิจัยประชากรและสังคมได้สำรวจความเห็น “สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ” ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม 2567 พบว่า 71% เห็นด้วยว่าจำนวนเด็กเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ, 44% เห็นด้วยกับนโยบายส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น

 

สาเหตุที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก

สาเหตุหลักที่คนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก เพราะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายสูง การเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่เกิดจนจบปริญญาตรีในสถาบันรัฐบาลใช้เงิน 1.6 ล้านบาท/คน และอาจเพิ่มเป็นเท่าตัวหากเรียนเอกชน, ความกดดันในการทำงาน เศรษฐกิจที่โตช้าและค่าแรงถูกแช่แข็ง ทำให้คนต้องทำงานหนักขึ้น ขาดความมั่นคงทางการเงิน, คนรุ่นใหม่ต้องการใช้ชีวิตส่วนตัว ท่องเที่ยว หรือพัฒนาตนเองมากกว่าการมีลูก, การขาดเครือข่ายญาติช่วยเลี้ยงดู เช่น ปู่ย่าตายาย ทำให้การเลี้ยงลูกเป็นภาระหนัก, บางคนมองว่าสังคมไทยไม่น่าอยู่สำหรับลูกหลาน จึงเลือกไม่ให้กำเนิดเพื่อ “ไม่รู้สึกผิด”

ความจำเป็นภายในประเทศที่ต้องขาดแคลนบุคลากร ขณะที่ถูกกระทบจากธุรกิจสีเทา เป็นปัญหาข้ามชาติ สะท้อนการส่งผลถึงกันและกันทั้งด้านดีและด้านร้ายอย่างยากทึ่จะควบคุม เพราะพัฒนาการของสังคมโลกยุคใหม่มีปัจจัยที่กำหนดความเป็นไปเกินกว่าจะถูกบริหารจัดการตามการแบ่งเขตแดนอีกต่อไปทั้งด้วยพัฒนาของเทคโนโลยีและความคิดของผู้คนที่ให้ความสำคัญกับการเป็นประเทศ เป็นชาติน้อยลง

การปรับตัวของอำนาจรัฐจำเป็นต้องขยับขยายด้วยการยอมรับความเป็นจริงนี้มากขึ้น เพื่อสามารถรับมือกับความโกลาหลอันเกิดจากพัฒนาการของระบบการจัดการไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีทางหยุดยั้งได้นี้

 

ดูเหมือนนายกรัฐมนตรี-แพทองธาร ชินวัตร จะมองเห็นความจำเป็นที่อำนาจรัฐจะต้องปรับตัวนี้แล้ว

ก่อนไปเยือนประเทศจีน มีการพูดถึง “วาระแห่งอาเซียน” ที่จะซ้อนเข้ามากับ “วาระแห่งชาติ” ทั้งหลาย

หาก “พ่อนายกฯ-ทักษิณ” จะอาศัยภารกิจที่ปรึกษาประธานอาเซียน นำเสนอให้เห็นภาพการพัฒนาของอำนาจรัฐที่แต่ละประเทศจำเป็นต้องทำงานในขอบเขตที่กว้างขี้นร่วมกัน

ความโกลาหลทั้งหลายอาจจะมีหนทางคลี่คลาย