เมื่อ ‘ผู้นำจิตวิญญาณ พท.’ ปราศรัย ชูผ่าตัด ‘การศึกษา-ศธ.’ ครั้งใหญ่ จริงจัง หรือแค่เทคนิคหาเสียง!!

ไปขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ช่วงโค้งสุดท้ายที่ จ.ศรีสะเกษ ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.) ทำเอาบรรดาผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงกับ “เหวอ” กันเป็นแถว

โดยกล่าวในช่วงท้ายๆ ว่า วันนี้สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือการศึกษาเด็กไทย ระบบการศึกษาทำให้เด็กพัฒนาตัวเองในเรื่องความคิดได้น้อย คงต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย และต้องใช้วิธีเรียนลัดในหลายเรื่อง ถ้าเก็บภาษีพนันออนไลน์ได้ มีเงินพอ จะจ้างครูเก่งๆ จากต่างประเทศมาช่วยสอน

“ลูกหลานผมไม่เรียนโรงเรียนไทยแล้ว ไปเรียนอินเตอร์หมด แต่ทำไมลูกหลานคนจนทำไมต้องเรียนโรงเรียนไทยที่ไม่พัฒนาการเรียนการสอนเลย มันไม่แฟร์ใช่ไหม ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ถ้ารัฐบาลมีตังค์ ก็ควรจะจ้างครูจากต่างประเทศบ้าง ใช้เทคโนโลยีบ้างมาสอนเพื่อให้ครูไทยได้กระตุ้นตัวเอง”

นายทักษิณยังบอกทิ้งท้ายว่า วันนี้ครูไทยมีภารกิจอยู่ 4 เรื่อง อาทิ เขียนรายงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ คอยรับโทรศัพท์ผลัดหนี้ ทวงหนี้ ปัญหาครอบครัว เป็นต้น ตนเห็นใจครู แต่วันนี้ระบบเราผิดพลาด ศธ.ใหญ่เกินไป ใหญ่จนการศึกษาเรามีปัญหา

ถึงเวลาที่ต้อง “ปรับ” กันครั้งใหญ่ เพื่อให้การศึกษา เพื่อให้ลูกหลานเราโตขึ้นมา มีความรู้สึกว่าตัวเองมีโลกที่กว้างขึ้น ไม่ใช่เรียนท่องจำ!!

 

ทําเอาผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ออกมาตอบโต้อดีตนายกฯ โดยขอบคุณที่ห่วงใย และใส่ใจการทำงานของ ศธ. แต่คิดว่าสิ่งที่พูด “ไม่ใช่” ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่พูดคุยกันมานาน ตั้งแต่สมัยที่นายทักษิณยังเป็นนายกฯ และคนที่แก้ปัญหาเป็นรูปธรรมที่สุด น่าจะเป็น พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.

“แต่ถ้าไม่มั่นใจ ให้ไปถามครูที่ไม่ต้องอยู่เวร ถามครูที่ขอย้าย แล้วได้ย้ายโดยไม่ต้องวิ่งเต้นจ่ายเงิน และต้องไปถามคนที่ประเมินวิทยฐานะ ที่ได้รับการประเมินอย่างตรงไปตรงมา” นายสิริพงศ์กล่าว

ขณะเดียวกัน นายสิริพงศ์ก็รับว่าปัญหายังไม่หมด แต่ต้องยอมรับว่าเป็นภาระงบประมาณด้วย ทั้งขาดบุคลากร ไม่ใช่แค่จ้างคนใหม่ แต่สิ่งที่ต้องคิดคือเพิ่มสกิลให้บุคลากรที่มีอยู่ ครูต้องได้รับความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการช่วยครู และ ศธ.กำลังรอเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการปีการศึกษา 2568 จะช่วยเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้

ส่วนที่นายทักษิณระบุว่า ถ้าเก็บเงินจากพนันออนไลน์ได้ จะมีเงินจ้างครูต่างชาตินั้น ไม่ควรนำ 2 เรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขเดียวกัน เพราะการพัฒนาศักยภาพครู เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ ส่วนการเก็บภาษีจากพนันออนไลน์ หรือทำสิ่งผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ ไม่ใช่เอามาเป็นเงื่อนไข เพราะเป็นคนละเรื่องกัน

ประเด็นที่ว่า ศธ.ใหญ่เกินไปนั้น รัฐบาลในยุคก่อนๆ เคยแยกกระทรวง แยกกรมพลศึกษา แยกวัฒนธรรมออกไป กลายเป็นว่าการแก้ปัญหาวันนั้น ไม่ได้คิดให้สุดทาง ฉะนั้น สิ่งที่ต้องแก้ไขคือทำอย่างไรให้การทำงานในองค์กรจะต้องบูรณาการกันและกัน ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูนกำลังทำ และวันนี้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วว่า ศธ.มีเอกภาพค่อนข้างสูงกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา

โดยมองว่าสิ่งที่นายทักษิณพูดบนเวที อาจะเป็น “เทคนิค” หาเสียง พร้อมยืนยันว่า ศธ.ยุคนี้ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์!!

 

นักวิชาการด้านการศึกษาอย่าง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ บอกเป็นโอกาสดีที่ผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค พท.เป็นห่วงเด็กๆ และระบบการศึกษาไทย ซึ่งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ พท.ควรนำสิ่งที่นายทักษิณพูด มาหารือร่วมกันแก้ไข และทำให้การศึกษาดีขึ้น

เพราะดูเหมือนสิ่งที่เป็นในขณะนี้ คือไปกันคนละทิศละทาง ทั้ง 2 พรรคน่าจะต้องมอง และทำความเข้าใจให้ตรงกัน ในเรื่องการเปลี่ยนแปลง ปฏิรูป ปฏิวัติทางการศึกษา

โดยปัญหาของ ศธ.มี 4 เรื่องหลักๆ

1. ศธ.ใหญ่เกินไป เพราะเป็นกระทรวงใหญ่ รวมศูนย์ รวมงาน จะทำอย่างไรที่ให้มีขนาดเล็กลง ควรกระจายอำนาจลงไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล

2. ปัญหางบประมาณ ที่พูดตรงกันคืองบฯ 3 แสนล้านบาท เป็นเงินเดือน และเงินวิทยฐานะถึง 80% ควรหารือร่วมกันว่าจะลดภาระงบฯ อย่างไร เพื่อให้ได้งบฯ พัฒนาการศึกษาให้กับเด็กเพิ่มขึ้น

3. ปฏิรูประบบราชการของ ศธ.เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะปัญหาที่โรงเรียนขนาดเล็กถูกเพิกเฉย และตัดงบฯ เพื่อให้โรงเรียนถูกยุบ

และ 4. เทคโนโลยี เพื่อช่วยให้เข้าถึงการศึกษาได้ ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนขนาดเล็กยังไม่มี และไม่ลงไปยังกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้

“มองมุมของนายทักษิณ มีหลายมุมมองต้องรับฟัง และยังมีอีกหลายมุมที่ต้องถกเถียง มองว่า ศธ.ต้องผ่าตัด ต้องเล็กลง ต้องกระจายอำนาจ งบต้องลงไปที่ตัวเด็กเพิ่มมากขึ้น ต้องปฏิรูประบบราชการใหม่ ซึ่ง 20 ปีที่แล้ว สมัยที่นายทักษิณเป็นนายกฯ มีแนวคิดปฏิรูปการศึกษา ซึ่งขณะนั้นมีความพร้อมมากกว่าปัจจุบัน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ดังนั้น น่าจะใช้โอกาสนี้เปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย โดย พท.ควรจะเป็นแกนกลาง และหารือพรรคร่วม ว่าจะทำอย่างไรให้การศึกษาดีขึ้น!!

 

ขณะที่ รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ชื่นชมที่นายทักษิณเป็นห่วง และให้ความสำคัญต่อการศึกษาของเด็กไทย เพราะคือหนทางที่ยั่งยืนที่สุดที่จะพัฒนาประเทศได้ด้วยการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

แต่ก็มองว่านายทักษิณยังไม่เข้าใจปัญหาการศึกษาไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะที่พูดเรื่องครู เป็นปัญหาปลายเหตุ ซึ่งนายทักษิณไม่ได้กล่าวถึงปัญหาอื่นๆ รวมทั้งการ “พลิกโฉม” หน้าการศึกษา

พร้อมตั้งคำถามถึงอดีตนายกฯ ว่าการจ้างครูต่างชาติเข้ามาสอนเพื่อกระตุ้นครูไทย ควรทำหรือไม่ เพราะครูไทยไม่ด้อยกว่าครูจากที่อื่น เพียงแต่ต้องการสิ่งที่จะช่วยลดภาระ และมุ่งเน้นการสอน ซึ่งเห็นด้วยที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะนำภาษีบาปจากพนันออนไลน์มาจ้างครู และจัดหาเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง เพราะอยากทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ถูกต่อต้านให้สำเร็จ

ส่วนโครงสร้าง ศธ.ที่ว่าใหญ่เกินไปนั้น ไม่ควรไปแตะโครงสร้าง แต่ชี้ให้เห็นปัญหาที่ชัดเจนในเวลานี้ คือ “โรงเรียนขนาดเล็ก” ที่มีมากกว่า 60% จากทั่วประเทศ ที่ไม่สามารถทุ่มทรัพยากรทางการศึกษา ครู และสื่อการเรียนการสอน เพราะมีนักเรียนน้อย การกระจายคุณภาพเป็นได้ยาก

จึงเป็น “โจทย์ใหญ” ของ ศธ.และรัฐบาล ที่จะกล้าหาญพอจะ “ควบรวม” โรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดการทุ่มทรัพยากรเข้าไปหรือไม่ ซึ่งนายทักษิณไม่ได้พูดถึง ทั้งที่เป็นปัญหาที่เป็นจุดคานงัด ที่จะพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาไทยอย่างแท้จริง

และยังถามพรรค พท.ว่า “กล้า” ที่จะมีนโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และจัดระบบขนส่งดูแลที่ดีหรือไม่ ไม่ใช่เอาการศึกษาไป “ผูก” เข้ากับการทำ “บ่อน”??

ส่วนเรื่องงบฯ ต้องทำความเข้าใจกับรัฐบาลว่าการอนุมัติงบฯ ใดๆ ต้องมีแผนระยะยาว ที่มีตัวชี้วัดว่าแต่ละปี ไม่ใช่งบฯ ซื้อของอย่างเดียว ซึ่งส่วนนี้ยังไม่เห็นแผนของ ศธ.

ต้องรอดูว่า “รัฐบาล” จะขยับรับลูก “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของพรรค พท.ในการ “ยก” คุณภาพการศึกษาไทยหรือไม่…

หรือเมื่อการเลือกตั้ง อบจ.จบลง สิ่งที่พูดบนเวทีทั้งหมด ก็จบลงไปด้วย!! •

 

| การศึกษา