PERFECT DAYS : ‘ความงามอันเรียบง่าย’

นพมาส แววหงส์

หนังเรื่องนี้วนเวียนเข้าชิงรางวัลต่างๆ อยู่ในเทศกาลภาพยนตร์เมื่อปีที่ผ่านมา

เท่าที่โดดเด่นขึ้นมา คือ เป็นหนังจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้าชิงภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แต่ไม่ใช่จากฝีมือผู้กำกับฯ ญี่ปุ่น แต่เป็นคนทำหนังชาวเยอรมัน แต่เรื่องราวและเนื้อหาเป็นญี่ปุ๊นญี่ปุ่น รวมทั้งนักแสดงทุกคนเป็นญี่ปุ่นโดยถ้วนหน้า

ตัวเอกก็คุ้นหน้ากันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเป็นพระเอกใน Shall We Dance? ภาคต้นฉบับซึ่งฮอลลีวู้ดเอามาสร้างโดยใช้ริชาร์ด เกียร์ ในบทของโคจิ ยาคุโชะ หนุ่มใหญ่หน้าตาดีร่างสมาร์ตคนนี้

ฮิรายามะ (โคจิ ยาคุโชะ) ใช้ชีวิตในโตเกียวอยู่ลำพังคนเดียวด้วยอาชีพของคนทำความสะอาดส้วมสาธารณะหรูเริ่ดในย่านชิบูยะถิ่นคนรวย

เขามีกิจวัตรซ้ำซากวนเวียนในชีวิตประจำวันเหมือนกันทุกวัน

คือตื่นแต่เช้าตรู่ในอพาร์ตเมนต์สองชั้นคับแคบและเรียบง่าย อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากย่านชิบูยะถิ่นคนรวยหรูหรานัก

เขาเก็บที่นอน ปัดกวาด เก็บหนังสืออ่านก่อนนอนที่เผลอหลับไปก่อน ล้างหน้าแปรงฟัน สวมเครื่องแบบของพนักงานทำความสะอาด เป็นเสื้อกางเกงสีเข้มติดกัน ด้านหลังเป็นอักษรตัวโตอ่านชัดแต่ไกลว่า The Tokyo Toilet

ก่อนออกจากบ้าน ก็เดินเข้าไปในห้องเล็กที่ปลูกต้นไม้ต้นเล็กๆ ในกระถางจิ๋วๆ เรียงรายอยู่ ฉีดน้ำให้ต้นไม้ แล้วหยิบกุญแจรถออกจากบ้านมาที่รถคันเล็กที่พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์ทำความสะอาด

แวะกดตู้เครื่องดื่มกระป๋อง เอามาดื่มระหว่างขับรถไปทำงาน

เปิดเทปคาสเส็ตที่สะสมไว้ฟังในรถอย่างรื่นรมย์

เมื่อไปถึงจุดที่รับผิดชอบ เขาก็ลงมือทำความสะอาดอย่างเป็นระบบระเบียบ เก็บขยะ เช็ดถูจนเอี่ยมอ่องไร้คราบทั้งห้องชายหญิง

ถ้ามีใครจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำระหว่างที่เขาทำความสะอาดอยู่ เขาก็เก็บของแล้วออกไปยืนคอยอยู่หน้าห้องอย่างมีสัมมาคารวะ

ฮิรายามะทำงานในอาชีพอย่างรับผิดชอบ เรียบร้อยทั่วถ้วนทุกกระบวนความ ไม่มีขาดตกบกพร่อง แต่ก็ไม่เคร่งเครียด

เวลาพักกินอาหาร ก็เดินไปนั่งที่ม้านั่งในสวนสาธารณะ หยิบแซนด์วิชออกมากัดกิน มองไปรอบๆ พยักหน้าทักทายกับผู้คนอย่างสุภาพ พลางเงยหน้าขึ้นมองแมกไม้เหนือศีรษะ แล้วควักกล้องถ่ายรูปแบบใช้ฟิล์มออกมาถ่ายภาพ

ภาพที่เขาถ่ายเป็นประจำคือ ภาพในมุมแหงนเงยรับแสงแดดที่ทอลอดใบไม้ลงมาจากต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขายักเยื้องส่ายไหวระริกอยู่เหนือศีรษะ

ฮิรายามะมีเพื่อนร่วมงานรุ่นเด็กกว่า ชื่อ ทาเกชิ (โทคิโอะ เอโมโตะ) เป็นหนุ่มหน้าตี๋พูดจ้อไม่หยุดปาก ผู้มีความใฝ่ฝันอย่างเดียวในชีวิตขณะนั้นคืออยากมีแฟน แต่ก็อดน้อยใจในวาสนาชะตากรรมของตนเองไม่ได้ เพราะคิดว่าไม่มีสาวสนใจเขาเนื่องจากเขาบ่จี๊ไม่มีสตางค์พาไปเลี้ยงอาหาร

เขาลากตัวฮิรายามะเอาเทปคาสเส็ตเก่าๆ ของสะสมของฮิรายามะ ไปให้ร้านตีราคา ปรากฏว่าได้ราคาสูงมาก แต่ฮิรายามะก็ไม่ยอมขาย

ฮิรายามะเป็นคนเก็บปากเก็บคำ แทบไม่ยอมให้ดอกพิกุลร่วงออกจากปาก แต่ก็ยอมควักเงินให้ทาเกชิยืมไปเกี้ยวสาว และยอมให้ยืมรถไปส่งสาวด้วย

เมื่อเลิกงาน ฮิรายามะก็ขับรถกลับบ้าน ขี่จักรยานไปออนเซนอาบน้ำร้อนสรงสนานชำระร่างกายที่โรงอาบน้ำสาธารณะ แบบเดียวกับชีวิตคนญี่ปุ่นที่ยังคงสืบทอดประเพณีนี้มาจนถึงปัจจุบัน

เสร็จสรรพก็ไปนั่งกินในร้านอาหารประจำ เข้าร้านหนังสือเก่าเลือกหาซื้อหนังสือมาอ่านเป็นงานอดิเรก

แล้วก็ไปนั่งดื่มในบาร์เล็กๆ ที่เจ้าของบาร์เป็นผู้หญิงที่ชอบร้องเพลงให้ลูกค้าประจำฟัง

เมื่อกลับบ้าน ปูที่นอนเสร็จ ฮิรายามะก็หยิบหนังสือออกมานอนอ่าน และผล็อยหลับไปขณะอ่านนั้นเอง

ชีวิตวนเวียนซ้ำซากอยู่แบบนี้ มีแตกต่างไปบ้างก็เพียงเล็กน้อย เช่น ทาเคชิลาออกอย่างกะทันหัน ทำให้ฮิรายามะต้องทำงานหนักขึ้นเป็นสองเท่าเพราะบริษัทหาพนักงานมาทำแทนไม่ทัน

ส้วมสาธารณะในถิ่นคนรวยนี้เป็นโครงการของนครโตเกียว ซึ่งใช้ดีไซเนอร์ออกแบบสุขาสาธารณะให้ 17 แห่งในย่านชิบูยะ

เป็นห้องน้ำสวยหรูเก๋ไก๋ ทันสมัยซะไม่มี บางแห่งก็ทำผนังห้องให้โปร่งใสมองเห็นไปถึงข้างใน แต่ก็เปลี่ยนเป็นผนังทีบสำหรับทำกิจส่วนตัวได้ไม่เคอะเขินเพียงเปิด-ปิดสวิตช์ไฟ

คนไทยชอบไปเที่ยวญี่ปุ่นกันก็เพราะเรื่องห้องน้ำสาธารณะนี่แหละเป็นปัจจัยหนึ่ง สะอาดเอี่ยมเรี่ยมเร้ ไร้กลิ่นไร้คราบเลยทีเดียวเจียว

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมของหนังมาบอกว่าตอนเปิดใหม่ๆ วิม เวนเดอร์ส ได้รับเชิญไปดูสุขาออกแบบเลิศหรูเหล่านี้ และเกิดแรงบันดาลใจจนนำมาสร้างหนังเรื่องนี้ แรกทีเดียวใครๆ ก็คิดว่าเขาจะทำหนังสั้นหรือสารคดี

แต่หามิได้…วิม เวนเดอร์ส ทำหนังยาวทั้งเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของผู้ชายที่เป็นพนักงานทำความสะอาดซะเลย

และมีมุมมองในการเล่าเรื่องอย่างชวนคิดชวนติดตามเสียด้วย

หนังไม่ได้เผยเรื่องราวในอดีตความเป็นมาของชายวัยกลางคนผู้สงบเย็นและมีท่าทางสง่างามคนนี้ให้เรารู้อย่างหมดจด

เราต้องเก็บเล็กผสมน้อยเอาเองจากสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเขา งานอดิเรก สภาพการเงิน นิสัยส่วนตัว ของสะสม หนังสือที่เขาอ่าน เพลงที่เขาชอบฟัง ฯลฯ

เกิดเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบชีวิตอันเรียบง่ายของเขา คือ วันหนึ่งหลานสาววัยรุ่น นิโกะ (อาริสะ นาคาโนะ) มานั่งรอเขาอยู่หน้าบ้านและขอมาอยู่ด้วย เนื่องจากทะเลาะกับแม่และหนีออกจากบ้านมา

สองสามวันต่อมา หลังจากที่นิโกะติดสอยห้อยตามลุงไปทำงาน ขี่จักรยานไปเที่ยวด้วยกันในเมืองและสุขสงบอยู่กับการใช้ชีวิตอันเรียบง่ายกับลุง แม่ของนิโกะก็นั่งรถพร้อมโชเฟอร์มาตามลูกสาวกลับบ้าน

ก่อนกลับไป น้องสาวของฮิรายามะ (แม่ของนิโกะ) ก็พูดคุยอย่างกระด้ากงกระเดื่องกับเขา บอกเรื่องพ่อที่เป็นโรคสมองเสื่อมจำอะไรเกือบไม่ได้แล้ว และบอกให้ฮิรายามะไปเยี่ยมบ้าง เพราะพ่อไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว

ฮิรายามะปฏิเสธ แต่ก็กอดน้องสาวก่อนจากกัน น้องตัดสินใจถามว่าพี่มาทำอาชีพเป็นคนทำความสะอาดส้วมจริงๆ หรือ

เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เล่าเรื่องได้มากนะคะ และหนังญี่ปุ่นดีๆ ก็ชอบเล่าเรื่องแบบนี้ โดยไม่บอกเล่าเก้าสิบอะไรให้มากความ คนดูซึมซาบและเก็บเอาไปคิดต่อเอาเอง ไม่ต้องให้เล่าแจ้งแถลงไขจนหมดเปลือก

เราก็ได้รู้ว่าฮิรายามะมีเรื่องราวในอดีตซึ่งทำให้เขาตัดสินใจพลิกมาใช้ชีวิตคนละแบบกับชีวิตในวัยหนุ่ม และเขาคงไม่ถูกกับพ่อ ขนาดตัดพ่อตัดลูกกันเลยเชียวล่ะ

เหตุการณ์ที่เข้ามากระทบชีวิตของพระเอกอีกอย่างคือ เขาบังเอิญไปแอบเห็นความสัมพันธ์อันลึกล้ำระหว่างหญิงเจ้าของบาร์กับชายคนหนึ่ง

ชายคนนั้นตามมาเล่าให้เขาฟังว่า เป็นอดีตสามีของเธอ และอยากมาพบเธอเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากเขาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

หนังจบดีมากเลยค่ะ มีความเห็นอกเห็นใจร่วมกันในทุกข์และการใช้ชีวิตที่เหลือบนโลก

เกมที่ชายทั้งสองชักชวนกันเล่นก็ลงตัวมาก เป็นเกม “ไล่จับเงา” ซึ่งสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ได้ดีจริงๆ

และภาพตอนจบที่เป็นโคลสอัพยาวนานบนใบหน้าของตัวเอก ซึ่งขับรถอยู่และเกิดอารมณ์หลายหลากพรั่งพรูผ่านเข้ามาในความคิด

โคจิ ยาคุโชะ เล่นอยู่คนเดียวเกือบทั้งเรื่อง เขาสื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้ในแต่ละบทแต่ละตอนโดยแทบไม่ได้มีคำพูดผ่านออกมาจากปากเลย

อ้อ เพลงที่คัดเลือกมาเพื่อเล่าเรื่องแต่ละตอนก็สื่อความหมายได้อารมณ์ดีมาก เช่น House of the Rising Sun, Pale Blue Eyes, Walking Thru the Sleepy City, Sunny Afternoon, Feeling Good และแน่นอนว่ามีเพลง Perfect Day ของ Lou Reed รวมอยู่ด้วย

หาดูได้ทาง Netflix นะคะ •

PERFECT DAYS

กำกับการแสดง

Wim Wenders

แสดงนำ

Koji Yakusho

Tokio Emoto

Aoi Yamada

Arisa Nakano

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์